|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เผยเงินทุนต่างชาติไหลบ่าเข้าไทย ดันค่าบาทแตะ 37.08 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดรอบ 7 ปี แบงก์ชาติยอมรับแข็งค่าเร็วเกินไป แต่ยังไม่ระบุชัดกรณีเข้าแทรกแซง ด้านนักค้าเงินคาดมีโอกาสทดสอบ 37.00 บาทต่อดอลลาร์
นางธาริษา วัฒนเกส รักษาการผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นวานนี้(25 ต.ค.)ว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่ระดับ 37.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯนั้น ถือว่าเป็นอัตราการแข็งค่าขึ้นในระดับที่เร็วเกินไป โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน่าจะมาจากหลายปัจจัย รวมถึงมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งก็เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น
"ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น แข็งค่าขึ้นเร็วเกินไป ซึ่งก็จะมีผลต่อหลายๆด้าน แต่คงจะยังบอกไม่ได้ว่า แบงก์ชาติจะเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่"นางธาริษากล่าว
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย ) จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้ (25 ต.ค.)เปิดตลาดเช้าที่ระดับ 37.20-37.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีว่าน่าจะมาจากปัจจัยทางการเมืองของประเทศไทยที่เริ่มคลี่คลายลงส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น พร้อมทั้งทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าแนวโน้มระยะต่อไปค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นทะลุ 37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
“ปัจจัยทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น รวมถึงค่าบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นตามด้วย ซึ่งในระยะต่อไปคาดว่าค่าบาทอาจจะปรับแข็งค่าทะลุ 37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ” นางสาวอุสรา กล่าว
สำหรับปัจจัยจากต่างประเทศที่ต้องจับตามองต่อการส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นคืออัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เชื่อว่าในการประชุมครั้งต่อไปจะไม่ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ขณะที่เฟดจะเริ่มประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ขณะนี้มีทิศทางที่แข็งค่าเกินไป ดังนั้นเชื่อว่าในระยะต่อไปน่าจะมีโอกาสได้เห็นค่าเงินดอลลาร์ปรับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยเชื่อว่าในกลางปีหน้าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
“ปีหน้าน่าจะได้เห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยคาดว่าจะปรับลดลงมา 0.75% ส่วนของประเทศไทยนั้นมองว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามเฟดเช่นกันในกลางปีหน้าซึ่งมองว่าน่าจะปรับลงมาอีก 0.5% ” นางสาวอุสรา กล่าว
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวานนี้ นักค้าเงินจากธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นตั้งแต่เริ่มเปิดตลาดที่ระดับ 37.10-20 บาทต่อดอลลาร์ โดยปรับตัวแข็งค่าสุดที่ระดับ 37.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปีในช่วงเช้าของวัน หลังจากนั้นในช่วงบ่ายอ่อนค่าลงเล็กน้อย แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆที่ระดับ 37.11-14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 37.21 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทางธปท.เองก็ยังไม่ได้ออกมายืนยันอย่างชัดเจนในเรื่องการเข้าแทรกแซง ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าได้อีก โดยคาดว่าอาจจะทดสอบที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในทางกลับกันหากปรับตัวอ่อนค่าลงก็มีแนวต้านอยู่ที่ 37.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
"เท่าที่ดูการเคลื่อนไหวของเงินบาท ก็ยังไม่เห็นการเข้าแทรกแซงของแบงก์ชาติ แต่ก็คงจะมีการจับตามองอย่างใกล้ชิดอยู่ โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงบ่ายค่อนข้างนิ่ง แกว่งตัวกรอบแคบ ไม่เห็นแรงกระตุกขึ้นที่มักจะเกิดขึ้นเวลาแบงก์ชาติเข้าแทรกแซง"นักค้าเงินกล่าว
ด้านนักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในช่วงเช้าวานนี้(24 ต.ค.)ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 37.20-37.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 37.11-37.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องมาจากมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ประกอบกับดุลการค้าของญี่ปุ่นเริ่มเกินดุล ทำให้ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น รวมไปถึงค่าเงินบาทที่ได้รับผลพวงปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามไปกับสกุลเงินเยน
|
|
 |
|
|