|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2549
|
|
วันที่กิตติ ธนากิจอำนวยยืนมองที่ดินจำนวน 1,200 ไร่ ของสนามกอล์ฟเขาใหญ่ คันทรี คลับ เขาบอกกับตัวเองว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นแปลงที่สวยงามที่สุดในเขาใหญ่ และสิ่งที่เกิดขึ้นในใจครั้งแรกคือ ต้องการเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้
“ผมมองเห็นที่ดินแปลงนี้ มันเหมือนกับปราสาทที่สร้างมาอย่างสวยงามกลางป่า แต่ถูกทิ้งให้รกร้าง มีเถาวัลย์ขึ้นอยู่เต็มไปหมด” กิตติอธิบายภาพที่ติดตามาจนถึงทุกวันนี้ยามเมื่อเข้ามาดูที่ดินก่อนตัดสินใจซื้อ
ที่ดินแปลงนี้ถูกสร้างเป็นสนามกอล์ฟในแบบสนามกอล์ฟติดภูเขา เพราะด้านหนึ่งของสนามกอล์ฟติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อเปิดบริการในช่วงที่เศรษฐกิจบูมก็ได้รับความสนใจจากนักกอล์ฟจำนวนมาก ที่นิยมชมชอบในเรื่องของธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การล่มสลายของสถาบันการเงิน สนามกอล์ฟแห่งนี้เป็นสินทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ที่ถูกนำออกมาประมูลหลังจากธนาคารแห่งนี้ประสบปัญหาเรื่องการทุจริตของผู้บริหารและถูกทางการยึดไปในที่สุด
กิตติเล่าให้ฟังว่า เมื่อทราบว่าจะมีการประมูลที่ดินแปลงนี้ก็เป็นความตั้งใจเลยว่าจะเข้าร่วมประมูล โดยยังไม่มีความคิดชัดเจนว่าจะทำโครงการอะไรในที่ดินแปลงนี้
เมื่อสนใจเข้าร่วมประมูล กิตติต้องการให้บริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเขาเป็นผู้บริหารเข้ามาประมูลและทำโครงการเพิ่มเติม แต่ได้รับการคัดค้านจากลูกน้องในบริษัท โดยให้เหตุผลว่าหากให้บริษัทเข้าประมูลและทำโครงการจะต้องมีรูปแบบธุรกิจ (business model) ที่ชัดเจนว่าต้องใช้เงินเท่าไร ทำโครงการประเภทไหน และผลตอบแทนเป็นอย่างไร เพราะโนเบิลเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นด้วย
กิตติบอกว่าสิ่งที่ลูกน้องคัดค้านเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้เขาต้องกลับไปหาเงินลงทุนจากแหล่งอื่นมา
“เมื่อประมูลที่ดินแปลงนี้ได้ ก็เริ่มวาดฝันว่าจะทำโครงการอะไร ใช้เวลาคิดนานมากกว่าจะลงตัว”
สิ่งแรกที่เขาเริ่มลงมือทำ ก็คือการปรับปรุงสนามกอล์ฟเดิมที่ถูกทิ้งมาเนิ่นนานใหม่อีกครั้ง โดยมีแนวคิดต้องไม่แปลกแยกกับธรรมชาติเพราะของเดิมได้รับการยอมรับจากบรรดานักกอล์ฟอยู่แล้ว
การมีสนามกอล์ฟเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถนำเงินมาใช้คืนภรรยาได้แน่นอน วิญญาณของนักพัฒนาที่ดินของกิตติที่ช่วงหลังได้ปรับเปลี่ยนจากความร้อนแรงในยุคเริ่มต้น มาเป็นความลุ่มลึกตามระยะเวลาที่เนิ่นนานขึ้น ก็ได้ออกมาโลดแล่นภายนอกอีกครั้งหนึ่ง
ความลุ่มลึกและการตกผลึกทางความคิดในการพัฒนาที่ดินของกิตติในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนออกมาในโครงการนี้อย่างน่าสนใจ
