|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กลุ่มคอมลิ้งค์ลุยตลาดหุ้นครั้งใหญ่ หลังได้กุนซือดี "สมโภชน์ อาหุนัย" มือสร้างหยวนต้าจนขึ้นโบรกเกอร์อันดับหนึ่ง ก่อนควบเป็นกิมเอ็งแล้วโดนเขี่ยทิ้ง ปั้น"บีฟิท"พิสูจน์ฝีมือทวงบัลลังก์คืน แถมจับมือมหัทธนาดุลย์ชุบชีวิตซีฮอร์สพันธมิตรในบีฟิท ใช้จังหวะเหมาะดันราคาโด่งด้วยวอลุ่มอันน้อยนิด วัดใจตลาดหลักทรัพย์-ก.ล.ต.ทำอะไรอยู่
กลุ่มคอมลิงค์ถือเป็นนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่มีเม็ดเงินหนา หลังจากที่ชนะคดีกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2542 ได้เงินค่าเช่าวงจร 3,865 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 7.5% เงินสดจำนวนมากที่ได้มาทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่เนื้อหอม ใคร ๆ ก็อยากชวนไปลงทุน
คอมลิงค์ประกอบด้วยแกนนำอย่างศิริธัช โรจนพฤกษ์ ตระกูลล่ำซำ เบียร์สิงห์ และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แต่รายหลังได้ลาออกจากคอมลิ้งค์หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่ผ่านมาคอมลิงค์ค่อนข้างเก็บตัว จึงไม่พบความเคลื่อนไหวการลงทุนที่หวือหวา แต่ระยะหลังได้เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ทั้งการถือหุ้น 23 ล้านหุ้นในไทยธนาคาร และการเข้ามาถือหุ้นบริษัททรีนีตี้วัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ TNITY ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์กว่า 57% ปัจจุบันได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 14.19%
"สมโภชน์ อาหุนัย" คืนสังเวียน
แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนกล่าวว่า เดิมรูปแบบการลงทุนของคอมลิงค์ในตลาดหุ้น เท่าที่เห็นมักเป็นการลงทุนระยะยาว แต่ในระยะหลังได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุน ด้วยการกระจายการลงทุน ไม่ถือเป็นจำนวนมากหรือถือยาวเหมือนในอดีต เห็นได้จากการทยอยขายหุ้นใน TNITY ออกมาสร้างกำไรให้กับคอมลิ้งค์ได้มาก
บุคคลที่เข้ามามีส่วนสำคัญทางด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้กับกลุ่มนี้ได้แก่ สมโภชน์ อาหุนัย อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า จำกัด โบรกเกอร์อันดับหนึ่งของเมืองไทย ก่อนที่จะควบรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง
"เราได้เห็นการลงทุนในเชิงรุกของกลุ่มคอมลิ้งค์มากขึ้น ด้วยการเข้าไปลงทุนในกลุ่มฟินันซ่า และเข้าไปถือหุ้นบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ที่กำลังจะนำเอาบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท จำกัด หรือ BSEC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกบริษัทหนึ่ง"แหล่งข่าวกล่าว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มคอมลิ้งค์จะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจด้านหลักทรัพย์มากขึ้น ถือเป็นความชำนาญของอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้ารายนี้ และมีความเป็นไปได้สูงที่โบรกเกอร์หมายเลข 27 อาจกลายเป็นโบรกเกอร์ที่ขึ้นแท่นมาทวงตำแหน่งแชมป์จากโบรกเกอร์หมายเลข 42 อย่างกิมเอ็ง ที่สมโภชน์เคยปลุกปั้นมาจากซากบริษัทที่มีเพียงใบอนุญาตประกอบธุรกิจจนกลายเป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ก่อนที่เขาจะถูกกดดันให้ลาออกหลังจากงานสำเร็จ
