|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ฟิทช์ เรทติ้ง" ปรับอันดับความน่าเชื่อถือเครดิตประเทศไทย จากระดับเครดิตที่เป็นลบกลับไปเป็นแนวโน้มมีเสถียรภาพ ยกปัจจัยสถานการณ์การเมืองกลับสู่ภาวะปกติเร็วกว่าคาด ระบุหลังรัฐประหารเงินทุนยังไม่มีการไหลออกอย่างรุนแรง ทั้งในส่วนตลาดหุ้น-อัตราแลกเปลี่ยน
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์เครดิตของประเทศไทยโดยฟิทช์ เรทติ้ง เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2549 ฟิทช์ฯ ได้ยกเลิกมุมมองระดับเครดิตของประเทศที่มีการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบออก โดยยืนยันแนวโน้มระดับเครดิตที่มีเสถียรภาพและยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ BBB+ ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทที่ระดับ A และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้น F2 พร้อมทั้งยืนยันระดับเครดิตของประเทศที่ระดับ A-
"ฟิทช์ฯ ได้ให้เหตุผลในการปรับมุมมองระดับเครดิตของประเทศไทยกลับคืนสู่ระดับที่มีเสถียรภาพว่า เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่กลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา และสถานะทางเครดิตของไทยซึ่งประเมินจากตัวชี้วัดที่สำคัญยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB จากผลการประเมินเมื่อเดือนเมษายน 2549"
ทั้งนี้ แม้ว่าฟิทช์ฯ ยังคงเห็นว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยังคงมีอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและยังไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึก อีกทั้งความไม่มั่นคงในช่วงเวลาที่รอการยกร่างและประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยยังคงมีอยู่ โดยรัฐบาลชั่วคราวยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฟิทช์ฯ เห็นว่า ในช่วงเวลาอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางการเมืองของไทยในระยะยาว
ขณะที่สถานะด้านต่างประเทศของไทยยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2548 ซึ่งขาดดุลถึง 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 60,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2549 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB ทั้งในด้านสัดส่วนของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงสามารถคงสถานะของการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ
"ยังไม่มีการไหลออกของเงินทุนอย่างรุนแรง ทั้งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศหลังจากที่มีการรัฐประหาร ส่วนสถานะด้านหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB โดยสัดส่วนหนี้โดยตรงของรัฐบาลได้ลดลงเหลือร้อยละ 28.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในเดือนสิงหาคม 2549 ต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่มที่มีระดับเครดิต BBB ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 34.4 ของจีดีพี จากเดิมที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 39.1 ในเดือนกันยายน 2548 ถึงแม้ว่าในส่วนของหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวและว่า ฟิทช์ฯ ยังเชื่อว่า การที่รัฐบาลจัดทำนโยบายงบประมาณขาดดุล จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลในระยะปานกลาง
โดยฟิทช์ฯ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 ในปี 2549 และยังคงยืนยันการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550 ที่ระดับร้อยละ 4.6 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ฯ ยังคาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะมีความสมดุลมากขึ้น เมื่อความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนได้ถูกฟื้นฟูแล้ว ส่วนปัจจัยด้านต่างประเทศจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระดับปานกลาง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
|
|
|
|
|