Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2549
ไวน์ไทย New Latitude Wine             
โดย สุภัทธา สุขชู สมเกียรติ บุญศิริ
 


   
www resources

โฮมเพจ สมาคมไทยไวน์

   
search resources

Wine
สมาคมไทยไวน์




ความเชื่อเดิมมีอยู่ว่า ไวน์ที่ดีสามารถผลิตได้จากพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 30-50 องศา ทั้งเหนือและใต้เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของทวีปยุโรป ดินแดนใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทยจึงตกสำรวจ ไม่ได้ปรากฏบนแผนที่ของเหล่าประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตไวน์ชั้นดี

แต่ความเชื่อนี้ก็เริ่มถูกสั่นคลอน หลังจากที่กูรูและนักชิมไวน์หลายคน เริ่มยอมรับว่า ไวน์จากประเทศที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ดังกล่าวสามารถผลิตไวน์ที่มีคุณภาพสูงได้เช่นกัน อันเป็นที่มาของการเรียกขานไวน์จากแหล่งใหม่ๆ ว่า "New Latitude Wine"

เมื่อตลาดไวน์เริ่มเปิดประตูยอมรับไวน์จากแหล่งต่างๆ มากขึ้น นอกเหนือจากแหล่งไวน์โลกเก่าอย่าง ฝรั่งเศส ออสเตรีย เยอรมนี โปรตุเกส และแหล่งไวน์โลกใหม่ ที่มีชื่อเสียงในตลาดโลกอยู่แล้ว เช่น แคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลีย แคนาดา เป็นต้น

บรรดาผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ของเมืองไทยจึงรวมตัวกันผนึกกำลังสร้างชื่อให้ไวน์ไทย ในนาม "สมาคมไทยไวน์ (Thai Wine Association)" โดยจัดตั้งเป็นทางการปลายปี 2544 มีสมาชิกหลัก 6 ราย ได้แก่

Chateau de Loei ที่ภูเรือ จังหวัดเลย ผู้ผลิตไวน์เชิงพาณิชย์รายแรกของเมืองไทย Mae Chan Valley จากหุบเขาแม่จัน จังหวัดเชียงราย Shala One จังหวัดพิจิตร Chateau des Brumes (วิลเลจ ฟาร์ม) จากวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา Gran Monte และ PB Valley จากหุบเขาอโศก จังหวัดนครราชสีมา และ Siam Winery จังหวัดสมุทรสาคร

เป้าหมายสูงสุดของสมาคมฯ ก็คือ สร้างความตระหนักและภาพลักษณ์ของไวน์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดไวน์ในประเทศและต่างประเทศ

ทุกต้นปี สมาชิกต้องส่งข้อมูลการเก็บเกี่ยวองุ่นให้แก่สมาคมฯ พอถึงปลายปี คณะกรรมการก็จะตระเวนไปตรวจสอบการทำไร่องุ่นและการผลิตไวน์ ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักการและมาตรฐานหรือไม่

"สังเกตได้ว่า ไวน์ที่ด้านหลังขวดมีโลโกของสมาคมฯ ถือว่าเป็นไวน์ที่ได้มาตรฐาน" วิสุทธิ์ โลหิตนาวี จากไร่กราน-มอนเต้ กล่าวในฐานะนายกสมาคมฯ ซึ่งเป็นคนแรก

ในสมาชิก 6 ราย ยังมีการรวมตัวของเหล่าผู้ผลิตไวน์ที่มีไร่อยู่บนบริเวณที่ราบสูงโคราชใกล้เขาใหญ่ถึง 3 ราย เป็นกลุ่มย่อยชื่อว่า กลุ่มเขาใหญ่ไวน์ หรือ Khao Yai Wine Region เพื่อทำให้เป็นย่านผลิตไวน์แห่งแรกของประเทศ ประกอบด้วย พีบี วัลเล่ย์, กราน-มอนเต้ และชาโต เดอ บรูมส์

