Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2539
"เหตระกูล" จะหักเหจาก "เดลินิวส์"?             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
 

 
Charts & Figures

รายชื่อธุรกิจบางส่วนในเครือของเหตระกูล

   
related stories

"เหตระกูล" ชื่อแห่งตำนาน "เดลินิวส์"

   
www resources

โฮมเพจ-เดลินิวส์

   
search resources

เดลินิวส์
ประชา เหตระกูล
ประพันธ์ เหตระกูล
Newspaper




"เหตระกูล" เป็นตระกูลเก่าแก่ที่ครอบครอง "เดลินิวส์" หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย"

แต่เดลินิวส์ก็ขยับตัวค่อนข้างช้าในสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจสิ่งพิมพ์

ขณะเดียวกันเหตระกูลกลับไปลงทุนในธุรกิจอื่นอย่างเร้าใจ

ผลงานล่าสุดคือการเทคโอเวอร์ "บง.ทรัพย์ทวีทรัสต์" มูลค่า 800 ล้านบาท

เหตระกูลกำลังทำอะไรและมีวิธีคิดอย่างไรในการขยายอาณาจักร และอนาคตเดลินิวส์จะเป็นเช่นไร ?

เดือนสิงหาคม 2538 ม้ามืดอย่างเดลินิวส์ หรือกลุ่ม "เหตระกูล" โดยบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ชนะประมูลสามารถครอบครอง "บริษัทเงินทุนทรัพย์ทวีทรัสต์" โดยเฉือดเฉือนกับกลุ่มยักษ์ใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ได้อย่างน่าทึ่ง

เบื้องหลังการเทคโอเวอร์ครั้งนี้ เป็นแนวคิดของ "ประชา เหตระกูล" บิ๊กบอสส์แห่งเดลินิวส์ ที่ต้องการฐานธุรกิจด้านเงินทุนไว้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาณาจักรธุรกิจที่จะขยายต่อไป

ภาพพจน์กล้าเสี่ยงของประชา เหตระกูลวันนี้จึงไม่ธรรมดา ดูแตกต่างจากเอกลักษณ์ของกลุ่มเหตระกูลที่รวยเงียบๆ ชนิดเงินสักบาทไม่กระเด็นและมีแนวลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม พร้อมทั้งระบบบริหารแบบครอบครัวใหญ่ในเดลินิวส์

กุนซือที่ปรึกษาดีลสำคัญครั้งนี้คือ บงล.เอกธนกิจ ซึ่งมีทีมวาณิชธนกิจเก่งกาจหลายคน เอกธนกิจจะกลายเป็นหนึ่งผู้ถือหุ้นในทรัพย์ทวีทรัสต์ด้วย โดยผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์สและกลุ่มเหตระกูล 40%

จากถ้อยแถลงของผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ จรุง หนูขวัญวันนั้น ได้กล่าวถึงเม็ดเงินที่ประชา เหตระกูลได้เสนอผลประโยชน์ให้กับกองทุนฟื้นฟูด้วยเงินประมูล 800 ล้าน ในราคาหุ้นละ 168 บาทจำนวน 3.3 ล้านหุ้นเท่ากับ 554.4 ล้านบาทและที่เหลือเป็นค่าใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 4 ใบซึ่งมีมูลค่า 300 ล้านบาท

"การประมูลครั้งนี้ บริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์สจะมีกำไรทันทีในบริษัทเงินทุนทรัพย์ทวีทรัสต์อีกประมาณ 330 ล้านบาทเนื่องจากทุนบริษัทมีทุน 800 ล้านบาท หักหนี้สินที่มีอยู่ประมาณ 470 ล้านแล้ว บริษัทยังมีเงินทุนเหลืออีก" ผู้ช่วยผู้ว่าการกล่าว

ความน่าสนใจลงทุนซื้อทรัพย์ทวีทรัสต์ นอกจากจะได้เป็นเจ้าของบริษัทเงินทุนแล้ว ยังมีใบอนุญาตประกอบการกิจการครบทั้งด้านธุรกิจหลักทรัพย์และด้านเงินทุน ในขณะที่กฎหมายใหม่ระบุว่า การขอประกอบกิจการเงินทุนและหลักทรัพย์จะต้องแยกกัน

ฉะนั้นนักธุรกิจมาดผู้ดีอังกฤษอย่างประชา เหตระกูล เมื่อดีดลูกคิดรางแก้วตัวเลขที่เสี่ยงจ่ายไป 800 ล้านนั้นคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม !

