|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ตาก-ผาแดงฯ ร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจพลังงานเป็นเงินกว่า 1,500 ล้านบาท ตั้งบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ผลิตเอทานอล หวังสร้างอาชีพทดแทนลุ่มน้ำแม่ตาว ด้านจังหวัดเตรียมออกมาตรการสกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบนำผลผลิตอ้อยออกไปขายนอกพื้นที่เด็ดขาดวอนประชาชนปลูกเพื่อป้อนโรงงานเพื่อผลิตเอทานอลเท่านั้น
นาย วินิจ องค์เนกนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 100 ล้านบาท โดยบริษัทผาแดงฯ ถือหุ้นร้อยละ 35 บริษัท เพโทรกรีน จำกัด ร้อยละ 35 และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 30 ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวจะผลิตเอทานอลเพื่อเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันโดยใช้วัตถุดิบจากอ้อยเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นทางเลือกอาชีพใหม่ให้กับเกษตรกรของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยได้มีพิธีลงนามเซ็นสัญญาร่วมทุน 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 ที่แปซิฟิค ซิตี้คลับ กรุงเทพมหานคร
นายวินิจ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลแล้ว โดยบริษัทผาแดงฯ ได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตเป็นมูลค่า 18 ล้านบาท ในพื้นที่นำร่อง 3,000 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างและสร้างการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร และในเดือนพ.ย.นี้ บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาดจะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ไร่ ทั้งนี้ผลผลิตอ้อยในปีแรกจะใช้เป็นท่อนพันธุ์เพื่อขยายการปลูกอ้อยในพื้นที่อื่นๆ ของอำเภอแม่สอดต่อไป โดยมีเป้าหมายพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 60,000 ไร่ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำแม่ตาวด้วย
สำหรับโรงงานผลิตเอทานอลจะตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตเอทานอล 1 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการประมาณต้นปี 2552 ซึ่งผลผลิตอ้อยในพื้นที่อำเภอแม่สอดจะใช้เพื่อการผลิตเอทานอลเท่านั้น โดยจะจำหน่ายให้กับธุรกิจน้ำมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ ส่วนกากอ้อยและกากส่าซึ่งเป็นผลพลอยได้จะนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า
นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ กรรมการอำนวยการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การร่วมทุนจัดตั้งบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจโดยบริษัทฯ มีโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งใช้หัวมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว โครงการนี้จะทำให้โครงการเอทานอลของบริษัทฯ มีการใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย ทั้งมันสำปะหลังและอ้อย ในด้านธุรกิจบริษัทฯ จะเป็นผู้ประสานงานกับ บมจ.ปตท.ในการรับซื้อผลิตภัณฑ์เอทานอลจากโครงการนี้
ขณะเดียวกันเป็นการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมของประเทศ โดยช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้ที่แน่นอนจากการปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงาน ในขณะที่โรงงานจะได้ประโยชน์จากการที่มีแหล่งวัตถุดิบที่แน่นอน เนื่องจากพื้นที่บริเวณอำเภอแม่สอด มีความเหมาะสมในการปลูกอ้อย
ด้านนาย อิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล ผู้บริหารบริษัทเพโทรกรีน จำกัด กล่าวว่า กลุ่มน้ำตาลมิตรผลสนับสนุนนโยบายภาครัฐในเรื่องพลังงานทดแทนมาตลอด โดยเฉพาะการผลิตเอทานอลซึ่งใช้เป็นส่วนผสมการผลิตแก๊สโซฮอล์ กลุ่มน้ำตาลมิตรผลได้ก่อตั้งบริษัท เพโทรกรีน จำกัด ดูแลโรงงานผลิตเอทานอล 2 แห่ง ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และที่อำเภอกุสินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเช่นกัน ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในท้องที่ได้รับประโยชน์และมีรายได้ดีขึ้น ยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้เป็นมูลค่ามหาศาล
ในการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท "แม่สอดพลังงานสะอาด" ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของบริษัทฯ ในการส่งเสริมการปลูกอ้อยและการผลิตเอทานอลภายในประเทศ นอกจากนี้ โดยจะนำความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนาดิน วิธีการปลูกและดูแลรักษาอ้อย เข้าไปเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่
ในขณะที่นาย เชิดศักดิ์ ชูศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก บอกว่า การจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่อำเภอแม่สอด จะสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรอย่างยิ่ง เพราะจะมีตลาดรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน เชื่อว่าเกษตรกรจำนวนมากในอำเภอแม่สอดและลุ่มน้ำแม่ตาวจะเปลี่ยนอาชีพมาปลูกอ้อย เพราะขณะนี้อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคาสูง และเป็นพืชเกษตรที่ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตการปลูกข้าว
การลงทุนของภาคเอกชนในครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างงานและสร้างรายได้ในอาชีพใหม่ให้กับคนแม่สอดเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ผลผลิตอ้อยในพื้นที่แม่สอดจะไม่นำมาผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อการบริโภค จังหวัดตากจะกำหนดมาตรการในการตรวจสอบการขนส่งเพื่อไม่ให้นำอ้อยออกจากพื้นที่อำเภอแม่สอด นอกจากนั้น ในเชิงภูมิศาสตร์การบรรทุกอ้อยจากแม่สอดไปยังจังหวัดอื่นเป็นไปได้ยากและไม่คุ้มค่าขนส่ง
|
|
 |
|
|