|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2549
|
|
ป้ายสีม่วงสดคล้ายสีองุ่นแดง โดดเด่นสะดุดตาเห็นได้ตลอดเส้นทางทั้งฝั่งถนนธนะรัชต์ และเส้นทางสายผ่านศึก-กุดคล้า เป็นป้ายบอกระยะทางที่จะนำไปสู่ไร่องุ่นบูติกที่มีชื่อเป็นภาษาอิตาเลียนว่า "กราน-มอนเต้" แปลเป็นไทยว่า "(ขุน) เขาใหญ่"
ไร่องุ่นกราน-มอนเต้ อยู่ไม่ไกลจากไร่องุ่น PB Valley หรือที่ชื่อเดิมคือ เขาใหญ่ไวน์เนอรี่ ของปิยะ ภิรมย์ภักดี เจ้าสัวเบียร์สิงห์ ถือเป็นน้องใหม่แห่ง Khao Yai Wine Region (อ่านรายละเอียดในเรื่อง "ไวน์ไทย : New Latitude Wine") โดยมีวิสุทธิ์ โลหิตนาวี มาเริ่มแผ้วถางผืนดินจำนวน 100 ไร่ในหุบเขาอโศกแห่งนี้เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว
"มันเหมือนปรากฏการณ์ที่แปลกหรือฝืนธรรมชาติ ถ้าคุณเห็นที่นี่เมื่อ 5-7 ปีย้อนหลังไป จะไม่เชื่อว่ามันจะทำมาค้าขายได้" วิสุทธิ์ โลหิตนาวี ทอดสายตามองทิวแถวต้นองุ่นที่เพิ่งตัดแต่ง เพื่อรอการเก็บเกี่ยวในต้นปี
แม้จะพ้นวัยทำงาน แต่ทุกวันนี้ชายวัย 62 ปี แม้ผมจะขาวเต็มศีรษะ แต่ใบหน้าและผิวพรรณยังดูเปล่งปลั่ง สุขภาพแข็งแรง และยังคงมาดสุขุมสมกับ เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอังกฤษข้ามชาติ (Rentokil) ก็ยังต้องเข้าไปจัดการงานออฟฟิศ ที่กรุงเทพฯ ในวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะนำลูกน้องออกไปดูไร่องุ่น และกลับมาเช็ก งานผ่านอีเมล
"จากที่เคยทำงานอาทิตย์ละ 5 วัน พอรีไทร์ก็กลายเป็นทำงาน 7 วัน" เขาหัวเราะร่าอย่างคนอิ่มสุข
แรงบันดาลใจในการปลูกองุ่นและทำธุรกิจไวน์ของวิสุทธิ์ เกิดจากความชอบดื่มไวน์มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนเยอรมัน และก็หลงใหลเรื่อยมา ยิ่งเมื่อได้ทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ยิ่งมีโอกาสได้เลือกลองลิ้มรสชาติไวน์จากหลากหลายประเทศ ความประทับใจฝังรากลึกกว่าจะรู้ตัวอีกทีลมหายใจเข้าออกก็มีแต่กลิ่นไวน์
เมื่อคิดได้ว่าชีวิตหลังรีไทร์น่าจะทำอะไรเกี่ยวกับไวน์ วิสุทธิ์ก็นึกถึงเพื่อนรุ่นพี่นักเรียนเก่า เยอรมัน คือ ปิยะ ภิรมย์ภักดี ซึ่งมาทดลองบุกเบิกทำไร่องุ่นที่หุบเขาอโศก-เขาใหญ่อยู่ก่อนแล้ว เมื่อที่ปรึกษากิตติมศักดิ์รับรองให้เห็นว่าเขาใหญ่เป็นทำเลทองในการปลูกองุ่นไวน์ ด้วยการขยาย พื้นที่ไร่ PB Valley เขาก็ไม่รอช้าที่จะรีบหาที่ดินผืนงามเพื่อปลูกไร่องุ่นไวน์ขนาดย่อมของตัวเอง
"ที่จริงพ่อแม่ผมมีที่ดินอยู่แถวมวกเหล็ก แต่ท่านขายไปตอนผมกลับมาใหม่ๆ ตอนนั้นผมเองก็จมอยู่กับวงกรุงเทพฯ ถ้าท่านยังอยู่ คงหัวเราะแย่เลย ที่วันนี้ลูกชายท่านมาซื้อที่ดินแถวนั้นในราคาที่แพงกว่าหลายเท่า"