การเปิดตัวรุกก้าวเข้าสู่การลงทุนในสถาบันการเงินของประชา ได้ปลุกให้สาธารณชนเริ่มจับตาการเติบโตของกลุ่มครอบครัวเหตระกูลที่รวยเงียบๆ อย่างใกล้ชิด และพบว่ากว่าสามทศวรรษ "เดลินิวส์" ซึ่งรุ่นพ่อคือแสง เหตระกูล ก่อตั้งขึ้นมา เป็นธุรกิจกงสีที่ปันผลกำไรอย่างงาม 151 บาทต่อหุ้นแก่คนเหตระกูล 12 ครอบครัว

แม้ว่าประสิทธิ์ เหตระกูลจะเป็นพี่ชายคนโต แต่บทบาทมีน้อยมากในแง่การบริหารและการลงทุน ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานอำนวยการบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ นอกจากนี้ประสิทธิ์ยังมีหุ้นในเดลินิวส์ เขายังถือหุ้นในบริษัท แสงเอ็นเตอร์ไพร์ส และยาคูลท์เช่นเดียวกับพี่น้องทุกคนในเหตระกูล

ลักษณะการถือหุ้นของพี่น้องเหตระกูลนั้นจะถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งอย่างบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัทโฮลดิ้งก็จะเป็นผู้ลงทุนในบริษัทอื่นๆ

ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา คนที่ขยายการลงทุนมากที่สุดคือ ประชา เหตระกูล ซึ่งปัจจุบันเป็นบรรณาธิการอำนวยการของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประธานกรรมการของบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด(มหาชน) กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท แสงเอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัทแอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็ม นอกเหนือจากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตระกูล และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ "สื่อธุรกิจ" ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ดูตารางธุรกิจในเครือเหตระกูล)

ในแง่สิ่งพิมพ์ ขณะที่กลุ่มสิ่งพิมพ์อื่นขยายตัวเชิงรุกอย่างมาก โดยออกสิ่งพิมพ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่เดลินิวส์กลับดำรงตนอย่างเงียบสงบมาเป็นเวลา 30 ปี จนกระทั่งปรับตัวเล็กน้อยด้วยการออก "สื่อธุรกิจ" หนังสือพิมพ์รายวันธุรกิจฉบับบ่ายเมื่อปีที่แล้ว

"สื่อธุรกิจมีจุดเริ่มต้นมาจากสายสัมพันธ์ระหว่างคุณประชากับสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งมีคุณจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยาและคุณจุลจิตต์ บุญยเกตุ เมื่อสำนักทรัพย์สินฯ แตกไลน์มาด้านสื่อสิ่งพิมพ์ คุณประชาก็คงจะเห็นดีด้วย เพราะเดลินิวส์ก็พร้อมทั้งด้านเครื่องมือ มีโรงพิมพ์ มีออฟฟิศ และคน ก็เลยตกลงกันเริ่มสื่อธุรกิจ โดยร่วมทุนในสัดส่วน 51 ต่อ 49" ไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "สื่อธุรกิจ" เล่าให้ฟัง

