กงล้อแห่งตลาดโลกหมุนไปเร็วเกินกว่าที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย-องค์กรธุรกิจสิ่งทอที่ผูกชีวิตอยู่กับแฟชั่นเสื้อผ้าที่พลิกผันอย่างไม่ทันกระพริบตาจะรอกลไกรัฐเป็นตัวชูธงรบชนิดเต็มร้อยอีกต่อไป
20 ปีที่โตจนบรรลุนิติภาวะ สมาคมฯ จึงเริ่มเปิดเกมนำรัฐเพื่อให้แผนการส่งออกเสื้อผ้าไทยบรรลุเป้าหมาย
2 แสนล้านในปี 2540 ด้วยกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมแล้ว ตามหลักที่ว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน"
ไม่มีใครเคยคิดว่าบัณฑิตวิศวะอุตสาหกรรมจากรั้วจามจุรีที่เริ่มต้นชีวิตทำงานด้วยการเป็นเด็กวิ่งเอกสารชิปปิ้งที่บริษัท
ไทยเอโร่ จำกัด เมื่อ 21 ปีที่แล้ว จะกลายมาเป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยต่อเนื่องกันถึง
8 ปี
วิโรจน์ อมตกุลชัย เริ่มโคจรสู่ธุรกิจสิ่งทอปลายน้ำ คือ ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป
(การ์เม้นท์) ในปีเดียวกับที่สมาคมฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2516…!
นับเป็นห้วงเวลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เกิดขบวนการแอนตี้สินค้าญี่ปุ่น
ใช้ผ้าดิบ ใส่ม่อฮ่อม แต่เขากับพร้อมเพื่อนร่วมรุ่นที่สนิทใกล้ชิดจนทุกวันนี้ที่ชื่อว่า
ชวลิต นิ่มละออ อุปนายกสมาคมฯ และสุชาติ จันทรานาคราช กรรมการสมาคมฯ อีกคนหนึ่งยังคงก้มหน้าทำงานตามหน้าที่ในบริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่นที่ชื่อว่า
บริษัทไทยเอโร่ จำกัด (ซึ่งตอนหลังสุกรีได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่)
ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มกำหนดโควตาส่งออกเสื้อผ้าไทยมาก่อนหน้านั้นประมาณ 3
ปี การค้าของโลกเริ่มส่อแววใช้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมจนเกิดแรงผลักดันจากทวิภาคีไทย-สหรัฐฯ
และประชาคมยุโรปบางส่วน แม้มูลค่าการส่งออกสิ่งทอทั้งระบบตอนนั้นจะมีมูลค่าเพียงประมาณ
345 ล้านบาท แต่ได้เริ่มทำให้วงการการ์เม้นท์วิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
เสรี เอื้อวัฒนสกุล เจ้าของบริษัทแสตนดาร์ดการ์เม้นท์ จำกัด จึงนำทีมเพื่อนร่วมวงการบริษัทข้ามชาติ
(โปรดดูตาราง "ผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย") อีก
3 บริษัทร่วมกันตั้งสมาคมฯ ขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2516 จากสมาชิกที่มีอยู่ไม่เกิน
10 โรงในตอนนั้น
"เริ่มมองว่า ถ้าไม่รวมตัวจะต่อรองประเทศคู่ค้าไม่ได้ ยิ่งเมื่อ 20
ปีก่อน รัฐเองก็มีความรู้น้อย ครั้นจะปรึกษาเอกชนก็เกรงข้อครหาว่าใกล้ชิดใครคนนั้นก็ได้เปรียบ
และไม่มีใครรู้เรื่อง ไม่มีข้อมูลว่ามีโรงงานกี่โรง คุณเสรีจึงมองว่าถ้าพูดในนามตัวแทนย่อมมีน้ำหนักกว่า"
แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดอยู่ในสมาคมฯ ให้ภาพที่เกิดขึ้นในอดีต
ว่าไปแล้วในช่วง 10 ปีแรก สมาคมฯ ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่วนหนึ่ง
เพราะช่วงนั้นไทยยังเน้นส่งออกผลผลิตทางเกษตร แม้ว่าเมื่อถึงปี 2526 จะมีมูลค่าส่งออกสิ่งทอกว่า
8,800 ล้านบาท และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 100 บริษัทก็ตาม
