Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2549
ปัญหาใหญ่ยักษ์ของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่             
 


   
www resources

BP Homepage

   
search resources

Oil and gas
BP




แม้จะมีผลกำไรนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ แต่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างพากันบ่นเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ในขณะที่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง กลับไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ถาวร

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา BP บริษัท น้ำมันยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจาก ExxonMobil และ Shell ซึ่งกำลังจะครบรอบร้อยปีในปี 2008 กำลังเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งการระเบิดของโรงกลั่นของบริษัท ที่อยู่ใน Texas City ปัญหาน้ำมันรั่วใน Alaska และการที่บริษัทค้าพลังงานในเครือ ถูกกล่าวหาว่าปั่นราคาในตลาด

นักลงทุนรายสำคัญๆ เริ่มตั้งคำถาม ว่า BP มีปัญหาเชิงระบบภายในบริษัทหรือไม่ ขณะที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ กล่าวโจมตีผู้บริหาร BP อย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัท ส่วนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็กำลังสอบสวน BP เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบริษัทข้างต้น BP เองยังแต่งตั้งอดีตผู้พิพากษา เพื่อรับฟังและ ตรวจสอบตามคำกล่าวหาที่ว่า BP ปกปิด ความจริงเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เหล่านั้น ซึ่ง BP ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

มองจากภายนอก อุตสาหกรรมน้ำมันดูเหมือนเป็นเสือนอนกิน จากการที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงทำลายสถิติครั้งแล้วครั้งเล่า ในช่วงหลายปีมานี้ ซึ่งทำให้ตัวเลขผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น รวมทั้งตัวเลขรายได้ของ CEO บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือกว่า ระดับ 20 ล้านดอลลาร์

แต่บรรดาผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างพากันบ่นถึงต้นทุนค่าใช้จ่าย ที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วเท่าๆ กับหรือยิ่งกว่าผลกำไรที่เพิ่มขึ้น และประสบการณ์อันโชกโชนที่ผ่านมาบอกกับพวกเขาว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่อย่างถาวร

ผู้บริหารบริษัทน้ำมันส่วนใหญ่เห็นว่า การตกต่ำลงของราคาน้ำมันจนต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อไม่นานมานี้ เป็นเพียงสัญญาณแรกของการตกต่ำของราคาน้ำมัน ซึ่งจะฉุดดึงราคาน้ำมันให้ลดลงต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ หรือแม้กระทั่งต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ ใน ขณะที่ผลผลิตน้ำมันกำลังเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

ความจริงแล้ว บริษัทน้ำมันได้พยายามควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย มานานหลายปีแล้ว ก่อนที่ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงลิ่วในรอบนี้ และนักวิเคราะห์ก็ชี้ว่า การรัดเข็มขัดดังกล่าวนั่นเอง ที่เป็นสาเหตุของปัญหา ทั้งหลายแหล่ที่ BP กำลังเผชิญ เนื่องจากการที่ BP อาจจะลดค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษามากเกินไป

ความจริงอีกประการก็คือ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่หาได้ร่ำรวยมากขึ้นเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่ราคาน้ำมันจะพุ่งสูง เมื่อพิจารณาในแง่ของผลตอบแทนที่แท้จริง Goldman Sachs ชี้ว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผลตอบแทนของบริษัทน้ำมันอยู่ในสภาวะที่ซบเซา โดยผลตอบแทนจากเงินลงทุนที่ใช้ไป (return on capital) โดยเฉลี่ยของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตก จะอยู่ที่เพียงร้อยละ 19 เท่านั้น หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 นับตั้งแต่ปี 2000

สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นหนักด้านเงินลงทุน ผลตอบแทนจากเงินลงทุนถือเป็นดัชนีสำคัญ เนื่องจากไม่เพียงสะท้อนผลกำไรที่บริษัทสามารถทำได้ แต่ยังสะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่าย ของบริษัทได้ด้วย

