"เยื่อกระดาษสยาม"สวมบทเจ้าบุญทุ่ม ควัก 1 พันล้านเตรียมซื้อหุ้นเพิ่มทุน"ไทยเคนเปเปอร์"
กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40% โดยจะเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินในต้นเดือนหน้า ลั่นยินดีรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมในราคาหุ้นละ
10 บาท มั่นใจการเข้าไปซื้อบริษัท เยื่อและกระดาษไม่เข้าข่ายผิดข้อกฎหมายผูกขาดทาง
การค้า ด้านปูนใหญ่เตรียมยื่นทำเทนเดอร์ฯ ซื้อหุ้น "เยื่อ กระดาษสยาม"
คืนจากรายย่อยเพื่อนำออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเสนอราคาซื้อหุ้นละ 195 บาท ไม่รวม
เงินปันผลงวดปี"45 อีก 12.50 บาท
นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ
SCC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) หรือ SPP เปิดเผยว่า
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเยื่อ กระดาษสยาม อนุมัติให้มีการเพิกถอนบริษัทฯออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
หลังจากที่ปูนใหญ่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มอีก 9.46%จากกลุ่มบริษัทหยวน ฟุง หยู (ไต้หวัน)
ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของปูนใหญ่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 97%
โดยปูนซิเมนต์ไทยจะยื่นประกาศเจตนาเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (Tender Offer) แก่ผู้ถือหุ้นของเยื่อกระดาษสยามในส่วนที่เหลือ
ในราคาหุ้นละ 195 บาท ไม่รวมเงินปันผลงวดประจำปี 2545 อีกหุ้นละ 12.50 บาท โดยผู้มีสิทธิรับเงินปันผลจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
ณ วันปิดสมุดวันที่ 5 มีนาคม 2545
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการทำคำเสนอซื้อหุ้นเยื่อกระดาษสยามได้ประมาณเมษายน
2546 ภายหลังจากบริษัทได้รับอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของเยื่อกระดาษสยามไม่น้อยกว่า
90% โดยเยื่อกระดาษสยามจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 25 มีนาคมศกนี้
ฮุบ TCP 40%
นายชุมพล กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมฯยังได้มีมติซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ไทยเคนเปเปอร์
จำกัด (มหาชน) หรือ TCP จำนวน 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม
1,000 ล้านบาท และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ต้องการขายหุ้นTCP สามารถขายให้กับเยื่อกระดาษสยามได้ในราคาหุ้นละ
10 บาท
โดยแหล่งเงินนั้นจะมาจากกระแสเงินสดในเยื่อ กระดาษสยาม เพราะปัจจุบันบริษัทฯ มีEBITDAปีละ
1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ทางเยื่อกระดาษสยามจะเข้าไปตรวจสอบ ทรัพย์สิน (Due diligence) โดยจะเริ่มเข้าไปตรวจสอบประมาณ
30 วันหลังจากคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยนำเข้าเรื่องนี้เข้าพิจารณา ประมาณสิ้นมกราคม
2546
ภายหลังการเข้าร่วมทุนของบริษัทเยื่อกระดาษ จะถือหุ้นประมาณ 40% และH&Q Asia
Pacific 32% ส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย
"การลงทุนในไทยเคนเปเปอร์ ยังมีขั้นตอนที่จะต้องดำเนินงานต่อไปทั้งข้อตกลงกับตัวบริษัท
และ บสท. พร้อมทั้งเข้าไปตรวจสอบบัญชีเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 วันหลังจากนั้นจะบอกได้ว่าจะซื้อหุ้นไทยเคนเปเปอร์หรือไม่
เพราะถ้าพบว่ามีข้อมูล ไม่ตรงกับที่ได้รับมาในเบื้องต้นก็อาจถอนตัวได้" นายชุมพล
กล่าว
การตัดสินใจเข้าไปซื้อหุ้นในไทยเคนเปเปอร์ เนื่องจากธุรกิจกระดาษถือเป็นธุรกิจหลักของเครือซิเมนต์ไทยและเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดี
หากบริษัทฯ ไม่ตัดสินใจซื้อไทยเคนเปเปอร์ก็คงต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจกระดาษ
เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (อาฟตา) ในปีนี้ภาษีนำเข้าของกระดาษจากเดิม
5% จะเหลือ 0% ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันโดยอาศัยภาษีนำเข้าเป็นเกราะกำบังได้อีกต่อไป
ดังนั้น ทางเดียวที่ผู้ประกอบการนี้จะแข่งขันได้จะต้องมีธุรกิจที่เข้มแข็ง ต้นทุนต่ำ
สามารถแข่งขันด้านราคากับกระดาษนำเข้าจากประเทศอาเซียนด้วยกันได้ ซึ่งปัจจุบัน
ประกอบกับทางไทยเคนเปเปอร์ก็อยู่ในช่วงที่หาผู้ร่วมลงทุนใหม่ ซึ่งบสท.ต้องการหาผู้ร่วมทุนที่ดำเนินธุรกิจกระดาษอยู่แล้วนอกเหนือจากเม็ดเงินที่จะใส่ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน
เพื่อเข้ามาร่วมบริหารงาน ให้บริษัทสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้โดยไม่กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลอีก
ที่ผ่านมา ทางเยื่อกระดาษสยามเคยประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าไปซื้อกิจการหรือเข้าไปบริหารบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเยื่อและกระดาษซึ่งอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้กับบสท.