ประธานกลุ่มเป็นผู้ใหญ่ใจดี ผู้บุกเบิกดินแดนที่เส้นละติจูดที่ 15 องศาเหนือแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งผลิตไวน์ชั้นดีอีกแห่งของโลก ที่ชื่อ ปิยะ ภิรมย์ภักดี จากพีบีฯ

แม้ยังไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อกันว่า พื้นที่ปลูกไร่องุ่นในโคราชมีถึง 5 พันกว่าไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่รอบเขาใหญ่ โดยกลุ่มเขาใหญ่ไวน์เป็นย่านผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทั้งนี้พีบีฯ เป็นผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ที่สุดของเมืองไทย

"เหตุที่เขาใหญ่เหมาะแก่การทำไร่องุ่นก็เพราะ 1. เขาใหญ่ มีดินสมบูรณ์ 2. มีน้ำช่วย 3. พื้นที่มีความชันทำให้น้ำไม่ขัง 4. ภูมิอากาศเหมาะสม 5. มีแสงแดด และ 6. มีลมที่ช่วยพัดความชื้น ความสูงไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ ที่นี่จึงน่าจะดีกว่าภาคเหนือด้วยซ้ำ และอีกจุดที่สำคัญมากก็คือ เขาใหญ่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ การขนส่งเดินทางจึงสะดวก คนจะมาเที่ยวก็ไม่ไกล" วิสุทธิ์กล่าวในฐานะสมาชิกของกลุ่มเขาใหญ่ไวน์

สำหรับจุดมุ่งหมายในการรวมตัวเป็นกลุ่มเขาใหญ่ไวน์ ก็เพื่อโปรโมตเส้นทางท่องเที่ยวไร่องุ่นทั้ง 3 แห่ง ให้เป็น "Wine Road" และเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวคู่เขาใหญ่

เหมือนกับที่ทุ่งทานตะวันในจังหวัดสระบุรี หรือทุ่งดอกกระเจียว จังหวัดชัยภูมิ ถนนสายไวน์แห่งนี้ก็จะถูกคาดหวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดูองุ่นและโรงไวน์ ทว่า ที่นี่ดีกว่าตรงที่เที่ยวชมได้ตลอดปี

ไม่เฉพาะย่านเขาใหญ่ สมาชิกสมาคมฯ ทุกรายพร้อมจะเปิดประตูไร่ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะไม่เพียงรายได้จากการซื้อสินค้าและบริการ การเยี่ยมชมโรงไวน์ยังช่วยทำให้คนไทยรับรู้ถึงมาตรฐานการผลิตไวน์ของผู้ผลิตรายนั้น ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อไวน์ไทยมากขึ้น

"คนไทยมีปัญหาคือ เห่อของนอก เอะอะอะไรก็ไวน์นอก ไวน์ฝรั่งเศส หน้าที่ของเราอีกอย่างก็คือ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับไวน์ไทยให้คนดื่มทั่วไปมากขึ้น แต่ก็คงยังเป็น long way to go" นายกสมาคมฯ กล่าว

แน่นอนว่า ความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นของกลุ่มผู้ผลิตไวน์ไทย จะช่วยให้ไทยไวน์กลายเป็นไวน์ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเร็ววัน และในอนาคตอันใกล้ ไวน์จากประเทศไทย ก็น่าจะกลายเป็น New Latitude Wine ที่แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรีทัดเทียมไวน์จากชาติอื่น

ดังจะเห็นจากรางวัลมากมายที่ไวน์ไทยได้รับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่น เหรียญเงินจากประเทศโปรตุเกส ในการแข่งขัน Wine Master's Challenge และท็อปเท็นไวน์ที่ดีที่สุดในทวีปเอเชีย เช่น รางวัล Fastest-Improving Producers ที่สยามไวเนอรี่ ได้อันดับที่ 5 รางวัล หรือ New up-And-Coming Producers ซึ่งกราน-มอนเต้ และพีบี วัลเล่ย์ ได้ที่ 5 และ 8 ตามลำดับ เป็นต้น

...แต่ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ไวน์เหล่านั้นกลับไม่ได้รับความชื่นชมจากคนไทยด้วยกันเอง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us