|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ไทยพาณิชย์ร่วมประสานเสียงเศรษฐกิจเผยปี 50 รุ่ง ส่งออกยังโตได้ต่อเนื่องแม้ค่าบาทไม่เอื้อ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย และราคาน้ำมันที่ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แนะผู้ประกอบการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้น "ความมีเหตุมีผล-ความพอประมาณ-การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ธุรกิจ" มั่นใจรัฐบาล รักษาการสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ได้แม้บริหารงานเพียง 1 ปี ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยปีหน้ามีลุ้นทั้งขาขึ้นและลง
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการสัมมนา "เศรษฐกิจปีกุน รับมืออย่างไรให้ทันเกม" ว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2550 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2549 ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขยายตัวประมาณร้อยละ 4-4.5 โดยมีแรงส่งจากภาคการส่งออกที่จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ต่อการขยายตัวในปีหน้า แม้ว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทก็ตาม
นอกจากนี้ ในปีหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของภาครัฐบาลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐบาลได้นิ่งลงไป จนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา จึงเชื่อว่าแรงผลักดันดังกล่าวจะเป็น ตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวได้อย่าง ต่อเนื่อง
"ปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องภาค การส่งออกมีทิศทางที่ดี ขณะที่การลงทุนของภาครัฐ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐที่กระทรวงการคลังได้จัดทำงบประมาณขาดดุล และโครงการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มที่จะเบิกจ่ายเร็วขึ้นในช่วงกลางปี 2550 รายได้เกษตรกรยังดีจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น เพราะผลกระทบจากอุทกภัยและการ ส่งออก" นายวิรไท กล่าว
สำหรับภาคการลงทุนจากต่างประเทศในปีหน้าธนาคารมองว่ามีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น นักลงทุนต่างชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนอีกครั้ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้าเชื่อว่าจะยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น และแนวโน้มเงินหยวน แต่เชื่อว่า เงินทุนสำรองที่สูงมาก จะรับความผันผวนจากการไหลเข้าออกของเงินทุนได้
"แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวน แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง สามารถรองรับความผันผวนจากการไหลเข้าออกของเงินทุนได้ดี" นายวิรไท กล่าว
นายวิรไทกล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตาดูในปีหน้าคือเรื่องของการนำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลบาเซิล 2 มาใช้ในปี 2551 ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น รวมถึงการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก การเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องจากการปฏิรูปการเมือง คือ การก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ การเจรจาเอฟทีเอ ที่ยังค้างอยู่ และกฎหมายการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2542 นอกจากนี้ยังต้องติดตามการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแนะนำให้ไทยมองหาแหล่งการลงทุนใหม่ๆ โดยให้ความสำคัญที่จีน และอินเดีย
ทั้งนี้ ในส่วนของปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องจับตาดูคือปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับลดลงก็ตาม แต่หากมองในตลาดโลกพบว่ายังมีการเก็งกำไรในระดับที่สูง รวมถึงกำลังการผลิตในปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ จึงไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับกำลังการผลิตในอนาคต และอาจ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันก้าวกระโดดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง อีกทั้งความผันผวนของตลาดเงินที่ค่อนข้างมีความผันมากขึ้น โดยเห็นได้จากการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ค่าเงินในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนเร็วมาก โดยเห็นได้ชัดจากค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งยังเห็นเงินไหลเข้าออกในต่างประเทศสูงมาก แต่ความผันผวนดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ปัจจัยต่างประเทศอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพคล่องในตลาดเงิน โลก อีกทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนเป็น ส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทย" นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวต่อว่า ในส่วนรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศในขณะนี้แม้ว่าจะมีระยะเวลาการทำงานเพียง 1 ปีก็ตามส่วนตัวเชื่อว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงช่วยเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันในระยะยาวต่อไปได้ ส่วนการปรับตัวของ ผู้ประกอบการตามหลักนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่สมดุลที่จะต้องมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนด้วยกันคือ 1. ความมีเหตุมีผล 2. ความพอประมาณ 3. การสร้างความคุ้มกันให้กับธุรกิจ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การบริหารธุรกิจที่ดี โดยที่ผ่านมา มีธุรกิจหลายแห่งยึดมั่นนำหลักการดังกล่าวมาบริหารงานได้ในระยะยาว
"การที่เราจะหันมาดูหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องพึงกระทำอยู่แล้ว ควรมองอะไรที่ยาวและสมดุลมากขึ้น และมองว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ซึ่งหากสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ธุรกิจของตัวเอง มากขึ้นได้แล้ว มันก็จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่หลายๆ ธุรกิจประสบกันในช่วงปี 2540? นายวิรไท กล่าว
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มเงินบาทปี 2550 ว่า ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ โดยในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามองว่ามีโอกาสแข็งค่าถึง 36-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวแข็งค่าถึง 35.80-36.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 1 ปีข้างหน้าเชื่อว่าค่าเงินบาท มีแนวโน้มปรับตัวมาอยู่ที่ 35.50-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรเงินหยวน เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และเงินทุนสำรองที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ในกลางปีหน้าคาดว่าจะทรงตัวจากครึ่งปีแรก และมีโอกาสปรับขึ้นได้หากการลงทุนกลับมาอีกครั้ง แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด ธนาคารพาณิชย์อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้เล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ โดยในปีหน้าธนาคารประมาณการ ว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับอัตรา ดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 4.50% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน จะปรับมาอยู่ที่ 4.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์จะปรับมาอยู่ที่ 3.0-4.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) มีโอกาสปรับมาที่ระดับ 7.25-8.25%
"ในปีหน้าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับลดลงและเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ต้องดูปัจจัยเศรษฐกิจเป็นส่วนประกอบหากเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาดไว้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งธนาคารมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าหากมีการปรับลดลงหรือปรับเพิ่มขึ้นก็จะปรับอีกเพียง 0.5% นายภากร กล่าว
|
|
|
|
|