Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2549
ชุมชนชีวิตของคนที่ต้อง "ตกผลึก" แล้ว             
โดย สุภัทธา สุขชู สมเกียรติ บุญศิริ
 

 
Charts & Figures

ตัวอย่างคนดังที่มีบ้านอยู่ในเขาใหญ่ (นอกจากบุคคลที่กล่าวในเรื่อง)

   
related stories

เที่ยวเขาใหญ่...ไม่มีอด (ความ) อยาก
ปากช่องที่ไม่มีคนปากช่อง
St.Stephen's โรงเรียนนานาชาติกลางขุนเขา
Gran Monte Vineyard สวรรค์น้อยกลางเขาใหญ่
คีรีมายา: มายาชีวิต กิตติ ธนากิจอำนวย

   
www resources

โฮมเพจ คีรีมายา
Fabb Cafe Homepage

   
search resources

กิตติ ธนากิจอำนวย
วิกรม กรมดิษฐ์
วิสุทธิ์ โลหิตนาวี
คีรีมายา, บจก.
Fabb Cafe
Vincotto
พัฒน์ญศา เลืองนรเสตถ์
ภรนน กมลเศวตบุญ




สำนวน "ยอดฝีมือมักเร้นกายอยู่ในหุบเขา" ที่พบเห็นเป็นประจำในนิยายจีนกำลังภายใน สามารถสัมผัสอย่างเป็นรูปธรรมได้ในอาณาบริเวณที่รายล้อมเขาใหญ่ ในทุกวันนี้... แต่อนาคตจะเป็นอย่างไร? เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ

หากไม่นับในสนามกอล์ฟ คงมีไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นประธานบริษัท ผู้บริหารระดับ สูงสุดของบริษัทชั้นนำ และอดีตนักบริหารมืออาชีพถึง 8 คน มารวมตัวกันในอิริยาบถแบบสบายๆ สวมเสื้อยืดโปโล กางเกงขาสั้น รองเท้าผ้าใบ คุยกันเรื่องสัพเพเหระ ตั้งแต่การแต่งบ้าน ต้นไม้ ไวน์ งานอดิเรก ฯลฯ ซึ่งอาจแฝงนัยทางธุรกิจที่มูลค่าสูงกว่าร้อยล้านไว้ด้วยก็เป็นได้

ลองคำนวณเล่นๆ มาร์เก็ตแคปของธุรกิจที่ทั้ง 8 คนนี้ดูแลหรือเคยดูแล เมื่อรวมกันแล้ว อาจได้ตัวเลขสูงถึงหลักแสนล้านบาทเลยทีเดียว

วงสนทนาประกอบด้วย ชลาลักษณ์ บุนนาค ที่ปรึกษาของปูนซิเมนต์ไทย, อัศวิน ชินกำธรวงศ์ CEO ไทยบริการอุตสาหกรรมฯ ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นได้หมาดๆ, วิกรม กรมดิษฐ์ CEO ที่ไม่ทำงานจากอมตะ กรุ๊ป, ลอยละลิ่ว บุนนาค อดีตกรรมการราชกรีฑาสโมสร, นพดล ยิ่งชัชวาล MD บริษัทโปรเวสท์, บุญเลี้ยง เหลืองนาคทองดี อดีต MD สยามบรรจุภัณฑ์ และ ศิริชัย บุญศรี ซูเปอร์ไวเซอร์จากแบมบู บาร์ ของโรงแรมโอเรียนเต็ล

โดยมีวิสุทธิ์ โลหิตนาวี อดีต CEO เร็นโทคิลไทย เปิดบ้านกลางไร่องุ่นที่เขาใหญ่ ต้อนรับแขกวีไอพีเหล่านี้

ภาพของทั้ง 8 คนมาเจอกันในบรรยากาศสบายๆ จิบไวน์หยอกล้อ พูดคุยขบขำเช่นนี้ อาจจะไม่ได้เห็นเลยในวันปกติที่ทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างต้องมุ่งมั่น กังวลเรื่องธุรกิจ กังวล และตัวเลข

ทว่า ภาพแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่บ้านวิสุทธิ์ ในเขาใหญ่ ซึ่งภาพที่ "ผู้จัดการ" ได้มานี้ ก็ด้วยความบังเอิญโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า

ที่สำคัญ กว่าครึ่งของวงสนทนานี้ ล้วนมีบ้านอยู่ในเขาใหญ่เช่นกัน

ไม่เพียงคนกลุ่มนี้ บ้านไร่ของวิสุทธิ์ยังเป็นที่รวมตัวของชาวไร่องุ่นที่หากเอ่ยชื่อแล้วรับรองไม่มีใครไม่รู้จัก เช่น ปิยะ ภิรมย์ภักดี, สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ, วีรวัฒน์ ชลวนิช และกวิน นวลแข (บุตรชายวิโรจน์ นวลแข) ซึ่งมีบ้านพักและไร่องุ่นในเขาใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น

"กับคุณปิยะ เฉลี่ยเจอกันเดือนละครั้ง เจอกันทีไร ก็มีมหกรรมชิมไวน์กันไม่รู้เรื่องเลย" วิสุทธิ์หัวเราะเมื่อเล่าถึงบรรยากาศสบายๆ ทุกครั้งที่นัดเจอนักเรียนรุ่นพี่จากเยอรมนี ที่เขายกย่องว่าเป็น "pioneer" แห่งการปลูกองุ่นทำไวน์เชิงพาณิชย์ที่เขาใหญ่

นอกจากนี้ ร้านวินคอตโต้ในไร่กราน-มอนเต้ ยังเป็นอีกสถานที่ที่มักต้อนรับผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่มีบ้านพักอยู่แถบนี้ หนึ่งในลูกค้าประจำก็คือ วีระพงษ์ รามางกูร ซึ่งชอบมานั่งดื่มกาแฟ เพื่อปลดปล่อยใจ ไปกับธรรมชาติ และพักเรื่องการเมืองที่วุ่นวายไว้ข้างหลัง

บางครั้งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาบ้านพักซึ่งอยู่เหนือเขื่อนลำตะคอง ยังเคยแวะเวียนมาทานขนม ดื่มกาแฟแทนการจิบไวน์ พูดคุย เรื่องทั่วไป และเรื่องป่าเขาใหญ่ ในฐานะที่เป็นประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเป็นรุ่นพี่สวนกุหลาบของวิสุทธิ์

"มีคนรู้จักมาทานอาหารที่ร้านเกือบทุกเย็นช่วงศุกร์ถึงอาทิตย์ ผมก็ต้องมาทานด้วย จากเดิมที่ติดต่อกับคนน้อย ไม่ค่อยพูด สมัยที่เป็น ซีอีโอ มา 3-4 ปีหลังนี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองเริ่มพูดมาก"

ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตหลังวัยเกษียณของวิสุทธิ์ เขาเองก็คาดไม่ถึงว่าการมาเป็นชาวไร่ที่เขาใหญ่ จะทำให้เขาต้องคบค้าสมาคม กับนักธุรกิจถี่ยิ่งกว่าสมัยที่เป็นผู้บริหารแห่งเร็นโทคิลไทย (อ่านเรื่อง "Gran Monte Vineyard : สวรรค์น้อยกลางเขาใหญ่" ประกอบ)

