|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเหตุบาทแข็งค่าต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนทำให้นักลงทุนเริ่มกังวล คาดปีหน้าค่าบาทยังแข็งต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่แข็งค่ากว่าที่ Consensus Forecasts ประมาณไว้ที่ระดับ 37.80 บาทดอลลาร์ฯในปลายปีนี้ และ 37.12 บาท/ดอลลาร์ในปลายปี 50 เตือนผู้ส่งออกหาเครื่องมือลดความเสี่ยงรับมือค่าบาทผันผวน ด้านแบงก์ชาติระบุยอดเงินไหลเข้าเริ่มนิ่ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองสาเหตุการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาว่า หากเทียบกับระดับปิด ณ ปลายปี 2548 เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินหลายสกุลในภูมิภาค โดยอัตราการแข็งค่าของเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 11.6% เทียบกับ 6.7% ของเงินวอนเกาหลีใต้ และ 6.6% ของเงินดอลลาร์สิงค์โปร์ ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเพียง 0.5% จากปลายปี 2548 อันเป็นผลจากการที่นักค้าเงินไม่มั่นใจในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ว่าจะสามารถขยับขึ้นได้เพียงใดในปีนี้ ส่วนเงินดอลลาร์ฯไต้หวันก็ถูกกดดันด้วยปัญหาการเมืองในประเทศ รวมทั้งการชะลอตัวของการใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศ
ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว เกิดขึ้นจากกระแสการไหลเข้าของเงินทุนเป็นหลัก แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนของปี 2549 เงินทุนไหลเข้าสุทธิโดยภาคเอกชนที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Bank Net Capital Inflows) มีมูลค่าสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับ 1.8 แสนล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเงินทุนไหลเข้าส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) ดังจะเห็นได้จาก การเพิ่มขึ้นของมูลค่าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน โดยการกลับมาซื้อสุทธิดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเชิงบวกของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศของไทย
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ยังเกิดขึ้นจากการที่นักค้าเงินมองว่า ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา เงินบาทได้แข็งค่าในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินวอนของเกาหลีใต้ และเงินดอลลาร์สิงค์โปร์ ทั้งที่ๆประเทศเหล่านี้ต่างล้วนผ่านพ้นมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้ตลาดมองว่า เงินบาทน่าที่จะยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้อีก
สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2549 ไปจนถึงปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทน่าจะได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะจากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯน่าจะเสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งความเป็นไปได้ของการปรับเพิ่มค่าของเงินหยวนของจีนเพื่อช่วยควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญของค่าเงินบาท
ขณะที่ปัจจัยในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 อาจจะขยายตัวประมาณ 3.0-3.5% ลดลงจาก 5.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ก็คาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในปี 2550 ที่น่าจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4.0-5.0% จาก 4.0-4.5% ในปี 2549 ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนต่อค่าเงินบาทเช่นกัน
ทั้งนี้ จากปัจจัยหนุนดังกล่าว จึงมองว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 49 และ 50 จะแข็งค่ากว่าที่ Consensus Forecasts ได้ทำการสำรวจทัศนะของบรรดานักค้าเงินต่อค่าเงินบาทไว้ที่ระดับ 37.80 และ 37.12 บาท/ดอลลาร์ตามลำดับ โดยหากในปี 2550 เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราเพียงครึ่งเดียวของในปี 2549 ที่ผ่านมา ก็คงจะสามารถแตะระดับ 35.1 บาท/ดอลลาร์ฯได้
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการแข็งค่าดังกล่าวของเงินบาท อาจจะมีผลต่อการส่งออกไม่มากนัก ถ้าหากเงินบาทไม่แข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคเหมือนกับในปี 2549 ที่ผ่านมา เนื่องจากคาดกันว่าในปีหน้า เงินเยนคงจะมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นมากพอสมควรเพื่อที่จะไล่ตามเงินยูโรและเงินสกุลอื่นๆหลังจากที่เงินเยนมีค่าค่อนข้างอ่อนในปี 2549 ที่ผ่านมา ในขณะที่ข้อกังวลหลักสำหรับการส่งออกของไทยน่าจะอยู่ที่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในปีหน้ามากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน กระแสการไหลเข้าของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น ก็อาจจะทำให้ปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงินไทย เพิ่มสูงขึ้นได้ เหมือนกับที่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของปี 2549
ดังนั้น ในภาวะดังกล่าวผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกของไทยคงจะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนของค่าเงินบาท โดยการใช้วิธีการและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งรูปแบบที่ง่ายที่สุดคงจะได้แก่การกระจายแหล่งตลาดส่งออกของตนและลดการค้าในรูปเงินดอลลาร์ฯ ไปจนถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับในกรณีที่ไม่สามารถที่จะกระจายตลาดส่งออกได้ ในขณะที่ทางการไทยเอง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็อาจจะต้องเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนไหลเข้า ที่คาดหวังการทำกำไรจากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความผันผวนได้ทั้งต่อค่าเงินบาทและต่อราคาหลักทรัพย์ในตลาดฯ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับแนวโน้มการปรับลดของอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2550 รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีความยืดหยุ่นในการพิจารณาผ่อนปรนนโยบายอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางของสหรัฐฯหรือเฟด ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ธปท.ระบุเงินไหลเข้าเริ่มนิ่ง
นางธาริษา วัฒนเกส รักษาการผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ค่าเงินสกุลบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เห็นได้จากรายงานเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของสหรัฐมีการเติบโตที่ลดลง ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ขยายตัวลดลงเช่นกัน ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง และส่งผลมายังค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งของค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้ใช้จ่ายของสหรัฐยังดีอยู่
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ติดตามดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด เพราะมีการมีเงินไหลเข้าออกได้เร็ว แต่เงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)เป็นเงินระยะยาว ต้องดูอีกระยะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เงินที่ไหลเข้ามาลงทุนยังไทยเริ่มนิ่งแล้ว ทำให้เงินทุนไหลเข้ามายังไทยเริ่มนิ่งลงเช่นกัน ขณะที่ในส่วนของผู้ส่งออกธปท.ก็ได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่ต้นเรื่องทิศทางค่าเงินบาท เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยืนยันว่าธปท.จะดูแลไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก
สำหรับประเด็นที่มีนักวิเคราะห์บางรายเสนอให้ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน เพื่อเป็นการลดแรงกดดันของค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่มีผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันก็ยังไม่นิ่ง ทำให้ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงในอนาคตได้ว่าจะมีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่
|
|
|
|
|