ตลาดหลักทรัพย์ประกาศแผนงานปี 2550 เน้นทีมเวิร์ก SET - Mai - BEX - TFEX มุ่งสู่ความเป็นตลาดทุนครบวงจรเทียบชั้นตลาดระดับสากล เพิ่มทั้งผลิตภัณฑ์พร้อมนักลงทุน วางเป้ามูลค่าหุ้นใหม่เข้าเทรด 1.2 แสนล้านบาท เล็ง 5 ปีหน้ามูลค่าตลาดฯเขยิบเทียบชั้นกับGDP เล็งดึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเข้ามาระดมทุน พร้อมเพิ่มจำนวนหุ้นและสภาพคล่องซื้อขายบริษัทจดทะเบียน หวังเห็น MSCI เพิ่มน้ำหนักการลงทุนตลาดไทยเป็น 3%
แม้วว่าการบริหารตลาดทุนในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาภายใต้การนำโดยนายหญิง ภัทรียา เบญจพลชัย และคณะ จะยังไม่สามารถสร้างความประทับใจได้เท่าไหร่นักสำหรับผู้ที่มองอยู่ภายนอก ทั้งเรื่องการโยกย้ายตำแหน่งสำคัญภายในที่มีการตั้งข้อสงสัยเคลือบแคลง, ช่วงเศรษฐกิจขาลงซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลุ่มๆดอนๆไม่ไปไหน และยังมีปัญหาที่น่าปวดหัวจากการขายหุ้นเทมาเส็กของรัฐบาลชุดที่แล้วให้ต้องมานั่งตอบคำถามนักข่าวกันไม่จบไม่สิ้นอีก ... เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจที่จะต้องมานั่งแก้ปัญหามากกว่าจะได้ใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานใหม่
ช่วงที่ผ่านมาก็คงไม่ต่างอะไรกับการปรับฐาน ทว่าสิ่งที่สำคัญกว่าอดีตก็คืออนาคต ทิศทางของตลาดทุนในช่วงต่อไปจากนี้มากกว่า ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร การดำเนินงานจะเป็นเช่นไร คงจะต้องดูที่พิมพ์เขียวหรือแผนงานล่าสุดที่ได้ประกาศออกมาซึ่งเปรียบได้กับหางเสือนำทาง
สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2550 ที่เพิ่งจะได้รับการอนุมัตินี้ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแผนย่อยที่ออกมาเพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของตลาดหลักทรัพย์(2550-2552)ซึ่งได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายในการเป็นตลาดรองที่ครบวงจร มีผลิตภัณฑ์ที่ครบถ้วนหลากหลายและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีความสำคัญของภูมิภาค
ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวถึงการเริ่มต้นงานชิ้นสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าคือ จะมีการออกกองทุนETF (Exchange Traded Fund) ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมในช่วงไตรมาส 2 โดยมีมีมูลค่าขั้นต่ำครั้งแรกของกองทุน 300 ล้านบาท ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งด้วย 100 ล้านบาท ขณะที่นโยบายการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนแม้จะไม่มีการเดินหน้าเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อ แต่ก็จะดึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเข้ามาจดทะเบียนแทน
ส่วนการเพิ่มสภาพคล่องหุ้น(Free Float) จากปริมาณการหมุนเวียนปัจจุบันที่ตลาดหลักทรัพย์(SET) มีอัตราส่วนที่ 0.8 เท่า และตลาดหลักทรัพย์ Mai มีอัตราส่วนที่ 0.9 เท่าให้มากขึ้นนั้น จะเริ่มโดยการผลักดันจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีหุ้นหมุนเวียนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 45%ให้เป็น 50% เชื่อว่าถ้าสามารถเพิ่มอัตราการหมุนเวียนของหุ้นให้มากขึ้นได้ ภายใน 3 ปีข้างหน้าดัชนีมอร์แกนสแตนเลย์(MSCI) ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2.3% จะเพิ่มขึ้นเป็น 3% รวมถึงจะเพิ่มผู้ดูแลสภาพคล่อง (Maker Maker) อย่างน้อย 3 รายเพื่อเข้ามาสร้างสภาพคล่องให้ตลาดฯ
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะลดเวลาและขั้นตอนในการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนเป็นขั้นเป็นตอนให้เป็นไม่เกิน 60 วันในปี 2552 ซึ่งจะทำร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับกฎเกณฑ์และมาตรฐานให้ทัดเทียมกับตลาดหลักทรัพย์สำคัญอื่นๆ
ด้านนโยบายการเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ วิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีการตั้งเป้าหมายของมูลค่าตลาด (Market Cap) ในปีนี้ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 5 ล้านล้านบาท โดยมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้นนั้นจะมาจาก ทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนและมูลค่าของหุ้นเดิมรวมทั้งหุ้นตัวใหม่ๆที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯอีกประมาณ 1.2 แสนล้านบาท
โดยตั้งเป้าว่าจะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 40 แห่งโดยจะเน้นไปที่กลุ่มยานยนต์และธุรกิจบริการท่องเที่ยวเป็นหลัก เฉลี่ยแล้วแต่ละแห่งจะมีมูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายว่าใน 5 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดตลาดหุ้นไทยจะเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ได้