หากร้านวินคอตโต้ เป็นตัวแทนของแหล่งนัดพบบนเส้นทางเหวปลากั้ง (ถนนสายผ่านศึก-กุดคล้า ซึ่งตัดจากมวกเหล็กขึ้นสู่เขาใหญ่) บนถนนธนะรัชต์ ซึ่งเป็นสายหลักเดิมที่นำนักท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าสู่เขาใหญ่มานานนับ 10 ปี ก็มีร้านแฟ้บ (Fabb Cafe) เป็นจุดนัดพบของชาวกรุงเทพฯ

หลายครั้งที่ไม่ได้มีการนัดหมาย แต่คนกรุงเทพฯ ที่หนีร้อนมาพึ่งอากาศหนาว หรือหนีความวุ่นวายมาปลีกวิเวกหาความสงบที่นี่ ก็ยังอุตส่าห์มาเจอกันที่ร้านนี้

ที่ร้านแฟ้บ บนถนนธนะรัชต์ มักถูกใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ของคนกรุงเทพฯ หลายคน อาทิ คุณหญิงทิพย์วดี ปราโมช ณ อยุธยา, คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์, จุลจิตต์ บุญยเกตุ, วิกรม กรมดิษฐ์ รวมถึงกิตติ ธนากิจอำนวย เป็นต้น

ปกติคืนวันศุกร์และเสาร์ ร้านนี้จะหนาแน่นด้วยกลุ่มคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ ทั้งกลุ่มเด็กบี-บอย ผมยาวเซอร์ในเสื้อตัวใหญ่โคร่ง กลุ่มหนุ่มสาวแต่งชุดราวกับเพิ่งเลิกจากงานออฟฟิศ ชาวต่างชาติที่ยกครอบครัวกันมา และหญิงชายรุ่นใหญ่ที่แต่งกายราวกับทานข้าวอยู่ร้านข้างบ้าน

มองเพลินๆ ก็เกือบลืมไปว่านี่คือร้านแฟ้บ เขาใหญ่ ไม่ใช่ที่ชิดลม

ราว 5 ปีก่อน ภรนน กมลเศวตกุญหรือ "เลิฟ" เจ้าของร้าน Fabb ตัดสินใจมาเปิดร้านนี้ โดยที่เธอเองก็นึกไม่ถึงว่า ร้านที่เธอทำด้วยความรู้สึกว่าอยากทำ ไม่ได้คิดจริงจัง จะประสบความสำเร็จได้มากเท่าทุกวันนี้ จนล่าสุดเธอตัดสินใจซื้อที่ดินที่ตั้งร้านในราคาไร่ 1.6 ล้านบาท ขณะที่ราคาที่ดินแถบนั้นอยู่แค่ไร่ละล้านต้นๆ และหลายจุดไม่ถึงล้านบาทด้วยซ้ำ

เลิฟเป็นอดีตนักธุรกิจด้านแฟชั่น เจ้าของร้าน Fabulous ในซอยทองหล่อ ที่นำเข้าเสื้อผ้าเอ็กคลูซีฟ แบรนด์เนมต่างๆจากอิตาลี จับลูกค้ากลุ่ม A ถึง A+ บางวันเคยปิดร้าน เพื่อขายเสื้อผ้าให้กับลูกค้าแค่ 2 ครอบครัว เธอก็ได้เงินแล้วกว่าล้านบาท

แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ เธอต้องบาดเจ็บหนักเพราะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จนต้องปรับพื้นที่จากร้านขายเสื้อผ้า มาทำเป็นร้านอาหาร ทั้งๆ ที่เรื่องการทำร้านอาหาร ไม่เคยมีอยู่ใน ความคิดของเธอมาก่อน

แรกเริ่มเธอเปิดเป็นอินเทอร์เน็ตคาเฟ่คู่กับร้านอาหารเล็กๆ จับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น แต่เพราะไม่คุ้นเคยกับลูกค้ากลุ่มนี้ เธอจึงกลับ ไปจับลูกค้ากลุ่มเดิมที่เธอคุ้นเคยและมีความถนัดกว่า จึงเป็นที่มาของร้านแฟ้บแห่งแรกที่สาขาชิดลม แบบ fine-dining เสิร์ฟอาหารอิตาเลียนพร้อมดนตรีแจ๊ซ เมื่อ 7 ปีก่อน

ชื่อ Fabb ก็มาจากชื่อร้านเดิม เพราะคนคุ้นอยู่แล้ว เพียงแต่ เติม b เพิ่มเข้าไปอีก 1 ตัว"

จากนั้นเพียง 2 ปี เลิฟจึงเปิดแห่งที่สองบนถนนธนะรัชต์ กม.16.5 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุลดิศ แมนชั่น เขาใหญ่ บ้านพักตากอากาศ หรือ "holiday home" ซึ่งเธอซื้ออยู่มานานแล้วร่วม 10 ปี ด้วยความรักที่มีต่อธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของสถานที่แห่งนี้

ปัจจุบันร้านที่เขาใหญ่กลายเป็นร้านแฟ้บแห่งเดียวที่เหลืออยู่ โดยเลิฟยังมีร้านขายอาหารกระป๋องแบรนด์ดังจากฝรั่งเศสที่ชื่อ Comtesse du Barry เป็นบูติกชอป ที่เอราวัณ แบงค็อก (อ่านเรื่อง "เที่ยวเขาใหญ่ ไม่มีอด (ความ) อยาก" ประกอบ)

ถัดจากร้านแฟ้บ ยังมี "คีรีมายา" ของกิตติ ธนากิจอำนวย โรงแรมหรูที่คนกลุ่มนี้จะแวะเวียนไปบ้างเป็นครั้งคราว ในโอกาสเพื่อเฉลิมฉลองสิ่งดีๆ เล็กๆ น้อยๆ เช่น เมื่อกิตติได้เห็ด อย่างดีจากญี่ปุ่นมา เขาก็รีบโทรศัพท์ชวนพรรคพวกเพื่อนฝูงมาร่วมลิ้มลอง เหมือนกับครั้งที่จุลจิตต์ บุญยเกตุ ได้แชมเปญดีมา ก็จะเรียกพรรคพวกไปที่บ้านหรือหอบหิ้ว กันมาทานที่นี่

แม้บุคลิกของคนในชุมชนย่านธนะรัชต์ หรือเหวปลากั้งจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่สมาชิกของคนทั้งสองกลุ่มล้วนไปมาหาสู่กัน สังสรรค์กันบ้างเป็นครั้งคราว ให้ความช่วยเหลือกันและติดต่อพูดคุยกันเสมอ ด้วยเหตุผลเดียวที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน นั่นคือเขาใหญ่

เขาใหญ่ในวันนี้ไม่ใช่แค่เพียงอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของ เมืองไทย ไม่ใช่แค่มรดกโลก ไม่ใช่เขาใหญ่ที่มีการเก็งกำไรที่ดินอย่างครึกโครมในช่วงฟองสบู่เบ่งบาน ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ และไม่ใช่เขาใหญ่ที่เงียบเหงา เพราะพิษฟองสบู่แตก

แต่นิยามของเขาใหญ่ทุกวันนี้ คือซอกหลืบแห่งสังคมเศรษฐี ชาวกรุงเทพฯ ที่พากันมาซุ่มปลูกสร้างบ้านหรู เพื่อหวังใช้เป็นบ้านหลังที่สอง หรือหลังที่สาม

และมีหลายคนที่ "ซาบซึ้ง" ถึงกับมองว่าธรรมชาติของภูเขา สูงใหญ่เสียดหมอกเมฆ สลับเนินเขาเขียวของที่นี่ เขาเหล่านี้จัดให้ เขาใหญ่เป็นบ้านหลัก ขณะที่บ้านในกรุงเทพฯ ต่างหากที่เป็นบ้านหลังที่สอง

