Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2536
"ลู เกิร์สต์เนอร์ จะพาไอบีเอ็มไปทางไหน             
 

 
Charts & Figures

ผลประกอบการของไอบีเอ็ม

   
related stories

"ยักษ์สีฟ้าที่เกิร์สต์เนอร์ต้องการ"

   
www resources

IBM Homepage

   
search resources

ลู เกิร์สต์เนอร์
Computer
IBM




นับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระแสเรียกร้องให้ลูเกิร์สต์เนอร์เปิดเผยวิสัยทัศน์ของตนเองต่อการเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของไอบีเอ็มเพิ่มขึ้นโดยลำดับ และบัดนี้ดูเหมือนว่าเกิร์สต์เนอร์พร้อมแล้วสำหรับการยืนยันทัศนะอันแจ่มชัดของเขา นั่นก็คือว่าไอบีเอ็มเล็งเห็นวิธีการคว้าโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว และแม้ว่าองค์กรจะมีโครงสร้างใหญ่โตมหึมา นโยบายที่จะยืนยันต่อไปก็คือการกระจายอำนาจการบริหารออกไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าไอบีเอ็มในยุคเก่า อีกทั้งจะระดมเงินสดไว้ในมือให้มากที่สุดด้วยการเป็นผู้เสนอบริการแก่ลูกค้า ช่วยปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์อันสลับซับซ้อนให้กับลูกค้า ยังไม่รวมถึงการผลักดันตนเองเป็นผู้นำในตลาดสินค้าอย่างครอบคลุม ตั้งแต่ชิปจนถึงดิสก์ ไดรฟ์ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แบบพกพาไปจนถึงเมนเฟรมโดยเน้นการเป็นผู้ผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ และใช้ต้นทุนต่ำที่สุด และยังต้องรั้งตำแหน่งผู้นำทางด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้ได้ ขณะที่อินเทลและไมโครซอฟต์เกือบจะผูกขาดตลาดนี้ไว้ในมือเสียแล้ว


องค์กรต้องยิ่งใหญ่

การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวของเกิร์สต์เนอร์จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการล้มเลิกแผนการของจอห์น เอเคอร์ อดีตประธานกรรมการบริษัท ผู้ประกาศแยกกิจการออกเป็น 13 กลุ่ม ในช่วง 7 เดือนของการกุมตำแหน่งหัวเรือใหญ่ เกิร์สต์เนอร์ค้นพบว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคงลักษณะโครงสร้างองค์กรโดยรวมไว้ต่อไป เขาชี้ถึงปัจจัยจากภายนอกว่า เท่าที่ได้คุยกับลูกค้าของบริษัท ปรากฏว่าลูกค้านับพันรายไม่เห็นด้วยกับการที่จะแตกบริษัทออก แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือ ไอบีเอ็มจะต้องสางปัญหาความสับสนที่เกิดขึ้นจากบริษัทผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์และสามารถนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าได้

ส่วนปัจจัยภายในนั้นจะรวมถึงบรรดาสินค้าของไอบีเอ็มซึ่งเกิร์สต์เนอร์ไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจนมากนัก ทว่าจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท 15 ราย พบว่า ไอบีเอ็มกำลังเร่งเข็นเทคโนโลยีใหม่ๆ และท้าทายออกมาป้อนตลาด โดยที่จะไม่ละทิ้งธุรกิจหลักด้านพีซีและเมนเฟรมไป

ขณะนี้ไอบีเอ็มกำลังเปิดตลาดฮาร์ดแวร์ไลน์ใหม่ ซึ่งอิงกับเทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกกันว่าสถาปัตยกรรมเพาเวอร์ (POWER มาจาก PERFORMANCE OPTIMIZATION WITH CNHANCED RISC) เทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้าไปแทรกตัวในระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ทุกประเภท ตั้งแต่อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาไปจนถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์แบบคู่ขนาน และเมื่อถึงวันนั้นธุรกิจของไอบีเอ็มทั้งหมดก็จะมีความเชื่อมต่อประสานกันอย่างมาก