ภายใต้ขีดจำกัดเรื่องทุนดำเนินการ ซึ่งเริ่มต้นควักกระเป๋าเพียงฝ่ายละ 10 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น แค่โฆษณาอย่างต่ำก็ใช้เงินถึง 30-40 ล้านแล้ว แต่สื่อธุรกิจใช้โฆษณาเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น อันสะท้อนลักษณะองค์กรและวัฒนธรรมบริหารของสื่อธุรกิจที่มีความมัธยัสถ์ในการลงทุน

สำหรับเงินก้อนแรกของสื่อธุรกิจ บรรณาธิการกล่าวว่า ใช้ซื้อคอมพิวเตอร์สำนักงานไป 15 ล้าน ส่วนเครื่องจักรโรงพิมพ์ใช้ร่วมกับเดลินิวส์ โดยประชา ได้วางกลยุทธ์และเป้าหมายให้ "สื่อธุรกิจ" เป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจคุณภาพสำหรับคนระดับกลางและระดับสูง ต่างจากเดลินิวส์ที่เน้นตลาดชาวบ้าน

ไตรรัตน์ เป็นลูกหม้อเก่าของเดลินิวส์ ถือเป็นคนที่ประชาวางใจให้มาดูแล "สื่อธุรกิจ" ไตรรัตน์ทำงานกับเดลินิวส์โดยเริ่มจากงานข่าวต่างประเทศรุ่นเดียวกับแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.คนปัจจุบัน

"คุณประชาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และเริ่มเข้าไปลงทุนในกิจการอื่นที่เห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ถึงแม้จะอยู่เฉยก็ไม่เดือดร้อน เพราะเดลินิวส์มั่นคงและไม่มีวันล้ม" ไตรรัตน์เล่าให้ฟัง

แต่ธุรกิจกงสี "เดลินิวส์" กำลังถูกท้าทายจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะตลาดหนังสือพิมพ์ตื่นตัว หนังสือพิมพ์เข้าตลาดหุ้นเพื่อต้นทุนเงินที่ต่ำกว่ากู้แบงก์และเกิดคู่แข่งใหม่ๆ

ประชามองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะโลกใบเก่าอย่าง "เดลินิวส์" ภายใต้การบริหารแบบครอบครัวยังดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครเห็นด้วยกับการนำสมบัติเก่าแก่อย่างเดลินิวส์เข้าตลาดหุ้น ไม่มีใครกล้าเสี่ยง

เมื่อธุรกิจครอบครัวอย่างเดลินิวส์ก็ยังขายได้เรื่อยๆ ประชาก็มุ่งลงทุนเองในธุรกิจส่วนตัวมากขึ้นเป็นลำดับในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ปี 2531 ประชาได้เล็งเห็นว่าธุรกิจที่ดินกำลังบูม ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศที่ขอส่งเสริมจากบีโอไอมีสูงมาก จึงเห็นว่าน่าจะลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมรองรับ การลงทุนที่ต้องใช้เงินสูงเช่นนี้ย่อมเสี่ยง วิธีลดความเสี่ยงคือประชาเข้าถือหุ้นในบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น โดยเปลี่ยนแนวการดำเนินธุรกิจเดิมจากผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า มาเป็นบริษัทพัฒนาที่ดิน โดยเน้นนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก

ประชาเป็นประธานกรรมการเอ็มดีเอ็กซ์ เพราะถือหุ้นใหญ่รองจากสยามแลนด์โฮลดิ้ง (1990) งานนี้ยิ้มรับกำไรจากการลงทุนซื้ออนาคต เมื่อเอ็มดีเอ็กซ์ประเดิมแรกเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ที่ฉะเชิงเทรา ปรากฏว่าเฟสแรกบนเนื้อที่ 6,900 ไร่ขายดีมากๆ เพราะได้ลูกค้ารายใหญ่อย่างโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จุดพลุให้ ปี 2536 เอ็มดีเอ็กซ์มีกำไรสูงสุด 1,297 ล้านบาท

แต่ธุรกิจมีขึ้นก็มีลง เอ็มดีเอ็กซ์ได้รับผลกระทบจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ทำให้ผลประกอบการล่าสุด 3 ไตรมาสแรกของปี 2538 ขาดทุนประมาณ 43 ล้านบาท

