"Bluescope" ส่งผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบสี รุกธุรกิจก่อสร้าง-อสังหาฯ เจาะกลุ่มตลาดตลาดผนังและหลังคา พร้อมเปิดตัวเหล็กเคลือบเพิ่มเฉดสี ชูจุดเด่น เบา ทนทาน ไม่แตกไม่ร้าว ข่มกระเบื้องหลังคา-ผนังบ้านอาคารสูง-โรงงาน หวังทดแทนวัสดุก่อสร้าง ผนัง-หลังคา ในตลาดอสังหาฯ ระยะยาว แจงตลาดโลกมีแนวโน้มดีขึ้น หลัง "สหวิริยา"ผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กเจ้าใหญ่ในไทย ตั้งโงงานถลุงเหล็กจะช่วยลดต้นทุนอุตสาหกรรมเหล็ก ส่งผลโครงสร้างเหล็ก -ผนัง สามารถแข่งขันด้านราคากับวัสดุก่อสร้างปูน-กระเบื้อง-โมเนีย และระบบพรีแฟบอย่างเท่าเทียม
นายปีเตอร์ วิลสัน ประธานกลุ่ม บริษัท บลูสโคป ประเทศไทย จำกัด (Bluescope Steel) เปิดเผยว่า บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบสีเพิ่มอีก 15 สี เพื่อเป็นการตอกย้ำ และรองรับความต้องการของลูกค้าในตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ บริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เหล็กเคลือบสีออกวางขายในตลาดไปแล้ว 29 เฉดสี ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เหล็กเคลือบสีออกสู่ตลาด บริษัทไม่ได้มุ่งหวังให้สินค้าเข้ามาทดแทนผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการใช้อยู่ในตลาดแล้ว
ทั้งนี้ การพัฒนาเหล็กเคลือบสีดังกล่าว บริษัท ต้องการให้เกิดการใช้ทดแทนวัสดุก่อสร้างในตลาดก่อสร้าง โดยเป็นการเสนอวัสดุก่อสร้างเหล็กให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งกับผู้ประกอบการบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม , ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ,ห้างสรรพสินค้าและผู้ประกอบการคลังสินค้า หันมาใช้เหล็กเป็นวัสดุก่อสร้างทดแทนวัสดุก่อสร้างประเภทปูน กระเบื้อง และโมเนีย ที่ใช้ก่อสร้างผนัง หลังคา และตัวอาคารต่างๆ ในตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างในขณะนี้ โดยเสนอข้อเปรียบเทียบการใช้เหล็กในการก่อสร้าง หลังคา และผนังที่มีข้อดีมากกว่าวัสดุประเภทอื่นให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
"เหล็กมีข้อดี คือสามารถขึ้นรูปได้ตามความต้องการ โดยไม่มีลอยต่อ ไม่แตก ไม่ร้าว น้ำหนักเบากว่ากระเบื้องหลังคา มีความทนทานมากกว่ากระเบื้อง หรือโมเนีย ที่นิยมใช้อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในขณะนี้ เรามั่นใจว่าในอนาคตอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยจะหันมาใช้เหล็กเป็นโครงสร้างผนัง และหลังคามากขึ้น และจะสามารถเข้าไปทดแทนสินค้าในกลุ่มปูนซิเมนต์ กระเบื้อง แต่จะต้องสร้างความคุ้นเคยกับผู้บริโภคเชื่อมั่น และยอมรับหันมาใช้เหล็กในการก่อสร้างแทนวัสดุดังกล่าวให้มากขึ้น" นายปีเตอร์ กล่าว
นายปีเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีเหล็กเคลือบสีที่ขายอยู่ในตลาด 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มเหล็กเคลือบสี Colorbond ซึ่งจะเจาะกลุ่มตลาดพรีเมียม อาทิ ห้างสรรพสินค้า ,ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ,อาคารสูงและโดม ฯลฯ มีสีให้เลือก14 สี จากเดิม 9 สี 2.กลุ่มเหล็กเคลือบสี Pima เน้นเจาะกลุ่มตลาดระดับกลาง อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม มีให้เลือก10 สี และ3. กลุ่มเหล็กเคลือบสี P-Zacs ซึ่งเจาะกลุ่มตลาดระดับล่าง อาทิ บ้านจัดสรร ,อาคารสูง ,อุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์
นายปีเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตรวม 90,000 ตันต่อปี โดยเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศไทยเป็นหลัก และส่งออกบางส่วน อย่างไรก็ตามเนื่องจากในปี49 ช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาสภาพตลาดอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศไทยเกิดการชะลอตัวจากปัญหาทางการเมือง ดอกเบี้ย และน้ำมัน ทำให้ตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอการลงทุน ทำให้บริษัทต้องปรับแนวธุรกิจ โดยหันไปส่งออกต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่หลังจากที่ปัจจัยลบต่างๆ หมดไป บริษัทก็จะหันมาจำหน่ายในประเทศเป็นหลักเช่นเดิม ซึ่งขณะนี้ตลาดก็เริ่มดีขึ้น
" เชื่อว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศไทย ยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก ดังนั้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในไทย บริษัทจึงลงทุนก่อสร้างโรงงาน และเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ใช้งบในการลงทุนก่อสร้างโรงงานและการผลิตไป 3,000 กว่าล้านบาท"
ส่วนข้อเสียบเปรียบของเหล็กในกรณีที่ ราคาเหล็กมีความผันผวนขึ้นและลงเร็ว เมื่อเทียบกับราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทได้ในอนาคตนั้น บริษัทมั่นใจว่าในระยะ2-3 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีการผลิตเหล็ก และการถลุงเหล็กในประเทศไทยจะเทียบเท่าต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ราคาเหล็กในประเทศไทยถูกลง เพราะมีต้นทุนเทียบเท่าต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อ บริษัท ผู้จำหน่ายเหล็กรายใหญ่ของไทย อาทิ บริษัท สหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) ได้นำเทคโนโลยีการผลิตเหล็กเข้ามา เพื่อเปิดโรงงานถลุงเหล็ก ซึ่งจะช่วยให้ราคาเหล็กในประเทศถูกลง และเมื่อราคาเหล็กถูกลงก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเหล็กกับปูน และวัสดุก่อสร้างสามารถแข่งขันกันได้ในเรื่องราคา รวมถึงการแข่งขันทางด้านระบบการก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จหรือ พรีแฟบด้วย
|