แม้ปูนสำเร็จรูปหรือปูนผสมเสร็จ ที่เมื่อฉีกถุงก็สามารถผสมน้ำ เพื่อฉาบ,
เทหรือก่อได้ทันที จะมีเข้ามาจำหน่ายในตลาดปูนเมืองไทยเกือบ 5 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
เนื่องเพราะผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่มีอยู่กว่า 10 ราย ยังเป็นผู้ผลิตรายเล็กเท่านั้น
ซึ่งช่องทางจำหน่ายยังไม่กว้างขวางพอ ประกอบกับคุณภาพและการยอมรับ ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขยายตลาดนั้นอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้น
แต่มาครั้งนี้ เมื่อบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) บริษัทปูนอันดับสามในตลาดปูนเมืองไทยยุคปัจจุบันตัดสินใจส่งปูนสำเร็จรูปลงสู่ตลาด
ย่อมแน่นอนว่าทางปูนใหญ่และปูนกลาง มิอาจอยู่เฉย นั่นหมายถึงว่า ตลาดปูนสำเร็จรูป
ถึงเวลาแล้วที่จะขยายตัวออกไปในวงกว้าง
ในวงการปูนซีเมนต์เมืองไทย เป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้บริหารของแต่ละค่ายว่า
ทิศทางการใช้ปูนซีเมนต์เมืองไทยถึงวันหนึ่งก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะปูนสำหรับงานฉาบ
เท และก่อดังเช่นที่หลายประเทศทั่วโลกเป็นอยู่
ปูนสำเร็จรูป หรือที่บางค่ายเรียกว่าปูนผสมเสร็จนั้น จะถูกนำมาแทนที่ปูนผสม
ซึ่งมีใช้กันนับจากอดีตจนปัจจุบัน และมองกันว่า ในอนาคตคงจะแทนที่ได้เต็มทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์
ราวปี 2532-2533 ทางปูนซีเมนต์ไทยหรือปูนใหญ่จึงทำการศึกษาเพื่อผลิตปูนสำเร็จรูปที่ว่านั้น
"ทำการศึกษาอยู่ประมาณ 2 ปี ก็ตัดสินใจไม่ทำ" แหล่งข่าวในวงการค้าปูนซีเมนต์กล่าว
มีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้ปูนใหญ่ตัดสินใจไม่ทำ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมาจาก
3 เหตุผลหลัก
ประการแรก ในวันนั้นถ้าเข้ามา ต้นทุนการผลิตน่าจะสูงเกินไป ซึ่งส่งผลต่อการตั้งราคาจำหน่าย
ประการที่สอง เป็นเหตุผลสอดคล้องก็คือ ในช่วงเวลานั้น ปัญหาในเรื่องสุขาภิบาล
เช่นการกองทราย กองวัสดุ การขนส่ง การจราจรยังพอไปได้ ประกอบกับขณะนั้นช่างปูนยังพอหาได้ไม่ยากด้วย
ค่าแรงที่ไม่สูงนัก จึงทำให้ตลาดไม่น่าจะต้องหันมาอาศัยปูนผสมเสร็จหรือสำเร็จรูป
ประการสุดท้าย ในยุคนั้นกล่าวกันว่าปูนตราเสือของปูนใหญ่ครองตลาดมากที่สุด
การนำปูนประเภทใหม่เข้ามา น่าที่จะเป็นการแย่งตลาดด้วยกันเอง ซึ่งคำนวณแล้วได้อาจไม่คุ้มเสีย
แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อปูนใหญ่ตัดสินใจไม่ทำ ทีมวิศวกรที่ทำการศึกษาเรื่องนี้จึงลาออกมาตั้งโรงงานเอง
ในนาม "โนโวพลาส" เพราะรู้ทุกอย่างแล้วว่า เทคโนโลยีของใครต้องทำอย่างไร
ในปี 2534 ปูนผสมเสร็จ "ตราหมี" จากโนโวพลาส จึงออกสู่ตลาด ซึ่งในขณะนั้นตลาดก็ให้ความยอมรับพอสมควร
