|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
*เปิดเบื้องลึกประมูลระบบอาณัติสัญญาณส่วนต่อขยาย BTS ช่วงสะพานตากสิน-ตากสินไม่คืบ
*จับตา TOR ใหม่ เอื้อเลือกใช้วิธีพิเศษจัดซื้อ-จัดจ้าง ช่องว่างเรียกรับเงินใต้โต๊ะ
*คนฝั่งธนฯฝันค้าง เมื่อไหร่จะได้นั่งรถไฟฟ้าเข้ากรุง?
หลังจากการที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดประมูลระบบอาณัติสัญญาณสำหรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS ช่วงสะพานตากสิน-ถนนตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร มูลค่าราว ๆ 1,000 กว่าล้านบาท โดยได้เปิดเอกชนเข้าร่วมประกวดราคา ซึ่งมีบริษัทสนใจเข้าร่วมยื่นซองประกวดราคา 2 ราย ได้แก่ บริษัท ซีเมนต์ จำกัด และบริษัท อัลคาเทล (ประเทศไทย) จำกัด
ผลที่ออกมาคือบริษัท อัลคาเทล เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเสนอราคาที่ต่ำกว่าซีเมนต์ คือ อัลคาเทล เสนอราคา 1,166 ล้านบาท ขณะที่ซีเมนต์เสนอราคา 1,288 ล้านบาท จากราคากลาง 1,075 ล้านบาท
แต่แล้วผลการตรวจสอบปรากฏว่า บริษัท อัลคาเทล ไม่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค ซึ่งทางสำนักงานจราจรและขนส่ง(สจส.) ได้เสนอให้สำนักงานปลัดกทม.ยกเลิกการประกวดราคาว่าจ้างผู้รับเหมาติดตั้งวางระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย จากสะพานตากสินไปฝั่งธนบุรี เพราะติดขัดเรื่องคุณสมบัติด้านเทคนิคของผู้ชนะการประกวด คือ บริษัท อัลคาเทล
ทำให้ทางผู้บริหารกทม.ต้องกลับมาทบทวนข้อกำหนดรายละเอียดและคุณสมบัติเฉพาะครุภัณฑ์ (TOR) ใหม่ เพื่อลดจุดบกพร่องและแก้ไขช่องโหว่ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ทั้งนี้เพื่อแก้ข้อครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนรายเดียว ซึ่งทางสำนักงานการจราจรและขนส่งได้มีการปรับปรุงแก้ไข TORใหม่ให้ตรงกับความต้องการของกทม.และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือเพื่อปรับเปลี่ยนระบบให้มีความเหมาะสม โปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดในการเดินรถ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ คาดว่าจะสรุปร่าง TOR ใหม่ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
อรวิทย์ เหมะจุฬา ผู้อำนวยการกองขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า เนื้อหารายละเอียดที่ทางคณะกรรมการร่าง TOR จะเสนอนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม คือในร่าง TORใหม่นั้น จะเป็นไปตามความต้องการของ บีทีเอสซี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบ จากเดิมเป็นระบบปิดให้เป็นระบบเปิด "Communication Based Train control System" (CBTC) และการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงาน เช่น จากเดิมกำหนด 345 วัน อาจเป็น 360 วัน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางสัปดาห์นี้ และจะสามารถประกาศ TOR ใหม่ได้ภายในประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้านี้
แจงเหตุประมูลล่มซีเมนต์-อัลคาเทลผิดเงื่อนไข
ทั้งนี้ สาเหตุของการที่ต้องล้มการประกวดราคาในครั้งนี้ เนื่องจากอัลคาเทลและซีเมนต์เสนอเงื่อนไขผิดทั้งสองฝ่ายคือซีเมนต์เสนอระบบปิดขณะที่อัลคาเทลเสนอระบบเปิด ซึ่งรายละเอียดบางข้อไม่สอดคล้องกับ TOR ซึ่งต้องมีการยื่นซองประกวดราคาใหม่
และถึงแม้ว่าอัลคาเทลจะใช้ระบบเปิด แต่เนื่องจากระบบที่รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบที่อัลคาเทลใช้อยู่ คือระบบ Moving Blockหรือระบบเปิด เพราะทั้งบีทีเอสและรฟม.ที่เปิดใช้บริการอยู่ขณะนี้ใช้ระบบเทคนิคของซีเมนต์อยู่คือระบบ Fixed Block หรือ ระบบปิด
โดยเทคนิคที่บริษัท อัลคาเทลใช้ เรียกว่า "Communication Based Train control System" (CBTC) ซึ่งเป็นคุณสมบัติทางเทคนิคของบริษัท ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและรองรับการต่อขยายโครงการในอนาคต