ทันทีที่คิดว่าจะทำธุรกิจไวน์ ประสบการณ์การทำงานบริหารมาตลอดร่วมครึ่งชีวิตของวิสุทธิ์ ผนวกกับวิชาความรู้ทางด้านการจัดการ ซึ่งเขาภูมิใจมากกับการได้เป็นปริญญาโทรุ่นแรก ของศศินทร์ ก็ตอกย้ำให้ตระหนักว่า กราน-มอนเต้ จะต้องไม่ใช่แค่งานอดิเรกหลังเกษียณ แต่จะต้องดังและโกอินเตอร์ได้ด้วย
วิสุทธิ์ใส่มุมมองแนวคิดการตลาดลงในทุกรายละเอียด เริ่มต้นจากภาษาของชื่อ "กราน-มอนเต้" เขาเลือกใช้ภาษาอิตาเลียนสร้างความเป็นสากลและความสนใจ เฉกเช่นเดียวกับ "มอนติโน่" ร้านขายไวน์และของที่ระลึกขนาดกะทัดรัดหน้าไร่องุ่น ซึ่งแปลว่า "เขาลูกเล็ก"
ขณะที่ "วินคอตโต้" ที่มีความหมายว่า องุ่นเคี่ยวแล้วจนเป็นน้ำหวาน เป็นชื่อของร้านอาหารสไตล์ยุโรปที่มีศรีภรรยาเป็นผู้ช่วยสร้างสรรค์เมนูอาหาร ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษขึ้นมา เพื่อส่งเสริมรสชาติไวน์ของที่นี่ให้นุ่มลิ้นมากขึ้น (อ่านรายละเอียดในเรื่อง "เที่ยวเขาใหญ่...ไม่มีอด (ความ) อยาก"
พื้นที่กว่าครึ่งของไร่องุ่นแห่งนี้ใช้ปลูกองุ่นไวน์แดง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ชิรา (Syrah) ซึ่งเป็นต้นพันธุ์จากฝรั่งเศสให้ผลิตผลคุณภาพดี และทนต่อภูมิอากาศบ้านเรา พื้นที่ 1 ใน 4 ส่วนปลูกองุ่นสำหรับไวน์ขาวพันธุ์เชนินบลอง (Chenin Blanc) และที่เหลือจะเป็นพื้นที่ปลูกองุ่นสำหรับทานสด (table grape)
ด้วยความเชื่อว่า องุ่นที่ดีเท่านั้นถึงจะทำไวน์ดีได้ ต่อให้มีไวน์เมกเกอร์ดี ถ้าองุ่น ไม่ดีก็ไม่มีทางได้ไวน์ดี ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่วิสุทธิ์ต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และให้ความ สำคัญในการปลูกองุ่นอย่างมากที่สุด
หยาดเหงื่อหยดรดพื้นดินอยู่ไม่กี่ปี เถาองุ่นก็เริ่มออกดอกผลมาเป็นไวน์แดงและไวน์ขาว ซึ่งรุ่นแรกคือ Premier ซึ่งเป็นไวน์ที่หมักบ่มตั้งแต่ปี 2001 รุ่นต่อมาคือ Cele-bration ซึ่งเป็นการฉลองอายุครบ 60 ปีของวิสุทธิ์ พร้อมกับต้อนรับชีวิตหลังเกษียณเป็น การล่วงหน้า หลังจากนั้นทุกปี กราน-มอนเต้ จะตั้งชื่อรุ่นของไวน์อย่างมีเรื่องราว เป็นอีกกลยุทธ์การตลาด
เช่น ปี 2003 ไวน์รุ่น Primavera เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นชื่อที่ได้จาก "นิกกี้" ลูกสาวคนโต ว่าที่ผู้สืบทอดต่อยอดกิจการต่อจากคุณพ่อ ซึ่งกำลังคร่ำเคร่งศึกษาทางด้านการปลูกองุ่นและผลิตไวน์ที่ University of Adeliade, Southern Australia มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตไวน์เมกเกอร์ที่ดีที่สุดติดอันดับโลก
"นิกกี้มีความเป็นศิลปินสูง ชื่อนี้เขาได้ แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดผู้หญิงกำลังเต้นระบำอย่างเริงร่าอยู่ท่ามกลางสวนดอกไม้ ในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นผลงานของจิตรกรชื่อดัง สีของฉลากเธอก็ออกแบบเอง" ผู้เป็นคุณพ่อเล่าถึงลูกสาวอย่างภาคภูมิใจ
