กลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ของวงการบันเทิงและมีเดียไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดช่องสัญญาณบนหน้าจอเคเบิลทีวีไทยเป็นครั้งแรก เจ้าของสถานีการถอดปลั๊กรายการกันดื้อ ๆ ทั้งที่ผู้ผลิตยังเดินเทปอยู่ โดยที่ผู้ชมนั่งงงเป็นไก่ตาแตก
กลางดึกของคืนวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ยูบีซี สั่งปลดช่องเพลง 'เอ็มทีวี-MTV' (ไทยแลนด์) และ 'วีเอชวัน-VH1' แบบฟ้าผ่ายามค่ำ และนำมิวสิกวิดีโอมาออกอากาศแทน โดยแจ้งรายละเอียดด้านล่างรายการว่า 'เตรียมพบกับช่องดนตรีแนวใหม่ เต็มรูปแบบ ที่นี่ เร็ว ๆ นี้' สร้างความประหลาดใจให้กับสมาชิกยูบีซีเป็นอย่างมาก
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันแม้ยูบีซีเคเบิลทีวี จะไม่มีคู่แข่งทางธุรกิจที่เทียบชั้นโดยตรง แต่การเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของทีวีผ่านดาวเทียม ที่มีค่ายผู้ผลิตจานดาวเทียมเป็นผู้กระตุ้นตลาด ก็สร้างผลกระทบต่อจำนวนสมาชิกได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อทีวีดาวเทียมมีข้อได้เปรียบในจุดที่ไม่ต้องเสียค่าสมาชิกในการชมรายเดือน และปัจจุบันมีผู้ผลิตรายการเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ชมเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ยูบีซีต้องคิดหากลยุทธการตลาดมาดึงดูดลูกค้าอย่างอุตลุต โดยแม้จะพยายามดึงจุดเด่นของคอนเทนท์ที่หลากหลาย แต่ก็ยังไม่วายต้องกลับไปใช้ลูกเล่นเก่า ๆ ฟรีค่าติดตั้ง อีกครั้ง
ลำพังลูกค้าหายาก ก็ทำให้ยูบีซีต้องทำงานหนักอยู่แล้ว แต่ด้านฝ่ายผู้ผลิตรายการที่ออกอากาศในยูบีซี กลับคิดขยายการออกอากาศไปหาทีวีดาวเทียมซะเอง ยิ่งทำให้ยูบีซี เหนื่อยหนักเข้าไปอีก จนนำมาซึ่งเหตุการณ์การถอดปลั๊ก ยูบีซี 32 และ 33 แบบไม่บอกกล่าว
สมิทธิ เพียรเลิศ ผู้จัดการทั่วไปเอ็มทีวี และวีเอช 1 ไทยแลนด์ แถลงถึงเหตุผลของการยุติการออกอากาศ 'เอ็มทีวี' อย่างกระทันหันโดยไม่มีใครทราบสาเหตุในวันรุ่งขึ้น ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ได้มีปัญหากับทางยูบีซีแต่อย่างใด แต่สำหรับเหตุผลที่ไม่ต่อสัญญากับยูบีซีที่อยู่ด้วยกันมาตลอดระยะเวลา 5 ปีเป็นเพราะ ตลาดของยูบีซีเป็นตลาดเอ็กซ์คลูซีฟ ที่ต้องเป็นสมาชิกกับทางยูบีซีเท่านั้นถึงจะสามารถดูรายการเอ็มทีวีได้ และมีสมาชิกแค่ 5 แสนครัวเรือนเท่านั้น แต่การมาให้บริการร่วมกับเคเบิลท้องถิ่น ซึ่งมีฐานคนดูสูงกว่า จะมีโอกาสขยายตลาดเอ็มทีวีให้เข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นการนำโมเดลธุรกิจของเอ็มทีวีที่ประสบความสำเร็จแล้วในต่างประเทศ มาใช้ในเมืองไทย และแน่นอนว่าการย้ายออกจากยูบีซีครั้งนี้ สิ่งที่ติดมือตามมาด้วยคือ สปอนเซอร์โฆษณาทั้งหลาย โดยเอ็มทีวีเชื่อมั่นว่าจะสามารถโน้มน้าวสปอนเซอร์ให้ตามมาที่บ้านหลังใหม่ได้ทั้งหมด
