|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2549
|
|
หัวอกพ่อแม่ชาวกรุงเทพฯ ที่อยากย้ายไปอยู่เขาใหญ่ การเรียนของลูกอาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ต้องพับแผนเก็บใส่ลิ้นชักรอจนกว่าลูกจะโต หรือไม่ก็ต้องยอมห่างจากลูกอันเป็นที่รัก
เช่นเดียวกับปัญหาของ "คุณแม่น้องฟ้าใส" หรือ พ.อ.หญิง วิมลมาศ โกมุท เมื่อแรกคิดจะย้าย มาอยู่ที่ปากช่องเมื่อ 7 ปีก่อน
คุณแม่น้องฟ้าใสเป็นชาวกรุงเทพฯ อีกคนที่มีโอกาสได้มาเที่ยวปากช่อง-เขาใหญ่ ในหน้าหนาว แล้วก็ตกหลุมรักอากาศที่แสนบริสุทธิ์ของที่นี่ในทันที เวลาไม่ถึงปีเธอก็ยกครัวย้ายมาปากช่อง เปิดรีสอร์ต เล็กๆ ชื่อ "บ้านไร่บัวแดง"
ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือจงใจที่มีโรงเรียนนานาชาติจักรวาล หรือภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น St.Stephen's International School ตั้งตระหง่านกลางอ้อมกอดเขาใหญ่ แต่ก็ถือเป็นความโชคดี ของผู้ปกครองหลายคนที่ตกที่นั่งเดียวกับคุณแม่น้องฟ้าใส ที่มีโรงเรียนแห่งนี้ช่วยยุติปัญหานี้ให้
เซนต์สตีเฟ่นส์ เขาใหญ่ เริ่มเปิดรับนักเรียนมาตั้งแต่ปี 2538 ในยุคบูมแรกของเขาใหญ่ ที่ผู้คนเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ปลูกสร้างบ้านพักและโครงการที่อยู่อาศัยหลายแห่ง ผ่านพ้นช่วงสลบไสลหลังวิกฤติเศรษฐกิจ จนเขาใหญ่กลับมาบูมใหม่อีกครั้งเมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมา
"ต้องยกประโยชน์ให้ท่านเจ้าของโรงเรียน คุณกฤษณ์ (อัสสกุล) ท่านมาเขาใหญ่ ตั้งแต่แถวนี้ยังไม่มีใครมา ร่วม 50 ปีได้แล้ว ท่านมาเปิดศูนย์ฝึกอบรมของไทยสมุทรก่อน พอคุณอานันท์ ปันยารชุน มีนโยบายเปิดเสรีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ ในปี 2534 ท่านก็เลยอยากเปิดโรงเรียนนานาชาติที่ดีที่สุดในประเทศขึ้นที่นี่
ท่านมองว่าเขาใหญ่ดีที่สุด ขับรถจากกรุงเทพฯ มาแค่ 2 ชั่วโมง เวลาคิดถึงลูกก็ขับมาได้ และก็ถือโอกาสมาพักผ่อนแถวนี้ได้ด้วย เพราะธรรมชาติที่นี่ก็ดี ท่านก็เลยมาสร้างที่นี่"
ดร.วิสุทธิ์ เจริญศิริวัฒน์ ครูใหญ่แห่งเซนต์ สตีเฟ่นส์ เขาใหญ่ ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของกฤษณ์ อัสสกุล เจ้าสัวใหญ่แห่งอาณาจักร ไทยสมุทร ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งด้วยอาการชื่นชม
ในปีนั้นโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศ มีเพียง 10 กว่าแห่ง และกว่าครึ่งกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เซนต์สตีเฟ่นส์ เขาใหญ่ จึงเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกของภาคอีสาน แห่งเดียวของเขาใหญ่ และเป็นโรงเรียนนานาชาติแบบประจำแห่งแรกของเมืองไทย
ความฝันในการเปิดโรงเรียนนานาชาติของกฤษณ์ เกิดจากความประทับใจในฐานะศิษย์เก่าของ St.Stephen's College ที่ ฮ่องกง ซึ่งยุคหนึ่ง ที่นี่เป็นแหล่งผลิตนักเรียน คุณภาพมาเป็นผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจ ชั้นแนวหน้าของหลายประเทศแถบเอเชีย
ในเมืองไทย นอกจากกฤษณ์แล้วก็ยังมีพิชัย รัตตกุล และดิลก มหาดำรงค์กุล เป็นต้น
"ท่านได้อะไรจากที่นั่นเยอะ ทั้งกีฬา วิชาการ แนวความคิด ความเป็นอิสระ และความเป็น ผู้นำที่ดี ท่านก็อยากให้เด็กที่นี่ได้ทุกอย่าง" วิสุทธิ์ กล่าว
ในฐานะคนทำงานร่วมกับกฤษณ์มา 25 ปี วิสุทธิ์จึงได้รับความไว้วางใจ จนกลายเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการสานต่อเจตนารมณ์สุดท้ายของกฤษณ์ ให้เป็นจริง ร่วมกับนุสรา ลูกสาวคนสุดท้องที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และโรงเรียน
