|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
อาร์เอส ปรับทัพตามแนวคิด Entertainment Content & Media Provider เริ่มเข้าที่ เดินหน้าสร้างอาณาจักรความบันเทิงครบวงจร โหมปรับลุคส์คลื่นวิทยุในมือยกแผงใหม่หมด พร้อมปิ๊งไอเดียเด็ด 'โฟร์อินวัน' ควบ 4 หัวสิ่งพิมพ์ดัง ภายใต้ชื่อ 'อาร์เอส พับลิชชิ่ง' เร่งเพิ่มอำนาจต่อรองธุรกิจลุยแหลกตลาดสิ่งพิมพ์ นับจากนี้ไปอาร์เอสมีครบ 3 ขา วิ่งฉลุยในธุรกิจโลกบันเทิง ทั้งสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุ หลังจากปล่อยให้ฟากคอนเทนต์บันเทิงและเพลงร้อนแรงแซงหน้าไปก่อน
อาร์เอส พับลิชชิ่ง ตั้งเป้าก้าวกระโดดในปี 50
หลังจากปล่อยให้หนังสือ 4 แบรนด์ดัง ทั้ง ดาราเดลี่ (daradaily), ดาราเดลี่ วีคเอนด์ (daradaily weekend), ฟร้อนท์ (front) และเฟม (FAME)ขายโฆษณาและทำตลาดแบบตัวใครตัวมันมานาน แต่ล่าสุด ชาคริต พิชญางกูร กรรมการบริหาร บริษัท อาร์เอส พับลิชชิ่ง จำกัด หันมาควบรวมธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ยูนิตเดียวกัน และใช้ทีมตลาดทีมเดียวกันเพื่อกันความสับสนและง่ายต่อการจัดการ
"การรวมครั้งนี้เป็นวันสต็อปเซอร์วิส (one stop service) เราขายโฆษณาเป็นแพ็คเก็จ มีทั้งอีเว้นท์ การตลาด และใช้ดารานักร้องในสังกัดเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับแพ็คเก็จอีกด้วย ดังนั้นลูกค้าจะมีโอกาสในการพิจารณาสินค้าเรามากขึ้น ในส่วนของเอเจนซี่เองก็ช่วยให้เกิดภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เราขายโฆษณาแบบเป็นชุดขนาดนี้ลูกค้าคงไม่กล้าปฏิเสธเรามากนัก" กรรมการบริหารอาร์เอส พับลิชชิ่ง ฉายภาพถึงความแข็งแกร่งที่ได้จากการรวมตัวของ 4 สิ่งพิมพ์
จากเดิมที่แมกกาซีนและหนังสือพิมพ์แต่ละหัวจะเดินหน้าทำตลาดแบบฉายเดี่ยวตัวใครตัวมัน ทำให้บางครั้งกลุ่มคนอ่านไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเดียวกับกลุ่มที่เจ้าของสินค้าต้องการสื่อสารด้วย รวมไปถึงการแยกทำตลาดทำให้อำนาจในการต่อรองทางธุรกิจมีน้อยกว่าการขายเป็นแพ็คเก็จ สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายครั้งต้องพลาดโอกาสในการขายโฆษณาไปอย่างน่าเสียดาย แต่หลังจากควบรวม 4 สิ่งพิมพ์ ทั้งแมกกาซีนและหนังสือพิมพ์เข้าด้วยกัน สามารถรวบรวมกลุ่มผู้อ่านได้ทุกเซ็กเมนต์ ทำให้การเสนอขายโฆษณาภายใต้ชื่อ 'อาร์เอส พับลิชชิ่ง' มีลูกค้าสนใจที่จะซื้อไม่ต่ำกว่า 2 เล่มในการเสนอขายแต่ละครั้ง
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์นี้ ทางอาร์เอสมั่นใจว่าจะโกยรายได้ประมาณ 140 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินนี้คิดเป็น 5% จากรายได้ทั้งหมดในเครืออาร์เอส อย่างไรก็ตามหลังจากควบรวมทั้ง 4 หัวแมกกาซีนและหนังสือพิมพ์แล้ว จะทำให้ปี 2550 ธุรกิจสิ่งพิมพ์จะมีรายได้สูงถึง 250 ล้านบาท มีอัตราเติบโตถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2549 โดยหนังสือพิมพ์ดาราเดลี่ เป็นหัวหอกในการทำรายได้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในขณะที่อีก 3 หัวที่เหลือ คือ หนังสือพิมพ์ดาราเดลี่วีคเอน, ฟร้อนท์ และเฟม จะทำโกยเม็ดเงินได้หัวละประมาณ 50 ล้านบาท
'สกายไฮ' จับ '3 คลื่นทหารเสือ' แต่งตัวใหม่ เน้นไฉไลกว่าเดิม