รุ่น Kirimaya เพื่อฉลองการเปิดคีรีมายา โรงแรมหรูหราระดับห้าดาวที่เพิ่งเปิดตัวบนเขาใหญ่ ในปี 2004 หรือ The Heritage ชื่อรุ่นของปี 2005 ซึ่งเป็นปีที่เขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก (World Heritage) สำหรับปี 2006 มีชื่อรุ่นชื่อ Fiori ตั้งโดยนิกกี้อีกครั้ง เป็นภาษาอิตาเลียน แปลได้ว่า ดอกไม้ โดยความโดดเด่นอยู่ที่ฉลากรูปดอกไม้ที่นิกกี้ออกแบบเอง
วิสุทธิ์บอกว่า ไวน์รุ่นนี้ถือว่ามีความแปลกและพิเศษกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา เพราะไวน์ขาว จะเป็นไวน์ที่ไม่ได้ผ่านการหมักบ่มในถังไม้โอ๊ก (unwooded) เพื่อไม่ให้กลิ่นไม้เข้าไปทำลายกลิ่นและรสชาติที่ดีขององุ่น ซึ่งผลิตเพียง 3 พันขวด ขณะที่ไวน์แดงจะเป็นไวน์ที่ไม่ผ่านการกรอง (unfiltered) เพื่อไม่ให้สิ่งดีๆ ในน้ำไวน์ต้องสูญเสียไปในขั้นของการกรอง ผลิตเพียง 6 พันขวด
ทั้งนี้ กระบวนการกรองและการหมักในถังไม้ล้วนแต่เป็นประเพณีปฏิบัติในแบบฉบับไวน์ฝรั่งเศส ขณะที่ไวน์โลกใหม่อย่างออสเตรเลีย อเมริกา หรือแอฟริกาใต้ ต่างก็เริ่มจะลดกระบวนการดังกล่าว เพื่อไม่ให้กลิ่นและรสชาติของไวน์เหมือนกันหมดทั้งโลก
"รุ่นก่อนๆ เราก็ลดความเป็นไวน์ฝรั่งเศสลงไปบ้าง แต่รุ่นนี้เราลดลงเยอะที่สุดเท่าที่เคยทำมา อาจถือเป็นการ challenging ตลาดไวน์ แต่นี่ก็คืออีกวิธีที่เราจะสร้างความแตกต่างจากไวน์โลกเก่าได้ และสร้างความยอมรับไวน์กราน-มอนเต้ ในตลาดไวน์โลกใหม่"
อันที่จริง วิสุทธิ์เป็นอีกคนที่นิยมชื่นชอบไวน์โลกใหม่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ณ วันนี้ไร่องุ่นของกราน-มอนเต้ผลิตไวน์ได้เพียงไม่ถึงครึ่งของกำลังการผลิตที่มีอยู่ทั้งหมด กล่าวคือ เพียง 6 หมื่นขวดจาก 120,000-150,000 ขวด ซึ่งเป็นเพียงส่วนแรกของไร่ ส่วนที่ 2 ต้องรอเวลาให้องุ่นเริ่มโตเต็มที่จึงจะเก็บเกี่ยวแล้วได้ผลผลิตดี
ผลผลิตทั้งหมด 6 หมื่นขวดกระจาย ส่งขายภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมห้าดาวในกรุงเทพฯ เช่น คอนราด, พลาซ่าแอทธินี และแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ฯลฯ วางขายในห้างหรู อย่างเอ็มโพเรียม เพนนินซูล่า พลาซา และสีลม พลาซา นอกจากนี้ยังมีขายตามร้านอาหารชื่อดัง เช่น Neil's Tavern และร้านบ้านขนิษฐา เป็นต้น
นอกจากจำนวนผลผลิตที่ได้ไม่มากพอ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้วิสุทธิ์ยังไม่มีแผนจะส่งออกไวน์ไปในตลาดต่างประเทศ ก็เพราะว่าไวน์ไทยยังใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนต่างประเทศ ยิ่งถ้าเป็นคนที่จริงจังกับการดื่มไวน์ เขาก็ยิ่งไม่สั่งหรืออาจแค่ทดลองดื่มเพียงครั้งเดียว และที่สำคัญคือ การต่อสู้ด้านราคาที่ดุเดือดในตลาดโลก