ไม่เพียงแรงกาย แรงใจ และความคิด กฤษณ์ยังทุ่มทรัพย์มหาศาลไปกับโรงเรียนนี้ พื้นที่ ร่วม 60 ไร่ จากศูนย์ฝึกอบรมฯ กลายเป็นสนามฟุตบอล ยิมเนเซียม สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สนามกอล์ฟ และเงินลงทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์การเรียน การสอน เครื่องดนตรีทั้งไทยและสากลหลายชิ้น และอื่นๆ หลายล้านบาท
อีกทั้งค่าก่อสร้างอาคารถึง 3 หลัง อาคารเรียน อาคารกิจกรรม อาคารนอน ซึ่งสามารถ รองรับนักเรียนได้สบายๆ ถึง 500 คน ทว่าปีแรกมีนักเรียนเพียง 15 คน ผ่านไป 10 ปีจำนวนนักเรียนขยับขึ้นมาจนเป็น 100 คน และ 120 คนในปีการศึกษาหน้า
นักเรียนเกือบครึ่งมาจากครอบครัวในกรุงเทพฯ มีเพียง 10% ที่มาจากแถบเขาใหญ่ ปากช่อง และบริเวณใกล้เคียง ที่เหลือมาจากจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคใต้
พ่อแม่ชาวกรุงเทพฯ เกือบทุกคนส่งลูกมาเรียนที่เซนต์สตีเฟ่นส์ เขาใหญ่ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด เพื่อให้ลูกได้อยู่กับธรรมชาติบริสุทธิ์ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และการเป็นโรงเรียนประจำยังเป็นการฝึกให้ลูกๆ ได้ดูแลตัวเองได้ด้วย
อีกจุดขายของที่นี่ก็คือ ทำเลที่อยู่กลางป่า นักเรียนที่นี่จึงมักได้เรียนรู้ด้วยวิธีการแบบ Learning by Doing ไม่เฉพาะวิชาภูมิศาสตร์ ที่นักเรียนจะได้เรียนวัดสภาพพื้นที่และวาดแผนที่ ของพื้นที่ได้จริงๆ หลายครั้งที่ห้องเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนที่นี่อยู่ภายใต้ผืนป่าเขาใหญ่ เช่นกัน
แม้จะใช้ชื่อเซนต์สตีเฟ่นส์ และอิงมาตรฐานหลักสูตรตามระบบอังกฤษ แต่แนว คิดของที่นี่อยู่ภายใต้ปรัชญา East Meets West ที่กฤษณ์ให้แนวทางไว้ แม้จะเรียนตาม หลักสูตรของต่างประเทศ แต่ก็ต้องเรียนรู้ภาษาไทย ประเพณี และวัฒนธรรมของไทย
บรรยากาศความเป็นไทยของที่นี่หลาย อย่างอาจหาดูไม่ได้จากโรงเรียนนานาชาติที่อื่น เช่น การยืนตรงเคารพธงชาติ ร้องเพลง ชาติไทย ร้องเพลงสรรเสริญบารมี และทุกครั้งที่แขกที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเดินผ่าน นักเรียนจะยกมือไหว้ และเด็กเล็กของที่นี่ทุกคนต้องเล่นดนตรีไทยให้เป็นก่อนจะเล่นดนตรีสากล เป็นต้น
และนี่เป็นอีกเหตุผลที่ "กรณ์ จาติกวณิช" เต็มใจส่งลูกน้อยทั้ง 2 คนออกจากอ้อมอกที่กรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนประจำที่นี่ โดยทุกวันศุกร์ เขาจะขับรถมารับลูกๆ กลับไปอยู่ด้วยกัน
สำหรับค่าเล่าเรียน คุณแม่น้องฟ้าใสบอกว่า หากมองในแง่ธุรกิจ ก็ถือว่าสมเหตุสมผลกับราคา 240,000 บาท/ปี เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ห้องนอนติดแอร์ และการดูแลเอาใจใส่ลูกๆ ของเธอแบบตลอด 24 ชั่วโมง ใน 7 วัน ตลอดทั้งปี และค่าธรรมเนียมรายปีอีกกว่า 3 แสนบาท (ค่าธรรมเนียมจะถูกกว่าสำหรับเด็กที่เล็กกว่า)
ปัจจุบัน น้องฟ้าใสจบการศึกษาจากเซนต์สตีเฟ่นส์ และไป เรียนต่อด้านมัลติมีเดียที่ออสเตรเลีย แต่คุณแม่ก็ยังมีน้องยอดดอยเรียนอยู่ปี 13 และน้องเมฆขาวอยู่ปี 12 ที่โรงเรียนนี้
มาถึงวันนี้ วิสุทธิ์ยอมรับว่า โรงเรียนนานาชาติเป็นธุรกิจที่คงจะหวังกำไรสูงสุดไม่ได้ ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มไทยสมุทร โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่นุสรา ชำนาญในการสร้างกำไรมากกว่า
"ถ้าไม่ได้คุณกฤษณ์คอยช่วยในช่วงแรก เราคงต้องปิดไปนานแล้ว" วิสุทธิ์กล่าว
ในฐานะมือขวาคนสนิทที่กฤษณ์เชื่อมั่น วิสุทธิ์ยืนยันว่า ขณะที่เขาดูแลโรงเรียนนี้อยู่ เขาจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อสร้างโรงเรียนในฝันของกฤษณ์ให้ได้
|
|
|
|
|