|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
อสมท ตกที่นั่งลำบากวางตัวไม่ถูก "แสวงหารายได้หรือสนองนโยบายรัฐ" เผยปัญหาหลักบอร์ดใหม่ไม่ทำความเข้าใจกับพนักงาน แถมเข้าช่องผิดเลือกสหภาพฯ เป็นแกนทั้ง ๆ ที่คนใน อสมท ระอาพฤติกรรม จนลาออกจากสมาชิก สุดท้ายแพแตก นักบริหารวอนบอร์ดใหม่ใจเย็นหารือร่วมกันแก้ปัญหาได้
การชุมนุมประท้วงของพนักงานบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) หรือ MCOT ที่ผ่านการปรับเปลี่ยนจาก ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.เดิม เดินหน้าเข้าสู่ยุคโมเดิร์นไนน์ภายใต้การบริหารงานของมืออาชีพอย่างมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ที่เข้ามาบริหารงานตั้งแต่ 17 กรกฎาคม 2545 จนนำพา อสมท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อครบวาระ 4 ปี มิ่งขวัญได้รับการเลือกกลับเข้ามาบริหารต่ออีกครั้งในวันที่ 9 สิงหาคม 2549
หลังจากเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 มีเพียงช่อง 9 เท่านั้นที่มีการนำเสนอข่าวสารของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นถึงการโยกย้ายผู้นำทางทหารและประกาศภาวะฉุกเฉิน ก่อนถูกทหารเข้ายึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ
จากนั้นคณะกรรมการของ MCOT ประกาศลาออกทั้งคณะมีผลในวันที่ 27 กันยายน 2549 และได้กรรมการชุดใหม่เข้ามาในวันที่ 25 ตุลาคมและมีการเลือกผู้บริหารกันในวันที่ 31 ตุลาคม โดยบุญปลูก ชายเกตุ เป็นประธานกรรมการ และพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รองประธานกรรมการและนั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
การเข้ามาเริ่มงานของคณะกรรมการ MCOT ชุดใหม่มีแนวคิดที่จะปรับทิศทางของช่อง 9 จากสังคมอุดมปัญญาเป็นสัมมาปัญญา คือก่อให้เกิดความรู้ ความคิดและสำนึกที่ดี และเน้นให้เป็นสถานีเพื่อการศึกษา เพื่อประชาชน ไม่คำนึงถึงกำไรมากนัก จึงเป็นเหตุให้พนักงานไม่พอใจ
เข้าช่องผิด
แหล่งข่าวจาก อสมท กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานของ อสมท ต้องออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากบอร์ดชุดใหม่ไม่ได้เข้ามาหารือถึงทิศทางกับพนักงาน แต่มุ่งไปที่ตัวสหภาพพนักงานเป็นหลัก ทำให้เกิดปัญหาขึ้นเนื่องจากทิศทางในการดำเนินงานของ อสมท ในบอร์ดชุดใหม่ขัดแย้งกับความเป็นจริง
ทุกวันนี้แม้ว่า อสมท จะแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่สิทธิประโยชน์ของพนักงานยังคงเป็นพนักงานของรัฐเหมือนเดิม เรายังมีหน้าที่ในการหารายได้เพื่อนำส่งให้กับรัฐบาลทุกปี
"หากบอร์ดชุดใหม่ไม่มุ่งเน้นรายได้ สิ่งที่จะตามมาคือรายได้ที่จะนำส่งรัฐก็น้อยลงไปด้วย ที่สำคัญการแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีหน้าที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือกระทรวงการคลัง" แหล่งข่าวกล่าว
ที่ผ่านมาพนักงานของ อสมท ไม่มีปัญหาหากมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้การดำเนินงานของ อสมท ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาบางรายการถือเป็นรายการแห่งความรู้หากมีการปรับออกไป ก็ขัดแย้งกับแนวคิดสัมมาปัญหาอยู่ดี
ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเหตุมาจากการไม่หารือร่วมกันระหว่างบอร์ดชุดใหม่กับพนักงานในการกำหนดทิศทางร่วมกัน รับฟังความคิดเห็นระหว่างกัน แต่พยายามเดินแนวคิดผ่านสหภาพฯ ซึ่งสหภาพฯ ของ อสมท ไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของพนักงาน แถมยังโอนอ่อนตามกลุ่มอำนาจ ทำให้พนักงาน อสมท ลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพฯ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กรรมการสหภาพฯ ของ อสมท.ได้ลาออกไปครึ่งหนึ่ง