ทั้งนี้เพราะเอ็มดีเอ็กซ์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว ยังเป็นบริษัทโฮลดิ้งลงทุนในบริษัทย่อยมากมาย และที่น่าสนใจมากที่สุดคือการลงทุนเพื่ออนาคต ในบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า มีทุนจดทะเบียนถึง 5,000 ล้านบาท ที่ประมูลสร้างเขื่อนในลาว และประเทศจีน ขณะเดียวกัน เอ็มดีเอ็กซ์พาวเวอร์ยังเป็นหนึ่งในผู้สนใจร่วมประมูลสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าเอกชน(ไอพีพี) ด้วย

กิจการอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มารายได้หลักของประชา ก็คือบริษัทแอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็ม (เอไอเอส) รับสัมปทานติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตร จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) มีอายุสัมปทาน 25 ปี ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 63.74% ประชารวยเงียบๆกับธุรกิจนี้ เพราะสัมปทานที่ครอบคลุมไปถึงการติดตั้งโทรศัพท์ และการจำหน่ายบัตรโทรศัพท์ ซึ่งมีความต้องการใช้งานนั้นมากเกินความคาดหมาย เพราะความไม่สะดวก และการขาดแคลนของโทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญที่ทศท.ให้บริการอยู่ ทำให้มีคนหันมานิยมใช้การ์ดโฟนค่อนข้างมาก

ที่สำคัญรายได้จากการจำหน่ายบัตรซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน เอไอเอสไม่ต้องแบ่งรายได้ตอบแทนในส่วนนี้ให้กับทศท. จะแบ่งเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นจากการโทรศัพท์จริงเท่านั้น จากข้อตกลงนี้เองทำให้เอไอเอสมีรายได้เข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำ เพราะปัจจุบันมีผู้นิยมซื้อบัตรโทรศัพท์ไปสะสม แต่ไม่ได้นำออกมาใช้งาน เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันเอไอเอส ได้ขยายการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตรนี้ไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และเพิ่มสถานที่จำหน่ายบัตรอีกหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม เอไอเอสก็มีปัญหาในเรื่องของสถานที่ใช้ติดตั้งโทรศัพท์ ซึ่งเอไอเอสจะเน้นการติดตั้งภายในสถานที่มากกว่าภายนอกสถานที่ในลักษณะที่เป็นตู้โทรศัพท์ เพราะปัญหาในเรื่องของสถานที่ และการออกแบบตู้โทรศัพท์

ภายในสิ้นปี 2537 ปรากฏว่า บริษัทเอไอเอส มีกำไรกว่า 23 ล้านบาท โดยแบ่งรายได้ให้กับองค์การโทรศัพท์ในปีที่แล้ว 251 ล้านบาท

ประพันธ์ เหตระกูล พี่ชายประชาจัดเป็นรุ่นที่ 2 ของเหตระกูลคนแรกที่มีธุรกิจเป็นของตนเอง แม้จะมีพี่น้องถือหุ้นอยู่ด้วยทุกคนในยาคูลท์ แต่ก็ต้องเรียกว่า "ยาคูลท์" เป็นธุรกิจของประพันธ์ เพราะเป็นผู้ขอเงินพ่อคือ แสง เหตระกูล มาลงทุนร่วมกับพันธมิตรธุรกิจชาวญี่ปุ่นตั้งแต่พ.ศ.2512 และยังมีบริษัท เฮมม่า โรงงานทำกระดาษกล่องผงซักฟอกที่รับซื้อกระดาษเก่ามาเป็นวัตถุดิบ