สำหรับผลงานในรอบปีนี้มีบริษัทเข้าจดทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากในตลาดหลักทรัพย์แล้วจำนวน 11 แห่ง โดยที่มี 4 แห่งยังไม่กระจายหุ้นส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ก็มีอีก 11 แห่ง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ Mai นั้นมีบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการจดทะเบียนอยู่แล้ว 2 แห่ง และอีก 5 แห่งอยู่ระหว่างการรอการกระจายหุ้นหลังจากที่ได้อนุมัติแล้ว นอกจากนี้อีก 6 แห่งกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา
ในฟากของมูลค่ารวมของตลาดหลักทรัพย์ Mai คาดว่าในปลายปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 3.4หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีอยู่ในระดับ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปีหน้าจะมีบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนจำนวน 24 แห่ง แต่ละแห่งจะมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มี
มูลค่าตลาดจากหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2หมื่นล้านบาท
ด้านนโยบายผู้ลงทุน ตั้งเป้าว่าจะมีการเพิ่มนักลงทุนใน 4 ตลาดทั้ง ตลาดหลักทรัพย์(SET) , ตลาดหลักทรัพย์ Mai, ตลาดอนุพันธ์ (TFEX)และจะเน้นไปที่การเพิ่มนักลงทุนรายย่อยในตลาดตราสารหนี้(BEX)ให้มากขึ้นเป็นพิเศษ จากปัจจุบันที่มีนักลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากทั้ง 4 ตลาดรวมกัน 4.7 ล้านบัญชีก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านบัญชี รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันเพิ่มเป็น 20% ของมูลค่าการซื้อขายในปี 2552 ด้วย
ด้านตลาดอนุพันธ์ (TFEX) เกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงแผนงานที่จะมีการดำเนินงานในปีหน้าว่า ในไตรมาส 2 จะอนุญาตให้มี Maker Maker เข้ามาช่วยดูแลสภาพคล่องพร้อมการเปิดให้มีการส่งคำสั่งซื้อขายตรงเข้ามาที่โบรกเกอร์ได้โดยไม่ต้องมีการพิมพ์คำสั่งซ้ำ (Direct Market Access ) ให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศเพื่อรองรับสินค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ต่อไป นอกจากนี้ในไตรมาส 3 ก็จะมีแผนออก SET50 Index Options ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เข้ามาซื้อขายเพิ่มเติมในตลาดอีกด้วย จากแผนดังกล่าวคาดว่าจะมีสัญญาการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็น 5,500-6,000 สัญญาต่อวันจากในปัจจุบันอยู่เฉลี่ยที่ 1,000 สัญญาต่อวัน
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้(BEX) สันติ กีระนันทน์ ผู้จัดการ กล่าวถึงแผนในปีหน้าว่าจะมีการสร้างระบบการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Private Repo) ซึ่งจะสามารถกำหนดรูปแบบสำหรับการให้บริการได้ รวมถึงจะมีการผลักดันให้มีธุรกรรมการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)มากขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2551
นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้จะเชื่อมโยงกับตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ ผลักดันกฎระเบียบการจดทะเบียนข้ามตลาด และการซื้อขาย (Cross Listing) และการซื้อขายข้ามตลาด (Cross Trading) เพื่อให้นักลงทุนสนใจลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น
ส่วนปัญหาสภาพคล่องตราสารหนี้มีอยู่ 2 แนวทางในการแก้ปัญหาคือ จะให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะซื้อคืนพันธบัตรที่มีจำนวนรุ่นมากแต่มูลค่าไม่มากคืน(Buy Back)แล้วรวบเป็นพันธบัตรรุ่นใหม่ออกมา รวมถึงนโยบายของรัฐบาลปีหน้าที่จะทำงบแบบขาดดุลฯซึ่งก็คาดว่าจะช่วยให้มีจำนวนพันธบัตรมากขึ้นเป็นการแก้ปัญหาไปในตัว
แน่นอนว่าหากแผนทั้งหมดสามารถบรรลุเป้าหมายได้ก็จะช่วยให้ตลาดทุนไทยมีศักยภาพครบวงจรและความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเน้นด้านปริมาณเป็นสำคัญ ทว่าในระยะยาวหากไม่มีการดูแลเรื่องคุณภาพหรือบรรษัทภิบาลให้เข้มงวดมากขึ้นแล้ว การเพิ่มปริมาณเช่นนี้ก็อาจจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับตลาดทุนไทยได้ด้วยเช่นกัน แม้วันนี้หุ้นที่เป็นปัญหาอย่าง PICNIC, EVER, D1 หรือ SH ซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็กสร้างปัญหาให้กับผู้คนได้ไม่มาก แต่ในอนาคตใครจะรู้ว่าเราอาจจะเจอกับวิกฤติคุณธรรมที่เกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่แบบ เอนรอน หรือ เวิล์ดคอม อย่างในสหรัฐก็เป็นได้
|