เพราะก่อนหน้านี้สหภาพฯ เคยทำขึงขังในช่วงรัฐบาลก่อนที่มีการนำหุ้น MCOT ไปจำนำกับธนาคารออมสิน เพื่อหาเงิน 3,000 ล้านบาท ไปเพิ่มทุนในธนาคารทหารไทย แม้จะมีการยื่นเรื่องให้กับเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก แต่เรื่องก็เงียบไป
ถึงวันนี้ต้องยอมรับความจริงว่า อสมท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีหน้าที่ในการแสวงหารายได้ให้กับผู้ถือหุ้น หากต้องการให้ อสมท คงสถานะเดิม ออกจากตลาดหุ้น กลับมาเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยเหมือนเดิม เชื่อว่าพนักงานก็ยอมรับได้
เราเชื่อว่าปัญหานี้แก้ไขได้ หากทุกฝ่ายหันหน้ามาหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางของ อสมท ว่าจะเดินไปทางใด จะปรับผังรายการอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อส่วนงานอื่น ๆ เช่น การวางแผนโฆษณา หรือการวางแผนของผู้เช่าเวลา เป็นต้น
บอร์ดชุดใหม่เข้ามา จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ทันที โดยที่สถานะของ อสมท แตกต่างไปจากเดิม ตรงนี้จึงสร้างปัญหา ดังนั้นการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนทิศทางของ อสมท ด้วยการหารือร่วมกันน่าจะเป็นทางออกที่ดี
แก้ได้-ร่วมกันแก้
"ปัญหานี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารงาน ต้องยอมรับว่า อสมท ตกเป็นเป้าของสังคมเรื่องที่เปิดทางให้อดีตนายกรัฐมนตรีพยายามทวงอำนาจคืน เมื่อมีการเปลี่ยนบอร์ดชุดใหม่พนักงานจึงจับตามองกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรตามมา เมื่อบอร์ดใหม่เข้ามาแล้วเสนอความเห็นที่จะปรับทิศทางการดำเนินงานแบบกลับหัวกลับหาง จึงเกิดปัญหา" ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กล่าว
ที่สำคัญการเข้ามาของผู้บริหารชุดใหม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า อสมท ยังต้องการสร้างรายได้อยู่หรือไม่ กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากรายได้ อสมท ตกจะยอมรับได้หรือไม่ มีปัญหาเรื่องเงินงบประมาณหรือไม่ ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ควรออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้บ้างเพราะถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง
การเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนทิศทางขององค์กร จำเป็นต้องใช้เวลา ต้องหลอมให้พนักงานทั้งหมดเห็นไปในทางเดียวกันแล้วทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หากมีการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันปัญหาก็เกิดขึ้นอย่างที่เห็น
กรณี อสมท เชื่อว่าอีกไม่ช้าทุกอย่างจะเดินหน้าต่อ ได้ความชัดเจนจากทุกฝ่าย แม้จะเดินหน้าไปสู่ยุคสัมมาปัญญา ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้หากมีการนำเสนอรายการที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องของการตลาด
อย่างไรก็ตามนี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างการแสวงหารายได้กับการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ที่ผ่านมาเราก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ที่เมื่อแปรรูปแบบก็ต้องมีหน้าที่แสวงหารายได้
ดังนั้นเรื่องที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นบทเรียนของภาครัฐ ในการนำเอารัฐวิสาหกิจมาแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องรอบคอบ มองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมากกว่าการเพิ่มขนาดของตลาดหลักทรัพย์ให้ใหญ่ขึ้นเพียงด้านเดียว
|
|
|
|
|