ขั้นตอนแรกเขาปรับปรุงสนามกอล์ฟให้กลับมาใช้งานได้ พร้อมกับเติมส่วนที่ขาดไปให้สมบูรณ์ เพราะอย่างน้อยชื่อเสียงเดิมของสนามแห่งนี้ ก็มีพลังเพียงพอที่จะดึงนักกอล์ฟที่เคยย่ำกรีนที่นี่มาแล้ว ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่งได้ไม่ยาก
ขั้นต่อไปมีสนามกอล์ฟอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นตามมาด้วย สิ่งที่เขาเลือกก็คือ การ สร้างโรงแรม
“ผมตัดสินใจสร้างโรงแรม เราสามารถทำให้เป็นโรงแรมหรูหราระดับห้าดาวก็ได้ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เราต้องการให้ที่นี่เป็นที่พักผ่อนใกล้ธรรมชาติมากที่สุด ต้องมีความดิบผสมกับความหรูหรา ลองนึกภาพดูว่าคนไปเที่ยวป่าซาฟารี ต้องการอะไร เขาต้องการความหรูหราและดิบ เลยกลับมาดูว่าเราอยู่อีสาน อย่างนั้นต้องมีวัฒนธรรมอีสานเข้ามา เราหาข้อมูล ถ่ายภาพ เรารู้ว่าอีสานเป็นวัฒนธรรมของคนยากจน เราต้องหาเอกลักษณ์ซึ่งก็พบแต่กระต๊อบเพียงอย่างเดียวที่เป็นเอกลักษณ์ของอีสาน”
การก่อสร้างตัวอาคารภายนอกทั้งหมด จึงประกอบไปด้วยไม้ และเหล็กแบบหยาบๆ เรียบๆ ไม่ใช่วัสดุแบบใหม่ที่มีใช้กันอยู่ การตกแต่งภูมิทัศน์ก็เลียนแบบป่า ไม่ใช่สวนประดิษฐ์เหมือนโรงแรมทั่วไป เปรียบได้กับสาวอีสานที่ไม่มีการปรุงแต่ง
แต่ความหรูหราจะอยู่ในส่วนของการให้บริการจากพนักงานที่ได้รับการอบรมมาอย่างดี ที่เข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร
กิตติได้ว่าจ้างให้เชนบริหาร ALiLa ที่มีความชำนาญในการบริหารโรงแรมรีสอร์ตห้าดาว โดยเฉพาะรีสอร์ตประเภทบูติกในแถบเอเชียแปซิฟิกเข้ามาดำเนินการให้ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมพนักงานคนไทยให้ด้วย และรวมถึงระบบสาธารณูปโภคที่กิตติย้ำว่าที่นี่เลิศหรูแน่นอน
“ที่นี่คุณสามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ ระบบไร้สาย (WI-FI) จะนั่งทำงานตรงจุดไหนก็ได้ ต่ออินเทอร์เน็ตได้ทันที ระบบนี้เราต้องลงทุนลากสายไฟเบอร์ออฟติก (Fiber Optic) เข้ามาในโครงการ ระบบไฟฟ้าลงดิน ทั้งหมด แม้แต่ระบบเครื่องปรับอากาศทำความเย็น เราก็ติดตั้งเครื่องทำความเย็นรวมห่างออกไปจากห้องพัก ผู้ที่มาพักจะไม่ได้ยินเสียงการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโครงการ เราลงทุนไปมากกับระบบพวกนี้”
แต่สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความหมายของความดิบบนความหรูหรา นั่นก็คือเต็นท์ที่พักจำนวน 4 หลัง ถึงจะเป็นเต็นท์ก็ต้องบอกว่าเป็นเต็นท์ในความหมายใหม่ เทียบได้กับห้องสูทขนาดใหญ่ของโรงแรมชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ เพราะเต็นท์ที่นี่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน อ่างน้ำวนขนาดใหญ่ เครื่องปรับอากาศ และราคาค่าพักอยู่ที่คืนละ 22,000-27,000 บาท
“สุดยอดของการมาค้างคืนที่เขาใหญ่ นั่นก็คือต้องนอนเต็นท์กลางป่า แต่เต็นท์ของผมจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนราชาของเผ่าเบดูอิน” กิตติตอกย้ำแนวคิดความดิบบนความหรูหรา