หากจะมองว่าเป็นการพิสูจน์ฝีมือของสมโภชน์ อาหุนัย อีกครั้งก็ได้ แต่การกลับมาของเขาครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน โดยเฉพาะทีมงานของคอมลิ้งค์ที่มีสัมพันธภาพที่ดีเยี่ยมกับทุกกลุ่มทุนในสังคมไทย
ชุบชีวิต SH
ไม่เพียงแค่การปลุกปั้นบริษัทหลักทรัพย์บีฟิทจนก้าวขึ้นมาติดอันดับ 7 และเป้าต่อไปน่าจะขึ้นไปเบียดกับผู้นำได้ในเวลาอีกไม่นาน และในเดือนกันยายนได้พบชื่อของสมโภชน์ อาหุนัย ร่วมกับวรเจตน์ อินทามระ ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจากบริษัท ซีฮอร์ส จำกัด(มหาชน)หรือ SH จนทำให้ทั้ง 2 กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 93.52% ขณะที่เจ้าของเดิมอย่างตระกูลมหัทธนาดุลย์ ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 75.30% เหลือแค่ 4.88%
นี่คือสิ่งที่ไม่ธรรมดาที่เกิดขึ้นกับ SH จากเดิมที่ประกอบธุรกิจประเภทส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋องเป็นหลัก เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2535 แต่การเพิ่มทุนใหม่ให้กับบุคคลทั้ง 2 ได้มีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านพลังงาน ด้วยการเข้าไปลงทุนใน บริษัท พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ จำกัด ที่ได้รับอนุมัติให้ผลิตเอทานอล แต่เจ้าของเดิมคิดจะเลิกทำเนื่องจากความไม่แน่นอนในนโยบายของรัฐ แต่ทางผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ของ SH เห็นว่าโครงการนี้ยังเดินหน้าต่อไป
ซื้อกิจการเจ้านาย
การซื้อพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ ครั้งนี้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสงสัย และได้สั่งให้บริษัทชี้แจงข้อสงสัยหลายประการ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือบริษัทพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือสุพิน โรจนพฤกษ์ถือหุ้น 99.95% และบริษัทนี้มีกรรมการ 2 ท่านคือสุพิน โรจนพฤกษ์และศิริธัช โรจนพฤกษ์ ผู้นำกลุ่มคอมลิงค์นั่นเอง
แม้ว่าการเข้าซื้อพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ครั้งนี้จะซื้อที่ราคาตามบัญชี แต่จากผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เข้าซื้อกิจการระหว่างกัน ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้ยังไม่ได้มีการก่อสร้างใด ๆ แต่ทีมงานของคอมลิ้งค์ที่ถือหุ้นใหญ่ใน SH กลับเห็นโอกาสที่ดีของธุรกิจนี้ทั้ง ๆ ที่นายของตนเป็นกรรมการในบริษัทพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ อยู่
หากพิจารณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาธรหรือ BFIT ที่กลุ่มคอมลิงค์ได้เข้าลงทุน พบชื่อของวรเจตน์ อินทามระ ที่เข้าซื้อหุ้นใน SH จำนวน 78.38% ยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BFIT ด้วย โดยถือหุ้นอยู่ 4.96% ศิริธัช โรจนพฤกษ์ ถือ 4.94% และพบชื่อของชาตรี มหัทธนาดุลย์ เจ้าของ SH ถือใน BFIT จำนวน 1.22 ล้านหุ้นหรือ 0.61%
นี่คือความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคอมลิ้งค์ที่มีต่อ SH และสานต่อไปถึงธุรกิจของโรจนพฤกษ์อย่างพาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ ที่ล้มโครงการไปแล้วแต่ทีมงานของคอมลิ้งค์อย่างสมโภชน์กลับนำเอาโครงการนี้มาปัดฝุ่นใหม่