เนื่องจากตลาดเริ่มเปลี่ยนเปลงไป ทำให้มีคู่แข่งตามออกมาอีกมากมายในปี 2534
นั้นเอง แต่ก็เป็นเพียงผู้ผลิตปูนรายเล็กๆ
แม้จะได้รับการยอมรับ แต่เนื่องจากปัญหาในเรื่องคุณภาพยังมี จึงทำให้ความโดดเด่นของปูนสำเร็จรูปไม่ชัดเจนนัก
ตลาดจึงยังอยู่ในวงจำกัด
ช่องว่างของตลาดเช่นนี้ย่อมไม่คลาดสายตาของ "ทีพีไอ โพลีน" ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ก้าวรุกมากที่สุดในยุคนี้ไปได้
ปรัชญา จันทราทิพย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน)
กล่าวว่า ปูนสำเร็จรูปนั้นในต่างประเทศมีการใช้มากว่า 40 ปี ได้แพร่หลายไปในอเมริกาโดยเฉพาะในยุโรปจะมีการใช้กันมาก
ปูนประเภทนี้จะช่วยแก้ปัญหาในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของงานฉาบไม่ให้แตกร้าว
ประหยัดเวลาขั้นตอนการทำงานสำหรับผู้ใช้ และความแน่นอนในอัตราส่วนผสม ที่สำคัญมีความแข็งแกร่งกว่าปูนผสมที่นำมาผสมกับทรายก่อนใช้งาน
สำหรับปัญหาในเรื่องคุณภาพของปูนประเภทนี้ ทางทีพีไอ โพลีนได้มีการประเมินว่า
เทคโนโลยีที่เอามาน่าจะไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเงินทุนน้อยก็ได้
ปรัชญากล่าวว่า ในปี 2536 บริษัทได้เริ่มให้ความสนใจและเสาะหาเจ้าของเทคโนโลยี
ที่สุดก็ทำการติดต่อผู้ผลิตรายใหญ่ในเยอรมนี คือ มาร์โมริท(MARMORIT) ในเครือของ
"คนอฟ"(KNAUF)
"ศึกษากันและทำการทดลองอยู่หลายเดือน ซึ่งผลก็ออกมาดี เราจึงตัดสินใจเอาเข้ามา
โดยเราเอาเทคโนโลยีเข้ามาเต็มระบบ"
ปูนสำเร็จรูปยี่ห้อ "ทีพีไอ" จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จะเริ่มจำหน่ายสู่ตลาดในเดือนนี้(มกราคม
2539) หลังจากที่เริ่มแพร่ภาพโฆษณาและติดต่อเหล่าเอเยนต์ให้รับทราบไปก่อนหน้าแล้ว
1 เดือน
โครงการผลิตปูนสำเร็จรูปครั้งนี้ ใช้เงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท โดยกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่
80 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งปรัชญากล่าวว่า ถ้าตลาดให้การยอมรับในระดับที่ไปได้
การขยายการผลิตปูนประเภทนี้ต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอน
ปูนสำเร็จรูปที่ทีพีไอ โพลีน กำลังส่งลงสู่ตลาดนั้นน่าจะถึงยุคที่ได้รับการตอบสนองจากตลาด
ผิดกับช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกาลเวลาที่สมควรแล้ว
หรือเรื่องของความเหมาะสมด้านอื่นๆ
ประการสำคัญ ครั้งนี้ตลาดได้ถูกกระตุ้นด้วยยักษ์ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย
อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาทีเดียว
"พอทางปูนใหญ่ และปูนกลางทราบว่าทีพีไอจะทำ จึงได้ทำการติดต่อกับเจ้าของเทคโนโลยีเพื่อที่จะทำด้วย
ในราวกลางปี 2536" ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางปูนใหญ่และปูนซีเมนต์นครหลวง หรือปูนกลาง กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน
แต่คาดว่าจะสามารถนำปูนประเภทนี้ออกจำหน่ายได้ในเวลาอันรวดเร็วเดือนสองเดือนนี้อย่างแน่นอน
เพราะคงไม่ปล่อยให้ปูนสำเร็จรูปทีพีไอสร้างตลาดไปก่อนหน้าได้นานนัก
สำหรับกำลังการผลิตนั้นเข้าใจว่าจะอยู่ที่ 80 ตันต่อชั่วโมงเช่นกันในช่วงแรก
เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันนั้น กำลังการผลิตขนาดนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดสำหรับหนึ่งสายการผลิต
ทั้งนี้ทางปูนใหญ่และปูนกลางได้ใช้เทคโนโลยีของ แมกซิท(MAXIT) ในเครือเอ็ม-เทก(M-TEC)
ซึ่งในเยอรมนีนั้น เอ็ม-เทก กับคนอฟจะถือเป็นคู่แข่งสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"ไม่อาจจะบอกว่าใครเป็นอย่างไร แต่บอกได้ว่าเราจะเป็นสินค้าที่ดีในตลาด
และเราออกขายก่อน ก็ย่อมได้เปรียบ" ปรัชญากล่าว
ได้มองกันว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำไมปูนใหญ่ และปูนกลางถึงไม่ขยับในเรื่องนี้
ทั้งๆ ที่รายเล็กๆ ได้ทำกันไปมากแล้ว ซึ่งวิเคราะห์กันว่าทางปูนใหญ่คงมองว่าไม่น่าจะส่งผลเท่าไร
จึงยังไม่เข้ามา แต่เมื่อทีพีไอ โพลีน เข้ามาทำ ทางปูนใหญ่คงปล่อยไม่ได้
เพราะถือเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจที่ปล่อยให้ก้าวไปข้างหน้าแล้วอาจอันตรายได้
และเมื่อปูนใหญ่เข้ามาทำ ทางปูนกลางก็ไม่อาจอยู่เฉย เพราะจะกลายเป็นการถูกขนาบทั้งหน้าและหลังทีเดียว
ทั้งที่อดีตเคยทำแต่ล้มเลิกไป
"ถ้าปล่อยให้ทีพีไอกินตลาดปูนฉาบได้ ผู้ที่จะถูกกินตลาดก็คือปูนซีเมนต์ตราเสือ"
แหล่งข่าวกล่าว
การเกิดของปูนสำเร็จรูป โดยการจุดประกายจากทีพีไอ โพลีน ครั้งนี้ แม้จะยังไม่อาจวิเคราะห์ได้ว่า
ตลาดจะให้การยอมรับมากเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าทั้งสามยักษ์ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยที่เข้ามาประลองกำลังในครั้งนี้ต่างมั่นใจว่า
ถึงเวลาแล้ว และอนาคตหวังว่าจะเข้ามาแทนปูนผสมได้ทั้งหมด
"ปูนผสมคงไม่ตายไปจากตลาดได้ง่ายๆ เพราะอยู่มานานหลายสิบปี และเราคงบอกไม่ได้ว่ากี่ปีจึงจะเข้ามาแทนที่ได้
แต่หวังว่าในอนาคตคงเข้ามาแทนได้ทั้งหมด และเป็นธรรมดาของสินค้าที่ไม่สามารถรองรับตลาดในช่วงเวลานั้นๆ
ก็คงตายไปจากตลาดเอง" แหล่งข่าวกล่าว
ปูนผสมจะหายไปจากตลาดหรือไม่ เป็นเรื่องอีกยาวไกลนัก แต่ใกล้ๆ นี้ มีเรื่องน่าสนใจมากกว่าให้จับตาดู
ไม่มีใครกล้าชี้ชัดว่า ผู้ผลิตปูนสำเร็จรูปหรือผสมเสร็จรายเล็กๆ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้
จะถึงจุดจบหรือไม่
"รายที่มีอยู่แล้วยังไม่มีการพัฒนาคุณภาพขึ้นมา เพราะไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ยังพบปัญหาอยู่"
คำกล่าวของผู้ผลิตปูนรายใหญ่รายหนึ่ง
เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกย่อมแหลกลาญ อีกแล้ว