ก่อนหน้าทำนมเปรี้ยวยาคูลท์ขาย ประพันธ์เคยคิดจะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มประเภทชูกำลัง แต่เมื่อนำความคิดนี้ไปปรึกษาเพื่อขอทุนจากเตี่ย ปรากฏว่านายห้างแสงไม่เห็นด้วยเพราะว่ากินแล้วติดและเป็นโทษกับร่างกาย จึงระงับโปรเจกต์นี้ไป มิฉะนั้นประพันธ์คงได้ชื่อว่าเป็นรายแรกที่ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง

จากทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 10 ล้านบาท ขณะนั้นประพันธ์อายุ 37 ปี มีน้องชายคือหมอประสานเข้ามาร่วมในยาคูลท์ด้วย โดยมีกรรมการบริหารชาวญี่ปุ่นประมาณ 5-6 คนผลัดเปลี่ยนตามวาระจนถึงทุกวันนี้

ยาคูลท์ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ และได้สร้างตำนานการดำเนินธุรกิจแบบขายตรงโดย "สาวยาคูลท์" และการบุกเบิกธุรกิจนมเปรี้ยวที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามหาศาลในปัจจุบัน

ในระยะแรกยาคูลท์ต้องพึ่งเงินกู้ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักของครอบครัวเหตระกูลมานาน ปี 2520 กู้จำนวน 15 ล้าน เพื่อซื้อเครื่องจักรราคา 14 ล้าน พร้อมกับเพิ่มทุนเป็น 30 ล้าน จากนั้น 2 ปีก็ขยายสาขาไปหาดใหญ่ และซื้ออาคารพาณิชย์ที่สำนักงานตรงสยามสแควร์เพิ่มอีก 3 ห้อง จากที่มีอยู่เดิม 3 ห้องรวมเป็น 6 ห้อง

เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาด ในปัจจุบันยาคูลท์ใช้เงินโฆษณาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อปี เพราะสถานการณ์แข่งขันนมเปรี้ยวของตลาดในปัจจุบันสูงมากและมีคู่แข่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกนับ 10 รายเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาดที่มีมูลค่าปีละ 1,500 ล้านบาท หรือตลาดนมเปรี้ยวมีความต้องการสัปดาห์ละ 2.8 แสนขวด เฉลี่ยวันละ 3,500-4,000 ขวด

ยาคูลท์ยังคงครองตลาดนมเปรี้ยวได้เป็นอันดับหนึ่ง จากที่เคยมีสัดส่วนครองตลาดสูงสุดถึง 90% เป็นสมัยที่คิดระบบขายตรง "สาวยาคูลท์" ขึ้นมาใหม่ๆ ทำให้การขายกระจายไปได้ทั่ว มีการกำหนดเขตขาย รายได้โบนัสจากการขายที่แน่นอน โดยมีจำนวนขายเฉลี่ยอย่างน้อยคนละ 250 ขวด จากนั้นส่วนแบ่งของยาคูลท์ก็ลดลงมาเรื่อยๆ ล่าสุดเหลือเพียง 36.4% รองลงมาคือดัชมิลล์และโยโมสต์ที่ยังทิ้งห่างอยู่มาก

ในอดีตปี 2531 ยาคูลท์เคยขาดทุนไป 81 ล้าน (แต่เงินปันผล 15 ล้านต้องมีทุกปี) เพราะต้องลงทุนแยกหน่วยขายในรูปบริษัท ยาคูลท์เซลล์ (กรุงเทพฯ) จำกัด ซึ่งปรากฏว่าในรายงานการประชุม บันทึกหัวข้อซักถามระหว่างประสงค์กับประพันธ์ เหตระกูลอยู่หลายประเด็น เช่น ผู้ถือหุ้นยาคูลท์เดิมจะเสียประโยชน์อะไรหรือไม่? จะจัดจำหน่ายราคาเท่าใด? ทรัพย์สินเดิมดำเนินการอย่างไร?