"คนกรุงเทพฯ มาทยอยซื้อที่สร้างบ้านเรื่อยๆ ที่ดินมีการซื้อขายอยู่ตลอด แต่ไม่ครึกโครมเหมือนสมัยก่อนวิกฤติ เพราะส่วนมากแอบซุ่มกันมาทำ มากันเยอะแต่มาเงียบๆ จะรู้ก็ตอนมาขออนุญาตสร้างบ้าน" สมเกียรติ พยัคฆ์กุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หมูสี อบต.หลักที่ดูแลพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขาใหญ่ ทั้งย่านบ้านหมูสี บ้านคลองดินดำ บ้านคลองเดื่อ และเหวปลากั้ง บอก

"ข้อสำคัญที่สุดที่ผมมาซื้อที่ดินตรงนี้ก็คือ ความเป็นธรรมชาติ และติดกับป่า เราก็ไม่ต้องเสียเงินหาซื้ออากาศดีๆ ธรรมชาติสวยๆ ที่ไหนอีก" วิกรม กรมดิษฐ์ ให้เหตุผลที่เขาตกลงซื้อที่ดิน 150 ไร่ติดเขาใหญ่ ในเหวปลากั้งซอย 1 หลังจากใช้ชีวิตอยู่บนแพ กลางเขาใหญ่ ซึ่งเขาไปขอพรรคพวกที่เป็นเจ้าของร้านจิตรโภชนา ผูกแพ ไว้ในบึงบัวมานาน 4-5 ปี

ความซาบซึ้งในเขาใหญ่ของคนกลุ่มนี้ มีจุดเชื่อมโยงที่คล้ายกันอย่างหนึ่ง คือหลายคน เคยมีความผูกพันกับเขาใหญ่มาแล้วตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก หรือวัยรุ่น

วิกรมผูกพันกับเขาใหญ่มาตั้งแต่วัย 20 ต้นๆ เขามักขับรถไปกางเต็นท์นอนในป่า เขาใหญ่ทุกศุกร์ เหมือนกับเลิฟที่เคยอยู่ในโคราชเมื่อตอนเด็ก และได้มาเที่ยวเขาใหญ่ครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปี เคยชวนพี่ชายให้ขับรถจากบ้านที่โคราชมาเขาใหญ่ทุกวันหยุด ส่วนกิตติประทับใจเขาใหญ่มาตั้งแต่ยังเด็ก และต้องมาเขาใหญ่ทุกครั้งที่เครียดกับการเรียนและการทำงาน

ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ปริมาณ ความหนาแน่นของโอโซนซึ่งสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ฝนที่มักตกเหนือภูเขาแล้วพาลมเย็นๆ มายามแดดจัด หมอกสีขาวหลังฝนที่มาแต่งแต้มพื้นเขียวของภูเขาให้เป็นดั่งภาพวาด ความดิบสดของธรรมชาติเหล่านี้เป็นสิ่งที่กิตติเชื่อว่า หาไม่ได้จากที่อื่นในประเทศไทย ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เพียงแค่ 160 กม. หรือขับรถไม่เกิน 2 ชั่วโมง

สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งอิ่มกับธรรมชาติและทำเลที่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ของที่นี่ เช่นเดียวกับพัฒน์ญศา เลืองนรเสตถ์ หรือเอ๋ เจ้าของตึก Duchess Plaza ในซอยทองหล่อ ก็ตัดสินใจมาเปิดร้านโมริ ร้านอาหาร ญี่ปุ่นแห่งเดียวในย่านเขาใหญ่-ปากช่อง

"อากาศดีเหมือนเชียงใหม่ เชียงราย แต่ที่นี่เราไม่ต้องเสียเงินไปเครื่องบิน ไม่ต้องไปรอไฟลท์อีก เพื่อนจะตามมาก็ง่าย ขับรถไม่ถึง 2 ชั่วโมง ที่นี่เลยเหมาะจะเป็นบ้านวีคเอ็นด์มากกว่า ไม่เหมือนเชียงใหม่แค่คิดจะไปก็หมดกำลังใจแล้ว" เอ๋บอกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาใหญ่กลายเป็น holiday home ของเศรษฐีกรุงเทพฯ หลายคน

ก่อนนี้เอ๋รู้จักเขาใหญ่ในฐานะนักท่องเที่ยวที่มาดื่มด่ำแบบฉาบฉวย เพื่อเปลี่ยน ที่นอนและบรรยากาศทานอาหาร จน 10 ปีก่อนที่คุณแม่ของเธอป่วย เธอจึงเริ่มมองหาบ้านที่มีอากาศบริสุทธิ์สำหรับแม่

จากที่เคยมาเป็นที่ปรึกษาในการทำไร่กุหลาบในเขาใหญ่ให้กับ "ตุ้ม หุตะสิงห์" เธอและแม่จึงได้เดินทางมาเขาใหญ่ แล้วทั้งคู่ก็ตกหลุมรักธรรมชาติของเขาใหญ่ทันที จึงรีบหาซื้อที่ปลูกบ้านหลังน้อย จนได้ที่ดินแปลงใหญ่อยู่ถัดจากโบนันซ่าไปไม่ไกล

เมื่อเห็นคุณแม่อาการดีวันดีคืน พี่สาวของเอ๋ก็ติดสินใจย้ายลูกชายที่ป่วยเป็นภูมิแพ้มาเรียนอยู่แถบปากช่อง จากนั้นเพียงไม่นาน หลานชายของเอ๋ก็หายจากอาการภูมิแพ้ ซึ่งปาฏิหาริย์เขาใหญ่เรื่องนี้ เอ๋มักจะชอบคุยให้ใครต่อใครที่ไม่สบายฟัง แล้วก็ชวนมาอยู่เขาใหญ่

"เคยนึกว่าเป็นบุญแท้ๆ ที่ทำให้เรามาอยู่ตรงนี้" เอ๋รำพึงพร้อมสัญญากับตัวเองว่าเมื่ออายุ 55 ปีจะรีไทร์มาอยู่เขาใหญ่แบบเต็มตัว แม้ตอนนี้เธอจะอยู่ในวัย 50 ปี แต่ใบหน้าที่สดใส ก็ทำให้หน้าตาดูอ่อนกว่าวัยจนยากจะเชื่อ นี่ก็คงเป็นอีกปาฏิหาริย์ของเขาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับตัวเธอ

ความงามของธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ และความหนาวเย็นยามค่ำคืนในเขาใหญ่ เสียงนกร้องยามเช้า พระอาทิตย์ส่องแสงที่หลังเนินเขา เหล่านี้ทำให้สังคมกรุงเทพฯ ในเขาใหญ่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียว กันว่า นี่คือมนต์ขลังที่สะกดพวกเขาเสียอยู่หมัด

นอกจากสุนทรียภาพเชิงศิลปะของธรรมชาติ ความสงบก็เป็นอีกหนึ่งมนตราที่หยุดหัวใจทุกคนให้อยู่ที่เขาใหญ่

ความเงียบสงบของเขาใหญ่ช่วยให้วิกรมปั่นต้นฉบับหนังสือที่มียอดจำหน่ายจ่าย แจกสูงจนติดอันดับขายดีเสร็จที่นี่ และยังมีเล่มใหม่ๆ ทยอยออกมาอีกอย่างน้อย 4 เล่ม ชาติ กอบจิตติ ก็มาเขียนหนังสือที่ได้รับรางวัล ซีไรต์สำเร็จที่นี่ และเปี๊ยก โปสเตอร์ ก็ได้ทำในสิ่งที่อยากทำแต่ไม่เคยทำสำเร็จมาตลอดชีวิตคือ การอ่านหนังสือกองโตที่อยากอ่านมา ตั้งแต่เด็ก เขาก็ได้มาอ่านจบที่นี่

