Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2536
"ชายแดนจีน-เวียดนาม การจัดระเบียบการค้า"             
โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
 

 
Charts & Figures

แผนที่เส้นทางการค้ากับจีน


   
search resources

Investment
Vietnam
China




แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนามในเรื่องหมู่เกาะสแปรตลี่ย์และเส้นพรมแดนทางเหนือของเวียดนาม แต่ความร่วมมือระหว่างชาติเพื่อนบ้านทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ในยุคหลังสงครามเย็น ที่การพึ่งพาอาศัยกันเป็นเงื่อนไขสำคัญของความอยู่รอด ชายแดนทางด้านเหนือของเวียดนามที่ติดกับจีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้ง กำลังแปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ กฎ กติกาทางการค้ากำลังจะถูกกำหนดขึ้น เพื่อขจัดปัญหาความไร้ระเบียบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากกองควบคุมการตลาดของนครโฮจิมินห์ซิตี้ ได้ทำการจับกุมผู้ลักลอบนำสินค้าจากจีนเข้าไปขายในตลาดโฮจิมินห์ซิตี้ หนังสือพิมพ์ เวียดนามอินเวสเมนต์รีวิว ของทางการเวียดนามรายงานว่า ผู้ลักลอบขนสินค้าหนีภาษีในครั้งนี้ได้ใช้รถบรรทุกสินค้าหลากชนิดเข้ามาขาย ที่จับได้มีตั้งแต่ด้ายเย็บผ้ายาวถึง 5,834 เมตร จักรยาน 61 คัน บันไดถีบรถจักรยานอีก 300 คู่ ถ่านไฟฉาย 64,800 ก้อน เลื่อยไฟฟ้า 80 ปื้น พัดลมไฟฟ้า 90 ตัว และผ้าเช็ดตัวอีก 1,290 ผืน

นี่ไม่ใช่รายแรก และรายเดียวที่มีการจับกุทการลักลอบนำสินค้าหนีภาษีเข้ามาขายในเองใหญ่ๆ อย่างโฮจิมินห์ซิตี้ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการจับกุมสินค้าหนีภาษีจากจีนกลางกรุงโฮจิมินห์แล้วเช่นกัน คราวหนึ่งจับรถบรรทุก 2 คันขนเครื่องเล่นคาสเซตเทป 66 เครื่อง จักรยาน 57 คัน รองเท้าเด็ก 1,000 คู่ และการจับกุทแต่ละครั้งก็จะได้สินค้าประเภทที่กล่าวข้างต้นและในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้เท่าใดนัก

กำไรจากการค้าสินค้าหนีภาษีเป็นแรงกระตุ้นอันสำคัญที่ทำให้สินค้าจากจีนกระจายเข้าไปสู่ตลาดของเวียดนามได้อย่างมากมาย นับแต่ทั้งสองประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการทหารตามแนวชายแดน อันเป็นผลจากการประชุมสุดยอดจีน-เวียดนาม ในเดือนพฤศจิกายน 2534

แหล่งข่าวในวงการค้าซึ่งอยู่ที่เมืองหม่งกาย (MONG CAI) จังหวัดกวางนิงห์ ซึ่งอยู่ติดชายแดนจีนทางด้านมณฑลกวางสี บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า สินค้าจากจีนคุณภาพปานกลางแต่ราคาถูกมาก ยกตัวอย่างรถจักรยาน ราคาที่ชายแดนประมาณ 400,000 โด่ง (ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐ) แต่รถคันเดียวกันนี้ถ้าเอาไปถึงฮานอยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 600,000-800,000 โด่ง

การจับกุมสินค้าหนีภาษีเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ทางการเวียดนามประสงค์จะต่อต้านสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นการเฉพาะเจาะจง หากแต่ในความเป็นจริงเวียดนามต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างมาก ผิดแต่เพียงว่าสินค้าเหล่านี้ผ่านเข้ามาโดยไม่ได้สร้างรายได้ใดๆ ให้กับรัฐเลยเท่านั้นเอง นั่นเป็นประการแรก