วัฏจักรการทำงานในแต่ละวันของประพันธ์ ทำให้เห็นได้ว่าความสำคัญของธุรกิจอยู่ที่ยาคูลท์เป็นหลัก เพราะอีกธุรกิจของเขา คือธุรกิจกล่องกระดาษ ก็ดำเนินไปได้เรื่อยๆ โดยธุรกิจนี้ที่ทำขึ้นเพราะเห็นว่าวันๆ มีกระดาษหนังสือพิมพ์เหลือมากเอามารีไซเคิลแล้วทำเป็นกล่องกระดาษบรรจุพวกสารเคมี เช่น แฟ้บ จึงเกิดบริษัทเฮมมาขึ้น

การเปลี่ยนตัวบรรณาธิการจากยุคประพันธ์เป็นยุคของประชาในปี 2521 เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มเหตระกูลมองว่าประพันธ์พลาดที่ยอมให้ "คนนอก" อย่างสุเทพ เหมือนประสิทธ์เวช "สิงโตฮึ่มๆ" หัวหน้ากองบรรณาธิการรวบอำนาจทั้งฝ่ายกองบรรณาธิการ และฝ่ายจัดการ และยื่นข้อต่อรองด้วยการยกทีมกองบรรณาธิการลาออก เนื่องจากแสง เหตระกูล ไม่ยอมรับข้อเสนอที่ทางกลุ่มสุเทพยื่นขอส่วนแบ่งจากฝ่ายจัดการเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายเกินจำนวนแสนฉบับ

ในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ยกทีมลาออกจากเดลินิวส์ของสนิท เอกชัยที่ออกไปตั้งใหม่ชื่อ น.ส.พ.เดลิไทม์มาแล้ว

ตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน เดลินิวส์ภายใต้บทบาทนำของประชาในฐานะเป็นบรรณาธิการ ขณะที่ประพันธ์ก็ย้ายไปคุมด้านการตลาดและสายส่งจัดจำหน่าย และประภา ศรีนวลนัดคุมด้านการเงินโดยมีทีมลูกสาวและหลานสาวหลานชายเข้าช่วยดูแล

สำหรับเดลินิวส์ ในยุคของประชา นโยบายเสนอข่าวไม่หวือหวาเท่าคู่แข่ง เช่น ข่าวหน้าสี่จะไม่แรง เช่นเดียวกับพาดหัวข่าวเน้นความถูกต้องเป็นหลัก ซึ่งอาจจะดูจืดตามสายตาผู้อ่าน ยอดขายอาจจะหวือหวาแต่ประชาพอใจที่จะมีคดีน้อยลง

ที่น่าสนใจคือ ในส่วนของคอลัมนิสต์ก็ยังมีทนายความเป็นคณะที่ปรึกษาคอยดูแลจากที่มีมานาน 20 ปีแล้ว

การมีทนายเข้ามาช่วยดูแลนี้ เนื่องจากบทเรียนในสมัย "สิงโตฮึ่มๆ" ช่วงปี 2518-19 ที่เดลินิวส์เผชิญหน้าอย่างแข็งกร้าวกับหลายฝ่าย และส่งผลในภายหลังที่ถูกปิดเป็นเวลา 7 วัน

หน่วยงานอื่นๆ ภายในเดลินิวส์มีการแบ่งสายงานให้กับพี่น้องเหตระกูลแต่ละคน คือประภา ศรีนวลนัด เป็นผอ.ฝ่ายบัญชี/การเงินและผอ.ฝ่ายโฆษณาคุมหัวใจด้านการเงินทั้งหมด ประสงค์ ผอ.ฝ่ายเทคนิคและการผลิตคุมด้านการผลิต ประพันธ์เป็นผอ.ด้านการตลาด

ขณะที่เหตระกูลรุ่นที่สองเป็น "ผู้อำนวยการ" รุ่นที่สามก็กินตำแหน่ง "ผู้จัดการ" โดยเฉพาะลูกทั้งสามของประสงค์คือ ปารวดี เป็นผจก.ฝ่ายโฆษณา ปารเมศเป็นผจก.ฝ่ายเทคนิคและผลิต และปฏิภาณดูแลฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ น.ส.พ.สื่อธุรกิจและคุมฝ่ายผลิตของเดลินิวส์