"จุดเปลี่ยนของสมาคมฯ น่าจะอยู่ระยะที่เกิดเหตุการร์เอ็มบาร์โก้ ตอนนั้น
ผู้ส่งออกเดือดร้อนมาก ทุกคนให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมทั้งหมดประชุมทีไร
สมาชิก 200 รายมา ประชุมหมด" ชวลิต อุปนายกสมาคมฯ ชี้ถึงจุดที่สมาคมฯ
เริ่มมีบทบาทมากขึ้น "ขณะนั้นเราใช้ตารางหลาเกินสหรัฐฯ หยุดเคลียร์สินค้าระหว่างปี
และตัดโควตาปีต่อปีติดต่อกัน 3 ปี"
ตรงจุดนี้เป็นประเด็นที่กระเทือนต่อผู้ส่งออกการ์เม้นท์อย่างถ้วนหน้า
โดยเฉพาะ 2-3 ปีนี้ นักธุรกิจการ์เม้นท์เริ่มเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลกมากขึ้น
เนื่องจากประเทศคู่แข่งแรงงานถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย จีน ปากีสถาน
ฯลฯ เริ่มประสบความสำเร็จ ขณะที่ประเทศไทยจะต้องขยับไปสู่ตลาดที่เป็นไฮแฟชั่นมากขึ้น
แนวโน้มอนาคตของอุตสาหกรรมการ์เม้นท์ต่อไปไม่ใช่เรื่องของการเจรจาการค้า
"แค่มิสชั่นไม่พอแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นอย่างนี้" ชวลิตฉายภาพเปรียบเทียบระหว่างอดีตกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น
จากปัจจัยตลาดที่เปลี่ยนไปมาก ทำให้สมาคมฯ ต้องเริ่มเปลี่ยนบทบาทที่เป็นอยู่ตามไปด้วย
เดิมสมาคมฯ มีปัญหาที่จะต้องช่วยสมาชิกอยู่อย่างเดียวคือ เจรจาโควตา แต่ระยะหลังเจอปัญหามากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออก ปัญหาภายในประเทศทั้งในเรื่องของความสามารถในการส่องออก
เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มระบบที่เริ่มนำมาใช้ใหม่ หรือการขอยกเว้นภาษี ขณะที่สมาคมฯ
กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้กำหนดให้การ์เม้นท์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายอันดับ
1 เพื่อนำพาธุรกิจส่งออกสิ่งทอไทยจากยอดแสนล้านในตอนนี้ไปสู่เป้าหมาย 2 แสนล้านในปี
2540 ให้ได้
ดังนั้นสมาคมฯ จึงต้องผลักดันรูปแบบวิธีการขยายตลาดต่างประเทศ จากเดิมที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยเคยขายผ่านอิมปอร์ตเตอร์หรือดีพาร์ทเม้นท์สโตร์รายใหญ่
มาเป็นการติดต่อกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยตรง
"พวกผู้นำเข้ามีวงเงินนำเข้าสินค้า สามารถสั่งเสื้อผ้าได้ครั้งละมากๆ
โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน แต่ก็มีข้อเสียคือ พอเขาเจอประเทศคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า
ก็ไปทันที เราจึงต้องเปลี่ยนโครงสร้างตลาดด้วยการลดตัวกลางให้น้อยลง"
ชวลิต อุปนายกสมาคมฯ ชี้ถึงวิธีการเข้าสู่ตลาดที่จำเป็นต้องปรับเพื่อเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
พร้อมกับการพัฒนาทั้งระบบการผลิตและบุคลากรให้มีทักษะฝีมือมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของตลาดแต่ละกลุ่ม
ตลาดต่างประเทศของเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากไทยมีลักษณะและลำดับความสำคัญแตกต่างกันออกไป
ดังนี้
ตลาดแรก คือ ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดสินค้าทั่วไป หรือเป็น MASS PRODUCT ไม่เน้นเรื่องคุณภาพเท่าใดนัก
ตลาดที่ 2 คือ ตลาดยุโรป ซึ่งไทยเริ่มเข้าไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว พฤติกรรมผู้ซื้อจะต่างจากสหรัฐฯ