การย้ายบ้านใหม่จากยูบีซี มาสู่ช่องดาวเทียม ที่ผู้ชมต้องติดตั้งจานรับสัญญาณดามเทียม(DTH Dish) และอุปกรณ์รับและแปลงสัญญาณ หรือสามารถรับชมผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น ที่รับสัญญาณจากจานดาวเทียมโดยตรง ด้วยวิธีการใหม่นี้ ทางสมิทธิ เชื่อว่าจะเจาะกลุ่มคนดูที่เป็นเป้าหมายใหม่ได้มากขึ้น ไม่เฉพาะแค่คนกรุงเทพฯ อีกต่อไป และเชื่อมั่นว่าแบรนด์เอ็มทีวี จะเป็นแบรนด์สำหรับวัยรุ่นทั่วประเทศอีกด้วย
โหมอัดโปรโมชั่นชุดใหญ่ หลอกล่อคนดู
หลังจากเอ็มทีวีปีกกล้าขาแข็ง ก้าวออกมาผงาดสร้างตลาดเอง แคมเปญโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจคนดูกลุ่มใหม่และกลุ่มเก่า กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ทั้งการนำเสนอช่องรายการรวดเดียว 8 ช่อง ได้แก่ เอ็มทีวี, วีเอชวัน, นิคเคลโลเดียน (ช่องบันเทิงสำหรับเด็ก), มูฟวี่มาเนีย , ป๊อปเปอร์, รักไท ทีวี (ช่องเพลงลูกทุ่ง) , พาโนราม่า 07 และเวิร์ดแฟชั่น ไทยแลนด์ และเตรียมแผนเพิ่มช่องรายการใหม่อีก 4 ช่องในปีหน้า
ไม่เพียงแค่ยกรายการมาเป็นทั้งโขยงเพื่อเรียกน้ำย่อยคนดูแล้ว โปรโมชั่นทดลองดูฟรี 1 เดือนแรก ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์หลักที่ผู้บริหารเอ็มทีวีมั่นใจว่าจะดึงลูกค้าใหม่ ๆ ได้ โดยกล่องและอุปกรณ์รับสัญญาณสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 3,600 บาท โดยจะได้ดูฟรี 1 เดือน แต่หลังจากนั้น ลูกค้าต้องซื้อสมาร์ทการ์ดเดือนละ 200-300 บาท เพื่อรับชมรายการของเอ็มทีวีแทน รวมไปถึงการจัดอีเว้นท์และออกโรดชัวร์ทั่วประเทศ เพื่อดันให้ยอดสมาชิกแตะที่ 1 ล้านครัวเรือนหลังจากออกจากบ้านยูบีซี
'ยูบีซี' เมินใส่ หันลุย 'ช่องเฮ้าส์แบรนด์'
ด้านยูบีซี องอาจ ประภากมล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสาย คอมเมอร์เซียล บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาเผยถึงสาเหตุที่ยูบีซีสั่งปลดเอ็มทีวีว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลสำรวจความนิยมจากผู้ชม ครั้งล่าสุดระบุว่า ผู้ชมต้องการดูสารคดีเป็นจำนวนมาก 3 ช่อง ได้แก่ Explore 1,2 และ 3 บนช่องยูบีซี 61, 62 และ 63 ตามลำดับ ในส่วนของช่องเพลงไทยสากล ก็ติดอันดับยอดฮิตของสมาชิกยูบีซีด้วย ได้แก่ Majung (มะจัง) บนช่องยูบีซี 34 และทรู มิวสิค บนช่อง 30 ดังนั้นต้องปรับลดช่องเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการคนดูด้วย