"ที่เราจะต้องทำก็คือ ทำแบบถูกต้องและทำให้ดีจริงๆ แน่นอนเมื่อลูกสาวผมจบและกลับมาทำที่นี่ เราก็จะมีคนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนี้มาพัฒนาต่อ ไวน์ของเราก็จะมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตลาดยิ่งขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวที่ควรทำ โดยเฉพาะขนาด ของเราที่ไม่ใหญ่โต ไม่ใช่ mass producer"
อีกครั้งที่วิสุทธิ์แสดงถึงความเชื่อมั่น คาดหวัง และภูมิใจกับ "นิกกี้" ลูกสาวคนโตคนนี้ มาก ขณะที่ "มีมี่" ลูกสาวคนสุดท้องก็เป็นความหวังที่จะมาช่วยจัดการทางด้านธุรกิจและการเงินของบริษัท หลังจากคว้าปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์ มาจากมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย เช่นเดียวกัน
เมื่อมองในแง่ยอดขาย แม้ที่ไร่จะขายได้เพียง 40% ของไวน์ทั้งหมด แต่ก็สร้างรายได้กว่า 50% ของรายได้จากการขายไวน์ทั้งหมด ทั้งที่ขายในร้านมอนติโน่ และขายทานคู่กับอาหารจานเด็ดในร้านวินคอตโต้ ซึ่งนี่ก็ทำให้วิสุทธิ์ต้องยอมเปิดบ้านต้อนรับทัวร์ที่มาเยี่ยมเยียน และผลักดันชื่อกราน-มอนเต้ ให้อยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวเขาใหญ่
"ตอนแรกก็คิดว่าจะทำเฉพาะไวน์ขาย แต่ก็หนีไม่พ้น เพราะถ้าเราจะทำธุรกิจไวน์ให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ว่าที่ไหนในโลก มันก็ต้องมีร้านขายของและร้านอาหารอยู่ในไวน์เนอรี่ เพียงแต่ผมเบื่อกับการดีลกับคน ตอนที่ผมเป็น CEO ของบริษัทเก่า ผมจะพูดน้อย มาก แต่ 3-4 ปีนี้เองที่ผมเริ่มพูดมาก"
ต่างจากไร่องุ่นหลายแห่ง กราน-มอนเต้ ไม่มีบ้านพักหรือรีสอร์ตเล็กๆ ไว้บริการแขก ซึ่งวิสุทธิ์ประกาศเสียงแข็งว่า นั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะทำ นั่นคงเป็นเพราะประสบการณ์ในธุรกิจบริการกว่า 30 ปี ทำให้ เขาเข้าใจดีว่า เรื่องของคนเป็นเรื่องอ่อนไหว และอาจทำให้ชีวิตหลังรีไทร์ของเขาไม่ได้พักผ่อนมากไปกว่าที่เป็นอยู่นี้
ผ่านมากว่า 10 ปีในไร่องุ่น บั้นปลาย ชีวิตของวิสุทธิ์กลับได้เรียนรู้และต้องฝึกฝนอย่างมากในเรื่องของการเป็นคนใจเย็น และความอดทนรอคอย เพราะดินฟ้าอากาศและองุ่นพวงน้อยไม่ใช่สิ่งที่เขาจะสั่งให้ออกผลได้เร็วสมดังใจ ต่างจากวัยหนุ่มโดยสิ้นเชิง ที่เขาใช้ชีวิตอยู่บนความเร็วสูงในฐานะนักขับรถแข่ง หรือวัยกลางคนที่ชีวิตผู้บริหารระดับสูงอย่างเขาสามารถที่ชี้นกเป็นไม้ได้ด้วยความยำเกรงที่ลูกน้องมีให้
การลงทุนสูงทั้งเงิน แรงงาน พลังกาย กำลังใจ และเวลาในการรอคอย หลังจากดีดเครื่องคิดเลขในสมอง คำนวณสะระตะแล้ว วิสุทธิ์ตอบว่า "ทางการค้าขาย เราอาจคุ้มแต่ไม่ถึงขั้นกำไรมากมาย แต่ถ้าถามว่าทำไปทำไม ผมว่ากำไรที่ได้คือ ชีวิตที่เป็นไท การทำตามความชอบ และที่ดินพร้อมต้นองุ่น ที่จะเป็นขุมทรัพย์ให้ลูกในวันหน้า"
|
|
|
|
|