คือเป็นตลาดเล็กซอยย่อยถึง 12 ตลาด จึงต้องเข้าเจาะแต่ละประเทศโดยเฉพาะ ไม่ใช่ไปทีเดียวแล้วจะได้ออเดอร์ใหญ่แบบสหรัฐฯ
ที่สำคัญ ตลาดยุโรปเป็นตลาดแฟชั่น จะไม่ตัดสินใจล่วงหน้านานอย่างสหรัฐฯ
เวลาซื้อนอกจากจะสั่งซื้อเข้าประเทศของตัวเองแล้วยังขายต่อต่างประเทศด้วย
ฉะนั้นจากที่ไทยเคยทำสินค้าราคาถูก เน้นปริมาณ เมื่อมาเจอตลาดยุโรปใหม่ๆ
ก็รับไม่ได้ จนกระทั่งเริ่มปรับตัวจนเกิดความคุ้นชินมากขึ้นและที่เคยซื้อผ่านอิมปอร์ตเตอร์เดี๋ยวนี้เริ่มมีคนซื้อโดยตรงเพิ่ม
ตลาดที่ 3 คือ ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งมีรสนิยมคล้ายกับตลาดยุโรป ชอบงานฝีมือ
เช่น เสื้อแจ็กเก็ต นิตติ้ง แต่จะระมัดระวัง และพิถีพิถันในการทำธุรกิจสูงมาก
"เวลาสั่งซื้อออเดอร์ ญี่ปุ่นจะใช้เวลาเป็นวันในการเจรจาตกลง ลงรายละเอียดของแบบเสื้อผ้า
แม้แต่เบอร์ที่ติดตรงคอเสื้อว่าจะต้องออกมาในแบบไหน ขณะที่ลูกค้ายุโรปจะใช้เวลาสัก
3 ชั่วโมง แต่ลูกค้าสหรัฐฯ จะใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง" แหล่งข่าวจากสมาคมฯ
เปรียบเทียบพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ฟัง
ลูกค้าญี่ปุ่นจึงเป็นลูกค้าที่มักจะถูกกล่าวถึงในกลุ่มธุรกิจการ์เม้นท์ไทยว่า
เป็นลูกค้าที่โหดที่สุดขนาดที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ก่อนส่งออเดอร์ก็จะบินกลับมาดูด้วยว่า
ระหว่างการตัดเย็บ งานเป็นอย่างไรบ้าง
นั่นเป็นความโหดของตลาดญี่ปุ่นที่ถือว่าเจาะยากแต่ถ้าใครเข้าถึง เป็นที่เชื่อถือแล้ว
จะกลายเป็นลูกค้าที่ซื่อสัตย์ไปนานแสนนาน
"แม้เขาจะเป็นขี้กลัว แต่ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจที่สุดในอนาคต เพราะเป็นตลาดสินค้ามูลค่าสูง"
แหล่งข่าวรายหนึ่งจากธุรกิจส่งออกการ์เม้นท์เน้นถึงลู่ทางตลาดใหม่
วิโรจน์ นายกสมาคมฯ ย้ำว่า "เป้าหมายตลาดที่ดีมากในอนาคตคือ ญี่ปุ่น
เราเพิ่งทำเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนั้นขายได้แค่ 450 ล้านบาท ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบหมื่นล้านบาท
เฉลี่ยแค่ 2% ของสินค้านำเข้าของญี่ปุ่น หรือราว 8% ของยอดส่งออกของไทยเท่านั้น
และเชื่อว่าเราน่าไปได้ถึงเท่าตัวภายใน 3 ปีนี้"
ความสำคัญของตลาดญี่ปุ่นต่ออนาคตของการส่งออกสิ่งทอของไทยเช่นนี้ ทำให้หลังเหตุการณ์พฤษภาโหดเมื่อปีที่แล้ว
ทางสมาคมฯ นำโดยชวลิต อุปนายกสมาคมฯ ร่วมกับทางกรมการค้าต่างประเทศต้องบินไปทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักธุรกิจที่ญี่ปุ่นทันทีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า
ไม่มีผลกระทบต่อการผลิตสินค้าป้อนให้อย่างแน่นอน
"เขาเริ่มมองหาซัพพลายเออร์รายอื่นๆ ไปกลุ่มอินโดจีน ไปจีน ไปหลายประเทศ"
แหล่งข่าวรายหนึ่งของสมาคมฯ เล่าถึงความจำเป็นที่ต้องรีบไปเคลียร์ตลาดญี่ปุ่น
ทั้งยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาการจัดส่งออเดอร์ที่สั่งมาแล้ว "เป็นความโชคดีที่สมาชิกส่วนใหญ่รักษาเวลาได้
เรียกว่าได้ผลดี เลยรอดตัวไป"
เป็นที่รู้กันดีว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการต่อสู้และเคลื่อนไหวของสมาคมฯ
โดยตลอด คือ วิโรจน์ นายกสมาคมคนปัจจุบันนี่เอง (โปรดดูตาราง "รายชื่อนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย")