การปรับปรุงและก่อสร้างเพิ่มเติมใช้เวลาไปถึง 3 ปี ซึ่งเขาอธิบายว่าเพราะต้องการความแตกต่าง และเป็นเอกลักษณ์ ทำให้การก่อสร้างออกมาในลักษณะเขียนแบบไป สร้างไป ผู้รับเหมาไม่รู้ว่าเดือนหน้าจะก่อสร้างตรงส่วนไหน คล้ายๆ กับงานศิลปะ แต่งานทั้งหมดก็จบลงได้
เมื่อสนามกอล์ฟ โรงแรม เสร็จสิ้น การหาชื่อก็ทำให้กิตติต้องใช้ความคิดอย่างหนักอีกครั้ง เพราะทีมงานสรรหาชื่อมาให้เลือกเป็นร้อยชื่อ แต่ยังไม่มีชื่อไหนถูกใจ
“ผมเลยกลับมาที่ตัวเองว่าเห็นอะไรบ้างในโครงการนี้ ผมเห็นภูเขา เห็นหมอก ต้นไม้ใบหญ้า รู้สึกว่าโลกเราเหมือนมายา เห็นภูเขาที่สวยงาม ก็รู้ถึงความน่ากลัวที่แฝงอยู่ มันเหมือนภาพมายาก็เลยได้คำว่ามายาก่อน จะเป็นเขาใหญ่มายา ภูเขามายาละ สุดท้ายก็เลยได้คำว่า คีรีมายา เมื่อลองเทสต์กับลูกค้า ผลออกมาดี ก็เลยลงตัว”
คีรีมายา เขาใหญ่ จึงเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พร้อมๆ กับความแปลกใหม่ในส่วนของสนามกอล์ฟ และโรงแรม ที่ชัดเจนว่าหากต้องการความหรูต้องที่นี่แห่งเดียว
สิ่งที่กิตติทำมาตลอด 5 ปี ตั้งแต่ซื้อที่ดิน สร้างโรงแรม สร้างชื่อคีรีมายาให้เป็นที่รู้จัก ลงทุนลงแรงไปอย่างมากมาย ก็เพื่อขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนาที่ดินแปลงนี้ นั่นก็คือการขายที่พักอาศัยในคีรีมายา
“ตอนนี้เราจะเดินแบบนักพัฒนาที่ดิน เพราะไม่มีโรงแรมไหนจะมาสร้างบนที่ดิน 1,200 ไร่ ผมวางแผนไว้ว่าจะสร้างโรงแรมใหม่ในคีรีมายา เป็นโรงแรมแบบวิลลา พูล (Villa Pool) มีขนาดเล็ก ดิบ แต่หรูหรา ทุกวิลลามีสระว่ายน้ำเป็นส่วนตัว แต่จะทำในแบบขายให้เจ้าของนำกลับมาให้เราดูแลเรื่องหาคนเข้าพัก วิธีการนี้ทำให้คนซื้อจ่ายเงินน้อยลง เพราะวิลลาใหม่เราขายยูนิตละ 9 ล้านบาท แต่คนซื้อจ่ายเพียง 2-3 ล้านบาท ส่วนค่าผ่อนก็มาจากค่าเข้าพักที่เราจัดการบริหารให้ และเจ้าของก็ยังมีสิทธิ์เข้าพักได้เท่าที่ต้องการ วิลลาส่วนนี้ตั้งใจว่าจะมีประมาณ 100-120 ยูนิต” กิตติอธิบายการขายที่พักอาศัยรูปแบบใหม่ในคีรีมายา
ส่วนรูปแบบการทำเป็นที่พัก หรือโรงแรม ก็ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับคีรีมายา ไม่ใช่แปลกแยกออกไป จนทำให้แนวคิดที่วางไว้เสียหาย และช่วงนี้ได้เริ่มทำการขายพื้นที่ส่วนนี้แล้ว ผลตอบรับก็อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งจะลงมือก่อสร้างในเดือนเมษายนปีหน้า
แต่ที่เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ดินแปลงนี้อยู่ที่โครงการบ้านเดี่ยวระดับหรูตามสไตล์คีรีมายา กิตติเล่าให้ฟังว่า
“ผมจะทำบ้านเดี่ยวแปลงใหญ่เนื้อที่มากกว่า 1 ไร่ ประมาณ 49 ยูนิต ซึ่งจะหรูหรามาก คนซื้อต้องมีเงินเหลือกินเหลือใช้จริงๆ เพราะราคาขายอยู่ที่ยูนิตละ 30-40 ล้านบาท ผมเชื่อว่าเขาใหญ่สามารถเป็นที่พักที่หรูหราได้”
