ทางด่วนกรุงเทพ ทุ่มงบลงทุนปีหน้า 1,000 ล้านบาท ติดตั้งตู้เก็บเงินทางด่วนอัตโนมัติ -ทำทางเชื่อมแอร์พอร์ต ลิงค์ พร้อมตั้งเป้ารายได้โต 5% จากปี 49 เพิ่มขึ้น 3% เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 6.7 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท มั่นใจจ่ายปันผลไม่น้อยกว่าปีก่อนที่ 1 บาทต่อหุ้น
นายสุวิช พึ่งเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2550 เพิ่มขึ้น 5% จากปี 49 ที่คาดว่าจะโต 3% เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มีรายได้ 6,734.10ล้านบาท ที่มีกำไรสุทธิ 1,488.30 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนมาใช้ทางด่วนมากขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 9 แสนคันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้เฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ 8.7 แสนคันต่อวัน
"บริษัทคาดรายได้ไตรมาส3/49 จะมีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท เนื่องจาก เป็นช่วงที่ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และคาดว่าปริมาณการใช้ในช่วงไตรมาส 4/49 จะเพิ่มเป็น 9.2-9.3 แสนคันต่อวัน ซึ่งหากเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 8.7 แสนคันต่อปี" นายสุวิช กล่าว
สำหรับในปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ลงทุนในการติดตั้งตู้เก็บเงินทางด่วนอัตโนมัติ ประมาณ 700- 800 ล้านบาท โดยจะมีการเปลี่ยนเก็บค่าผ่านทางคิดเป็นระยะทางโดยเริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดที่ 45 บาท จากขณะที่เก็บตลอดทาง 40 บาท
ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากรัฐบาล หลังจากได้รับอนุมัติแล้วจะใช้เวลาในการติดตั้ง 1 ปี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทบ้างในปี 2551 เมื่อเปิดให้บริการ ทำให้มีผู้ใช้ตู้ดังกล่าวเพียง 20% ทั้งนี้เชื่อว่าในอีก 2-3 ปี ต่อมา ประชาชนจะเข้ามาใช้มากขึ้นจากที่มีความสะดวกและมีการให้บริการที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้มีผู้ใช้ตู้อัตโนมัติอยู่ที่ 50-60% รวมถึงบริษัทจะมีการลงทุนทำเชื่อมขึ้นลง ระหว่างโครงการแอร์พอร์ต ลิงค์ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท
นายสุวิช กล่าว ขณะนี้บริษัทมีหนี้สินรวมประมาณ 2,900 ล้านบาท ซึ่งมีภาระการจ่ายภาษีปีนี้ 4% หรือประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี และปีหน้าบริษัทจะมีการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 5% โดยในแต่ละปีนั้นบริษัทจะมีการลดเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปีนี้ไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่มีการจ่ายรวม 1 บาทต่อหุ้น จากช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างการไปแล้วที่ 0.50 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะเข้าไปซื้อหุ้น บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BMCL เพิ่มเป็น 250 ล้านหุ้น จากขณะนี้ที่ถือ 200 ล้านหุ้น เนื่องจากมองว่าในอนาคตจะมีการเติบโตที่ดีในระยะยาว แต่จะเข้าไปซื้อช่วงไหนนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ส่วนการที่บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นั้น จะทำให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลง จากขณะที่ถือหุ้น 12% ซึ่งบริษัทจะมีนโยบายในการถือหุ้นภายหลังจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (IPO)ประมาณ 10% ซึ่งจะมีให้สามารถส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการ
|