"ชุมพล ณ ลำเลียง" วอนรัฐผ่อนผันเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก หวั่นกระทบต้นทุนสินค้าและธุรกิจต่างๆชะลอตัวไปมากกว่านี้
เนื่องจากขาดแคลนรถบรรทุก เผยขณะนี้ลุกลามไปถึงการส่งออกบ้างแล้ว ยืนยันราคาขายปูนขยับขึ้น
ไม่เกี่ยวกับปูนใหญ่ แต่มาจากการขนส่งขาดแคลน ส่วนผลประกอบการปี45 ปูนใหญ่กำไรโต
92% ประกาศจ่ายปันผลหุ้นละ 30 บาท พร้อมทั้งแตกพาร์เหลือหุ้นละ 1 บาท เพื่อให้หุ้นมีสภาพคล่องมากกว่าเดิม
นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
หรือ SCC กล่าว ถึงกรณีที่ราคาขายปลีกปูนซีเมนต์ในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นประมาณถุงละ
20 บาทนั้น สืบเนื่องมาจากปัญหารถบรรทุกขาดแคลน เป็นผลสืบเนื่องจาก ความเข้มงวดในเรื่องน้ำหนักการบรรทุกสินค้าที่รัฐผ่อนผันให้เหลือ
26 ตันจากเดิมที่เคยบรรทุกถึง 40 ตัน ทำให้กระทบต่อการขนส่งปูนซีเมนต์ไปด้วย โดยที่บริษัทฯไม่ได้เสนอปรับราคาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าราคาค่าขนส่ง ในประเทศที่ผ่านมา ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีการบรรทุกน้ำหนักเกิน
แต่เมื่อรัฐหันมาบังคับให้รถบรรทุกสินค้าน้ำหนักตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ย่อมทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และขณะนี้ต้นทุนการผลิตหลายอุตสาหกรรมก็ได้เพิ่มสูงขึ้น
"ที่ผ่านมารถจะบรรทุกสินค้าน้ำหนักเกินข้อกฎหมายมาโดยตลอด เฉลี่ย 40 ตันต่อเที่ยว
แม้ทางการจะผ่อนผันให้เหลือ 26 ตัน ทำให้จำนวน รถบรรทุก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
จำเป็นต้องเพิ่มรถบรรทุกอีก ประมาณ 50-60% เพราะช่วงเกิดวิกฤต เศรษฐกิจ รถบรรทุกก็ไม่ว่างอยู่แล้ว
เพราะไม่ได้มีการซื้อรถบรรทุกใหม่เพิ่ม ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนรถบรรทุก
แต่ระยะสั้นรัฐควรผ่อนผันในเรื่องดังกล่าว หากไม่มีมาตรการผ่อนผันเรื่องน้ำหนักในการบรรทุก
ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ก็จะชะลอตัวลง ส่วนต้นทุน ค่าขนส่งก็จะเพิ่มขึ้น"
นายชุมพลกล่าว
เดิมบริษัทเคยตั้งเป้าธุรกิจวัสดุก่อสร้าง์ในปีนี้น่าจะเติบโตจากปีก่อนประมาณ
10% แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขนส่งขาดแคลน จึงไม่สามารถระบุได้ว่าจะเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน
นายชุมพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับขึ้นราคา ปูนซีเมนต์นั้น ปัจจัยหนึ่งมาจากขนส่งที่ขาดแคลนทำให้ปูนขาดแคลนด้วย
ส่งผลให้ราคาขายปลีกปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนที่จะกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างนั้นคงเป็นส่วนน้อย
เมื่อเทียบกับราคาวัสดุที่เกี่ยวข้อง เช่น หิน และทราย ซึ่งมีสัดส่วนในการใช้มากกว่าปูน
6-7 เท่า
"คนหยุดก่อสร้างบ้านไม่ใช่เพราะขาดปูน แต่คนหยุดก่อสร้างเพราะขาดหินและทราย
โดยปูน 1 ตันจะใช้หินและทราย 6-7 ตัน โดยราคาหินและทรายประมาณ 80% มาจากค่าขนส่ง"
นอกเหนือจากรถบรรทุกไม่เพียงพอแล้ว การส่งออกก็ยังติดปัญหาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะรถและคอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอที่จะขนส่งไปที่ท่าเรือ
ทำให้มีการชะลอการโหลดสินค้าลงเรือไปบ้างเหมือน กัน ทำให้ขณะนี้เริ่มสินค้าในสต็อกที่รอการจัดส่งบ้างแล้ว
"ปัจจุบันการขนส่งปูนถุงจากโรงงานส่วนใหญ่เป็นการขนจากเอเย่นต์ ทำหน้าที่ส่งให้กับร้านค้าอีกทอดหนึ่ง
ดังนั้นการขนส่งส่วนใหญ่อยู่ในมือเอเย่นต์ ยกเว้นแต่ปูนผงที่บริษัทฯจะจัดส่งไปบ้าง
"
ปัจจุบันราคาปูนที่จำหน่ายหน้าโรงงาน ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์นั้น ปูนตราเสือ
ตันละ 1,958 บาท ส่วนปูนตราช้าง ตันละ 2,294 บาท
จ่ายปันผลหุ้นละ 30 บาท
นายชุมพล กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2546 ว่า บริษัทฯตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น
5-10% ใกล้เคียงจากปีที่แล้ว โดยธุรกิจหลักที่คาดว่าจะสร้างรายได้มากที่สุดยังคงมาจากกลุ่มปิโตร