สำหรับเหตุผลที่บริษัทอัลคาเทลไม่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิคนั้น เพราะในร่าง TOR เดิมกำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคให้เป็นระบบอาณัติสัญญาณปิด ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับที่บริษัทรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินของรฟม.ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกทม.ไม่ควรเปลี่ยนแปลง TOR ให้เป็นระบบอาณัติสัญญาณระบบเปิด CBTC เพราะจะทำให้บริษัทอัลคาเทลผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคเพียงบริษัทเดียว รวมถึงควรต้องรอร่าง TORใหม่ของ สจส. เพื่อให้มีการประกวดราคาใหม่ เพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใส
ทั้งนี้ทางกทม.ก็ไม่ยอมแพ้โดยจะเจรจากับผู้บริหารแผนฟื้นฟูรถไฟฟ้าบีทีเอส คือ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ให้ลงทุนระบบเชื่อมต่อระหว่างระบบของอัลคาเทลที่รถไฟฟ้าส่วนขยายจะใช้ ให้เข้ากับระบบของซีเมนต์ ซึ่งบีทีเอสและ รฟม.ใช้อยู่ โดยจะใช้เงินลงทุนในการเชื่อมระบบประมาณ 2,500 ล้านบาท
“เหตุผลที่กทม.และบีทีเอสซีต้องการอัลคาเทลนั้นประเด็นหลักๆอยู่ที่บีทีเอสซี เพราะเป็นผู้เดินรถ ในขณะที่ราคาเสนอก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก ทั้งนี้ทาง สจส.เองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้อยู่แล้ว ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คือ บีทีเอสซี เพราะต้องการจะเปลี่ยนระบบที่มันใหม่กว่าและทันสมัย ซึ่งอัลคาเทลก็ใช้ระบบนี้อยู่จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ทางกทม.และบีทีเอสซีจะไม่เอาอัลคาเทล ”อรวิทย์ กล่าว
จับตาใช้วิธีพิเศษจัดซื้อช่องว่างคอรัปชั่น
ดังนั้น เหตุผลที่กทม.อ้างคือต้องการที่จะเร่งให้โครงการนี้แล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการภายในปี 2550 และคาดว่าหากกรณีระบบเชื่อมสัญญาณที่มีปัญหานี้ อาจมีการใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อ จัดจ้าง คือเรียกมาเจรจาต่อรองราคาค่าจ้างเลย โดยยังคงยืนยันว่า ให้อัลคาเทลเป็นผู้ดำเนินการในโครงการดังกล่าว เนื่องจากราคาที่เสนอต่ำกว่าราคาของซีเมนต์
กทม.เกรงว่าหากโครงการนี้ล่าช้า อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับภาครัฐและประชาชนชาวฝั่งธน จึงพิจารณาว่าหากจะใช้วิธีการพิเศษเลือกอัลคาเทล ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณให้ได้ประมาณ 100 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่ซีเมนต์เสนอราคาสูงกว่าอัลคาเทล เพราะหากเปรียบเทียบกับเงินที่ต้องใช้ในการลงทุนเพื่อเชื่อมระบบใหม่ให้เข้ากับระบบเก่าของซีเมนต์ที่บีทีเอสและรฟม.ใช้อยู่ ซึ่งเป็นวงเงินวงเงิน 2,500 ล้านบาทนั้น หากให้ซีเมนต์เป็นผู้วางระบบอาณัติสัญญาณจะคุ้มกว่าบริษัท อัลคาเทล
ทั้งนี้เพราะเดิมทีบริษัทซีเมนส์ในฐานะที่เคยรับติดตั้งระบบดังกล่าวของรถไฟฟ้าบีทีเอส มีสิทธิที่จะได้รับงานดังกล่าว แต่เนื่องจากเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บริษัทซีเมนส์ ได้เจรจากับ กทม.เพื่อขอเพิ่มวงเงินค่าติดตั้งเป็นจำนวน 1,800 ล้านบาท โดยอ้างว่าวัสดุและอุปกรณ์ขึ้นราคา แม้ว่า กทม.ได้พยายามต่อราคา แต่บริษัท ซีเมนส์ไม่ยินยอม กทม.จึงหารือกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี
โดย บีทีเอสซีได้เสนอให้ กทม.เจรจากับบริษัท อัลคาเทล เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการวางระบบดังกล่าวในประเทศอื่นๆ อีกทั้งบีทีเอสซีได้ยืนยันกับ กทม.ว่า ระบบของบริษัท อัลคาเทล สามารถเชื่อมต่อกับระบบเดิมที่บริษัท ซีเมนต์ได้ติดตั้งไว้แล้ว จึงทำให้ กทม.ตัดสินใจเชิญบริษัท อัลคาเทล เข้าร่วมยื่นซองเสนอราคาแข่งขันกับบริษัท ซีเมนต์ ในที่สุด
|
|
|
|
|