ดังนั้น การสร้างมูลค่าในบริษัทน้ำมันจึงอยู่ในสภาพที่หยุดนิ่ง แม้ว่าบริษัทจะสามารถสร้างผลกำไรได้มากขึ้น แต่ก็ต้อง ใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน เพื่อที่จะสร้างผลกำไรนั้น อันมีสาเหตุเนื่องมาจากปัญหาหลายอย่าง กล่าวคือ การที่อุตสาหกรรมน้ำมันแทบไม่มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหา ชาตินิยมในประเทศที่เป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การเข้าถึงแหล่งสำรองน้ำมันแหล่งใหม่ๆ ของบริษัทต่างชาติถูกจำกัด และปัญหาแหล่งสำรองน้ำมันเดิมๆ เริ่มอิ่มตัว รวมทั้งการที่โครงการสำรวจแหล่งสำรองน้ำมันใหม่ๆ ต้องพบกับความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายมากยิ่งขึ้น ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

ปัญหาทั้งหมดนี้ทำให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของตะวันตกไม่อาจจะได้น้ำมันมาง่ายๆ ได้อีกต่อไปแล้ว และยังทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายพุ่งสูงลิ่วจนอยู่นอกเหนือการควบคุม (ดูกราฟิกประกอบ)

ในขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทน้ำมันไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แม้ว่าบริษัทจะได้รับผลกำไรมากขึ้นจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น เห็นได้จากอัตราส่วนราคาต่อผลกำไร (price-to-earnings ratio : P/E) โดยเฉลี่ยของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ในดัชนี S&P 500 อยู่ที่ระดับ 9.8 หรือเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราเฉลี่ยสูงสุดที่เคยทำได้

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงทำลายสถิติหลายครั้ง ซึ่งทำให้บริษัทน้ำมัน ยักษ์ใหญ่กลายเป็นบริษัทที่ร่ำรวยที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป บรรดาผู้บริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ต่างทำการตัดสินใจด้านการลงทุนในระยะกลางและระยะยาว บนพื้นฐานของการตั้งสมมุติฐานราคาน้ำมันว่า จะลดต่ำลงเหลือเพียง 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ Lord John Browne CEO ของ BP ยังเชื่อด้วยว่า ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ที่ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในระยะยาว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมน้ำมันหลายคนก็เห็นด้วย

แม้ว่า Goldman Sachs จะคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะกลับ พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งถึงระดับ 75 ดอลลาร์ เมื่อฤดูหนาวมาถึงแต่การเริ่มลดต่ำลงของราคาน้ำมันที่เริ่มเห็นกันแล้วในช่วงนี้ ช่วยเตือนให้ไม่ลืม ว่า ความจริงแล้วน้ำมันเป็นสินค้าที่มีความผันผวนสูงมาก

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเคยตกต่ำสุดขีดเหลือเพียง 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ย และเคยกระทั่งตกลงต่ำสุดขีดถึงระดับ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลถึง 2 ครั้ง ความผันผวนอย่างสุดขีดของราคาน้ำมันเช่นนี้เอง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาที่กำลังเกิดกับ BP ดังที่กล่าวมาในตอนต้น และไม่ใช่สร้างปัญหา แต่เฉพาะกับ BP เท่านั้น หากแต่ได้สร้างปัญหามากมายให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันโดยรวม

การมีน้ำมันในตลาดมากเกินความต้องการ และความต้องการ บริโภคน้ำมันที่ลดต่ำลง หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำจนถึงปี 2002 ในช่วงเวลา ที่ราคาน้ำมันตกต่ำนั้น เกิดการควบรวมกิจการกันอย่างขนานใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ ส่วนค่าจ้างแรงงานก็ตกต่ำลง เช่น ในสหรัฐฯ การจ้างงานในอุตสาหกรรมน้ำมันลดฮวบลงจากมากกว่า 1 ล้านตำแหน่งเหลือเพียงไม่ถึง 500,000 ตำแหน่ง บริษัทน้ำมันในตะวันตก ประมาณ 400 แห่งต้องเลิกกิจการ ส่วนพวกที่เหลือรอดก็ต้องตัดลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและกำลังการผลิตอย่างหนัก ผลเสียสำคัญที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบมาถึงช่วงเวลานี้ก็คือ ปัญหาขาดแคลนบุคลากร

BP กับ Shell นับเป็นผู้นำในการตัดลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ BP อาจจะทำมากเกินไป จนอาจกลายเป็นการเอาเรื่องความปลอดภัยมาเสี่ยงเพื่อรักษาผลกำไร ผู้ที่เปิดโปงปัญหาของ BP กล่าวหาว่า BP ตัดลดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาจนเกิดปัญหา น้ำมันรั่วใน Alaska และใช้เครื่องมืออุปกรณ์ ที่ล้าสมัยจนเกิดเหตุโรงกลั่นระเบิดใน Texas City อย่างไรก็ตาม การตัดลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ก็ทำให้ราคาหุ้นของ BP ซึ่งไม่ได้มีความ น่าสนใจในช่วงต้นทศวรรษ 1990 กลับกลาย เป็นหุ้นเนื้อหอมในช่วงปลายทศวรรษ 1990