ขณะเดียวกันถือเป็นจังหวะเวลาที่ลงตัวเนื่องจากหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท จำกัด(มหาชน) หรือ BSEC เสนอขายให้กับนักลงทุนระหว่าง 8-10 พฤศจิกายน 2549 ที่ราคา 4.20 บาท และตัวของ SH ที่อยู่ระหว่างเทนเดอร์ออฟเฟอร์ก็พร้อมจะทยานขึ้นสร้างกำไรมหาศาลให้กับเจ้าของบริษัทเดิมและผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่
100 หุ้นดัน 30%
การซื้อของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ที่ราคา 0.63 บาทต่อหุ้นจากราคาพาร์ 1 บาท จากหุ้นที่สภาพคล่องน้อยและหุ้นเกือบทั้งหมดอยู่ในมือของเจ้าของกิจการ ราคาหุ้น SH ที่เดิมไม่ค่อยมีการซื้อขาย โดยราคาสุดท้ายก่อนมีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุน 2 ราย ราคาปิดที่ 7 บาท(พาร์ 10 บาท)เมื่อ 18 สิงหาคม 2549 และไม่มีการซื้อขายจนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน 2549 ราคาเพิ่มขึ้น 30% มาอยู่ที่ 9.10 บาท ด้วยปริมาณการซื้อขายเพียง 100 หุ้นเท่านั้น และราคาก็ปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึง 38 บาทเมื่อ 2 ตุลาคม 2549 ด้วยปริมาณหุ้น 7,900 หุ้น และเมื่อมีการแตกพาร์จาก 10 บาทเหลือ 1 บาท SH ขึ้นต่อไปถึง 4.48 บาท หรือ 44.80 บาทจากพาร์ 10 บาท ด้วยจำนวนหุ้นเพียง 10,200 หุ้น
ที่สำคัญหุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ราย ไม่มีการกำหนดระยะเวลาห้ามขาย แต่หลังจากการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์เสร็จ ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 รายก็ต้องขายหุ้นออกมาเพื่อให้บริษัทดำรงสถานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แน่นอนว่าการขายย่อมต้องขายในราคาตลาด จากนับจากทุนที่ 0.63 บาทกับราคาสูงสุดที่ 4.48 บาท กำไรที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 3.85 บาทต่อหุ้นหรือ 611%
วัดใจ ก.ล.ต.-ตลท.
โบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าวว่า มีหลายสิ่งที่น่ากังวลกับดีลที่เกิดขึ้นกับทีมงานของคอมลิ้งค์ นั่นคือตัวบริษัทหลักทรัพย์บีฟิท จำกัด เดิมเคยยื่นเรื่องเสนอขายหุ้นมาระยะหนึ่งแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ทำการซื้อขาย แต่เมื่อมีคำสั่งศาลปกครองออกมาและเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่ เรื่องการโยกย้ายตัวมาร์เก็ตติ้งที่เป็นปัญหากันอยู่กลับถูกปล่อย และหลังจากนี้ปัญหานี้ก็จะลามกันทุกโบรกเกอร์
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะการเข้าซื้อ SH ของกลุ่มคอมลิงค์ด้วยแล้ว เห็นได้อย่างชัดเจนว่านี่คือการปูทางให้ SH เป็นหุ้นเก็งกำไรที่ร้อนแรงอีกตัวหนึ่งในอีกไม่ช้า จึงไม่เข้าใจว่าผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังทำอะไรกันอยู่ เข้าซื้อกิจการที่เป็นแค่แนวคิดที่ไม่มีอะไรจับต้องได้ แถมกิจการที่ซื้อยังเป็นของบุคคลในกลุ่มเดียวกัน
ขณะที่ราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมากทั้ง ๆ ที่มีการซื้อขายหุ้นเพียงแค่ 100 หุ้นเป็นต้น เรื่องเหล่านี้ทางการปล่อยให้ดำเนินการได้อย่างไร เพราะรู้กันอยู่กว่าเฉพาะผู้ถือหุ้นใหม่ครองหุ้น SH อยู่ 93.52% กลุ่มมหัทธนาดุลย์ถืออีก 4.88% รวมกันแล้วกว่า 98.4% แล้วยังปล่อยให้มีการทำราคาหุ้นด้วยจำนวนหุ้นไม่กี่หุ้นเท่านั้น
การกลับเข้ามามีบทบาทในตลาดหุ้นของกลุ่มคอมลิ้งค์ ภายใต้กุนซือคนสำคัญอย่างสมโภชน์ อาหุนัย ที่สร้างปรากฎการณ์อันลือลั่นให้กับวงการโบรกเกอร์มาแล้ว ครั้งนี้ทางการจะรับมือกับธุรกรรมเหล่านี้อย่างไร
|
|
|
|
|