ประการต่อมามันเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชายแดนทางด้านเหนือของเวียดนามส่วนที่ติดต่อกับจีนกำลังจะเปลี่ยนแปลง จากดินแดนแห่งความขัดแย้งไปสู่ดินแดนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในระดับที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม จำเป็นจะต้องแสวงหาแนวทางในการสร้างระเบียบแบบแผน ในการทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนให้ได้ แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติแล้วส่งผลในด้านลบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

จังหวัดเหล่ากาย (LAO CAI) เป็นจังหวัดหนึ่งที่อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ดีที่สุด

เมืองนี้เป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจกับมณฑลยูนนาน (เวียดนามออกเสียงว่า "เวิงนาม" แปลว่าเมืองแห่งภูเขาทางใต้) ของจีนโดยเฉพาะ

"ถ้าเดินทางมาเหล่ากายก่อนหน้านี้ 6 เดือน น่ากลัวว่าจะไม่เห็นอะไรเลยเพราะเมืองนี้เพิ่งจะลงมือสร้างกันจริงๆ จังๆ เมื่อประมาณต้นปีนี้เอง ตัวผมเองก็เพิ่งจะย้ายมาประจำที่จังหวัดนี้ได้แค่ 6 เดือน" บุย กวาง วิงห์ หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการวางแผนของจังหวัดกาย เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ทางการเวียดนามมีมติให้แยกจังหวัดเหล่ากายเป็นจังหวัดใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2534 ก่อนหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดกวางลินเซิง หลังจากมีมติแยกจังหวัดแล้วถึง 1 ปีจึงมีคำสั่งอนุมัติให้ทำการก่อสร้างเมืองใหม่ เพราะว่าทางการไม่สู้แน่ใจนักว่าสถานที่ตั้งตัวจังหวัดสมควรจะอยู่ประชิดชายแดนเลยหรือไม่

พื้นที่ตั้งเมืองเหล่ากายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากอยู่ติดเขตแดนกับจีนทางด้านมณฑลยูนนานและเคยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหากันในเรื่องเส้นพรมแดนสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

ปี 1979 (2522) ภายหลังเวียดนามบุกกัมพูชาได้ไม่นาน จีนแสดงอำนาจการเป็นผู้พิทักษ์ภูมิภาคด้วยการทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม โดยบุกเข้ายึดชายแดนทางด้านเหนือคือ จังหวัดเหล่ากายนี้

เวลานั้นกองทัพจีนได้เคลื่อนลึกเข้าไปในเขตเวียดนามประมาณ 30 กิโลเมตรถึงเมืองโฟหลู (PHO LU) แต่ยึดอยู่ได้ไม่นานก็ต้องถอยทัพออกไป เพราะถูกเวียดนามโต้กลับ เมื่อสงครามยุติเหล่ากายกลายเป็นเขต "โนแมนส์แลนด์" (ON MAN'S LAND) ระหว่างจีนและเวียดนาม

จนถึงทุกวันนี้ปัญหาเส้นพรมแดนระหว่างจีนและเวียดนามทางด้านจังหวัดเหล่ากาย ก็ยังหาข้อยุติกันไม่ได้

"ด้วยประสบการณ์ในการสู้รบกับจีนในปี 1979 นี่เองที่ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลคิดว่าตัวจังหวัดเหล่ากายน่าจะตั้งอยู่ที่เมืองโฟหลู ซึ่งห่างออกไปไกลเท่ากับระยะทางที่กองทัพจีนจะไปถึงได้ แต่คณะกรรมการผู้พิจารณาเรื่องนี้ส่วนใหญ่ไม่มีใครคิดว่าเวียดนามจะทำสงครามกับจีนอีก ดังนั้นจึงตัดสินใจเลือกเมืองเหล่ากายและเหตุผลสนับสนุนไม่ใช่เรื่องยุทธศาสตร์ทางการสงครามอีกต่อไป หากแต่เป็นยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ เพราะมองกันว่าการติดต่อทางเศรษฐกิจกับจีนตอนใต้น่าจะเป็นเรื่องดีมากกว่า" เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนกล่าว

รัฐบาลเวียดนามทุ่มเทงบประมาณอย่างน้อย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ทัดเทียมกับอีกฝั่งหนึ่งทางด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะนี้ทางจังหวัดได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในกรุงฮานอยทำการศึกษาดูว่า จะสร้างเมืองเหล่ากายออกไปในลักษณะใด