ความหวังอยู่ที่เทคโนโลยีใหม่

หากเทคโนโลยีเพาเวอร์ของไอบีเอ็มประสบความสำเร็จ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มส่วนใหญ่จะอิงอยู่กับเทคโนโลยีนี้เป็นหลัก บริษัทจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมหาศาล โดยไม่ได้ลดศักยภาพในการผลิตสินค้า ที่มีความเป็นเลิศ ส่วนลูกค้าเองจะได้รับความสะดวกจากการที่ชุดฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ใหม่นี้ มีขอบข่ายการใช้งานขยายมากกว่าเดิมและเชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์ของบริษัทอื่นๆ ได้ด้วย นั่นย่อมหมายความว่า ไอบีเอ็มจะมีรายได้และกำไรเพิ่มมากขึ้น

จากการคาดหมายของนักวิเคราะห์แห่งวอลล์สตรีท ยอดขายของไอบีเอ็มในปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ราว 61,000 ล้านดอลลาร์ จาก 69,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1990 โดยมีค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างราว 20,500 ล้านดอลลาร์นับจากต้นปีที่แล้ว ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาก ไอบีเอ็มมียอดขาดทุนจากการดำเนินการ 325 ล้านดอลลาร์และนับจากเกิร์สต์เนอร์รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ราคาหุ้นของบริษัทขยับลดลงไปแล้วราว 15%

ในระยะสั้นแล้ว ชาวไอบีเอ็มเองตระหนักดีว่า บริษัทไม่อาจพลิกฟื้นกิจการขึ้นมาได้ แต่หากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ทรุดดิ่งไปกว่านี้ บริษัทจะหยุดขาดทุนได้ภายในปี 1994 รายได้จากธุรกิจในส่วนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจะคอยหนุนยอดขายในธุรกิจเมนเฟรมที่ตกลงกว่า 50% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 5,800 ล้านดอลลาร์ในปี 1993 ส่วนธุรกิจที่มีอัตราเติบโตสูงก็จะเป็นธุรกิจในส่วนบริการ อาทิ การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ในส่วนธุรกิจบริการของไอบีเอ็มเพิ่มขึ้นในอัตรา 2 เท่า โดยอยู่ที่เกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์

ด้านเจโรมี ยอร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของไอบีเอ็ม ซึ่งเกิร์สต์เนอร์ดึงตัวจากไครส์เลอร์ คอร์ป มีงานช้างที่ต้องเร่งดำเนินการเป็นประการแรกคือ ลดค่าใช้จ่ายต่อปีลงในราว 7,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จลุล่วงได้หลังกลางปี 1996

พบปัญหาที่ตัวเอง

เกิร์สต์เนอร์ยังชี้ปัญหาของไอบีเอ็มไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า "เราค้นพบศัตรูของเราแล้ว ซึ่งก็คือตัวเรานั่นเอง" เขาระบุว่าไอบีเอ็มยังคงปล่อยให้พนักงานขาย และเจ้าหน้าที่เทคนิคไปกระจุกกันอยู่ตามบริษัทของลูกค้าและคนเหล่านี้ไม่อาจถ่ายทอดความรู้ด้านตลาดของตนให้กับลูกค้าได้ ในการประชุมพนักงานคราวหนึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิร์สต์เนอร์ชี้ว่า "เรามีพนักงานที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากพนักงานในแต่ละแผนกคอยทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องการแบ่งสัดส่วนรายได้ ซึ่งผมว่าน่าขันมาก"

กระนั้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าก็หาใช่การให้พนักงานขายคอยอธิบายชี้แจงเท่านั้น ในระยะหลังไอบีเอ็มจึงวางจำหน่ายชิปและชิ้นส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ในตลาดเปิดมากขึ้น โดยไม่หวั่นว่าฮาร์ดแวร์ของตนจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากลูกค้า เพราะไอบีเอ็มเชื่อว่าบริษัทเข้าใจดีถึงความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งเชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบสนองให้ได้อย่างครบถ้วน

"เราจะสร้างระบบของเราให้แตกต่างไปจากคู่แข่งของเรา ความแตกต่างตรงนี้จะทำให้เราเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้ โดยที่เรารู้ว่าจะประสานเอาคุณลักษณะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับนักออกแบบเครื่องบินหรือครูสอนหนังสือหรือนักเคมีได้ เรามีโอกาสที่จะทำให้ดีกว่าคนอื่นได้" บิลล์ ฟิลิป ประธานแผนกเวิร์กสเตชันของไอบีเอ็มให้ความเห็น