ส่วนกิติพันธ์ ลูกชายประพันธ์บริหารหนังสือรายสัปดาห์ "ดัชนีซื้อขาย" และคุมการตลาดเดลินิวส์ และการผลิต บริษัท ประชุมช่าง ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ตั้งแต่สมัยแสง รับพิมพ์งานสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ "หน้าเหลือง"

ขณะที่สายฝน ลูกของหมอประสานก็เข้ามาช่วยด้านการเงินในฐานะผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ในขณะที่แม่คือ บุณย้อยซึ่งเคยทำหน้าที่นี้ ตอนแสงยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้แยกตัวออกไปทำธุรกิจโรงเรียนอนุบาล

เดลินิวส์จึงเป็นระบบบริหารครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง !

"การปรับตัวด้านการตลาด ถือเป็นจุดอ่อนของเดลินิวส์ ในขณะที่คู่แข่งอย่างไทยรัฐทุ่มไม่อั้น ทั้งแจกทอง ให้เอเยนซีไปเที่ยวเมืองนอก แต่ของเดลินิวส์ก็ทำกันไปตามสภาพหลังจากที่คุณประพันธ์ซึ่งเป็นมาร์เกตติงแมนเข้ามาดูแล ก็มีการปรับปรุงขึ้นบ้าง ก็ใกล้ชิดกับเอเยนต์สายส่งมากขึ้น และทำงานแบบถึงลูกถึงคน แต่ก็ยังค่อนข้างเข้มงวดในการใช้เงิน" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง

"พี่น้องทุกคนมีหุ้นเท่าๆ กัน เวลาเสนอความเห็นก็จะมีหลากหลายมาก ทำให้สรุปไม่ได้ คนค้านมาก ไม่กล้าเสี่ยง ทำให้เดลินิวส์เคลื่อนไปค่อนข้างช้า การหาโฆษณาก็ใช้ระบบครอบครัวดูแล ไม่ยอมให้มีเอเยนซีรับเหมาเหมือนไทยรัฐซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย การควบคุมง่ายกว่าและชัดเจน แต่อาจจะเสียโอกาสไปบ้าง ก็เลยทำให้โฆษณาที่ควรจะได้เต็มร้อยก็ลดลงไปบ้าง" แหล่งข่าวกล่าวถึงข้ออ่อนของเดลินิวส์

"ไทยรัฐ" ถือเป็นมวยรุ่นเฮฟวี่เวทระดับเดียวกับเดลินิวส์ แต่การปรับตัวของเดลินิวส์ที่ช้ากว่าคู่แข่ง ทำให้มียอดขายทิ้งห่างประมาณ 40% โดยเดลินิวส์มียอดขายประมาณ 600 ,000 ฉบับ ขณะที่ไทยรัฐขึ้นหลัก 1 ล้านฉบับแล้ว

ขณะที่เดลินิวส์ไม่ค่อยเล่นบทบาทเชิงรุกนัก แต่ในปีที่ผ่านมา เดลินิวส์กลับมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ !

มาร์เกตแชร์ของเดลินิวส์ห่างไทยรัฐเพียง 15-20% เพราะคู่แข่งพลาดท่าตีลูกพลาดเองหรือ LOOSER GAMES จากกรณีไทยรัฐทะเลาะกับรัฐบาลชวน หลีกภัยและถูกภาคใต้ปิดป้ายเขตปลอดไทยรัฐ

ปรากฏว่าเฉพาะภาคใต้ เดลินิวส์ขายเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 แสนฉบับ ขณะเดียวกันคู่แข่งรายใหม่อย่างข่าวสดในค่ายมติชนก็เป็นตัวแปรชิงส่วนแบ่งการตลาดจากไทยรัฐ ทำให้ปีที่แล้วเดลินิวส์มียอดขายสูงสุดถึง 7 แสน