โดยหนึ่งในนั้นคือไทย เคนเปเปอร์
ส่วนจะผิดกฎระเบียบตามพ.ร.บ.ผูกขาดการค้าหรือไม่นั้น นายชุมพล กล่าวว่า ไม่น่าจะเข้าข่ายผิดข้อกฎหมายดังกล่าว
เพราะการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ
และยังช่วยเหลือบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่ง ภายใต้กรอบการค้าเสรีแล้ว หากธุรกิจไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งได้
โอกาสจะแข่งขันกับต่างประเทศก็ทำได้ยาก
ปัจจุบันความต้องการใช้กระดาษในไทยตกราวปีละ 3 ล้านตัน ขณะที่กำลังการผลิตของโรงงาน
เยื่อและกระดาษยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซียสูงถึงปีละ 6 ล้านตัน
ขณะที่กำลังการผลิตกระดาษของกลุ่มเยื่อกระดาษสยามภายหลังซื้อหุ้นในไทยเคนเปเปอร์แล้วจะอยู่ที่
1.47 ล้านตัน แบ่งเป็นกระดาษคราฟท์ 1.07 ล้านตัน และกระดาษพิมพ์เขียนอีก 4 แสนตัน
ด้านนายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอช แอนด์ คิว เอเชีย แปซิฟิก
ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุน Asia Pacific Growth Fund II ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท
ไทยเคนเปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TCP กล่าวว่า การที่เยื่อกระดาษสยาม จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน
100 ล้านหุ้น คิดเป็น 40% ของทุนจดทะเบียน จะมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจซึ่งกันและกัน
ซึ่งจะส่งผลดีและเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นของทั้งสองฝ่าย
คาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณไตรมาสแรกของปี 2546 โดยเยื่อกระดาษสยามจะเข้ามาตรวจสอบฐานะบริษัทฯประมาณกุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ ไทยเคนเปเปอร์ถือเป็นบริษัทผลิตกระดาษอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติแผนปรับโครงสร้างหนี้จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(บสท.) แล้ว โดยไทยเคนเปเปอร์จะต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท เพื่อมาชำระคืนหนี้
SPP ฟันกำไร 4,079 ล้านบาท
นายสมบูรณ์ ชัชวาลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน)
กล่าวถึงผลการดำเนินงานประจำงวดปี 2545 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ว่า บริษัทฯ
และ บริษัทย่อย มียอดขายรวม 29,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะ เวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน
26,995 ล้านบาท
โดยมีกำไรสุทธิ 4,079.42 ล้านบาท เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ
3,271.48 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 26.10 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้น
20.93 บาท
สาเหตุใหญ่เนื่องจากรับรู้ส่วนได้ส่วนเสียของกำไรสุทธิบริษัทย่อย โดยเฉพาะบริษัทฟินิคซ
พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PPPC ขณะที่ปี 2544 ยังไม่ได้รวมบริษัทดังกล่าว
ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเยื่อกระดาษสยามจึงเห็นสมควรเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี
2545 ในอัตราหุ้นละบาท 12.50 บาท โดยกำหนดจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 9 เมษายน 2546
และกำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2546 เพื่อพิจารณาจ่ายเงิน ปันผล
และเพิกถอนหุ้นของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แขวนป้าย "SP"
ด้านตลาดหลักทรัพย์ได้ขึ้นเครื่องหมายสั่งห้าม ซื้อหรือขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว
"SP" ของ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2546 เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทมีมติเพิกถอนหุ้นของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
โดยให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นส่วนที่เหลือ
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท