|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กสิกรฯเตือนผู้ส่งออกเร่งปรับตัวรับค่าบาทผันผวน ระบุตั้งแต่ต้นปีลูกค้าดูแลความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนน้อยเกินไป พร้อมเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์รองรับความผันผวนของค่าเงิน มั่นใจลูกค้าสนใจแห่ทำป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้บริหารธุรกิจตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในสิ้นปีคาดว่าน่าจะปรับมาอยู่ที่ 36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยมาจากการที่มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น นักลงมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน รวมถึงอัตราส่วนราคาต่อกำไรของตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน ทั้งนี้ยอมรับว่าความผันผวนของค่าเงินบาทอาจจะกระทบผู้ส่งออก เพราะปัจจุบันไทยยังมีการเกินดุลการค้าจากด้านการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น แต่จากปัญหาอุทกภัยอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ส่งออกสินค้าเกษตรได้น้อยลง แต่ไทยก็ยังสามารถส่งออกสินค้าโดยรวมได้สูงขึ้น เพราะแม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อเทียบกับสกุลอื่นทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศต่าง ๆ ที่ไทยทำการค้าด้วย นับว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
“สิ้นปีคาดว่าค่าเงินบาทน่าจะแตะมาที่ระดับ 36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่แข็งค่าขึ้นจากเดิมที่ธนาคารคาดว่าจะอยู่ที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง และตลาดหุ้นไทยยังน่าจะมีเงินไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะค่า P/E ของตลาดหุ้นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉลี่ยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 37-39 บาทต่อดอลลาร์ และในปีหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 35-38 บาทต่อดอลลาร์” นายทรงพล กล่าว
ทั้งนี้ในส่วนของลูกค้าธนาคาร พบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ลูกค้ามีการดูแลความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น โดยลูกค้าที่มียอดขายต่ำกว่า 400 ล้านบาท มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพียง 10% ของลูกค้าทั้งหมด ขณะที่ลูกค้าที่มียอดขาย 400-5,000 ล้านบาท มีการป้องกันความเสี่ยง 30% และลูกค้าที่มียอดขาย 5,000 ล้านบาทขึ้นไป มีการทำป้องกันความเสี่ยง 40% ซึ่งการดูแลความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ก็ทำให้อาจจะมีผลกระทบกับกำไรของลูกค้า
อย่างไรก็ตามในส่วนของธนาคารในเดือนหน้าจะทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงให้กับลูกค้าที่นำเข้าโดยหลังจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้เชื่อว่าจะทำให้ลูกค้าที่มีธุรกรรมเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกมีการทำป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น โดยธนาคารตั้งเป้าจะให้มีสัดส่วน 50% ของลูกค้าทั้งหมดของธนาคาร จากปัจจุบันที่ลูกค้าที่มียอดขายต่ำกว่า 400 ล้านบาท มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพียง 10%เท่านั้นซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
“ลูกค้ายังมีการทำป้องกันความเสี่ยงน้อย เพราะไม่เชื่อว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น และค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง อีกทั้งยังคิดว่าการทำป้องกันความเสี่ยงจะทำให้ต้นทุนของลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราก็จะพยายามชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจ เพราะหากอัตราแลกเปลี่ยนความผันผวน ก็จะกระทบกับกำไรของลูกค้า และอาจจะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร”นายทรงพล กล่าว
ด้านนายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาทในปีหน้าว่ามีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ โดยหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย รวมถึงรัฐบาลจีนไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินหยวน ก็จะส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าค่าเงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 4% เมื่อเทียบกับเงินวอนเกาหลี เงินดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินรูเปี๊ยะอินโดนีเซีย ขณะที่เมื่อเทียบกับเยนญี่ปุ่น และเงินดอลลาร์ฮ่องกง เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 10% ส่วนเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวนของจีน ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 8% ทั้งนี้แม้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ก็ไม่ได้มีผลกระทบกับผู้ส่งออกมากนัก เพราะค่าเงินสกุลอื่นในเอเซีย เช่น เงินเกาหลี เงินสิงคโปร์ เงินอินโดนีเซีย ก็ปรับแข็งค่าขึ้นเช่นกัน
“การที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นปี ส่งผลให้มีเงินไหลออกจากสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในเอเซีย ยังมีจำนวนมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ค่า P/E ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นผลมาจากการเข้ามาซื้อหุ้นของเทมาเส็กในช่วงที่ผ่านมา การไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ของเบียร์ช้าง และการที่กลุ่มจีอี เข้ามาเป็นพันธมิตรกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ทำให้มีเงินไหลเข้ามามากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น” นายธิติ กล่าว
อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกมากนัก เนื่องจากค่าเงินสกุลอื่นในเอเชียก็มีการปรับแข็งค่าเช่นกัน ขณะเดียวกันการแข็งค่าของค่าเงินบาทยังจะส่งผลดีต่อการนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันที่จะทำให้มีมูลค่าการนำเข้าลดลง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงด้วย
|
|
|
|
|