"คุณประชาทำหน้าที่บรรณาธิการกำกับนโยบาย คือไม่ไปทะเลาะกับใครแบบเอาเป็นเอาตาย หรือไม่ไปรังแกเขา แกจะเป็นสุภาพบุรุษ ประเภทข่าวยกเมฆ ไม่ให้ทำเด็ดขาด" ไตรรัตน์เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่มีต่อยอดขายเดลินิวส์

แม้กระนั้นเดลินิวส์ก็เจอขีดจำกัดของตัวเอง เพราะไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้ เพราะแท่นพิมพ์ที่ใช้มานานและแทบจะไม่มีการลงทุนเพื่อขยายการผลิตเลย

ในที่สุดเหตระกูลก็ตัดสินใจลงทุนสั่งเครื่องจักรเข้ามาใหม่ โดยสร้างอาคารต่อไปทางด้านหลัง ในพื้นที่ที่ซื้อไว้ 28 ไร่ ตั้งแต่สมัยนายห้างแสง

แท่นพิมพ์ปัจจุบันที่ใช้อยู่พิมพ์ได้ชั่วโมงละประมาณ 2 แสนเล่ม ถ้าหากแท่นพิมพ์ใหม่เข้ามาอีก 2 เครื่อง จะสามารถพิมพ์ได้ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 3 แสนฉบับ พร้อมกับตั้งเป้าว่า ในทศวรรษ 2000 เดลินิวส์จะมีโรงพิมพ์ที่ไฮเทคเต็มที่

มีเรื่องเล่าถึงความสัมพันธ์ของคนจีนรุ่นเก่าว่า สมัยที่แสง เหตระกูลมาซื้อที่ดินตรงถนนวิภาวดีรังสิต (ที่ตั้งปัจจุบัน) ด้วยนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน แสงก็ทำหนังสือขอกู้ตามระเบียบขั้นตอนที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสยามสแควร์ ซึ่งเรื่องก็เข้าหูชิน โสภณพนิช เจ้าของแบงก์กรุงเทพจึงโทรศัพท์มาต่อว่านายห้างแสงว่า

"อย่างลื้อเหรออย่างว่าแต่ 200-300 ล้าน 1,000 ล้านอั้วก็ให้ได้"

นี่คือสายสัมพันธ์แบบพ่อค้าจีนรุ่นพ่อที่เกื้อกูลและเติบโตไปด้วยกัน


ภายใต้การบริหารแบบครอบครัวเหตระกูล ที่คนนอกตระกูลไม่มีสิทธ์เป็นใหญ่ในสายบริหาร ขณะเดียวกันเดลินิวส์ก็ยังมีปัญหาผลตอบแทนไม่จูงใจมืออาชีพให้เข้ามาร่วมงาน จนครั้งหนึ่งเดลินิวส์เคยขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ฝึกนักข่าว เมื่อเก่งขึ้นก็เริ่มไปหาที่อื่นที่ให้เงินเดือนดีกว่า

แต่ถ้ามองเดลินิวส์ไม่แง่สมบัติของคน "เหตระกูล" เดลินิวส์ยังคงทำรายได้ให้กับ "เหตระกูล" ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท จะมีเพียงไม่กี่คนใน "เหตระกูล" ที่เริ่มคิดและแตกการลงทุนของตัวเองออกไปนอกเดลินิวส์อย่างประพันธ์ และประชา ซึ่งเป็นแกนนำที่มีบทบาทในครอบครัว

แน่นอนที่เหตระกูลจะไม่มีทางทิ้งจากเดลินิวส์ แต่เดลินิวส์ในสถานการณ์สู้รบของตลาดหนังสือพิมพ์ การตั้งป้อมค่ายอย่างเข้มแข็งกับการรุกไปข้างหน้าอย่างแข็งกร้าวจะเป็นทางเลือกที่พวกเขาต้องขบคิดตลอดเวลา !?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us