เกิร์สต์เนอร์เชื่อด้วยว่าเขาจะสามารถดึงเอาความรู้ของไอบีเอ็มในส่วนที่เกี่ยวกับลูกค้าออกมา ด้วยการให้ส่วนต่างๆ ภายในองค์กรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เขาบอกกับบรรดาพนักงานในบริษัทว่า เขาต้องการให้พนักงานคิดถึงประโยชน์สูงสุดของไอบีเอ็มก่อนที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของแผนกงานที่ตนสังกัด ทั้งเสริมด้วยว่าสิ่งที่จะต้องคิดเป็นประการแรกก็คือลูกค้า

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิร์สต์เนอร์จัดตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจากแผนกงานที่ขึ้นตรงต่อเขา 6 คน และผู้บริหารระดับสูงอีก 4 คน ภาระหน้าที่หลักอยู่ที่การปรึกษาหารือกันเพื่อหาหนทางปรับปรุงการประสานงานให้ดีขึ้น เกิร์สต์เนอร์บอกว่า "งานหลักของคณะกรรมการอยู่ที่การนำเอาข้อได้เปรียบด้านขนาดองค์กรไปสร้างประโยชน์ให้ตกแก่แผนกดำเนินการต่างๆ" นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษอีก 9 ชุด ทำหน้าที่คิดค้นวิธีการในการลดต้นทุนและปรับปรุงแบบแผนการดำเนินงานขององค์กรทั้งหมด อาทิ การพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ และการบริหารสินค้าคงคลัง เป็นต้น

ความหวังอยู่ที่เพาเวอร์

เทคโนโลยีเพาเวอร์ของไอบีเอ็มนั้น จัดได้ว่าเป็นการวางรากฐานครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งให้กับไอบีเอ็ม เพราะแทนที่บริษัทจะปล่อยให้เมนเฟรมเป็นจุดศูนย์กลางของเทคโนโลยีเช่นแต่ก่อน จากนี้ไปไอบีเอ็มจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับไมโครโพรเซสเซอร์ที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้ทุกขนาด

ช่วงปี 1981 อันเป็นปีที่ไอบีเอ็มเริ่มวางตลาดพีซี บริษัทต้องการครองความเป็นเจ้าตลาดสินค้ากลุ่มนี้ โดยปล่อยให้อินเทล และไมโครซอฟต์ครองตลาดซอฟต์แวร์สำหรับระบบปฏิบัติการ และการประมวลผลไปพร้อมกับโกยกำไรแซงหน้าไอบีเอ็มไปนับพันล้านดอลลาร์ ครั้งนั้นนับเป็นความผิดพลาดของไอบีเอ็ม ที่มัวแต่หลงใหลกับตลาดเมนเฟรมที่ตกต่ำลงทุกวัน

การที่ไอบีเอ็มจะผงาดขึ้นมาอีกครั้ง สมกับฉายา "ยักษ์สีฟ้า" จึงจำเป็นต้องอาศัยหมากเกมตัวใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่า REDUCED INSTRUCTION SET COMPUTING (RISC) คือคำตอบที่ไอบีเอ็มเลือก หลังจากที่หน่ออ่อนความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในห้องวิจัยทดลองของไอบีเอ็มตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ทว่ายังไม่สามารถนำออกใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งที่ระบบดังกล่าวทำงานได้อย่างรวดเร็วกว่าไมโครโพรเซสเซอร์ของอินเทลมาก และระหว่างที่ไอบีเอ็มยังรีรออยู่นั้น ซัน ไมโครซิสเต็มส์และฮิวเล็ตต์ แพคการ์ดก็ได้เปิดตลาดเวิร์กสเตชันที่อิงกับเทคโนโลยี RISC นี้เรียบร้อยแล้ว

ปี 1990 "เพาเวอร์" ของไอบีเอ็มก็ได้ฤกษ์ปรากฏโฉมโดยติดตั้งอยู่ในกลุ่มชิปที่ใช้ในเวิร์กสเตชัน RS/6000 ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว เพราะใช้ได้กับระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ที่ใช้กันในหมู่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกร อีกทั้งมีราคาถูกเมื่อเทียบขีดความสามารถในการทำงานกับสินค้ารุ่นก่อนของไอบีเอ็ม เหตุนี้เองไอบีเอ็มจึงชิงส่วนแบ่งตลาดเวิร์กสเตชันไว้ได้ถึง 17% ในปีที่แล้วจากสัดส่วนเดิมที่ 0% ในปี 1989