ส่วนหนึ่งเป็น เพราะฝีมือส่วนตัว อีกส่วนหนึ่งเป็น เพราะความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรทีบีไอของสุกรี
โพธิรัตนังกูรที่วิโรจน์สังกัดอยู่เป็นเครื่องหมายประกันคุณภาพอีกชั้นหนึ่ง
แต่ดูเหมือนว่าวิโรจน์ถูกชาวสิ่งทอจับตาด้วยความเคลือบแคลงสงสัยอย่างหนักเป็นครั้งแรกเมื่อเกิด
"สงครามเส้นด้วย" ในปี 2529
วิโรจน์ในฐานะนายกสมาคมฯ ได้ออกโรงเรื่องเส้นด้ายขาดแคลนซึ่งส่งผลสะเทือนต่อการ์เม้นท์
จึงเสนอเงื่อนไขให้รัฐบาลเปิดให้มีการตั้งและขยายโรงงานปั่นด้ายเสรี
ด้านพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย และพล.ต. (ยศขณะนั้น)
ประมาณ อดิเรกสาร ร่วมกันคัดค้าน เพราะหวั่นว่าเส้นด้ายจะเกินความต้องการ
นอกจากนั้นยังระบุว่าเส้นด้ายในตอนนั้นไม่ขาด แต่ยักษ์ใหญ่วงการทอผ้าเป็นคนปั่นตลาดให้วุ่นวาย
ยักษ์ที่ว่านี้ คือ กลุ่มทีบีไอ ลูกพี่ของวิโรจน์นั่นเอง…!
วิโรจน์เลยถูกมองว่า เคลื่อนไหวก็เพื่อสนองความต้องการของสุกรีที่อยากให้ขยายแกนปั่นด้ายออกไปอีก
แม้วิโรจน์จะถูกโจมตีอย่างหนัก แต่เขากลับภูมิใจที่สุด…???
"ผมภูมิใจที่สุดคือเรื่องขอให้รัฐบาลเปิดอุตสาหกรรมสิ่งทอใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เช่น โรงงานปั่นด้ายที่เคยหยุดมาถึง 16 ปี สมาคมฯ พยายามอธิบายให้รัฐบาลเข้าใจ
จนในที่สุดก็เปิดขึ้นมา แม้อีก 3 เดือนให้หลังจะปิดลงอีกก็ตาม มิฉะนั้น เราคงเกิดภาวะขาดแคลนเส้นด้ายอย่างมหาศาล
และเราจะพยายามต่อไป…" วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์เป็นคนที่สุกรีให้ความยอมรับอย่างสูง โดยเฉพาะในเรื่องของการประสานกับสื่อมวลชนหรือผู้นำภาครัฐบาล
ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนเปิดเผย มีมนุษยสัมพันธ์ดี รู้ว่าเวลาไหนควรจะสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มใดและให้ข้อมูลอย่างไรเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นผลดีต่อวงการได้มากที่สุด
และที่ค่อนข้างเด่นก็คือ ความมีโลกทัศน์ไกลที่กว้างไกล
หลายครั้งหลายหนที่เขามักจะสะท้อนความคิดที่สวนทางกับกระแสที่เป็นอยู่
เขาไม่เชื่อว่าธุรกิจใดในเมืองไทยจะอยู่ยงคงกระพันไปตลอด แม้แต่สิ่งทอที่เขาถือว่าเป็นธุรกิจที่ดีที่สุดในขณะนี้
"ถ้าเราศึกษาย้อนหลัง สิ่งทอเหมือนธุรกิจสายน้ำที่ไม่หยุดไหล เพราะประเทศกำลังพัฒนาจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
และจะต้องผ่านธุรกิจสิ่งทอได้สำเร็จก่อน ซึ่งเป็นกฎที่ค่อนข้างตายตัว"
วิโรจน์เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2532 ก่อนที่จะอำลาอาณาจักรสิ่งทอทีบีไอ แล้วกระจายตัวไปสู่ธุรกิจอื่น
(เช่น ธุรกิจรถบรรทุกสิบล้อ โครงการคอนโดมิเนียมซีทีไอทาวเวอร์ หรือธุรกิจจัดงานแสดงสินค้า)
แต่ก็ยังยืนหยัดทำงานในตำแหน่งนายกสมาคมฯ ต่อไปโดยมิต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มทีบีไออีกต่อไป
หลังจากที่ได้เรียนรู้ระบบสิ่งทออย่างครบวงจรจากที่นี่จนปีกกล้าขาแข็งพอที่จะบินเดี่ยวใต้ฟ้ากว้างใหม่ได้อย่างองอาจแล้ว
ขณะที่สุกรีเชื่อมั่นว่า "ทุกคนต้องการเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้นจงเดินหน้าผลิตเสื้อผ้าต่อไป"
…!
