แบงก์ชาติเผยสินเชื่อกรุงไทย 9,900 ล้าน มีนักการเมืองพรรคใหญ่ 2 ราย รับเช็คใบละ 100 ล้าน กับ 30 ล้าน โยงเจ๊ใหญ่ภาคเหนือ-รมต.กระทรวงเกรดเอ เผยมีการโอนเงินให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองอีกหลายคน ด้าน คตส.ประสาน ป.ป.ง.-สำนักงานอัยการสูงสุด เร่งเช็คบิล 12 โครงการทุจริต เดินหน้าตั้งคณะอนุ กก.จี้ติดคุณหญิงอ้อซื้อที่ดินรัชดา งัด กม.ที่ดินล่า “ทักษิณ” เซ็นยินยอมให้ภรรยาทำนิติกรรม “แก้วสรร” ฟันธงผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน ปชป.รุก คตส. คดีรถดับเพลิงกทม.ก่อนเบิกจ่ายงวดแรก
จากกรณีที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) ได้เข้าไปตรวจสอบการฟ้องร้องกล่าวโทษธนาคารกรุงไทย ของธปท.เกี่ยวกับธนาคารกรุงไทยมีการปล่อยกู้ให้แก่บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทกฤษดามหานคร โดยธปท.ตรวจพบว่า ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท โกลเด้นเทคโนโลยีฯ วงเงิน 9,900 ล้านบาท โดยนำที่ดินย่านสนามบินสุวรรณภูมิ กว่า 4,000 ไร่ มาค้ำประกัน ซึ่งบริษัท โกลเด้นเทคโนโลยีฯ ได้ให้เหตุผลว่าจะนำเงินกู้ไปไถ่ถอนที่ดินที่ติดจำนองกับธนาคารกรุงเทพ 8,000 ล้านบาท อีก 1,900 ล้านบาท นำมาพัฒนาที่ดินเก่าและไปซื้อที่ดินใหม่ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าบริษัทนำไปไถ่ถอนเพียง 4,446 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเกือบ 4,000 ล้านบาท นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยมีกระแสเงินส่วนหนึ่งไปเข้าบัญชีของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง 2 ราย
วานนี้ (30 ต.ค.) นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการสำนักคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปล่อยกู้ในครั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามเส้นทางเงิน ปรากฎว่า มีการโอนเงินไปให้แก่บุคคลที่เกี่ยวกับนักการเมืองพรรคใหญ่จริงจำนวน 2 ราย โดยบริษัท โกลเด้นฯ ได้สั่งจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คจำนวน 2 รายมีจำนวน กว่า 100 ล้านบาท 1 ฉบับ และอีก 1 ฉบับเป็นจำนวนเงินประมาณ 30 ล้านบาท อย่างไรก็ตามธปท.เชื่อว่ายังมีการโอนเงินให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองอีกหลายคน
“เท่าที่ติดตามเส้นทางเงิน ธปท.ค่อนข้างมั่นใจว่า สินเชื่อของธนาคารกรุงไทยมีความผิดปกติจริง จึงได้มีการฟ้องร้องกล่าวโทษไป ซึ่งแต่เดิมนั้น การฟ้องร้องกรณีนี้ได้ส่งไปยัง ปปช. แต่เรื่องค้างมาตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากไม่มีป.ป.ช.ขณะนี้ คตส.จึงได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาแทน ซึ่งเรื่องนี้ทางแบงก์ชาติได้ส่งนายอรรคบุษย์ ไกรฤกษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายคดี ไปเป็นตัวแทนร่วมในการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย” นายวีระชาติ กล่าว
แหล่งข่าวธนาคารกรุงไทยระบุว่า นักการเมือง 2 คน ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวเป็นนักการเมืองพรรคไทยรักไทย เป็นเจ๊ใหญ่ทางภาคเหนือกับรัฐมนตรีระดับเจ้ากระทรวงเกรดเอในรัฐบาลทักษิณ 1
**คตส.ประสาน ป.ป.ง. 12 โครงการ
วานนี้ ที่สตง.มีการประชุม คตส. โดยมีนาย นาม ยิ้มแย้ม ประธานคตส. เป็นประธานในที่ประชุมฯ นายนาม ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าที่ประชุม ว่าตนจะเสนอรายชื่ออนุกรรมการต่อที่ประชุม คตส. เพื่อเข้ามาดำเนินการตรวจสอบกรณีการซื้อที่ดินย่านรัชดา ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันการเงิน ที่มีการร้องเรียนว่า การซื้อขายที่ดินดังกล่าวนั้นถูกกว่าราคาปกติ
ส่วนกรณีที่คตส.จะใช้อำนาจตามกฎหมาย อายัดทรัพย์สินบุคคลที่เกี่ยวข้องและลูกชายนักการเมืองในกรณีที่ธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้กับบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยีอินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด บริษัทในเครือ กฤษดานคร นั้น นายนาม กล่าวว่า ยังไม่มีการอายัดทรัพย์สิน และยังไม่มีการลงมติเรื่องดังกล่าว
ด้านนาย แก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส.กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งนาย อรรคบุศย์ ไกรฤกษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มาเป็นอนุกรรมการตรวจสอบกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวหากรรมการบริหารและพนักงานธนาคารกรุงไทย ที่ทุจริตต่อหน้าที่ โดยปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ว่า ขณะนี้ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ และเจ้าหน้าที่ของ ธปท.ได้มารับหนังสือการแต่งตั้งอนุกรรมการดังกล่าวเพื่อนำไปให้ นายอัครบุตร
เมื่อถามว่า คตส.ได้มีการใช้กฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) มาดำเนินการติดตามเส้นทางของเงิน กรณีธนาคากรุงไทยปล่อยกู้ นายแก้วสรร กล่าวว่า "อันนี้ผมยังไม่รู้ ไปถามแหล่งข่าวกันเอาเอง รั่วกันจัง จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้"
หลังประชุมนานร่วม 5 ชั่วโมง นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. แถลงว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบ ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการทั้ง 12 โครงการให้ที่ประชุมได้รับทราบ พบว่ามีความคืบหน้ามาก แต่ได้ประสานขอข้อมูล สำนวนจากป.ป.ง. และสำนักงานอัยการสูงสุดทั้ง 12 โครงการ แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ทุกเรื่องยังไม่ถึงขั้นการยึดอายัดทรัพย์ และยังไม่ถึงกับมีการเสนอตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้ เพราะหากตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน จะต้องมีข้อมูล และพยานหลักฐานที่ชัดเจนถึงขั้นแจ้งข้อกล่าวหาได้
นายสัก กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบในโครงการเซ็นทรัลแล็ป ที่มีนางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าวซึ่งขณะนี้ทางคตส. ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากคณะกรรมการป.ป.ช.
** กางกม.ที่ดิน – ป.ป.ช. เอาผิด
โฆษก คตส. กล่าวต่อว่า นาย นาม ยิ้มแย้ม ได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนการทุจริตโครงการซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาของ ปรส.และบสท. และยังได้รายงานความคืบหน้าด้วย โดยที่ประชุมได้หยิบยกข้อกฎหมายหลายฉบับขึ้นมาพิจารณา หนึ่งในนั้นมีพ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 100 และระเบียบสำนักงานที่ดิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปกติผู้ที่เป็นภรรยาจะทำการประมูลที่ดินจะต้องมีหนังสือการให้ความยินยอมจากผู้ที่เป็นสามีหรือไม่ นายสัก กล่าวว่า การจดสิทธินิติกรรมมีหลักปฏิบัติเรื่องการให้ความยินยอมของคู่สมรสด้วย แต่ก็ต้องไปตรวจสอบจากระเบียบสำนักงานที่ดินเรื่องสิทธินิติกรรมว่ามีการกำหนดไว้อย่างไร
สำหรับกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รมว.คลังยืนยันความถูกต้องในการการซื้อที่ดินย่านรัชดาของคุณหญิง พจมาน ชินวัตร นายสัก กล่าวว่า การที่มีการรับรองอะไรก็แล้วแต่ไม่มีผลต่อการพิจารณาของคตส. ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือหน่วยงานรัฐ
** เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน
นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคตส. กล่าวว่า ในเรื่องที่ดินย่านรัชดา คงจะพิจารณารวดเร็วไม่ได้ เพราะการทำงานต้องมีกฎหมายมารองรับ ผิดตรงไหนก็ว่าไปตามกฎหมาย และคิดว่าคงไม่จำเป็นต้องเชิญนายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการป.ป.ช. มาชี้แจงถึงเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ป.ป.ช.ในมาตรา 100 เกี่ยวกับเรื่องคู่สมรสนายกฯและรัฐมนตรี เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลแต่อยู่ที่หลักวิชาการ
ส่วนกรณีซื้อที่ดินจะสามารถเข้าสู่อนุกรรมการไต่สวนได้หรือไม่นั้น นายแก้วสรร กล่าวว่า ยังต้องดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน ซึ่งการคอร์รัปชั่นวันนี้มี 2 รูปแบบคือ 1. ทุจริตเป็นเรื่อง ๆ อย่างซีทีเอ็กซ์ และ 2. การคอร์รัปชั่นโดยกฎหมาย คือผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น กรณีที่ดินรัชดา อย่างไรก็ตาม คตส.ยังไม่รู้ว่าทั้งหมดถูกหรือผิดอย่างไร คงต้องตรวจสอบให้ละเอียดก่อน
เลขานุการคตส.กล่าวต่อว่า ในกรณีที่ทางธนาคารกสิกรไทยพร้อมจะชี้แจงกรณีการให้กู้เงินจ่ายค่าธรรมเนียม 1.6 พันล้านบาท ในโครงการแอร์พอร์ตลิงค์นั้น ตนในฐานะที่รับผิดชอบโครงการนี้ก็ยินดีที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและหวังว่าหน่วยงานอื่นจะให้ความร่วมมือเช่นนี้เหมือนกัน
** ปัดไม่จำเป็นรายงานต่อ คปค.
ในการแถลงข่าวของ คตส. นายสัก ยังตอบคำถามเรื่องที่ทางคมช.ได้เร่งรัดการทำงานของคตส.และป.ป.ช. จะมีการหารือกันหรือไม่ นายสัก กล่าวปฏิเสธว่า ทางคมช.ยังไม่ได้ติดต่อเพื่อนัดหารือแต่อย่างใด ส่วนการทำงานของคตส. มีกรอบในการเร่งรัดการทำงานอยู่แล้ว โดยต้องชอบด้วยกฎหมาย และประกาศฉบับที่ 30 และต้องเป็นธรรม คือให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ จึงไม่สามารถทำได้รวดเร็วอย่างที่ต้องการได้
นายสัก กล่าวต่อว่า คตส.ไม่มีอำนาจเช่นเดียวกับคปค. เพราะหากเร่งรัดและสำนวนไม่ครบถ้วน จะทำให้เกิดการต่อสู้และถูกจำหน่ายคดีได้ จนไม่สำเร็จตามที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ แต่ถ้าจะให้เกิดความรวดเร็วก็คงต้องใช้อำนาจพิเศษของคปค.ในช่วงที่มีอำนาจเต็ม คือสามารถออกกฎหมายพิเศษเร่งรัดได้ แต่คตส.คงไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายในการออกกฎหมายพิเศษ และคงไม่ขอให้ออกกฎหมายใดเพื่อให้ทำหน้าที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นได้ นอกจากนี้ คตส.ไม่จำเป็นต้องรายงานความคืบหน้าในการทำงานให้กับคปค.และหน่วยงานใดรับทราบ
ทั้งนี้ ในวันนี้ (31 ต.ค.) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีกำหนดแถลงความคืบหน้าใน 4 เหตุผลหลักในการปฏิวัติต่อประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลทักษิณ
** เตือนอุ๋ยอย่าเพิ่งการันตีหญิงอ้อ
ด้านนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมารับรองการซื้อขายที่ดินของคุณหญิง พจมาน ชินวัตร ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรี บริเวณถนนรัชดาภิเษก ว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ควรระมัดระวังการไปยืนยันถึงความถูกต้อง ความโปร่งใส ในเรื่องที่มีการตรวจสอบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะไปเกี่ยวกับตัวของม.ร.ว.ปรีดียาธร ด้วย ม.ร.ว.ปรีดียาธร จึงควรแสดงท่าทีว่าพร้อมให้ตรวจสอบเรื่องนี้มากกว่า ซึ่งทั้งเรื่องการซื้อขายที่ดินของคุณหญิงพจมาน และการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรนั้น พรรคฯได้ทำเรื่องสอบถามไปยังกรมสรรพากรเพราะเห็นว่ามีความผิดและความไม่โปร่งใสชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การที่ ม.ร.ว.ปรีดียาธร พูดเช่นนี้ คงไม่มีการชี้นำ แต่ต้องแสดงออกว่าจะให้ความร่วมกับการตรวจสอบ เพราะกลไกราชการก็ยังถือเรื่องของเอกสารหลักฐานต่างๆ
เมื่อถามว่ามีการอ้างว่าการประมูลที่ดินดังกล่าวถูกต้องแล้ว หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไปดูดีกว่าว่ากระบวนการที่ทำให้ต้องมีการยกเลิกการประมูลไป 1 ครั้ง มีการเปลี่ยนแปลงราคากลางไปเทียบเคียงกับราคาซื้อขายที่ดินในบริเวณเดียวกัน น่าจะบ่งบอกความผิด โดยเฉพาะคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจเป็นผู้ประมูลได้ไป และผู้แข่งขันก็อยู่ในเครือข่ายที่มีความใกล้ชิดกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าดูเหมือนว่า ม.ร.ว.ปรีดียาธร จะพยายามปัดเรื่องนี้ให้พ้นตัว เพราะขณะนั้น เป็นประธานบริหารบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้า ม.ร.ว.ปรีดียาธร ไม่อยากแสดงความเห็น หรือไม่อยากเป็นผู้ดำเนินการเอง อย่างน้อยควรแสดงท่าทีให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบ ถือจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
** ปชป.ร้องเร่งคดีรถดับเพลิง กทม.
ในวันเดียวกันนี้ ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (คตส.) นาย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ คตส.เพื่อให้เร่งรัดดำเนินคดี และตรวจสอบการจัดซื้อรถดับเพลิงของกรุงเทพฯ มูลค่า 6,687 ล้านบาท โดยนาย ยุทธพงศ์ กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องการทุจริตในโครงการดังกล่าว ตั้งแต่เดือนมิ.ย.47 และยื่นข้อมูลต่อป.ป.ช.
เนื่องจากก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบ ก่อนจะชี้มูลว่ามีบุคคลที่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อรถดับเพลิงจำนวนทั้งสิ้น 7 คน ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับสูง และเป็นข้าราชการประจำ แต่จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 2 ปี แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตนจึงได้นำข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการทุจริตทั้งหมดมามอบให้กับ คตส.เนื่องจากคตส.เห็นว่า โครงการดังกล่าว มีการทุจริตจึงมีมติรับไว้ตรวจสอบ
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงไม่เหมือนการทุจริตในโครงการอื่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการซีทีเอ็กซ์ ต้นกล้ายาง ท่อร้อยสาย โครงการเหล่านี้ จ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่โครงการจัดซื้อรถดับเพลิง ยังไม่จ่ายเงินแต่อย่างใด เพราะตามสัญญาจะต้องจ่ายเงินงวดแรกในเดือน ก.พ.50 อีกทั้ง กทม.ได้เปิดแอลซี ของธนาคารกรุงไทย จำกัด ชนิดเพิกถอนไม่ได้ให้แก่บริษัทสไตเออร์ ไปแล้ว
ฉะนั้น กรณีเดียวที่จะยับยั้งไม่ให้ธนาคารกรุงไทยจ่ายเงินให้แก่บริษัทดังกล่าว จะต้องพิสูจน์ได้ว่า สัญญาซื้อขายรถดับเพลิงที่ทำขึ้น ดำเนินการด้วยความทุจริตมาตั้งแต่ต้น ตนต้องการให้ คตส.ซึ่งมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริง เข้ามาระงับสัญญาการจัดซื้อรถดับเพลิง และใช้อำนาจของ คตส.เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่ากรณีดังกล่าวทุจริตจริง ก็สามารถส่งฟ้องต่อศาลหากพบความผิดและมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาดังกล่าวได้โดยที่ธนาคารกรุงไทย และ กทม.ไม่ต้องจ่ายเงินงวดแรก
ในขณะที่นายยุทธพงศ์ ให้สัมภาษณ์ต่อการยื่นหนังสือ เป็นเวลาเดียวกับที่นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.เดินทางเข้ามายังสตง. นายยุทธพงศ์ จึงได้ยื่นหนังสือโดยตรงต่อประธาน พร้อมกล่าวว่า การทุจริตดังกล่าว เป็นการโกงแบบบูรณาการ ทุจริตทุกขั้นตอนการจัดซื้อ ดังนั้น ขอให้ คตส.พิจารณาอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก คตส.มีอำนาจตามกฎหมาย สามารถยับยั้งความเสียหายที่ยังไม่เกิดได้