บริษัทวิจัยดาต้าเควสต์ระบุว่าส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวนี้ทำยอดขายจากทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้ไอบีเอ็มได้เป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์

ยิ่งในช่วงที่เกิร์สต์เนอร์เข้ากุมบังเหียนไอบีเอ็มด้วยแล้ว "เพาเวอร์" ก็ยิ่งทวีความสำคัญต่อบริษัทมากขึ้น และนับเป็นส่วนที่ช่วยเยียวยาความอ่อนแอทางธุรกิจของไอบีเอ็มในระยะหลังได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกรณีที่ไอบีเอ็มเคยพึ่งพาอินเทลตลอดมาในเรื่องการออกแบบไมโครโพรเซสเซอร์ เกิร์สต์เนอร์ถึงกับเอ่ยปากเองว่า "เราเชื่อว่าไมโครโพรเซสเซอร์เป็นส่วนประกอบพื้นฐานที่มีความสำคัญที่สุดของการพัฒนาระบบ และเราจะต้องเป็นผู้สร้างไมโครโพรเซสเซอร์ขึ้นมาเองเพราะจะช่วยสร้างความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบอย่างมหาศาล"

เมื่อปี 1991 ไอบีเอ็มได้ดึงเอาโมโตโรลาและแอปเปิล คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยย่นย่อเพาเวอร์ให้มีขนาดเล็กลงเท่ากับชิปธรรมดาเพียงตัวหนึ่ง ทีมงานเรียกไมโครโพรเซสเซอร์ไลน์ใหม่นี้ว่า "เพาเวอร์พีซี" ความร่วมมือดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแผนกเซมิคอนดักเตอร์ที่มีเทคโนโลยีชั้นเลิศแห่งใหม่ของไอบีเอ็มภายใต้ชื่อ "ไอบีเอ็ม ไมโครอิเล็กทรอนิกส์" แม้ว่าชื่อเสียงจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคย เนื่องจากเพิ่งเริ่มวางจำหน่ายชิปในตลาดเปิดได้ไม่นาน แต่คาดว่าในปีนี้ แผนกงานดังกล่าวจะทำรายได้ให้ไอบีเอ็มถึงราว 5,500 ล้านดอลลาร์

มิเชล อัตทาโด หัวหน้าแผนกวัย 52 ปี คุยถึงความสามารถของแผนกว่า "เราเชื่อว่าเราจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางด้านการผลิตได้ใน 6-12 เดือน" เขายังให้ข้อมูลสนับสนุนด้วยว่า ไอบีเอ็มนั้นมีขีดความสามารถในการผลิตแผงวงจรซิลิกอนขนาด 0.35 ไมครอน (ราวสามส่วนร้อยของความหนาของเส้นผมมนุษย์) เท่านั้น แต่ชิปความจำรุ่นล่าสุดของแผนกซึ่งผลิตโดยการร่วมทุนกับซีเมนส์แห่งเยอรมนี จะเก็บความจำได้ถึง 64 เมกะบิต (ปัจจุบันพีซีส่วนใหญ่ใช้ชิปขนาด 4 เมกะบิต)

เปิดตัว "เพาเวอร์พีซี"