แม้สุระชาติ ตั้งตระกูล อดีตแม่ทัพสกายไฮ โบกมืออำลาวงการธุรกิจวิทยุไปนานแล้ว แต่สกายไฮก็ไม่หยุดเร่งทำคลื่นในมือให้สดทันสมัย ถูกใจคนฟังตลอดเวลา ล่าสุดภายใต้การนำของ คมสันต์ เชษฐ์โชติศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกาย-ไฮ จำกัด คนใหม่ เดินเครื่องเต็มที่สานต่อกลยุทธ์เดิม มั่นใจก่อนสิ้นปีคลื่นในมือสกาย-ไฮ ต้องใหม่และไฉไลกว่าเดิม
หลังจากผุดคลื่นลาเต้ 106 เอฟเอ็ม เมื่อต้นปี เพื่อเจาะกลุ่มคนฟังรุ่นใหญ่ตั้งแต่ระดับผู้จัดการ ผู้บริหารขึ้นไป ตามติดกระชั้นชิดด้วยการรีแบรนด์คลื่น 93 เอฟเอม เป็น คูล 93 ฟาเรนไฮน์ ที่มุ่งตอบโจทย์ตลาดคนฟังกลุ่มอีซี่ลิสซึนนิ่ง ที่ล้มแชมป์เก่าอย่างคลื่นกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็มของคู่แข่งตลอดการอย่างแกรมมี่ลงได้ แม้จะมีสะดุดขาตัวเองล้ม จนต้องคืนคลื่น 90 มิกซ์เอฟเอ็ม เพราะทนรับการขาดทุนไม่ไหว แต่ล่าสุด คลื่นทะลวงใจวัยโจ๋ 88.5 เอฟเอ็มแม็กซ์ ก็รีเฟรชตัวเองใหม่ เพื่อวิ่งไล่กวดเทรนคนฟังที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เปลี่ยนแปลงเร็วและไม่หยุดนิ่ง
"สถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมคลื่นวิทยุต้องยอมรับว่าแข่งกันแรงมาก แข่งกันขายไอเดียแปลกใหม่ และนิยมหันมาใช้การตลาดกันมากขึ้น อย่างคลื่น 88.5 นี่เราต้องรีเฟรชเขาให้มันส์ขึ้น ต้องจับคนฟังกลุ่มวัยรุ่นให้ได้ แคมเปญที่ออกมาต้องโดนใจ แตกต่างและไม่น่าเบื่อด้วย" กรรมการผู้จัดการบริษัท สกาย-ไฮ กล่าวกับผู้จัดการรายสัปดาห์
สำหรับตัวเลขรายได้ในปี 2549 นี้ สกายไฮจะโกยเม็ดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แต่หลังจากปรับภาพลักษณ์คลื่นใหม่ยกแผงนี้ คาดว่าตัวเลขรายได้ในปี 2550 นี้จะทะยานสูงขึ้น 600 ล้านบาท โดยรายได้หลักจะมาจากคลื่น 93 ฟาเรนไฮน์ ประมาณ 60 % ตามมาด้วยคลื่น 88.5 เอฟเอ แมกซ์ และลาเต้ 106 อย่างละเท่า ๆ กัน
"ต้องเข้าใจว่าตลาดมันน่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ถึงจะทำตลาดให้หนักขึ้น ฐานคนฟังก็จะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะเค้กก้อนเดิม จะขยายให้มันใหญ่ไม่ได้ ทำได้แค่เพียงขโมยก้อนเค้กกันไปมาเท่านั้น ดังนั้นการทำตลาดของเราจึงหยุดไม่ได้ ต้องต่อเนื่องและแตกต่างอยู่เสมอ รวมไปถึงต้องสร้างอีเว้นท์ และแคมเปญให้คนฟังมีส่วนร่วมกับเราตลอดเวลา"
ภาพของการก้าวเข้าสู่ผู้นำในด้าน Entertainment Content & Media Provider ของอาร์เอส ตามที่สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคยประกาศต่อสื่อมวลชน ดูจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ท่ามกลางข่าวการเดินออกของศิลปินแม่เหล็กของค่าย แต่เหมือนว่า แนวคิดการทำธุรกิจที่ลบภาพค่ายเพลงจะทำให้ สุรชัย ไม่วิตกกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นนัก เพราะศิลปินในวันก่อนที่เปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์คุณภาพ ที่ค่ายเพลงทำหน้าที่หาซอฟต์แวร์หลากหลายมาใส่ แล้วเสนอขาย วันนี้ศิลปินลดบทบาทเป็นเพียงซอฟต์แวร์อันหลากหลาย นำใส่ลงในฮาร์ดแวร์แข็งแกร่ง อย่าง สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ จนถึงสื่อออนไลน์ เพื่อเสนอขายแทน จึงไม่แปลกอะไรที่วันนี้ อาร์เอส จะเต็มไปด้วยวิทยุคลื่นต่าง ๆ หรือนิตยสารหัวต่าง ๆ ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง มากกว่าศิลปินในสังกัดไปเสียแล้ว
|
|
 |
|
|