ด้านนายนาม กล่าวว่า ตนจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา และจะนำเข้าหารือในที่ประชุมวันนี้ ส่วนการร้องเรียนกรณีดังกล่าว ตนทราบว่า เรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช. ส่วนที่ดีเอสไอ ดำเนินการตรวจสอบและชี้มูลแล้วนั้นตนไม่ทราบ ต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง ตนจะสอบถามกับนายกล้านรงค์ จันทิก ในฐานะ ป.ป.ช.ถึงความคืบหน้าของคดีดังกล่าว ที่อยู่ในการดูแลของป.ป.ช.
อย่างไรก็ตาม กรณีการจัดซื้อรถดับเพลิงของ กทม. จะเร่งรัดพิจารณาการจัดซื้อรถดับเพลิงของกทม.ให้ทันก่อนการจ่ายเงินงวดแรกในเดือนก.พ.2550 หรือไม่ นายสัก กล่าวในการแถลงข่าวว่าไม่จำเป็น เราจะพิจารณาตามหลักปฏิบัติที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนเงื่อนไขในการจ่ายเงินก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่ต้องเร่งรัดและไม่ใช่หน้าที่ของคตส.
**ขุดเรื่องอัลไพน์ยื่น ป.ป.ช.
ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ต่อนายปานเทพ กล้านรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบการกระทำผิดวินัย และการกระทำผิดกฎหมายอาญา ของบุคคลผู้ใช้อำนาจรัฐ กรณีการนำที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปขายให้กับ บ.อัลไพน์ เรียลเอสเตท จก. และบ.อัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยเคยยื่นหนังสือให้เข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวมาแล้ว เมื่อวันที่ 12 พ.ค.46 ตามเลขคำร้องสำนักงานป.ป.ช. เลขที่ 07684 แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
เนื้อหาหนังสือระบุรายชื่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการแทนแทนกระทรวงมหาดไทย, นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เมื่อครั้งเป็นอดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย, นายประวิทย์ สีห์โสภณ อดีตอธิบดีกรมที่ดิน, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย
** จี้โยก ขรก.พันทุจริตพ้นหน้าที่ก่อน
แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การทำงานตรวจสอบทุจริตของคตส.ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ อาจจะมีปัญหาเพราะมัวแต่เงื้อง่า และเวลานี้ทราบว่าเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโครงการเซ็นทรัลแล็บและโครงการกล้ายางล้านไร่บางส่วนถูกทำลายไปแล้ว เนื่องจากคตส.และกระทรวงเกษตรฯ ไม่สั่งพักราชการหรือโยกย้ายกลุ่มบุคคลที่มีมูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดออกจากตำแหน่งไปก่อน เพื่อกันไม่ให้เข้ามาใช้อำนาจทำเอกสารเท็จหรือทำลายพยานหลักฐานและเปิดให้คณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบได้อย่างเต็มที่
“คณะอนุกรรมการที่เป็นข้าราชการที่จะมาให้ข้อมูลก็อึดอัดและลังเลว่า คตส.จะเอาจริงหรือไม่ เพราะการทุจริตที่กระทรวงเกษตรฯ ทำกันเป็นขบวนการ พัวพันกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยางล้านไร่ ยางเอื้ออาทร เซ็นทรัลแล็บ แต่ประธานบอร์ดเซ็นทรัลแล็บ ที่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างยางเอื้ออาทรและชงเรื่องโครงการยางล้านไร่ ก็ยังอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ส่วนผู้จัดการใหญ่บริษัทที่เซ็นทรัลแล็บ ซึ่งอยู่ในก๊วนเดียวกันที่ทำเรื่องยางก็ยังอยู่ สงสัยว่าทำไมไม่ย้ายไปช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรีก่อน ถ้าให้กลุ่มคนพวกนี้นั่งทับเรื่องอยู่อย่างนี้จะไปทำอะไรได้ แต่ละโครงการที่คตส.ชี้มูลความผิดก็ไม่เห็นโยกย้ายใครออกไปก่อน” แหล่งข่าว กล่าว
บิ๊กพลังงานฟันเบี้ยประชุมบอร์ด 13 ล.