เดือนกันยายนที่ผ่านมา ไอบีเอ็มและโมโตโรลาเริ่มจำหน่ายชิป "เพาเวอร์พีซี" หรือที่เรียกว่าชิป 601 โดยออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด และบรรจุทรานซิสเตอร์จำนวน 2.8 ล้านชิ้นไว้ในชั้นซิลิกอนซ้อนกันถึง 4 ชั้น หนาเพียงไม่ถึงครึ่งนิ้ว ขณะที่เมื่อเทียบกับชิป "เพนเตียม" ที่โด่งดังของอินเทลแล้ว เพนเตียมต้องใช้แผ่นซิลิกอนซ้อนกันมากกว่าถึง 2 เท่าตัวและใช้ทรานซิสเตอร์จำนวน 3.1 ล้านชิ้น และเมื่อเทียบกับศักยภาพในการทำงานโดยทั่วไปแล้ว "เพาเวอร์พีซี" ทำงานได้รวดเร็วกว่า และยังต้านทานความร้อนได้มากกว่าด้วย อีกทั้งชิป 601 มีขนาดเล็กกว่าจึงประหยัดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า ทำให้มีราคาถูกกว่าเพนเตียม ทว่าข้อได้เปรียบสำคัญของเพนเตียมก็คือ เปิดตัวในตลาดก่อน และขณะนี้มีผู้ใช้ที่คุ้นกับซอฟต์แวร์ของอินเทลอยู่แล้วถึงราว 100 ล้านคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตามไอบีเอ็มก็มียุทธศาสตร์ที่เด่นชัดในการโน้มน้าวให้ผู้ใช้พีซีที่อิงกับอินเทลหันมาใช้เพาเวอร์พีซีมากขึ้น เพราะขณะนี้ผู้ใช้ยังไม่มีทางเลือกมากนักหากต้องการใช้งานโปรแกรมประยุกต์ "วินโดส์" ของไมโครซอฟต์หรือระบบปฏิบัติการเอ็มเอส-ดอส แต่ในปีหน้าไอบีเอ็มจะเสนอทางเลือกใหม่ ด้วยการวางตลาดพีซีรุ่นแรก ที่ใช้ชิปเพาเวอร์พีซี และยังมีแผนการจำหน่ายระบบปฏิบัติการ "เวิร์กเพลส โอเอส" ซึ่งนอกจากจะเป็นระบบปฏิบัติการแล้ว ยังใช้งานกับโปรแกรมประยุกต์ที่เขียนขึ้นสำหรับระบบอีกหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็น "วินโดส์", "เอ็มเอส-ดอส" หรือกระทั่ง "โอเอส/2" ของไอบีเอ็มเอง หลังจากนั้นไอบีเอ็มยังจะปรับปรุงระบบปฏิบัติการ "เวิร์กเพลส" ให้ทำงานได้กับโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้กับระบบยูนิกซ์ และระบบปฏิบัติการที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาโดย "ทาลิเจนท์" ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไอบีเอ็มกับแอปเปิลด้วย

แกนหลักของ "เวิร์กเพลส โอเอส" ก็คือรหัสคอมพิวเตอร์ที่เรียกกันว่าไมโครเคอร์เนล อันเป็นรหัสที่ทำงานเหมือนกับตัวเชื่อมฮาร์ดแวร์หลากหลายประเภทเข้ากับระบบปฏิบัติการอื่นๆ ได้ ขณะเดียวกันหากปรับแต่งอีกเล็กน้อย ไมโครเคอร์เนลนี้จะสามารถทำงานกับไมโครโพรเซสเซอร์ทุกรุ่น ซึ่งจะทำให้ "เวิร์กเพลส โอเอส" เป็นที่แพร่หลายและนับเป็นการปฏิวัติของวงการครั้งสำคัญ ทั้งนี้ไอบีเอ็มได้เริ่มวางตลาด "เพาเวอร์พีซี" เป็นการชิมลางไปบ้างแล้วอย่างเช่น เวิร์กสเตชัน อาร์เอส/6000 ที่มุ่งเจาะตลาดล่าง (ราคาราว 40,000 ดอลลาร์) ส่วนแลปท้อป อาร์เอส/6000 ซึ่งใช้เพาเวอร์พีซี จะเริ่มวางตลาดเดือนมกราคมปีหน้า หลังจากนั้น "ไอบีเอ็ม เพาเวอร์ เพอร์ซันนอล ซิสเต็ม" ซึ่งเป็นแผนกงานใหม่ของไอบีเอ็มก็จะรุกตลาดพีซีที่มีมูลค่าในราว 63,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีอย่างจริงจัง

แต่การที่แผนกงานใหม่จะมีชัยได้นั้น จะต้องเอาชนะใจลูกค้าและแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง มีคู่ต่อกรสำคัญคือคอมแพค เดลล์ เอเอสที รวมทั้งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่อิงกับชิปของอินเทลรายใหญ่ที่สุดคือ ไอบีเอ็มเอง แต่ปัญหาก็คือว่าทางอินเทลเองย่อมไม่ยอมนิ่งเฉยรอการท้าทายจากเพาเวอร์พีซี และย่อมหาทางพัฒนาเทคโนโลยีของตนขึ้นมาแข่งขันอีกเช่นกัน