"วัตถุประสงค์ของเราคือ สร้างให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ติดต่อกับจีนได้อย่างสะดวก เป็นเมืองผ่านและเมืองพักสินค้า จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ถนนหนทาง โทรศัพท์ โรงแรมให้เพียงพอสำหรับเมืองนี้ ตอนนี้ใครเข้ามาเหล่ากายหาที่พักก็ยังแทบไม่ได้ มีโรงแรมแค่แห่งเดียว แต่ปีหน้าจะต้องมีโรงแรมให้นักเดินทางเลือก" บุย กวาง นิงห์ กล่าว

หัวหน้าสำนักงานวางแผนของจังหวัดเหล่ากายยังได้บอกอีกด้วยว่า เมืองเหล่ากายจะต้องสร้างเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และได้จัดวางแผนให้มีแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนอยู่ที่อำเภอสปา อยู่ห่างออกไปทางใต้ของตัวจังหวัด 34 กิโลเมตร แต่ต้องขึ้นไปบนภูเขาสูง ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร

สปาเป็นเมืองที่มีอากาศเย็นตลอดปีเพราะอยู่ในที่สูง มีธรรมชาติงดงาม สถานที่แห่งนี้เมื่อเวลาที่ฝรั่งเศสยังยึดครองอินโดจีน สปาก็เป็นเมืองพักตากอากาศที่เจ้าอาณานิคมไปสร้างรีสอร์ทเอาไว้สำหรับพักผ่อน คลายความเครียดจากการทำสงครามสู้รับกับเวียดมินห์ (กองกำลังชาวเวียดนามรักชาติที่ต่อสู้กับฝรั่งเศส) ที่นั่นยังคงมีร่องรอยของสงคราม เวลานี้มีชาวฝรั่งเศสทั้งแก่และหนุ่มสาวพากันถ่อสังขารขึ้นไปค้นหาร่องรอยความยิ่งใหญ่และความพ่ายแพ้ของเจ้าอาณานิคมผิวขาว

"จังหวัดเหล่ากายทุ่มทุนให้กับการฟื้นฟูอดีตรีสอร์ทฝรั่งเศสแห่งนี้เป็นจำนวนมาก คาดว่าไตรมาสแรกของปีหน้า (2537) จะสามารถสร้างถนนขึ้นไปสปาได้เสร็จเรียบร้อย เมื่อเสร็จเรียบร้อยเมืองตากอากาศแห่งนี้คงทำเงินให้จังหวัดได้ไม่น้อยทีเดียว" หัวหน้าสำนักงานวางแผนกล่าว

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่คาดคำนวณได้ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปโดยบังเอิญ เวียดนามเปิดชายแดนด้านนี้เพื่อรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ซึ่งปัจจุบันกำลังวางแผนหาทางออกทะเลเอาไว้มากมายหลายทาง ("ผู้จัดการ" ตุลาคม 2536 หน้า 178-190) ที่ได้ยินกันอยู่ทั่วไปคือ ทางด้านพม่า ลาวและไทย ภายใต้ความร่วมมือในโครงการที่กำลังจะก่อตัวขึ้นในชื่อ "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ"

มณฑลยูนนานของจีนไม่มีทางออกทะเลและเส้นทางออกทะเลของมณฑลนี้ หากสามารถใช้ดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าทางทิศตะวันตก ลาวและไทยทางทิศใต้ เวียดนามทางทิศตะวันออกเฉียงใต้แล้ว นับว่าใกล้กว่าออกทะเลทางมณฑลใกล้ชิดในประเทศเดียวกันเสียอีก เพราะจากเมืองคุนหมิงเมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ไปออกทะเลทางเมืองชายฝั่งฟากตะวันออกไกลไปถึง 3,000 กิโลเมตร และออกทางมณฑลกวางตุ้งก็กินระยะทางถึง 2,300 กิโลเมตร แต่หากสามารถออกท่าเรือไฮฟองของเวียดนามได้จะย่นย่อระยะทางได้เหลือเพียง 970 กิโลเมตรเท่านั้น

มณฑลทางใต้ของจีนจึงหวังอย่างยิ่งว่าจะเจรจากับเวียดนามได้สำเร็จ สามารถขนสินค้าเข้า-ออกทะเลทางด้านเวียดนาม โดยใช้ท่าเรือไฮฟองของเวียดนามได้ด้วย

เหตุการณ์เป็นไปตามความคาดหมาย จังหวัดเหล่ากาย ซึ่งเพิ่งตั้งได้ไม่นานก็ทำสัญญากับมณฑลยูนนานของจีนเปิดเส้นทางติดต่อระหว่างกัน ให้ประชาชนสามารถเดินทางติดต่อขนส่งสินค้าไปมาระหว่างกันได้ และพร้อมกันนั้นมณฑลยูนนานของจีนได้ทำสัญญาขอใช้ท่าเรือไฮฟองกับทางจังหวัดไฮฟองไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2536 ที่ผ่านมานี่เอง ทางการรถไฟของเวียดนามได้เปิดเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองเฮอโขว่ (เวียดนามออกเสียง ห่าเข่า) เมืองชายแดนของจีนที่ติดต่อกับจังหวัดเหล่ากายของเวียดนาม อย่างเป็นทางการ

เดิมเส้นทางรถไฟทางด้านนี้ของเวียดนามก็เคยติดต่อกับจีนแล้วเมื่อปี 2469 (ค.ศ. 1926) สมัยที่ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศยังหวานชื่นกันอยู่ แต่เมื่อจีนบุกเวียดนามจึงตัดเส้นทางรถไฟนี้เสีย ให้ไปสิ้นสุดแค่เมืองโฟหลู ห่างจากชายแดน 30 กิโลเมตร ทางการรถไฟเวียดนามเพิ่งมาสร้างเพิ่มเติมในภายหลังที่จะทำการติดต่อกับจีนนี่เอง

"ในทางเทคนิค รถไฟของจีนสามารถวิ่งจากเมืองคุนหมิง ผ่านเหล่ากาย ฮานอย ไปออกท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม รถไฟของเวียดนามก็สามารถวิ่งเข้าไปถึงคุนหมิงได้เช่นกัน แต่ตอนนี้ทางรัฐบาลกลางทั้งสองฝ่ายไม่ได้ทำความตกลงกันในเรื่องนี้ ในทางปฏิบัติจึงไม่มีรถไฟวิ่งระหว่างกัน รถไฟเวียดนามจอดแค่เหล่ากาย รถไฟจีนจอดแค่ห่าเข่า" เจ้าหน้าที่ในจังหวัดเหล่ากาย กล่าว

ปัจจุบันทางการรถไฟของเวียดนามเปิดการเดินรถเส้นทาง ฮานอย-เหล่ากาย วันละ 2 เที่ยวทุกวัน แต่ขบวนรถทั้งหมดเป็นรถโดยสาร ยังไม่ปรากฏว่ามีขบวนรถสินค้าทำการขนสินค้าระหว่างประเทศทั้งสองแต่อย่างใด

หากอาศัยตามสัญญาที่ได้มีการลงนามกันในระดับจังหวัดระหว่าง ยูนนาน เหล่ากาย และไฮฟอง และพิจารณาตามสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการขนส่งแล้ว ผู้ค้าสามารถขนสินค้าจากคุนหมิงเข้าสู่เวียดนามออกไปสู่ท่าเรือไฮฟองของเวียดนามได้

เจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองเหล่ากาย ซึ่งไม่ต้องการให้บอกชื่อบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า การขนสินค้าผ่านจากคุนหมิง-เหล่ากาย-ไฮฟองนี้ เป็นการขนสินค้าในลักษณะของสินค้าผ่านแดน
(TRANSIT GOODS) เท่านั้น ทางเวียดนามมีสิทธิจะคิดค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านแดน ค่าขนส่งและค่าบริการคลังสินค้าเท่านั้น กระทรวงพาณิชย์ของเวียดนามจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตในการขนสินค้าผ่านแดนตามเส้นทางนี้ให้กับเจ้าของสินค้า

ทางการเวียดนามได้เตรียมให้ความสะดวกแก่การขนส่งสินค้าผ่านแดนในส่วนนี้อย่างเต็มที่ เจ้าหน้าที่ศุลกากรรายเดิม กล่าวว่า "จุดผ่านแดนทางด้านห่าเข่า (เฮอโข่ว) -เหล่ากาย นี้เป็นจุดผ่านสากล (INTERNATIONAL CHECK POINT) หมายความว่า บุคคลสัญชาติที่สามนอกเหนือจากเวียดนาม และจีนหากมีเอกสารเดินทางเข้าประเทศถูกต้องสามารถเดินทางผ่านจุดนี้ได้ คนที่ควบคุมสินค้าจากจีนมาอาจจะเป็นคนไทย ก็ผ่านเข้ามาเวียดนามไปดูแลสินค้าทีไฮฟองได้"

ที่สถานีรถไฟเหล่ากาย ห่างจากเส้นพรมแดน 2 กิโลเมตร กระทรวงพาณิชย์เวียดนามก็จัดทำเป็นโกดังสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งสามารถเก็บสินค้าได้หลายพันตันไว้รองรับการพักสินค้า เพราะดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่รถไฟขบวนสินค้าของทั้งสองประเทศจะสามารถวิ่งส่งสินค้ารวดเดียวจนถึงที่หมายสุดท้ายได้

ในทำนองเดียวกัน เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2536 ที่ผ่านมา สำนักนายกรัฐมนตรีของเวียดนามได้ออกประกาศเลขที่ 3954/KTHT กำหนดให้เมืองท่าไฮฟองเป็นเมืองท่าปลอดภาษีสำหรับสินค้าของจีนที่นำเข้า-ออกในจุดนี้ เพียงแต่ว่ายังไม่มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจนนัก แหล่งข่าวจากคณะกรรมการแห่งรัฐว่าด้วยความร่วมมือและการลงทุน (STATE COMMITTEE FOR COOPERATION AND INVESMENT-SCCI) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี หวอวันเกี๊ยตของเวียดนาม ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ทำการศึกษาแนวทางในการจัดระเบียบเกี่ยวกับการเปิดให้สินค้าของจีนเข้า-ออกทะเลทางท่าเรือไฮฟอง

ภายใต้หลักการดังกล่าว ปัจจุบันมีบริษัท 2 บริษัทในเมืองไฮฟองที่มีสัมปทานบัตรในการจัดการส่งสินค้าผ่านแดนของจีนผ่านท่าเรือไฮฟอง ไปออกหรือเข้าทางจังหวัดเหล่ากายได้คือบริษัท COMMERCIAL SERVICE & IMPORT-EXPORT และบริษัท GENERAL IMPORT-EXPORT

การค้าระหว่างจีนและเวียดนามผ่านชายแดนจังหวัดเหล่ากายและห่าเข่า (เฮอโข่ว) ยังไม่ปรากฏเป็นจริงในเวลานี้ อีกทั้งการขนส่งสินค้าผ่านแดนก็ยังไม่เกิดขึ้นในความเป็นจริง เนื่องมาจากรัฐบาลทั้งสองยังไม่ตกลงกันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการติดต่อทางด้านการค้าในเขตนี้

การค้าที่มีอยู่จึงเป็นการค้าเล็กน้อยๆ มูลค่าไม่มากนัก ส่วนใหญ่แล้วเวียดนามจะเป็นฝ่ายซื้อจากจีนมากกว่า ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อเข้ามาเป็นจำพวก วัสดุก่อสร้างเช่นเหล็ก ซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปุ๋ยเคมี ที่เวียดนามส่งขายให้จีนเช่น หิน ยางพารา ฝ้าย เป็นต้น

" เวียดนามกับยูนนานไม่มีอะไรจะค้าขายกันมากนักในเวลานี้ เนื่องจากทางยูนนานก็ยังยากจนอยู่ ที่ตั้งเต็มไปด้วยภูเขา การขนส่งสินค้ากว่าจะมาถึงเวียดนามยากลำบาก สินค้าของเขาก็ไม่มีคุณภาพดีพอ" เจ้าหน้าที่ศุลกากรในจังหวัดเหล่ากาย กล่าว

แต่ในความเป็นจริงแล้วการติดต่อในเขตนี้มีน้อยเป็น เพราะเวียดนามยังไม่มีสินค้าที่ดีไปเจาะตลาดยูนนานได้ สิ่งที่เวียดนามผลิตได้เช่นยางพารา ก็ล้วนแล้วแต่มีอยู่มากในยูนนาน ชาวจีนต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งเวียดนามหาให้ไม่ได้

"ก่อนหน้านี้มีคนจากมณฑลยูนนานมาติดต่อให้เราหารถยนต์นั่งส่งเข้าไปให้หลายร้อยคัน แต่รัฐบาลเวียดนามสั่งห้ามมิให้ชาวเวียดนามส่งรถยนต์ไปขายจีนเด็ดขาด เกรงว่าจะเป็นการลักขโมยรถไปขาย เพราะมีข่าวว่ามีการขโมยรถมาจากประเทศไทยผ่านกัมพูชาเข้าไปขายกันถึงจีน" เจ้าหน้าที่ศุลกากรของจังหวัดเหล่ากาย เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงโอกาสทางการค้าที่จังหวัดเหล่ากายมองเห็นแต่ไม่สามารถจะทำได้

ทางด้านยูนนาน-เหล่ากายอาจจะไม่มีการค้ากันเท่าใดนักในระยะอันใกล้นี้ เนื่องจากเป็นเขตใหม่ที่เพิ่งติดต่อหากัน แต่เขตอื่นๆ ของเวียดนามมีส่วนติดต่อกับจีนและทำการค้าขายกันมาเป็นเวลานานแล้วนับแต่ทั้งสองประเทศเริ่มหันหน้าเข้าหากัน ทำการติดต่อสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจ

เขตสำคัญที่ว่านั้นอยู่ทางมณฑลกวางสีของจีนซึ่งติดกับเวียดนาม 2 จังหวัดคือ จังหวัดกวางนิงห์ทางด้านเมืองหม่งกายและทางด้านจังหวัดหล่างเซิน

เมืองหม่งกายของจังหวัดกวางนิงห์ ติดต่อกับมณฑลกวางสีของจีนได้ทั้งบกและทางทะเล จังหวัดกวางนิงห์เพิ่งเปิดท่าเรือใหม่ในอ่าวฮาลอง เพื่อให้สามารถติดต่อเข้าฮ่องกงได้และกำลังมีแผนจะสร้างสนามบินพาณิชย์ขึ้นที่เมืองหม่งกาย ปัจจุบันสร้างสะพานเชื่อมกับมณฑลกวางสีของจีนแล้วแต่ยังไม่เปิดใช้ยังรอการเจรจาระหว่างรัฐบาลทั้งสองอยู่

หม่งกายมีการติดต่อกับจีนคึกคักมากกว่าทางด้านเหล่ากาย เนื่องเพราะเปิดติดต่อกันมาก่อนนานแล้ว และประกอบกับทางมณฑลกวางสีดูจะมีสินค้านำเข้ามาจำหน่ายให้กับเวียดนามมากกว่าทางด้านมณฑลยูนนาน สินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานและวัสดุก่อสร้าง จากจีนเข้าสู่เวียดนามทางด้านนี้มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

แต่ทางเวียดนามค้าขายกับจีนผ่านจุดนี้ ก็ยังเป็นสินค้าปฐมเหมือนกับทางเหล่ากายไม่มีผิด คือสินค้าหลักได้แก่ ยางพารา ถ่านหิน อาจจะต่างออกไปบ้างที่ด้านจังหวัดกวางนิงห์ที่มีการค้าขายอาหารทะเลกันด้วย

ความคึกคักที่หม่งกายนั้นไม่เท่ากับที่หล่างเซินซึ่งบรรดาผู้ค้าขายชายแดนถือว่าเป็นเขตการค้าชายแดนจีน-เวียดนามที่คึกคักที่สุดก็ว่าได้ สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า รถจักรยาน ราคาถูกคุณภาพปานกลาง เป็นสินค้าหลักที่ทำการค้ากันในเขตนี้ โดยเวียดนามเป็นฝ่ายซื้อเสียเป็นส่วนใหญ่

แหล่งข่าวในวงการค้าในกรุงฮานอยเปิดเผยว่าที่หล่างเซินนี่เองที่เป็นฐานของขบวนการขนสินค้าหนีภาษีจากจีนที่ใหญ่ที่สุด สินค้าหนีภาษีที่แพร่กระจายเข้าไปสู่เมืองสำคัญๆ ของเวียดนามล้วนแล้วแต่ผ่านไปจากหล่างเซินเกือบจะทั้งหมด

หล่างเซินเป็นจุดการค้าที่คึกคักในมุมมองของผู้ค้า แต่ในมุมมองของรัฐบาลแล้วเห็นเป็นปัญหาใหญ่ เลวันเตรี๊ยต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพิ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กระทรวงพาณิชย์เห็นเรื่องการลักลอบขนสินค้าหนีภาษีตามแนวชายแดนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการค้าระหว่างจีนและเวียดนาม

"จุดใหญ่ที่สุดก็ที่หล่างเซิน หม่งกาย และที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ล่าสุดคือ เหล่ากาย" รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เวียดนามกล่าว

แม้ว่าการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างจีนและเวียดนามที่เกิดขึ้น ภายหลังจากการทำสัญญากันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2534 จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่การลักลอบขนสินค้าตามแนวชายแดนไม่เพียงแต่จะทำให้รัฐบาลเวียดนามขาดรายได้จากภาษีเท่านั้น หากแต่สินค้าเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศของเวียดนามอย่างยิ่งด้วย

เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามสามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่ทว่าต้นทุนการผลิตยังคงค่อนข้างสูง และคุณภาพสินค้ายังได้แค่ระดับกลางเท่านั้น แต่สินค้าจากจีนแม้ว่าจะผลิตได้ไม่ดีไปกว่าเวียดนามเท่าใดนัก ทว่าต้นทุนของจีนต่ำกว่ามาก ทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้าตีตลาดเวียดนามได้

ทางการเวียดนามยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรรายหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" เป็นเสมือนจะยอมรับว่าทำอะไรกับเรื่องนี้ไม่ได้ว่า ชายแดนจีน-เวียดนามยาวเกินกว่าจะหาเจ้าหน้าที่ไปติดตามจับกุมได้ บางทีอาจจะต้องปล่อยไปจนกว่าเวียดนามจะสามารถผลิตสินค้าคุณภาพดีกว่า ราคาถูกกว่าให้ประชาชนใช้ภายในประเทศได้ การลักลอบนำเข้าสินค้าจากจีนอาจจะหมดไปเอง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการค้าที่เป็นทางการระหว่างจีนและเวียดนามจะเป็นที่ชื่นชมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เวียดนาม แต่ก็เป็นการค้าที่มีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ไม่น้อย ทางการเวียดนามจะต้องเร่งสร้างกลไกขึ้นมารองรับกับการค้าที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวเลขของทางการครึ่งแรกของปีนี้มีทั้งหมด 110 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 70% หากตัวเลขสูงไปกว่านี้เห็นว่าจะยุ่งยากไปกว่านี้อีกหลายเท่า

วูดักเยือน (VU DUC NGHIEN) ผู้อำนวยการบริษัทเวียด-ไทย อินเว๊กซิม คอมปานี (VIET THAI INVEXIM COMPANY) หรือ วีทาโก (VITHACO) สาขาเมืองหม่งกาย จังหวัดกวางนิงห์ บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าการค้าอย่างเป็นทางการของสองประเทศก็ยังไม่เป็นระบบ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าแต่อย่างใด เพราะการค้าไม่อาจจะทำผ่านระบบธนาคารกันได้ บริษัทต้องทำการซื้อขายด้วยเงินสดเท่านั้น

"ไม่เพียงแต่พวกเราต้องหอบเงินจำนวนมากไปทำการค้ากัน แต่ค่าเงินโด่งและค่าเงินหยวนของจีนเป็นเงินที่มีความผันผวนมากด้วยกันทั้งคู่ บางวันค่าเงินตอนเช้ากับตอนเย็นมีส่วนต่างกันถึง 20โด่งต่อหยวนเลยทีเดียว ความผันผวนขนาดนี้เหลือวิสัยที่ผู้ค้าขายกันปกติจะรับได้" เยือน กล่าว

ผู้จัดการสาขาของวีทาโกยังได้บอกกับ "ผู้จัดการ" อีกว่า ธนาคารชาติจีนและเวียดนามร่วมกับจังหวัดกวางนิงห์และมณฑลกวางสี ได้มีการพูดคุยกันในหลักการเกี่ยวกับการทำการค้าผ่านระบบธนาคารไปแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน แต่ยังไม่มีการลงนามไปในสัญญาอย่างเป็นทางการและไม่มีหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการทำการค้าผ่านธนาคาร ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะยังรอให้รัฐบาลกลางของทั้งสองประเทศได้ทำการตกลงเรื่องระเบียบทางการค้าให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน

แต่แหล่งข่าวในวงการค้าในจังหวัดกวางนิงห์เปิดเผยว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะทางจังหวัดกวางนิงห์ กำลังจะจัดตั้งบริษัทการค้าของตนเองขึ้นมาทำการค้าแข่งกับเอกชน แต่ยังทำไม่สำเร็จดังนั้นความตกลงใดๆ กับฝ่ายจีนจึงยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ ต่อเมื่อทางจังหวัดทำการค้าได้เองความตกลงก็จะมีผลในทางปฏิบัติ

ไม่เพียงเท่านั้น ทัศนคติในทางการค้าระหว่างผู้ค้าทั้งจีนและเวียดนามยังมีต่อกันในลักษณะที่ไม่สู้ดีเท่าไรนัก ผู้ค้าฝ่ายเวียดนามมักจะไม่สู้พอใจที่ฝ่ายจีนตำหนิเรื่องคุณภาพสินค้าและหาทางลดราคาสินค้าต่ำลงไปจากที่ได้ตกลงกันแล้วเสมอ ด้วยเหตุผลที่ว่าสินค้าที่ส่งมอบไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ต่างฝ่ายต่างพยายามเข้าใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ฝ่ายจีนผิดสัญญาเรื่องราคา ฝ่ายเวียดนามผิดสัญญาเรื่องคุณภาพ

วูดักเยือนเล่าให้ฟังว่า ภายหลังมีความตกลงแปลกๆ เกิดขึ้นในวงการค้าระหว่างจีนกับเวียดนามคือ ทางฝ่ายเวียดนามจะรับประกันคุณภาพสินค้าให้ที่ต้นกำเนิดสินค้า ส่วนการส่งมอบนั้นจะรับประกันให้เฉพาะปริมาณเท่านั้น

"สมมติจีนสั่งลำใยแห้งจากเวียดนาม 100 ตัน ทางเวียดนามจะพาผู้ค้าจีนไปดูคุณภาพสินค้าที่กรุงฮานอยและบอกว่าเอาคุณภาพตามที่เห็นนั้น และเมื่อมีการส่งมอบการตรวจรับที่ชายแดนจะตรวจได้เฉพาะปริมาณ 100 ตันตามที่กำหนดเท่านั้น คุณภาพที่ตกต่ำไปหากจะเกิดขึ้นระหว่างทางจากฮานอยมาชายแดนเป็นเรื่องที่รับประกันให้ไม่ได้" เยือน กล่าว

อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ ที่ดูเหมือนเป็นสภาพไร้ระเบียบทางการค้าระหว่างสองประเทศกำลังจะได้รับการแก้ไข โดยความร่วมมือของรัฐบาลกลางของทั้งจีนและเวียดนาม ประธานาธิบดีเลดึกแองห์ ของเวียดนามเพิ่งเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมานี่เอง

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่มีการหารือกันระหว่างผู้นำจีนและเวียดนามคือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

แม้ว่าทั้งสองประเทศจะกำลังอยู่ในระหว่างการถกเถียงกัน ในเรื่องปัญหาหมู่เกาะสแปรตลี่ย์ และปัญหาเส้นพรมแดนทางด้านเหนือของเวียดนาม แต่ทว่าปัญหาทั้งสองดูเหมือนจะใหญ่โตและละเอียดอ่อนเกินกว่าจะเอาปัญหาทางเศรษฐกิจไปผูกไว้อย่างเหนียวแน่น ถึงขนาดจะไม่ยอมทำความร่วมมืออะไรกันเลย หากปัญหาดังกล่าวไม่สามารถหาทางออกได้

ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นเรื่องรอง ส่วนความร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักสำหรับการเจรจากันของจีน-เวียดนามในวันนี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us