นายโสภณ สุภาพงศ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และที่ปรึกษาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจนั่งเป็นบอร์ดหลายแห่งว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว และเป็นการพฤติกรรมที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ในฐานะที่ตนอยู่ในวงการธุรกิจน้ำมันและพลังงาน เคยตรวจสอบพบว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักการเมืองร่วมกันหาผลประโยชน์ผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่กำหนดราคาน้ำมันและกองทุนน้ำมันที่จะต้องจ่ายให้บริษัทน้ำมันต่างๆ
ทั้งนี้ ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนั่งเป็นกรรมการบริษัทน้ำมันและยังถือหุ้นในบริษัท เช่น บริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งนอกจากตัวเองจะได้ประโยชน์จากการเป็นบอร์ดและเบี้ยประชุมแล้ว ยังได้ประโยชน์จากราคาหุ้นเป็นผลตอบแทน รวมถึงเงินปันผลจากหุ้นที่ถือไว้ ถือเป็นการหาประโยชน์โดยมิชอบ เพราะราคาหุ้นและกำไรในบริษัทน้ำมันเอกชนเหล่านั้นมาจากราคาและเงินกองทุนที่ตัวเองกำหนดให้กับเอกชนและสร้างกำไรที่ตัวเองถือหุ้น ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
“กรณีเช่นนี้ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐถือหุ้นส่วนตัว รัฐไม่ได้มอบหมายให้ตัวเองไปถือหุ้นเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐ 5-6 คนประพฤติเช่นนี้ และมีปลัดกระทรวงหนึ่งที่เป็นกรรมการนโยบายพลังงาน มีหน้าที่กำหนดราคาน้ำมันและเงินชดเชยที่ประชาชนต้องจ่าย ขณะที่ตัวเองก็ถือหุ้น เช่น บริษัทไทยออยล์ ปิโตรเคมีและบริษัทน้ำมันอื่น” สมาชิก สนช. กล่าว
นายโสภณ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบของบริษัทตามหลักทรัพย์ประเทศไทย ปรากฎว่าปลัดคนดังกล่าวไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทน้ำมันของบริษัทเอกชน ได้เบี้ยประชุมปีละ 13 ล้านบาท และได้หุ้นราคาพาร์ รวมถึงผลประโยชน์จากราคาหุ้น จากราคาพาร์ 10 บาท เพิ่มไปเป็น 110 บาท และยังรวมถึงเงินปันผลอีก เชื่อว่าไม่ใช่มีกรณีบริษัทน้ำมันอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง เช่น กระทรวงการคลังที่มีหุ้นในบริษัทเอกชน และเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น เป็นกรรมการและถือหุ้นในบริษัทสถาบันการเงิน ถือเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบที่กระทำกันอย่างแพร่หลาย
นายโสภณ ยังกล่าวถือกรณีที่มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังหลายคนระบุว่าการเข้าไปเป็นบอร์ดหลายแห่งถือเป็นการเข้าไปนั่งโดยตำแหน่งว่า เรื่องที่ผู้บริหารของรัฐไปนั่งเป็นบอร์ดต่างๆ ในอดีตมีค่อนข้างน้อย เพราะสมัยก่อนรัฐวิสาหกิจไม่มีหุ้น และไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐไปถือหุ้นโดยใช้ตำแหน่งทางราชการ
ที่ปรึกษา คมช. กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีการยกร่างคุณสมบัติผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เป็นกฎหมายที่ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าระดับใดถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ปรากฏว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ดึงเรื่องไว้ หากเป็นไปได้ สนช.ก็อาจนำกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเป็นการห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
|