อย่างไรก็ตาม ในปี 2000 บริษัทน้ำมันทั้งหลายได้เริ่มกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง หลังจากที่หยุดลงทุนมามากกว่า 15 ปี แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาสั่งล่วงหน้านานหลายเดือน หรือหลายปี ไปจนถึงการขาดแคลนวิศวกร ซ้ำเติมด้วยความต้องการ บริโภคน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากประเทศที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างจีนและอินเดีย ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำมันเริ่มพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ตั้งแต่ปี 2000 ต้นทุน ในการขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 68 แต่ต้นทุน ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่านั้น

โครงการขุดเจาะน้ำมันขนาดใหญ่ต้องหยุดชะงัก หรือหากจะเดินหน้าต่อก็ต้องใช้เงินเกินงบไปเป็นพันๆ ล้าน เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากร อย่างเช่น โครงการท่อส่งน้ำมัน Baku-Ceyhan ของ BP จะต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าที่คาดไว้ถึงอย่างน้อย 1 พันล้าน ดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ที่มาจากผู้รับเหมาและผู้ป้อนวัตถุดิบต่างๆ ส่วนโครงการผลิตน้ำมันในแคนาดาของ Shell ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าที่คาดไว้ร้อยละ 50 เมื่อปีที่แล้ว

วัสดุอุปกรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ท่อเหล็กกล้าจนถึงเหล็กชนิดพิเศษที่ทนต่อการกัดกร่อน แพงขึ้นอย่างมาก BP เปิดเผยว่า ค่าเช่าแท่นขุดเจาะน้ำมัน ที่สามารถขุดเจาะใต้น้ำได้ลึกเป็นพิเศษ (ลึกมากกว่า 1,500 เมตร) เพิ่มขึ้นจาก 200,000 ดอลลาร์ เป็น 500,000 ดอลลาร์ต่อวัน ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ผู้บริหาร BP ยังคาดว่า ต้นทุนนี้จะไม่มีวันลดลงมา

นอกจากปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นตลอดเวลา ปัญหาชาตินิยมในประเทศที่เป็นเจ้าของแหล่งน้ำมันก็เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อราคาน้ำมันเริ่มพุ่งสูงในช่วง 2-3 ปีมานี้ ซึ่งทำให้ประเทศ อย่างเม็กซิโก รัสเซีย เวเนซุเอลา และประเทศอื่นๆ ที่มีแหล่งน้ำมัน เริ่มที่จะดึงอำนาจการควบคุมบ่อน้ำมันของตน กลับคืน มาจากบริษัทตะวันตก และตัดการเข้าถึงแหล่งขุดเจาะน้ำมันใหม่ๆ ของบริษัทต่างชาติ เหล่านั้น

ผลก็คือ มีเพียงแหล่งสำรองน้ำมันที่ เป็นที่รู้จักประมาณร้อยละ 25 ในโลกเท่านั้น ที่ยังคงเปิดรับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากตะวันตกในปัจจุบัน ซึ่งลดลงจากร้อยละ 85 ในช่วงทศวรรษ 1960 ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ในโลกนี้ ต่างเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์กันถ้วนหน้า แต่อุตสาหกรรมน้ำมันกลับเดิน ไปในทิศทางตรงกันข้าม

และถึงแม้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้น อาจจะยอมให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงแหล่ง น้ำมันของตน แต่ก็จะขอส่วนแบ่งกำไรที่มากขึ้น เป็นประมาณ 90 เซ็นต์ สำหรับทุกๆ ดอลลาร์ของรายได้จากน้ำมัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 70-80 เซ็นต์ในอดีต ในขณะที่บริษัทน้ำมันต่างชาติต่างต้องยอมศิโรราบให้แก่ประเทศเจ้าของแหล่งพลังงานมากขึ้น เพียงเพื่อจะได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ชิ้นเล็กๆ เท่านั้นในทุกวันนี้

