|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2549
|
|
ขณะที่พลังการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในย่าน Nihonbashi กำลังดำเนินไปด้วยพลวัตร เพื่อไล่ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ชุมชนเล็กๆ ในนาม Ningyo-cho ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความโกลาหลของเมืองใหญ่ กำลังบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจยิ่ง
ความเป็นมาและเป็นไปของ Nihonbashi ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าของญี่ปุ่น สามารถสืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัย Edo (ค.ศ.1600-1867) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มตระกูล Mitsui ได้ลงหลักปักฐานที่มั่นทางธุรกิจค้าปลีกและส่ง พร้อมกับพัฒนาไปสู่การสร้างห้าง สรรพสินค้าแห่งแรกของญี่ปุ่นในนาม Echigoya (1673) บนพื้นที่แห่งนี้ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Mitsukoshi ที่ดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ประจักษ์พยานแห่งความมั่งคั่งของ Nihonbashi ในฐานะศูนย์กลางในการขับเคลื่อน พลวัตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคสมัยใหม่ยังปรากฏให้เห็นต่อเนื่อง เมื่อธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange : TSE) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และสถาบันการเงินหลากหลาย ต่างมีที่ทำการอยู่ในอาณาบริเวณแห่งนี้
สถานภาพของการเป็นศูนย์กลางที่ดำเนินอยู่ใน Nihonbashi ได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งเมื่อหลักกิโลเมตรของเส้นทางสัญจรหลักที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงโตเกียว ต่างถือเอา Nihonbashi เป็นจุดอ้างอิงในฐานะกิโลเมตรที่ศูนย์อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ และการจัดแบ่งเขตเมืองสมัยใหม่ ย่าน Nihon-bashi ได้ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของเขต Chuo-ku หรือเขตศูนย์กลางที่เป็นการนำย่านธุรกิจการค้า ที่สำคัญตั้งแต่สมัย Edo ทั้ง Ginza ซึ่งเป็นแหล่ง ธุรกิจ high street และ Tsukiji ที่เป็นตลาดกลาง การซื้อขายอาหารทะเล มาประกอบส่วนเข้าด้วยกัน
แม้จะมีการแบ่งเขตการปกครองสมัยใหม่ แต่ย่าน Nihonbashi ยังคงความพิเศษด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นแขวง (cho-quarters) ที่มีคำว่า Nihonbashi เป็นคำนำหน้าชื่อแขวงต่างๆ เพื่อบ่งบอกความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ของชุมชน Nihonbashi บนวิถีแห่งกาลเวลาที่แปรเปลี่ยนไปด้วย
ความมั่งคั่งของ Nihonbashi มิได้ดำเนินไปท่ามกลางมิติทางเศรษฐกิจที่มีดัชนีชี้วัดเน้นหนักอยู่ที่ตัวเลขผลกำไรขาดทุนแต่เพียงลำพัง หากดำเนินไปพร้อมกับการสะท้อนความรุ่มรวยของรากฐานทางวัฒนธรรมที่จำเริญ ควบคู่ไปพร้อมๆ กับพัฒนาการของบริบททางสังคมที่สอดประสานต่อเนื่องถึงกัน
เพราะท่ามกลางชุมชนธุรกิจที่เบียดแทรกตัวกันอย่างหนาแน่น เขตชุมชนพักอาศัยในนาม Nihonbashi-Ningyo-cho ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า doll town ได้ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับยุคสมัยแห่งการสั่งสม ความมั่งคั่งของย่าน Nihonbashi มาตั้งแต่สมัย Edo ด้วยเช่นกัน โดยมีการผลิตตุ๊กตาที่เป็นศิลปหัตถกรรมในครัวเรือนเป็นที่มาของชื่อชุมชนแห่งนี้ไปโดยปริยาย