ไอบีเอ็มนั้นกำลังเล็งหาช่องทางรองรับชิปเพาเวอร์พีซีอยู่ ธุรกิจในส่วนมินิคอมพิวเตอร์ เอเอส/400 ซึ่งทำรายได้ให้บริษัทถึง 4,500 ล้านดอลลาร์ในปี 1992 จะถูกเปลี่ยนมาใช้ชิปดังกล่าวทั้งหมดภายใน 2 ปี และจะใช้ชิปนี้กับอุปกรณ์แปลงสัญญาณเครือข่ายข้อมูลภายในปีหน้าด้วย

นอกจากนั้นไอบีเอ็มยังพยายามประยุกต์ใช้ชิปนี้กับซูเปอร์คอมพิวเตอร์อีกด้วย โดยจัดตั้งโครงการร่วมทุนระหว่างแผนกงานด้านการวิจัยเวิร์กสเตชันและเมนเฟรมชื่อ "เพาเวอร์ พาราเรลซิสเต็มส์" อันจะใช้สำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะเริ่มจำหน่ายสินค้าได้ในปีหน้า

อนาคตเมนเฟรมยังเป็นคำถาม

การที่เพาเวอร์พีซีถือกำเนิดมา ทำให้มีผู้ตั้งคำถามถึงอนาคตของเมนเฟรมอยู่ไม่น้อยทีเดียว สำหรับเกิร์สต์เนอร์แล้ว ธุรกิจเมนเฟรมก็จะกลายเป็นเพียงอีกส่วนหนึ่งของสายการผลิตของไอบีเอ็ม โดยยังคงเป็นแหล่งรายได้และกำไรก้อนมหาศาลไปอีกหลายปี เนื่องจากเพาเวอร์พีซีนั้นยังไม่มีขีดความสามารถถึงขั้นที่จะทำงานกับเมนเฟรมตระกูล 390 ของไอบีเอ็มได้

ไอบีเอ็มยังเตรียมสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าด้วยการเตรียมวางตลาดเมนเฟรมรุ่นใหม่ที่มีราคาถูกกว่าเดิม โดยจะเป็นเครื่องแบบคู่ขนานที่สร้างขึ้นจากการประยุกต์ไมโครโพรเซสเซอร์ให้ทำงานกับโปรแกรม 390 ของเมนเฟรมได้ ต้นทุนการผลิตจึงถูกลง ทั้งจะทำให้ไอบีเอ็มเพิ่มหรือลดขีดความสามารถในการทำงานได้ตามความต้องการตลาด เป็นที่คาดว่าเครื่องเมนเฟรมประยุกต์ที่ว่านี้ จะเริ่มเปิดตัวสำหรับใช้งานประเภทธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือการค้นหาฐานข้อมูล เป็นต้น

เกิร์สต์เนอร ์และผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มหลายต่อหลายคน ใช้เวลานานหลายเดือนทีเดียวกับการอธิบายยุทธศาสตร์สินค้าให้กับลูกค้าประเภทบริษัททั่วโลกได้รับรู้ ซึ่งปรากฏว่ากลุ่มลูกค้ามักมองยุทธศาสตร์ดังกล่าวในแง่ดีกว่าฝ่ายของนักลงทุน บิลล์ แอนเดอร์สัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ข้อมูลของพรูเดนเชียล ซิเคียวริตี้ส์ ก็เตรียมใช้งบประมาณถึง 80 ล้านดอลลาร์ในการซื้อสินค้า และบริการของไอบีเอ็มในปีหน้า โดยให้เหตุผลว่า "ไอบีเอ็มมีแต่สินค้าดีๆ อย่างที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีบริษัทใดผลิตฮาร์ดแวร์ที่ดีกว่านี้ได้ และผมคิดว่าสินค้าของไอบีเอ็มจะดียิ่งๆ ขึ้นไป" คนในวงการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเกิร์สต์เนอร์กำลังเดินถูกทางแล้ว และไอบีเอ็มกำลังจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่นับจากนี้ไป ดูเหมือนว่าเกิร์สต์เนอร์ยังต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคอีกมาก กว่าวิสัยทัศน์ของเขาจะผ่านการพิสูจน์ว่าถูกต้อง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us