เคมี รองลงมาคือ กระดาษ และซีเมนต์ เพราะราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตเดินเครื่องเต็มที่แล้ว
สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2545 ก่อนตรวจสอบว่า บริษัทฯและบริษัทฯย่อยมีรายได้รวม
130,072 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 122,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น
7,429 ล้านบาท หรือ 6% และมีกำไรสุทธิ 14,676.30 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 92% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ที่มีกำไรสุทธิ 7.634.17ล้านบาท
กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นนี้เกินเป้าหมายที่คาดไว้ เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างและการใช้จ่ายของภาครัฐ
ทำให้ธุรกิจซีเมนต์มียอดขาย 27,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 13%
ส่วนธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ มียอดขาย 29,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เนื่องจากปริมาณความ
ต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น และราคาเยื่อ และกระดาษเพิ่มขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมีมียอดขาย
42,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เนื่องจากมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
นายชุมพล กล่าวต่อไปว่า จากการที่ผลการดำเนินงานของเครือซิเมนต์ไทยดีขึ้น ทางคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงเห็นควรเสนอที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น
ในวันที่ 26 มีนาคม 2546 เพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลทั้งปีในอัตราหุ้นละ 30 บาท
เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทฯได้จ่ายเงินปันผล เพียงหุ้นละ 10 บาท
แตกพาร์หุ้นละ 1 บาท
นอกจากนี้ ยังมีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เหลือเพียงหุ้นละ
1 บาท เนื่องจากปัจจุบันราคาหุ้นSCC อยู่ที่ระดับสูงถึงหุ้นละ 1,300-1,400 บาท
ซึ่งสูงกว่าราคาหุ้นโดยเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งผู้ถือหุ้นได้แสดงความเห็นให้บริษัทฯแตกพาร์เพื่อสร้างสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นมากยิ่งขึ้นด้วย
วานนี้ (29 ม.ค.) หุ้น SCC ปิดตลาดอยู่ที่ 1346 บาท ลดลง 36 บาท หรือเปลี่ยนแปลง
-2.60% มูลค่า การซื้อขาย 136.48 ล้านบาท
ออกหุ้นกู้ล็อตใหม่ 6 พันล้าน
นายชุมพล กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมฯคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย อนุมัติออกหุ้นกู้ชุดใหม่ประเภทระบุชื่อผู้ถือ
ไม่มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิและมีผู้แทนถือหุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 6,000 ล้านบาท
สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน เม.ย.นี้
โดยหุ้นกู้ดังกล่าวจะมีอายุ 4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2550 อัตราดอกเบี้ยคงที่ตามราคาตลาดขณะที่ออก
และมีกำหนดจ่ายอัตราดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน โดยจะเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นกู้บริษัทปูนซิเมนต์
ไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3/2542 (SCC#3) ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 1 เมษายน
2546 ในอัตราส่วน 50% ของจำนวนที่ครบกำหนดไถ่ถอนเท่านั้น และจะเปิดให้ของซื้อระหว่างวันที่
10-28 มีนาคม 2546
สำหรับผู้ถือหุ้นกู้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ครั้งที่ 3/2542 ที่มีความสนใจลงทุนในหุ้นกู้ชุดใหม่นี้
สามารถ ศึกษารายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนของบริษัทต่อไป ผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ได้แก่
ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารดอยช์แบงก์ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา