"สังคมจะเป็นไปอย่างไรมันขึ้นอยู่กับทิฐิ"
"สังคมจะเป็นอย่างไรมันขึ้นอยู่กับทัศนะคติ ค่านิยม"
"สื่อมวลชนก็มีอิทธิพลมากในการที่จะต่อสู้ให้เกิดค่านิยม ความเชื่อถือ
และสื่อมวลชนก็มีอิทธิพลมากในการที่จะต่อสู้ให้เกิดค่านิยมความเชื่อถือขึ้น…"
พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก เคยกล่าวไว้เช่นนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม
2537 ต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก
ผมอยากจะทบทวนสิ่งพระเดชพระคุณเทศนาให้แก่พวกเราไว้อีกครั้ง ณ ที่นี้
……
เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบแล้วก็จะพูดถึงจุดเน้นที่ควรทำก็คือ
อันที่หนึ่ง คือการเสนอข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำ ตรงประเด็น เชื่อถือได้
เป็นหลักฐานที่ใช้อ้างอิงต่อไปได้
ต่อไป คือการพัฒนาคุณภาพของประชาชน โดยเฉพาะพัฒนาด้านปัญญา ให้ประชาชนมีความใฝ่รู้
สนใจในแก่นสาร สาระ ไม่หมกมุ่นอยู่กับข่าวสารที่ตื่นเต้น
อีกประการหนึ่ง ก็คือว่า ช่วยแก้กระแสร้ายในสังคม อะไรที่เป็นภัยอันตรายแก่สังคมปัจจุบัน
หรือจะทำให้เกิดภัยอันตรายในแนวโน้มอันใกล้ สื่อมวลชนจะต้องยกขึ้นมาเพื่อให้เป็นประเด็นที่สนใจของประชาชน
มาช่วยกันกำราบภัยของสังคมไม่ให้เกิดขึ้น
แล้วก็แก้ไขค่านิยมที่ผิดๆ ในสังคม อย่างค่านิยมบริโภค สื่อมวลชนก็ต้องมีบทบาทว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ไขค่านิยมประเภทนี้ได้
แล้วก็เตือนสติสังคมว่าต่อไปนี้ปัญหาอะไรที่จะเกิดขึ้น และควรจะต้องทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น
สิ่งที่สำคัญก็คือว่า เราควรจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างสรรค์สังคมว่าเราจะทำอย่างไร
ซึ่งสื่อมวลชนแต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กร แต่ละหน่วย น่าจะมีเป้าหมายของตัวเองให้ชัดออกมาว่าจะทำอะไร
เราต้องตั้งเป้าหมายว่าฉบับของเรานี้จะทำอะไร
สุดท้าย ก็คือการมีจุดหมายสูงส่งที่เป็นอุดมคติ
น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะต้องมีหนังสือพิมพ์ไทยสักฉบับหนึ่ง ที่มีมาตรฐาน
มีคุณภาพสูงมาก เป็นหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในระดับโลก อันนี้มันจะต้องอยู่ที่เราตั้งความมุ่งหมาย
ถ้าเราไม่ตั้งความมุ่งหมาย ไม่มีความเด็ดเดี่ยวในความตั้งใจ มันก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้
เพราะฉะนั้นเราจะมัวคิดแคบๆ มองแต่ประเทศเราว่าเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยคงจะไม่ได้
ถ้าเราตีค่าตัวเองต่ำมันก็ทำให้เราไม่ทำอะไร มีความสำนึกในทางที่สร้างสรรค์
ต้องตั้งเป้าหมาย ตั้งเป้าหมายสูงเราก็พัฒนาศักยภาพ เราก็มีศักยภาพได้
ฉะนั้นเราต้องคิดในระดับโลก ไม่ใช่คิดในระดับประเทศไทย
เราจะต้องนำกิจการของเรา สถาบันของเรา ขึ้นไปถึงระดับโลก ระดับมาตรฐาน ในกรณีนี้
การสร้างสรรค์สังคมนั้นก็ไม่ได้หมายถึงแต่การสร้างสรรค์สังคมไทย แต่หมายถึงการสร้างสรรค์สังคมในแง่ที่เป็นอารยธรรม
สร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์โลกทั้งหมด ถ้าหากหนังสือพิมพ์มีความรับผิดชอบในตัวเอง
ทำตัวเองให้น่าเชื่อถือแล้ว มันก็จะเป็นการสร้างสรรค์สังคมส่วนหนึ่ง
ในเรื่องการทำหน้าที่สื่อมวลชนมันมีอยู่อันหนึ่งว่า เราทำงานเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลเราจะต้องมีปัญญา
มีวิธีการที่จะจัดการกับข่าวสารข้อมูล
ข้อที่หนึ่ง
คือการที่เรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างชัดเจนเพียงพอ เมื่อมองเรื่องนั้นๆ
แล้ว เราสามารถลำดับเรื่องราวได้ มองดูเนื้อหาแล้วพรรณนาได้ บรรยายได้ อันนี้เป็นประการที่เราจะทำงานด้านสื่อสารข้อมูล
ต้องถามตัวเองว่าเรามีความเข้าใจเพียงพอไหม ชัดเจนไหม ถูกต้องไหม มิฉะนั้นแล้วถ้าอันนี้พลาด
ก็จะพลาดหมด
ข้อที่สอง
ก็คือจับประเด็นได้ คือจะต้องรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นประเด็นอยู่ตรงไหน
ตัวปัญหาหลายคน เรื่องราวนี้ตัวเองพอจะรู้เข้าใจ แต่จับประเด็นไม่ได้
ข้อที่สาม
ความสามารถในการใช้ภาษา จะต้องสามารถใช้ภาษาสื่อความเข้าใจกับประชาชนให้เขาเข้าใจถูกต้อง
แม่นยำ ตรงกับที่เราต้องการให้เขาเข้าใจ
ถ้าสามารถอย่างนั้น สื่อมวลชนบางคนเก่งก็สามารถชักจูงความคิดเห็น สร้างประชามติ
สร้างมติมหาชนได้ แต่อันนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างน้อยต้องใช้ภาษาสื่อสารได้
ข้อที่สี่
ก็คือ สามารถเชื่อมโยงความรู้ข้อมูลต่างๆ มาสร้างสรรค์ความรู้ความคิดใหม่ๆ
นั่นคือการนำความรู้ที่มีอยู่แล้วมาเชื่อมโยงกันสร้างความรู้ในการแก้ปัญหา
4 ประการนี้ถ้าทำได้อาตมาว่า มีความพร้อมในการทำหนังสือพิมพ์
ต่อจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรม มีคุณธรรมอย่างไร มีเจตนาอย่างไรในการที่จะเอาความสามารถมาใช้ในการข่าวสารข้อมูล
หากสื่อมวลชนมีเจตนาดี มีความคิดที่ต้องการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคม
เราก็ใช้ความสามารถในการจัดการกับข่าวสารข้อมูล ก็จะทำให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้
นี่ก็เป็นหลักใหญ่ๆ คือต้องการชี้ให้เห็นว่าสื่อมวลชนเป็นงานที่สร้างสรรค์สังคม
เน้นที่สำคัญคือตอนนี้สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในสังคม แต่ว่าสิ่งทั้งหลายก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนทุกอย่าง
ฉะนั้นการที่จะรักษาอิทธิพลนี้ไว้ได้ก็จะต้องสร้างความเชื่อถือที่แท้จริงให้เกิดขึ้น
ความเชื่อถือที่แท้จริงก็เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง อย่างมีความรับผิดชอบ
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่จะทำได้ง่ายเพียงเพื่อสนองความต้องการของประชาชนเท่านั้น
แต่ว่าต้องทำด้วยการตั้งจิตอยู่ในความยับยั้งชั่งใจ
ถ้าสื่อมวลชนมีความพยายามในการสร้างสรรค์ในการใช้สติปัญญาในการใช้เหตุผลพัฒนาตัวเราเอง
พยายามที่พัฒนาคุณภาพของงานมาตรฐานของความเชื่อถือในระยะยาวก็จะเกิดขึ้น
แต่ความเชื่อถือที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ช้าประชาชนก็จะมีสติปัญญา รู้เท่าทัน
แล้วก็การเสนอข่าวที่ตื่นเต้นก็จะไม่ยั่งยืน จะไม่สามารถและดำรงความเชื่อถือในระยะยาวได้
เพราะฉะนั้นเราจะต้องสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องทำด้วยความวิริยะอดทน
และมีความยับยั้งชั่งใจ มีสติรอบคอบก็คือการตั้งอยู่ในปัญญาและเหตุผล
สิ่งเหล่านี้แม้จะทำยากแต่ถ้าทำสำเร็จก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ
เพราะตัวเองก็พัฒนาด้วย และก็เป็นการพัฒนาคุณภาพของสังคมให้เจริญก้าวหน้าด้วย
….
สาธุ