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่น่าพิจารณา ประการหนึ่งอยู่ที่ธุรกิจตุ๊กตาแห่ง Ningyo-cho มีบทบาทและสถานะของการเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อกระบวนการพัฒนาของอุตสาหกรรม การผลิตและออกแบบที่หลากหลาย ซึ่งดำเนินไปท่ามกลางการเชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่นอย่างยากจะแยกออก
อุตสาหกรรมสิ่งทอที่กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของตุ๊กตาเหล่านี้ ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาและผลิตตุ๊กตา ในฐานะที่เป็นประหนึ่งหุ่นจำลอง (model) ของรูปแบบการตัดเย็บ และกระบวนการผลิตสร้างลวดลายสำหรับประดับเป็นลายผ้ามาอย่างต่อเนื่องยาว นาน ก่อนที่คำว่า fashion จะกลายเป็นเพียงกระแสนิยมดาดๆ ในห้วงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ธุรกิจตุ๊กตาแห่ง Ningyo-cho ยังเป็นกลไกในการดูดซับ และเป็นแนวป้องกันกระแสธารทางวัฒนธรรมจากโลกตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาท่วมทับองคาพยพของสังคมญี่ปุ่นในยุคสมัยต่อมา ภายใต้กระบวนการ ของ Japanization ที่ทำให้ Character ของตัวการ์ตูนชื่อดังจากโลกตะวันตกต้องกลายเป็นอื่นดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Winnie the Pooh หรือ Snoopy รวมถึงตุ๊กตา Barbie ที่ปรากฏโฉมในลักษณะของสาวญี่ปุ่นด้วยอาภรณ์แบบ Gimono งดงาม เป็นภาพที่ปรากฏ ให้เห็นและส่งผ่านความภาคภูมิใจบนรากฐานแห่งวัฒนธรรมอันยาวนานไปสู่สังคมวงกว้างอีกด้วย
แม้ความก้าวหน้าในกระบวนการผลิตของโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ จะผลักให้ธุรกิจตุ๊กตาใน Ningyo-cho เป็นเพียงธุรกิจโบราณที่มีลมหายใจรวยริน แต่พลังแห่งความประณีตบรรจงของงานหัตถกรรมที่มีจุดเน้นอยู่ที่เอกลักษณ์ และความเป็นต้นแบบ (original) กลับเป็นกลไกที่ก่อให้เกิดคุณค่าทั้งในเชิงสัญลักษณ์และจิตวิญญาณของผู้เสพงานที่แตกต่างจากสินค้าประเภท mass production อย่างสิ้นเชิง
นิทรรศการตุ๊กตาแห่ง Ningyo-cho ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคมที่ผ่านมาในฐานะเทศกาลประจำปี อาจไม่สามารถ เทียบเคียงความยิ่งใหญ่ในมิติของขนาดกับกิจกรรมในรูปแบบของ Game Mart หรือ Toy Festival ที่ดำเนินไปในลักษณะของมหกรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่หลากหลายในกระแสปัจจุบัน เมื่อในความเป็นจริงนิทรรศการ ดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานออกร้านเพียง 40 แห่ง ขณะที่รูปแบบการจัดงานก็มิได้ดำเนินไปท่ามกลาง booth แสดงสินค้าที่โอ่อ่า หากเป็นเพียง stall ขนาดกะทัดรัดที่ตั้งอยู่ริมบาทวิถีตลอดแนว Ningyo-cho Commercial Street เท่านั้น
กระนั้นก็ดี ความเรียบง่ายของนิทรรศการ ตุ๊กตาใน Ningyo-cho กลับดำเนินไปท่ามกลาง ภาพที่ขัดกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากคุณภาพสินค้าและสนนราคาของตุ๊กตาที่นำมาจัดแสดง ซึ่งหลายชิ้นมีราคาสูงถึง 60,000-100,000 เยน และจัดอยู่ในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรม ที่ต้องจัดเตรียมไว้สำหรับมอบเป็นของกำนัลต้อนรับการมาถึงของปีใหม่ และในฐานะของสะสม เพื่อแสดงออกซึ่งรสนิยมวิไลสำหรับทั้งผู้ให้และผู้ครอบครองด้วย
แม้ในวันนี้ วิถีชีวิตของชุมชนเล็กๆ ในนามเมืองตุ๊กตา Ningyo-cho จะดำเนินไปด้วยการแอบซ่อนตัวเองอยู่อย่างสงบเสงี่ยมในย่านธุรกิจที่พลุกพล่านของ Nihonbashi แต่ดูเหมือน บทบาทและฐานะการมีส่วนร่วมเป็นศูนย์กลางในการส่งผ่านการแสธารทางวัฒนธรรมของชุมชน แห่งนี้ยังดำรงอยู่
เป็นบทบาทของการจรรโลงสร้างอนาคตจากรากฐานแห่งอดีตที่อุดมด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย
|
|
|
|
|