พลังความสดชื่นที่เขาใหญ่มอบให้แก่ผู้มาเยือนทำให้หลายคนพบกับความรื่นรมย์ ในจิตใจ เขาใหญ่จึงกลายเป็น "ที่ชาร์จแบต" ให้แก่ใครหลายคน

หลายครั้งที่กิตติรัตน์ ณ ระนอง สมัยที่เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยแอบขับรถหลบมานอนทำสมาธิที่เขาใหญ่ หรือยามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทรุด หลังฟองสบู่แตก กิตติ ธนากิจอำนวย ก็เคยปลีกตัวมาหลบพักกายพักใจที่นี่ด้วยเช่นกัน

"เป็นมากเลยที่เบื่อกรุงเทพฯ แล้วอยากมาพักผ่อนที่นี่ พอขับเข้าเขตเขาใหญ่ แถวเหวปลากั้ง มันก็รู้สึกเย็นโล่ง สบายใจขึ้นมาเฉยเลย อะไรที่เคยกังวล ยังคิดไม่ออก หรือยังไม่ได้ทำ ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยกลับ ไปสู้ใหม่" กิตติเล่าถึงเคล็ดลับเรียกพลังส่วนตัว

ขณะที่เลิฟเองก็เคยขับรถออกจากกรุงเทพฯ หลังเที่ยงคืน เพื่อมา ฟื้นฟูพลังชีวิตที่เขาใหญ่เป็นประจำ

"พอตื่นมาตอนเช้า เห็นสีเขียวหลังฝนตก หรือหมอกจับภูเขาเห็นนกบินมา ได้ออกไปเดินรับอากาศบริสุทธิ์ รับแสงแดด และอยู่กับความสงบ แค่นี้ก็มีพลังแล้ว"

นอกจากธรรมชาติและความสงบ สำหรับเอ๋ เธอยังได้มองเห็นความงามในอีกแง่มุมจากซอกหลืบเล็กๆ ของเขาใหญ่อันไพศาลที่เธออาศัย อยู่ ซึ่งเป็นมุมที่ชาวกรุงเทพฯ ในเขาใหญ่หลายคนอาจเข้าไม่ถึง ไม่ทันสังเกต จึงไม่ได้สัมผัส นั่นก็คือ วิถีชีวิตไทยดั้งเดิม แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ระหว่างเธอกับเพื่อนบ้าน และระหว่างคนกับธรรมชาติ

วิถีชีวิตซึ่งเธอเคยสัมผัสในวัยเด็ก แต่ได้หายไปตลอดช่วงชีวิตของสังคมกรุงเทพฯ แต่วันนี้ ความทรงจำที่แสนอบอุ่นและความประทับใจที่คุ้นเคยเหล่านี้หวนกลับมาหาเธออีกครั้งที่บ้านกลางเขาใหญ่

"จริงแล้วๆ เราทุกคนโหยหาวิถีชีวิตที่เราเคยชินสมัยเด็กๆ แต่กรุงเทพฯ ไม่มี มันหาย ไปในช่วงหลัง อย่างเด็กๆ เคยกินขนมดอกโสน พอได้เด็ดดอกโสนมาจิ้มน้ำพริก แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว หรืออย่างมะละกอออกผลพี่ก็เอาไปแบ่งเพื่อนบ้าน เขาก็ให้กล้วยมา วิถีชีวิตแบบนี้สิอบอุ่น และหาไม่ได้อีกแล้วในกรุงเทพฯ หรือหัวหิน"

ย้อนไป 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ เขาใหญ่เคยเป็นสถานที่ที่เหล่านักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้มีอันจะกินบางกลุ่ม นิยม มาสร้างบ้านพักหลังที่สอง บ้านตากอากาศ และบ้านสำหรับชีวิตหลังเกษียณ คนกลุ่มแรกๆ คือ หมู่บ้าน "ซองซูซี" (อ่านเรื่อง "ซองซูซี : Without Concerns" ประกอบ)

จากนั้นก็เริ่มมีกลุ่มคนที่มาอาศัยอยู่ในจุลดิศ เขาใหญ่ และโบนันซ่า ทยอยตามกันมา

การทยอยเข้าไปของคนกลุ่มแรกนี้ ส่งผลให้ในช่วงปี 2538-2540 เริ่มมีนักลงทุนบางกลุ่มพากันเข้าไปซื้อที่ดินหวังเก็งกำไร รวมถึงพัฒนาที่ดินที่ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ของเขาใหญ่ อาทิ สร้างคอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรรในแบบกรุงเทพฯ ขาย บ้างก็ทำสนามกอล์ฟ แต่หลายรายยังไม่ทันจะได้ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ ก็เจอพิษเศรษฐกิจจนต้องเก็บกระเป๋ากลับกรุงเทพฯ ไป ตัวอย่างเช่น ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ

แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังคนหลายคนได้ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบกับมีกลุ่มเศรษฐีใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากหน้าที่การงาน ทั้งที่อายุยังน้อยเกิดขึ้น อัตรา ดอกเบี้ยที่ถูก จึงเป็นแรงจูงใจใหม่ที่ดึงดูดให้กลุ่มคนเหล่านี้ตัดสินใจลงทุนซื้อบ้านหลังที่สองที่เขาใหญ่

หลายคนตัดสินใจด้วยเหตุผลเดียว กับเศรษฐีเก่ายุคแรกคือ หลงมนต์มายาแห่งธรรมชาติของเขาใหญ่เหมือนกัน

หลายคนมีแรงบันดาลใจจากบุคคลที่เคยเป็น Role Model ของเขา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอันจะกินที่มาซื้อบ้านอยู่เขาใหญ่ในยุคต้นๆ คล้ายกับหัวหินที่เคยมีคนกล่าวกันว่า "ผู้ดีมีบ้านอยู่หัวหิน"

แต่พอเริ่มมีเศรษฐีใหม่ตามเข้าไป คำกล่าวข้างต้นก็เปลี่ยนเป็น "ไฮโซมีคอนโดอยู่หัวหิน" แทน

ที่นี่ไม่ใช่ที่รวมกลุ่มไฮโซ และก็ไม่ใช่มาที่นี่เพื่อเป็นไฮโซ ทางด้านนี้จะเป็นคนที่มีอันจะกินที่ต้องการหาความสงบมากกว่า มันไม่เหมือนเมืองชาย ทะเล" วิสุทธิ์อธิบายบุคลิกของสังคมกรุงเทพฯ ในเขาใหญ่

สำหรับลักษณะร่วมของคนกรุงเทพฯ ที่มาอยู่เขาใหญ่ในยุคแรก ซึ่งกลายเป็นภาพสะท้อน ที่มีพลังดึงดูดให้นักธุรกิจหรือเศรษฐียุคหลังบางคนมองเป็นต้นแบบ และดำเนินชีวิตตาม ได้แก่

1. เป็นผู้มีอันจะกิน 2. ฐานะการงานนิ่งแล้ว (settle) 3. รักสันโดษ รักความสงบ 4. ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากความว้าวุ่น และหาความสบายใจจากธรรมชาติ 5. อิ่มแล้วกับการดิ้นรนในกรุงเทพฯ ของคนที่อยู่เขาใหญ่ แต่ยังคงสนุกกับสิ่งที่รักและอยากทำ และที่สำคัญ 6. หลายคนเป็นคนที่ตกผลึกทางความคิด ประสบการณ์ และชีวิตมาแล้ว เพราะชีวิตผ่านอะไร มาเยอะ

อาจจะเรียกว่านี่คือ ภาพของความสมถะ เข้ากับยุคกระแสเศรษฐกิจพอเพียงที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้

คนยุคแรกที่น่าจะมีภาพนี้ชัดเจนก็เช่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ส่วนคนกลุ่มหลังที่ตาม เข้ามาอยู่เขาใหญ่ในช่วง 4-5 ปีหลัง ก็เห็นจะหนีไม่พ้นวิกรม

"อย่างคุณวิกรม ปลูกบ้านร้อยล้านก็เด็กๆ แต่แกอยู่อย่างนั้นแกมีความสุขมากนะ แกใส่เสื้อม่อฮ่อม เดินท่อมๆ ผ้าขาวม้าคาดพุง ไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นวิกรม" เอ๋พูดถึงไลฟ์สไตล์ของวิกรม ในแง่มุมที่สอดคล้องกับเลิฟที่มองว่าวิกรมคงปลงแล้ว เพราะซื้อที่ดินตั้งเยอะ แต่สร้างบ้านหลังนิดเดียว

แม้บุคลิกของคนกรุงเทพฯ ที่เข้ามาอยู่ในเขาใหญ่ยุค 4-5 ปีหลังจะไม่ต่างจากยุคแรกมากนัก ทว่าไลฟ์สไตล์ของสังคมกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องของ "social life"

ขณะที่คนกลุ่มแรกมักอยู่กันอย่างเงียบๆ ไปมาหาสู่กันบ้างเฉพาะบ้านในชุมชนเดียวกัน แต่คนกลุ่มหลังมักนิยมสังสรรค์กันเป็นประจำ ทั้งละแวกพื้นใกล้เคียงและข้ามฝั่งเขาใหญ่ เช่น วีรวัฒน์ ชลวนิช จากเส้นวังน้ำเขียว ก็มักไปมาหาสู่กลุ่มผู้ปลูกองุ่นเส้นเหวปลากั้งประจำ หรือสายเหวปลากั้งอย่างวิกรม ก็กลายเป็นสมาชิกที่กลุ่มธนะรัชต์มักอ้างถึงและโทรชวนไปร่วมกิจกรรมอยู่บ่อยครั้ง

"น่าขำ พี่กับเลิฟทำงานใกล้กัน ตึกพี่อยู่ถัดจากร้านเสื้อ (ธุรกิจเดิม) ของเลิฟแค่ 2 ตึก แต่เราก็ไม่เคยทักกัน เรากลับมาคุยกันที่นี่ มาสนิทกันที่เขาใหญ่" เอ๋พูดถึงจุดเชื่อมโยงให้มารู้จักและสนิทสนมกับเลิฟที่เขาใหญ่

ร้าน Fabulous ของเลิฟ อยู่ในซอยทองหล่อ ห่างจากตึก Duchess Plaza ของเอ๋ ไปเพียง 2 คูหา ทั้งคู่เคยเห็นกันก็บ่อยครั้ง แต่กลับไม่มีแก่ใจทักทายกัน แต่เมื่อทั้งคู่มาอยู่เขาใหญ่ ความสบายใจและความน่ารักของกลุ่มก้อนชุมชนเล็กๆ ของชาวกรุงเทพฯ ที่เขาใหญ่ทำให้เธอและเลิฟได้รู้จักกัน

"อย่างคุณปิยะ ธุรกิจเขากับของเราไกลกันมาก แต่มาอยู่นี่เขาเป็นพี่ติ๋ม หรืออย่างคุณวิสุทธิ์ เราปรึกษากันเรื่องการปลูกต้นไม้ตั้งแต่ก่อนทำไร่ด้วยซ้ำ เขาก็รีบให้คนเอาเอกสารมาให้ปึกใหญ่มาก เพราะเขารู้ว่าเราอยู่เขาใหญ่" เอ๋เล่าด้วยน้ำเสียงชื่นชมในความน่ารักของสมาชิกในสังคมเขาใหญ่ของคนกรุงเทพฯ กลุ่มนี้

ขณะที่วิกรมเชื่อว่า ความน่ารักนี้คงเกิดจากที่นี่หลอมรวมให้เป็นทุกคนได้เป็นตัวตนของตัวเอง ไม่ต้องแอบแฝง และไม่ต้องใส่สีตีไข่ใส่กันที่เขาใหญ่ วิกรมกลายเป็น "ลุง" ตาม ที่เลิฟเรียก ขณะที่เอ๋ ซึ่งมีวัยอ่อนกว่าวิกรม แต่กลับต้องกลายเป็น "ยาย" ตามสรรพนามที่วิกรมมักเรียกเธอ

กิมมิคเหล่านี้อาจบอกได้ถึงความสนิทสนมและความสนุกสนานในสังคมคนกลุ่มนี้ได้บ้าง

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำกับสมาชิกกลุ่มนี้ ก็คือบางคนอาจถูกเรียกตัวจากกรุงเทพฯ เพื่อให้ไปร่วมดินเนอร์ที่เขาใหญ่ได้ทุกเมื่อ โดยไม่ต้องมีโอกาสสำคัญ ไม่มีนัดหมายล่วงหน้า มีเพียงเวลาเหยียบคันเร่งเพียงชั่วโมงครึ่ง หรือแค่ชั่วโมงเดียว ถ้าคนขับคือวิกรม

หรือบางครั้งแค่ใบไม้เปลี่ยนสี ภูเขาจับหมอก หรือท้องฟ้าเห็นดาว ณ เขาใหญ่ เลิฟก็มักจะโทรหาพรรคพวกที่มีบ้านอยู่เขาใหญ่ แต่ต้องเข้าไปทำธุระในกรุงเทพฯ เพื่อบอกเล่าถึงสิ่งธรรมดาๆ ของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งกำลังอุบัติขึ้น

"ทุกที่ที่ขับรถผ่านในเขาใหญ่ ความงามแต่ละมุมจะไม่เหมือนกัน ทุกมุมสวยหมด แต่สวยต่างกัน พี่คงชอบเขาใหญ่มากเกินไป" นี่เป็นเหตุให้เลิฟโทรหาเอ๋บ่อย เพื่อบอกว่ามุมไหนสวยยังไงในวันนั้น

การนัดหมายของสมาชิกกลุ่มนี้จะใช้วิธีโทรศัพท์ตาม สอบถามกันเดี๋ยวนั้น สถานที่นัดพบก็มีหลากหลาย ทั้งร้านแฟ้บ ร้านวินคอตโต้ ร้านโมริ และบ้านของบรรดาสมาชิก เช่น วันไหนที่ไพวงษ์ เตชะณรงค์ ลงมือทำขาหมู เขาก็มักจะโทรชวนเพื่อนฝูงมาลิ้มชิมรสที่บ้านในโบนันซ่า หรือวิกรมที่มักเปิดแพพาเพื่อนไปล้อมวงเล่นดนตรีจิบไวน์ใต้แสงดาวจนดึก ฯลฯ

นี่ก็เป็นความน่ารักที่ยากนักจะได้เห็นนักธุรกิจร้อยล้านพันล้านใส่ผ้ากันเปื้อนปรุงอาหารอยู่หน้าเตา หรือจับกีตาร์ร้องเพลงจะเพราะแค่ไหน

ไลฟ์สไตล์แบบนี้ก็ส่งผลทางตรงต่อการออกแบบบ้านของเอ๋ เพราะบ้านของเธอจะเปิดโล่งเพื่อให้มองเห็นกันได้ทั้งคนที่นั่งในบ้านและระเบียง และระเบียงชานรับลมของบ้านเธอก็ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับจำนวนเพื่อนที่จะมานั่งทานได้มากถึง 20 คน สบายๆ

"เดี๋ยวนี้ เรามีปาร์ตี้กันทุกอาทิตย์" กิตติมักเป็นตัวตั้งตัวตีในการสังสรรค์ของกลุ่มสายถนนธนะรัชต์

วิสุทธิ์ ซึ่งมีบ้านไร่อยู่บนเส้นเหวปลากั้ง ให้ภาพที่ชัดขึ้นว่า แบบฉบับความสัมพันธ์ ของสังคมคนกรุงเทพฯ ในเขาใหญ่จะเป็นแบบหลวมๆ แยกตามทำเลที่ตั้ง หากจะมีสังสรรค์ก็เป็นรูปแบบไม่เป็นทางการ ไม่ได้นัดแนะ กลุ่มไม่ใหญ่ ใช้วิธีโทรตามกัน และวนไปตามบ้าน เหมือนกัน

"คนมาอยู่ที่นี่ไม่ได้ต้องการ social life มากนัก แต่ต้องการความร่มรื่นและความ สงบมากกว่า อย่างของเราตอนนี้มีความสุขมาก เพราะเพื่อนบ้านที่ใกล้อยู่ห่างไป 1 กม." วิสุทธิ์ยืนยันว่า ความสงบนิ่งเป็นความต้องการ ที่แท้จริงของคนที่อพยพมาอยู่ที่นี่ ถึงแม้ทุกวันนี้เขาเองจะต้องเปิดบ้านรับแขกอยู่บ่อยครั้ง

อย่างไรก็ดี ยังมีชาวกรุงเทพฯ กลุ่มอื่นแฝงตัวอยู่ในสังคมเขาใหญ่ แต่อาจไม่ได้มี "social life" แบบคน 2 กลุ่มที่เอ่ยถึงนี้ เช่น กลุ่มวังน้ำเขียว กลุ่มคลองดินดำ และกลุ่มซองซูซี ที่ดูว่ายังนิ่งและสงบมาก

"มีคนอีกเยอะมากที่มาอยู่แล้วเราไม่รู้ เพราะเขาไม่อยากเปิดเผย อยากอยู่สงบอย่าง ชาติ กอบจิตติ บ้านเขาอยู่ในป่า คนจะเข้า ไปหาต้องให้เขาเอาเรือออกมารับ ถ้าใครที่เขาไม่รู้จักเขาก็ไม่เอาเรือมารับ" เอ๋ยืนยันว่า สังคมเศรษฐีกรุงเทพฯ ที่เข้ามาอยู่เขาใหญ่ เลือกได้ว่าจะอยู่สงบ หรือสนุกกับสังคมน่ารักๆ ที่เขาใหญ่

การแห่เข้ามาเขาใหญ่ของเศรษฐีกรุงเทพฯ ในช่วง 4-5 ปีหลัง ส่งผลต่อสภาพ เศรษฐกิจของเขาใหญ่อย่างเห็นได้ชัด ทั้งจำนวนโรงแรม รีสอร์ต สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร ที่จำนวนและความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงธุรกิจบริการสุดหรูเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของเศรษฐีกรุงเทพฯ คงต้องยกให้เลิฟและกิตติเป็น pioneer

กิตติถือเป็นส่วนหนึ่งของคนกรุงเทพฯ กลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาในยุคโบนันซ่าบูม เหมือน กับเลิฟที่มีแมนชั่นในจุลดิศมานานกว่า 10 ปี ทั้งคู่มีธุรกิจในกรุงเทพฯ ที่จับกลุ่มคนกรุงเทพฯ ระดับ upper class เหมือนกัน และยังเห็นตรงกันอีกว่า มีแนวโน้มที่ลูกค้าของพวกเขาจะเข้ามามีบ้านพักตากอากาศอยู่ในเขาใหญ่มากขึ้น

เลิฟอาจเห็นเทรนด์นี้รางๆ มาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน ขณะที่กิตติอาจจะเห็นช้ากว่าแต่ก็มาแบบ full option

ในวันที่ลงทุนสร้างธุรกิจที่เขาใหญ่ ทั้งคู่รู้ดีว่าปัญหาของเขาใหญ่ที่ทำให้กลุ่มลูกค้า A+ ของเขาคับข้องใจ เพราะเขาใหญ่ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตรงกับไลฟ์สไตล์หรูของลูกค้ากลุ่มนี้ เลิฟจึงไม่ลังเลที่จะทุ่มทุน 4 ล้านบาท ตกแต่งร้านอิตาเลียนให้มีมาตรฐานระดับโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพฯ

ส่วนกิตติก็เปิดโรงแรมสุดหรูที่มีค่าห้องสูงสุด 27,000 บาทต่อคืน และยังมีโครงการ Kirimaya Residence บ้านพักหรูแถมบริการระดับเดียวกับโรงแรม สนนราคาอยู่ที่ 30-40 ล้านบาท แพงไม่น้อยหน้าภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันขายเป็นดอลลาร์ มีแต่ลูกค้าตาน้ำข้าว

"ผมกำลังชี้ให้คนเห็นว่าเขาใหญ่เป็นที่ prestige ได้ ไม่ใช่ที่ที่เด็กนักเรียนจะมาสนุกรวมกันเหมือนเมื่อก่อน เขาใหญ่น่ารักที่มีความหลากหลาย และคีรีมายาก็นำเสนอจุดยืนตรงนี้ ทำให้คุณยังสามารถใช้ชีวิตอย่างมีไลฟ์สไตล์ได้ถึงจะอยู่ที่นี่"

หากนึกไม่ออกว่า ความเพรสทิจ (prestige) ที่กิตติว่าเป็นอย่างไร ก็ลองไปพักที่เต็นท์ ในคีรีมายาสักคืน

คนที่ชูมือยินดีกับการมาสร้างมาตรฐานความหรูของบริการของกิตติอย่างมาก อีกคนหนึ่งก็คือวิสุทธิ์ เขาถึงกับเอาชื่อคีรีมายาไปตั้งเป็นชื่อรุ่นไวน์ในปี 2004 ว่า Kirimaya Syrah เพื่อฉลองการเปิดตัวของคีรีมายา เพราะเขามองว่า นี่จะช่วยปรับปรุงภาพลักษณ์เขาใหญ่ ไม่ให้เป็นจุดหมายปลายทางของฉิ่งฉับทัวร์อีกต่อไป

ทุกวันนี้เขาใหญ่มีโครงการบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ที่เคยสะดุดเพราะพิษฟอง สบู่ก็เริ่มกลับมาสร้างต่อ ขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนกลุ่มใหม่ตามมาปลูกตึกกันอีกไม่น้อย เช่น โครงการภูภัทรา ที่มาติดป้ายเชิญชวนลูกค้าถึงในกรุงเทพฯ กันเลยทีเดียว หรือโครงการมอม่วนหลาย บ้านจัดสรรอำนวยการสร้างโดยกลุ่ม Belle Vella เจ้าของบูติกรีสอร์ตในเชียงใหม่ ก็ยังอุตส่าห์ลงมารุกถึงเขาใหญ่ ฯลฯ

เรียกว่าหนีจากกล่องสี่เหลี่ยมในกรุงเทพฯ ก็ยังอุตส่าห์มาอยู่กล่องกลางเขาใหญ่

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดหลังการเคลื่อนพลของเศรษฐีกรุงเทพฯ ก็คือราคาที่ดินบริเวณเขาใหญ่จากเดิมที่แถวถนนธนะรัชต์ เคยสูงสุดถึงไร่ละ 1-2 ล้านบาท ในยุคที่ดินบูม แล้วราคาก็ตกลงมาหลังช่วงวิกฤติ ปรากฏว่า 2-3 ปีหลังนี้ ที่ดินเขาใหญ่ราคาแพงขึ้นมาก และเริ่มขยายตัวไปยังพื้นที่โดยรอบเขาใหญ่อย่างรวดเร็ว

ลักษณะของการซื้อขายที่ดินแถวนี้ก็แทบไม่ต้องพูดถึงราคาประเมินที่สูงอยู่แล้ว แต่ราคาที่ขายจริงจะสูงนำไปแล้ว ระดับราคาจะสูงหรือต่ำอยู่ที่ทำเลและความพอใจของ 2 ฝ่ายเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่หนึ่งที่นายก อบต.หมูสีเตือน ก็คือราคาที่ดินที่นี่ fix ไม่ได้เลย เรียกว่าถามทีก็ขึ้นที ปั่นได้ ไม่ต่างจากราคาหุ้นเลยทีเดียว

จากตีนเขาใหญ่มายังเส้นธนะรัชต์ ยังเป็นย่านที่ติดชาร์ตแพงอันดับ 1 ขณะที่คลองดินดำ (แถวคีรีมายา) เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงซึ่งล่าสุดก็มีโครงการยักษ์ใหญ่ชื่อ Toscana ตั้งอยู่ไม่ไกลจากคีรีมายา ส่วนเส้นเหวปลากั้งก็อีกจุดที่ราคาเริ่มสูงเพราะมีคนกรุงเทพฯ ไปปลูกบ้านกันมาก ด้วยทำเลที่มีเขาขนาบ เขียวขจีตลอดทาง และยังมีรถวิ่งน้อยกว่าเส้นหลัก

หลายคนมองว่า หากมีคนกรุงเทพฯ เข้าไปอยู่ในย่านยอดนิยมจนเยอะแล้ว วังน้ำเขียว จะบูมต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีคนกรุงเทพฯ หลายคนไปจับจองซื้อที่แปลงใหญ่ปลูกผักผลไม้รอวัยเกษียณไว้บ้างแล้ว ทั้งนี้เพราะย่านนี้ราคายังไม่แพง อากาศก็ดี และดินดีมากปลูกได้ทุกอย่างทั้งสตรอเบอรี่ พีช เบอรี่ ฯลฯ

"ยุคบูมแรกของเขาใหญ่ก็พอมีบ้านจัดสรรแต่ไม่เยอะ ช่วง 2-3 ปีหลังนี้เองที่มีเยอะมากจนแน่นเอียด ส่วนราคาที่ดินก็เกือบจะกลับเท่าช่วงก่อนฟองสบู่แตกแล้ว ได้แต่หวังว่า นี่จะไม่ใช่ฟองสบู่" วิสุทธิ์เปรียบเทียบให้ฟังในฐานะที่เห็นความเป็นไปมานาน เพราะพ่อแม่ของเขาเองก็เคยมีที่ดินอยู่ย่านนี้มานาน

"ปัญหาตกหนักกับชาวบ้าน ซื้อขายหรือโอนมรดกกันที เสียภาษีบาน" นายก อบต.หมูสี เป็นห่วง

นอกจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมของเขาใหญ่ก็มีการเปลี่ยน แปลงที่ชัดเจนมากไม่แพ้กัน เช่น หมู่บ้านซองซูซีเคยตั้งอยู่ไม่ไกลจากเส้นธนะรัชต์ แต่เมื่อธรรมชาติและความสงบหายไปพร้อมกับการมาของเศรษฐีกรุงเทพฯ กลุ่มใหม่ที่มาอยู่อย่างหนาแน่น คนกลุ่มนี้ก็ย้ายหมู่บ้านหนีเข้าไปอยู่ในหุบเขาลึกไปทางวังน้ำเขียว โดยทำป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้าน เป็นตัวอักษร เล็กๆ อยู่ใต้ชื่อทางเข้าวัดมงกุฎคีรีวรรณ

ทุกวันนี้ เศรษฐีเก่าหลายคนที่หวังไปแสวงหาความสงบในเขาใหญ่เริ่มบ่นปวดหัว จากที่เคยอยู่เงียบๆ พอเริ่มมีเพื่อนบ้านเข้าประชิดริมรั้วมากขึ้น พวกเขาก็ต้องปรับตัวทน กับเสียงดังเอะอะของบ้านเศรษฐีจีนบางคน ที่อยู่ๆ ก็จุดประทัดกลางเขาใหญ่ในวันเช็งเม้ง หรือดึกๆ ก็เปิดคาราโอเกะดังลั่นป่า

"การรุกล้ำที่ดินอาจจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขาใหญ่ เพราะมีการล้อมรั้วอุทยาน มีเจ้าหน้าที่ดูแล แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ คนที่เข้าไปอยู่ไม่เข้าใจแก่นจริงๆ ของเขาใหญ่ ไม่ "อิน" กับธรรมชาติ และไม่เข้าใจว่าคนที่ไปอยู่ที่นั่น เพราะต้องการอะไร" เป็นคำบอกเล่าของหนึ่งในชาวกรุงเทพฯ ที่ไปสร้างบ้านอยู่ใน เขาใหญ่ตั้งแต่ยุคบุกเบิก โดยหวังจะย้ายไปใช้ชีวิตหลังรีไทร์อย่างสงบที่เขาใหญ่

เมื่อกลับมาดูที่ถนนธนะรัชต์ ทุกวันนี้มีการจราจรคับคั่งส่งเสียงดังมาเป็นระลอกบ่อยมากขึ้น จนทำให้เลิฟเองก็เริ่มเกรงว่า ปีหน้าที่หลังจากที่เธอย้ายมาอยู่บ้านหลังเล็กๆ หลังร้านแฟ้บ เธอจะนอนหลับหรือไม่ หากมีทั้งเสียงรถสิบล้อ รถเก๋งคันหรู รถปิกอัพชาวบ้าน เสียงมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านไปมาจนดึก แทนที่จะได้ยินเสียงลม เสียงใบไม้ เสียงนกกลางคืน เสียงความสงบ เป็นเสียงกล่อมเข้านอนดังที่ฝันไว้

ช่วง 2-3 ปีหลัง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเขาใหญ่ไม่ได้ต้อนรับเพียงเศรษฐีผู้มีอันจะกินที่จ่ายเงินก้อนโตซื้อที่แปลงใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เด็กกว่าและระดับรายได้ปานกลางได้ตามเข้าไปแชร์อารมณ์ดื่มด่ำในความยิ่งใหญ่ของเขาใหญ่มากขึ้น

จากป้ายขายที่ดินแปลงใหญ่หลายไร่ ทุกวันนี้เราสามารถเห็นป้ายแบ่งขายที่ดินในระดับ ตารางวาที่มีมากมาย ขณะเดียวกันคนกลุ่มหลังนี้ยังใช้วิธีลงขันซื้อที่ดินมาซอยแบ่งกันเอง เพื่อปลูกสร้างบ้าน ซึ่งก็น่าคิดว่าหากแปลงหนึ่งต้องแบ่งสัก 4 คน แล้วมีอย่างนี้หลายแปลงอีกหน่อยเขาใหญ่คงจะเป็นชุมชนแออัดในไม่ช้า

