แบงก์ชาติเผยตัวเลขเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินในเดือนก.ย.พุ่งสูงขึ้นกว่า 200 ล้านบาท โดยเฉพาะยอดที่เกิดจากเอ็นพีแอลแบงก์ต่างชาติมากขึ้น ขณะที่แบงก์พาณิชย์ไทยกลับมียอดเอ็นพีแอลลดลง โดยเฉพาะแบงก์ไทยธนาคารลดลงต่ำสุดในระบบถึง 1.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่แบงก์ขนาดใหญ่ทั้ง"กรุงไทย-กรุงเทพ-ทหารไทย"ยังมีเอ็นพีแอลเพิ่ม
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้ประกาศยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในระบบสถาบันการเงินล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 พบว่า สถาบันการเงินในระบบมีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 484,905.31 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.19%ของสินเชื่อรวม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนสถาบันการเงินมีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 484,701.31 ล้านบาท คิดเป็น 8.23%ต่อสินเชื่อรวม ทำให้ปัจจุบันยอดเอ็นพีแอลเดือนล่าสุดกลับเพิ่มขึ้นถึง 204 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.04%ต่อสินเชื่อรวม
โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในระบบสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศและบริษัทเงินทุนกลับมียอดเอ็นพีแอลลดลง ขณะที่สาขาธนาคารต่างชาติและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์กลับมียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธนาคารสาขาต่างชาติมีเอ็นพีแอลในเดือนกันยายนทั้งสิ้น 14,904.13 ล้านบาท คิดเป็น 2.48%ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเทียบกับเดือนก่อนกลับเพิ่มขึ้น 5,751.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 62.84%ต่อสินเชื่อรวม และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์มียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 453.89 ล้านบาท คิดเป็น 44.72%ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเพิ่มขึ้น 18.02 ล้านบาท คิดเป็น 4.13%ต่อสินเชื่อรวม เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
ขณะเดียวกันในเดือนนี้ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศมียอดเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 465,195.74 ล้านบาท คิดเป็น 8.86%ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งลดลง 5,081.65 ล้านบาท หรือลดลง 1.08%ต่อสินเชื่อรวม เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนบริษัทเงินทุน 4,351.55 ล้านบาท คิดเป็น 6.08%ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลง 484.25 ล้านบาท หรือลดลง 10.01%ต่อสินเชื่อรวม
ทั้งนี้ จากยอดเอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงินโดยรวมลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศลดลง โดยในเดือนกันยายนมีธนาคารจำนวน 4 แห่งมียอดเอ็นพีแอลลดลงถึง 19,537 ล้านบาท ได้แก่ ธนาคารไทยธนาคารมีเอ็นพีแอลลดลง 16,418 ล้านบาท ธนาคารนครหลวงไทย 2,303 ล้านบาท ธนาคารสินเอเชีย 477 ล้านบาท และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) 339 ล้านบาท
ส่วนธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 187,176 ล้านบาท ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นสูงสุดในระบบสถาบันการเงิน คือ 61,025 ล้านบาท รองลงมาธนาคารทหารไทยเพิ่มขึ้น 34,971 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพ 26,824 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 23,500 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 13,383 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 12,354 ล้านบาท ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย)เพิ่มขึ้นจำนวน 10,072 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีธนาคารเกียรตินาคินที่มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นถึง 3,951 ล้านบาท ธนาคารธนชาต 566 ล้านบาท ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย 313 ล้านบาท ธนาคารสากลพาณิชย์แห่งประเทศจีน 200 ล้านบาท และธนาคารจีอี มันนี่ เพื่อรายย่อย 17 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงไทยได้เคยให้เหตุผลว่าที่ยอดเอ็นพีแอลพุ่งสูงสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนั้นเกิดจากลูกหนี้รายใหญ่ของธนาคารที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไหลกลับมาเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลใหม่อีกครั้งหนึ่ง(รีเอ็นทรี) ทำให้ยอดเอ็นพีแอลของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจในที่เติบโตในอัตราที่ลดลงก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ภาระการชำระคืนหนี้ของลูกค้าธนาคารแต่ละแห่งลดลง ประกอบกับมาตรการต่างๆ ที่ธปท.พยายามเข้มงวดมากขึ้น เช่นเกณฑ์การจัดชั้นเอ็นพีแอลใหม่ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารไม่สร้างปัญหาอย่างเช่นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นส่วนสำคัญที่พยายามแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต
|