การตั้งราคาสูงขนาดนี้มาจากการแก้ปัญหาของคนที่มีบ้านพักที่เขาใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่ได้มาใช้ชีวิตประจำวันที่นี่ ใช้เฉพาะวันหยุด บ้านจึงขาดการดูแล เมื่อเจ้าของบ้านมาถึงก็ต้องมาทำความสะอาด แก้ปัญหาของบ้าน ทำอาหาร ซึ่งเสียเวลาที่มาพักผ่อน แต่บ้านในคีรีมายามีคนดูแล ทำความสะอาด และพร้อมให้บริการเหมือนโรงแรมชั้นหนึ่ง
“อยู่ที่นี่คุณแค่กระดิกนิ้วทีเดียวทุกอย่างก็พร้อมอยู่ตรงหน้า ด้วยพนักงานของคีรีมายาที่อบรมมาอย่างดี” นี่คือภาพที่กิตติจะทำให้เกิดขึ้นกับลูกค้าที่ซื้อบ้านของเขา
ปัจจัยที่จะทำให้โครงการนี้ไปได้ดี เขาเชื่อว่ามีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ต้องการโครงการชั้นดีที่เขาใหญ่ แต่ในตลาดไม่มีใครผลิตสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการ อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ของตัวเขาเองที่มีบ้านพักที่เขาใหญ่ และประสบปัญหามากมายตามมาภายหลัง
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกกลุ่มหนึ่งก็คือนักธุรกิจที่มองหาลู่ทางการลงทุน ก็สามารถใช้โอกาสนี้เข้ามาร่วมกับคีรีมายาได้เช่นกัน เขายกตัวอย่างวิชา พูลวรลักษณ์ เจ้าของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ที่มีความคิดจะทำสปารีสอร์ต ก็สามารถมาทำสปารีสอร์ตในโครงการนี้ได้
กิตติอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า “ที่ผ่านมาคีรีมายาทำสองอย่างคือ อย่างแรกเราสร้างเมือง ทำถนน เราสร้างสยามสแควร์ โรงแรม สร้างสาธารณูปโภคครบถ้วนทุกอย่างแล้ว สามารถมาเชื่อมต่อได้ทันที อย่างที่สองก็คือเราทำตัวเป็นคนขายส่ง (Hold Sale) คนที่ต้องการสร้างบูติกโฮเตล เราก็บอกเขาว่ามาสร้างที่นี่ ไม่ต้องลงทุนมากเหมือนที่ผมทำ”
นี่คือเหตุว่า ทำไมกิตติต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการทำคีรีมายา ก่อนที่จะเปิดการขายโครงการต่อเนื่อง
เขาบอกด้วยว่า การขายสินค้าให้กับคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่การขายบนกระดาษ แม้จะอธิบายว่าสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกดีเลิศสวยงามอย่างไร ก็ไม่ได้ผล ต้องขายจากของจริงเท่านั้น เพราะคนกลุ่มนี้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
กลุ่มลูกค้าที่เขาตั้งเป้าไว้ ก็คือกลุ่มที่มีความมั่นคงในชีวิต และชอบความสงบ เป็นธรรมชาติ ต้องการบ้านพักผ่อนอย่างแท้จริง และยังไม่มีบ้านที่เขาใหญ่ ส่วนลูกค้าที่มีบ้านอยู่แล้วไม่ค่อยเข้าข่ายเท่าไรนัก เขาให้เหตุผลว่า
“ซื้อบ้านเหมือนกับการแต่งงาน หากไม่รักไม่ชอบตอนหลังแล้วหย่ากันลำบาก ก็ต้องอยู่กันต่อไป”
ด้วยสัดส่วนที่ดินขนาดใหญ่แบบนี้ กิตติบอกว่ายังสามารถทำต่อไปได้ถึง 10 ปี หากไม่ซื้อที่ดินเพิ่ม เขาวางแผนจะหยุดชีวิตการทำงานในอีก 3 ปีข้างหน้า คือเมื่ออายุ 55 ปี แต่เขาเองก็ไม่มั่นใจว่าจะวางมือได้หรือไม่
|
|
|
|
|