"เรามีความสุขมากเพราะเพื่อนบ้านที่ใกล้ก็คือประมาณ 1 กม. ไม่ต้องมีปัญหาอะไรกัน" วิสุทธิ์พูดราวกับคาดการณ์ไว้แล้วว่าต้องเกิดขึ้นสักวัน เช่นเดียวกับวิกรมที่ยอมลงทุนซื้อที่ติดเขากว้างขวางถึง 150 ไร่ เพื่อจะได้ไม่มีเพื่อนบ้านหรือโครงการอะไรมารบกวนความสงบที่เขาอุตส่าห์ดั้นด้นมาแสวงหาถึงเขาใหญ่

"แน่นอน เดี๋ยวกลุ่ม B ต้องตามมาอยู่เยอะ แต่พี่ว่า ยังไงความเป็นเขาใหญ่ก็ไม่หาย เขาใหญ่ ใหญ่มาก ที่ดินแพงขึ้น ก็อยู่ที่ว่าคนกลุ่มนี้จะแฝงอยู่พื้นที่ไหน แต่คงอยู่ได้ในอีกพื้นที่" เลิฟให้ความเห็นตรงกับ นายก อบต.หมูสี ที่มองว่า "กลุ่ม B" จะใช้ราคาที่ดินเป็นตัวเลือกทำเล ดังนั้นกลไกราคาก็จะทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งโซนเอง

แม้จะไม่แสดงความเป็นห่วงทางสีหน้าอย่างชัดเจน แต่เลิฟก็อยากให้มีกฎกติกา และอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีเขาใหญ่เป็นจุดร่วมเหมือนเธอ รีบช่วยหามาตรการป้องกัน ซึ่งกิตติเองก็ยอมรับว่า ในภาพรวมของเขาใหญ่คงเป็นเรื่องที่ระวังได้ยากมาก

ดูเหมือนว่าทั้งกิตติ เลิฟ วิสุทธิ์ และเอ๋ จะเห็นตรงกันว่า บุคลิกของสังคมเขาใหญ่คงจะไม่เปลี่ยนแปลงมากถึงแม้จะมี "กลุ่ม B" ทยอยเข้าไปอยู่กันเยอะ

ด้วยฐานะที่แตกต่างของคนกลุ่มใหม่ที่กำลังจะเข้าไปกับกลุ่มคนที่เข้าไปอยู่แล้ว แน่นอนว่า สังคมเขาใหญ่และความเป็นเขาใหญ่อาจจะต้องกระทบกระเทือน

ขณะที่คนกลุ่มแรกมีเงินซื้อที่แปลงใหญ่เพื่อปลูกบ้านกลางธรรมชาติ คนกลุ่มใหม่ จะมีที่แปลงเล็กๆ แชร์กันสร้างบ้าน สภาพชุมชนจึงน่าจะแออัดกว่า ขณะที่คนกลุ่มแรกไปอยู่ในช่วงที่ชีวิตตกผลึกและหลายคนก็จงใจมาใช้ชีวิตรีไทร์ คนกลุ่มใหม่ที่เด็กกว่า ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ และอาจนำไลฟ์สไตล์กรุงเทพฯ เข้าใช้ในเขาใหญ่ ขณะที่ คนกลุ่มแรกเป็นคนจำนวนน้อย แต่กลุ่ม B เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าและบริการฉาบฉวยหลายประเภท ซึ่งก็อาจจะตามเข้าไปด้วย

ภาพหนุ่มสาวที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาอยู่ไกลถึงกลางไร่องุ่นที่โอบล้อมด้วยขุนเขาใหญ่ ที่ซึ่งต่างชาติยกย่องให้เป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเขาใหญ่ แต่พวกเขากลับมัวแต่สนใจกับหนังสือพิมพ์ธุรกิจและตัวเลขราคาหุ้นที่อยู่ตรงหน้า มากกว่าความเงียบสงบและงดงามของธรรมชาติ สิ่งเล็กๆ ที่เห็นแล้วยิ่งอดห่วงไม่ได้

เพราะนี่อาจเป็นเพียงสัญญาณว่า คนกลุ่มใหม่ที่กำลัง (จะ) ตามเข้ามาอยู่ในเขาใหญ่ อาจไม่ใช่คนที่ซาบซึ้งกับความเป็นเขาใหญ่ที่มีธรรมชาติงดงามจนหาที่ไหนไม่ได้ และยังมีมนต์ขลังในการปลดปล่อยผู้มาเยือนออกจากความวุ่นวายที่ติดตามมาจากกรุงเทพฯ

อาจเป็นได้ว่า กลุ่มหลังนี้เข้ามาตามกระแสหรือแฟชั่น ไม่ก็อาจเข้ามาเพื่อการเก็งกำไรหรือกอบโกยจากเขาใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุคบูมแรก แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด หากไม่ได้มาเพราะซาบซึ้งชื่นชมกับอรรถรสที่แท้จริงของความเป็นเขาใหญ่ ก็คงไม่สร้างจิตวิญญาณหวงแหนความเป็นเขาใหญ่ให้อยู่ต่อไปได้

สุดท้ายถ้าคนกลุ่มใหม่เข้าไปเยอะๆ แล้วคนกลุ่มแรกจะหนีไปลึกกว่าเดิมถึงแค่ไหน... แล้วธรรมชาติจะเป็นอย่างไร สัตว์จะต้องหนีเข้าไปลึกกว่าคนถึงแค่ไหน

ขณะที่หลายคนกำลังวิตกถึงความหนาแน่นของหัวหินที่เคยบูมอย่างครึกโครมว่า อาจเสี่ยงที่จะวิ่งเข้าสู่เส้นทางหายนะที่มีพัทยารออยู่ที่ปลายทาง คำถามก็คือ บูมเงียบๆ แต่ซึมลึกอย่างเขาใหญ่จะเป็นอย่างไรต่อไป?

แค่เพียงการเป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกก็คงไม่ใช่พันธสัญญาว่า เขาใหญ่จะมีความเป็นธรรมชาติที่งดงามและมีมนต์ขลังได้นานเท่านาน หากแต่ต้องมีคนเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยหวงแหนและหล่อเลี้ยงเขาใหญ่ให้คงความศักดิ์สิทธิ์

บทเพลงเขาใหญ่ที่แว่วออกมาจากไร่ดอกเหงื่อของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ณ ซอกมุม หนึ่งของเขาใหญ่ คืออีกหนึ่งเสียงเพื่อปลุกวิญญาณรักษ์เขาใหญ่ให้กลับมาตื่นตัว... คงไม่มีใคร "อิน" กับเพลงนี้มากไปกว่าชุมชนคนที่อาศัยอยู่ในเขาใหญ่


"กว่าจะเป็น ต้นไม้ยืนต้น สูงหยัดยืน ใหญ่โตงดงาม
เนิ่นและนาน ที่สั่งสม เป็นร่มเงา ให้ดอกงาม
ยามที่คน นั้นต้องการ กว่าจะเป็น สายธารล้นหลาก
ไหลระเริง หล่อเลี้ยงผู้คน เนิ่นและนาน
ที่ปลาน้อย ร้อยเส้นใย ว่ายถักทอ
เป็นธารทอง ให้ผู้ทุกข์ทน คือเขาใหญ่ ถิ่นไพรพนา"   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us