โครงการแหล่งก๊าซ Sakhalin ในไซบีเรียของ Shell เป็นสัญลักษณ์ของการที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากตะวันตก ต้องบุกเข้าไปในพื้นที่ที่ทุรกันดารมากขึ้น เพื่อหาแหล่งสำรองน้ำมันใหม่ๆ ซึ่งทำให้ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งทางด้านการเงินและการเมืองมากขึ้น

หลังจากที่ Shell เพิ่งประกาศว่า โครงการ Sakhalin นี้ จะต้องใช้เงินเกินงบไปประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุน แรงงานและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และการที่ต้องบุกเข้าไปในภูมิประเทศ ที่ทุรกันดาร ซึ่งทำให้นักการเมืองรัสเซียไม่พอใจ เนื่องจากพวกเขาจะต้องคอยนานขึ้น กว่าจะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไร ถ้าหากว่าต้นทุนพุ่งสูงขึ้น

ผลก็คือ รัฐบาลรัสเซียสั่งเพิกถอนใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้กับ Shell ในการดำเนินการใน Sakhalin ซึ่งอาจจะทำให้โครงการนี้ต้องหยุดชะงักลง และยังขู่จะทำเช่นเดียวกันนี้กับบริษัทน้ำมันอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งรวมถึง Exxon

Exxon เพิ่งออกโฆษณาที่ระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตัวจริง จากการที่น้ำมันมีราคาแพงขึ้น หาใช่บริษัทน้ำมัน หากแต่เป็นรัฐบาล ของประเทศแหล่งน้ำมัน Exxon Mobil ชี้ว่า บริษัทอาจจะสามารถทำกำไรได้มากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว แต่กลับต้องจ่ายภาษีมากถึง 99,000 ล้านดอลลาร์

แม้แต่นักการเมืองในชาติยุโรปและสหรัฐฯ ก็ยังพยายามจะเก็บภาษีจากบริษัทน้ำมันมากขึ้น อย่างเช่นการพบน้ำมันใน Gulf of Mexico ของ Chevron ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการจะเจรจาขอเพิ่มค่า royalty

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่กำลังหันไปเล่นบทที่ปรึกษาให้แก่รัฐวิสาหกิจน้ำมันของประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเสนอเทคโนโลยีและความรู้แลกกับการได้เข้าถึงแหล่งน้ำมันแม้จะในสัดส่วนที่น้อยลง นักวิเคราะห์ยังชี้ด้วยว่า บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ ของชาติตะวันตกจะลดขนาดลง

เห็นได้จากการที่บริษัทน้ำมันขนาดรองอย่าง Statoil ของนอร์เวย์ และ Valero ของสหรัฐฯ เริ่มสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ไม่พยายามจะรวบ ทุกอย่างไว้กับตัวเอง กล่าวคือ พวกเขาไม่ได้พยายามจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเสียเอง ตั้งแต่การสำรวจแหล่งพลังงานไปจนถึงการขายปลีก แต่กลับหันไปเน้นเพียงธุรกิจบางอย่างในธุรกิจน้ำมัน ซึ่งทำให้พวกเขา สามารถบริหารความสมดุลระหว่างต้นทุนกับความเสี่ยงที่ซับซ้อนน้อยลง

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่า ยังจะมีบริษัทอีกหลายแห่งที่จะต้องเผชิญปัญหาแบบเดียวกับ BP หลังจากที่อุตสาหกรรมน้ำมันหยุดการลงทุนมา 20 ปี ซึ่งทำให้ขาดแคลนบุคลากรและเครื่องจักร อุปกรณ์ นอกจากนี้บริษัทจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐาน ยิ่งเมื่อต้องบุกเข้าไปทำงานในภูมิประเทศที่ทุรกันดาร หรือต้องขุดเจาะลงไปใต้ทะเลที่ลึกยิ่งขึ้นกว่าเดิม บริษัทอย่าง Shell กำลังลงทุนพัฒนาอัลลอยด์ที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในโครงการขุดเจาะน้ำมันใหม่ๆ ที่ยากลำบากมากขึ้น ความล้มเหลวของเครื่องจักรอุปกรณ์ ที่เกิดขึ้นกับแท่นขุดเจาะ Thunder Horse ของ BP เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ว่า อนาคตที่อุตสาหกรรมน้ำมันกำลังจะต้องเผชิญนั้น จะยิ่งยากลำบากมากกว่าที่ผ่านมา อีกมากนัก   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us