อย่างไรก็ตาม นายองอาจ ยังเสริมถึง แผนการพัฒนารายการของยูบีซี ทั้งหมดที่ปัจจุบันมีอยู่ 46 ว่าจะมีเป้าหมายผลิตรายการที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทเองมากขึ้น เพราะขณะนี้มีช่องรายการที่ผลิตเองอยู่แค่ 20-30% โดยเล็งจะเพิ่มสัดส่วนรายการที่ผลิตเองให้ได้ 50% ทั้งนี้เพื่อนำคอนเทนท์ดังกล่าวไปต่อยอดดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทอื่นๆในเครือ ซึ่งจะทำให้การลงทุนมีความคุ้มค่ามากขึ้น
ซึ่งแนวคิดในการให้ความสำคัญกับรายการที่ผลิตเองมากขึ้น ได้ส่งผลให้ผู้ผลิตรายการจากภายนอกต้องพยายามปรับตัวเพื่อรักษาฐานของตนไว้ เพราะไม่แน่ใจว่า ยูบีซี จะถอดรายการของตนออกเมื่อไหร่ บางรายก็เน้นการปรับรูปแบบรายการเพื่อดึงความสนใจจากผู้ชม แต่บางรายอย่าง เอ็มทีวี เลือกที่จะหาช่องทางอื่นในการสร้างและรักษากลุ่มผู้ชมของตนไว้
ซึ่งแม้ว่าจะไม่บรรลุข้อตกลงการต่อสัญญาช่องรายการเพลงกับ เอ็มทีวี และวีเอชวัน ซึ่งติดปัญหาที่เอ็มทีวีต้องการขยายการออกอากาศสู่ระบบทีวีดาวเทียมควบคู่ แต่ยูบีซีก็แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสมาชิกผู้ชมที่เป็นแฟนรายการที่ถูกถอดออกไป โดยในกรณี MTV นอกจากจะมีช่องแชนแนลวี ไทยแลนด์ ที่เป็นรูปแบบรายการเพลงสากลเหมือนกัน รวมถึงช่อง STC ที่เน้นเพลงประกอบภาพยนตร์ ให้บริการอยู่ก่อน ยูบีซี ยังมีการเปิดช่องเพลงขึ้นใหม่อีก 2 ช่อง คือ ช่องเพลงเก่า มะจัง 34 และช่องเพลงในปัจจุบัน ทรู มิวสิค 30 ที่เดิมนำเสนอเฉพาะเพลงไทย แต่เมื่อมีการยกเลิกรายการ MTV และ VH1 จึงเริ่มมีการออกอากาศเพลงสากล ซึ่งอนาคตอาจมีการพัฒนาเป็นรูปแบบการจัดรายการโดย VJ เหมือนกับ MTV ก็ได้
บทส่งท้าย 'เอ็มทีวี' สู่บ้านหลังใหม่
เอ็มทีวี ไทยแลนด์ เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 โดยบริษัท มีเดีย คอมมิวนิเคชั่นเน็ทเวิรค์ จำกัด (มีเดียคอม) เจ้าของช่องรายการเอ็มทีวี และสไมล์ทีวี เน็ดเวิร์ค
ภาพลักษณ์ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เอ็มทีวีได้พยายามสร้างขึ้นในใจคนดูก็คือ รายการที่เน้นไลฟ์สไตล์ของเด็กวัยรุ่นทุกรูปแบบตั้งแต่ แฟชั่น หนัง และเพลง รวมไปถึงการออกอากาศรายการสดผ่านช่องยูบีซี 32 ในส่วนของช่อง VH1 นั้นจะเป็นช่องที่นำเสนอเพลงจากฝั่งตะวันตกทั้งหมด ซึ่งเป็นการโยกคอนเทนต์มาจากช่องเอ็มทีวีเดิม สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของเอ็มทีวีอยู่ที่อายุ 15-24 ปี
|