แม้ยามที่นักธุรกิจการ์เม้นท์กำลังชื่นมื่นกับความได้เปรียบที่ไทยมีแรงงานต่ำในการแข่งขันกับตลาดโลกเมื่อ
4-5 ปีก่อน แทบทุกครั้งที่มีโอกาสเปิดตัวต่อสาธารณชน เขาจะติติงเพื่อนร่วมวงการอยู่เสมอว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับตัวไปสู่ตลาดแฟชั่นให้ได้มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะตลาดที่ไม่มีโควตา
ใครที่เห็นด้วย ปรับตัวทัน ก็รอดตัว แต่ใครที่ตามไม่ทันก็คงเจอปัญหาแบบกรณีของบริษัทไทยเกรียงปั่นทอ
ฟอกย้อม จำกัด ที่เกิดปัญหาเป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว
นี่เป็นจุดเด่นของคนรุ่นใหม่อย่างวิโรจน์ และทีมงานหลังจากที่ไทยผ่านยุคธุรกิจสิ่งทอรุ่นแรกก่อนที่จะมาถึงยุคของโรงงานระบบครอบครัว
ที่โตวันโตคืนอย่างกลุ่มไทยแม่ล่อนหรือทีบีไอของสุกรี
"เมื่อโตใหม่ๆ ก็ต้องสร้างฐานให้แข็งแรง พออยู่ตัว จึงเริ่มหานักบริหารมืออาชีพและคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริม
เพราะการแข่งขันมากขึ้นทุกเสี้ยวนาที" แหล่งข่าวระดับสูงเทียบอายุรุ่นธุรกิจวงการสิ่งทอโดยเฉพาะในส่วนการ์เม้นท์ที่เกี่ยวกันดุจดังเกลียวหนึ่งของตลาดโลก
ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้สมาคมฯ ต้องถีบตัวในการพัฒนากันอย่างสุดกำลัง
ที่เห็นชัดที่สุด น่าจะเริ่มในยุคที่วิโรจน์เป็นนายกสมาคมฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหลักการและบทบาทของสมาคมไปสู่ทิศทางที่ดูหนักแน่นขึ้น..!
ไม่ใช่ภาพเก่าๆ ที่ถูกมองว่า เมื่อใครมาเป็นนายกหรือกรรมการสมาคมฯ ก็มีแต่เสียอย่างเดียวอีกต่อไป…!
4 ปีแรกที่วิโรจน์นั่งเป็นนายกจึงเป็นช่วงที่เขาพยายามรวบรวมสมาชิกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
"ตอนนั้น ปีแรกที่เข้ามา (2528) มีสมาชิกแค่ 110 รายเท่านั้น สมาคมฯ
ก็ต้องเช่าเขาอยู่ ยังไม่มีรายได้ ใครเป็นกรรมการก็ต้องกระเป๋าหนัก"
วิโรจน์ลำดับภาพที่ค่อนข้างทุลักทุเลในอดีต มิหนำซ้ำยังต้องเสียทั้งเงินทั้งเวลา
จนทำให้คนทำงานรู้สึกว่า เข้ามาแล้วมีแต่ "เสีย" ลูกเดียว
เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่จะต้องเปลี่ยนให้ได้ก็คือ "ความรู้สึก"
เนื่องจากตอนนั้นบัญชีเป็นตัวแดงจึงต้องขอรับบริจาคกันอยู่เรื่อย จนบางคนทำงานไปก็รอวันครบวาระเร็วๆ
จะได้ไม่เปลืองตัวเปลืองเวลา
หากแก้ตรงนี้ไม่ได้ สมาคมฯ คงกลายเป็นป่าช้าแน่ ต่อมาจึงกำหนดไม่ให้มีการบริจาค
แต่ใช้วิธีหารายได้เข้าสมาคมฯ ด้วยการจัดงานแสดงสินค้า ทำหนังสือสมาคมฯ ซึ่งในระยะแรกๆ
ก็ขาดทุน
ทว่านับวันตลาดโลกยิ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจการ์เม้นท์ชนิดปีนเกลียวกว่าเก่า
สมาชิกเริ่มเห็นความสำคัญที่จะต้องมีการรวมตัวอย่างเป็นหนึ่งเดียว และเห็นว่าสมาคมฯ
มีความพยายามทีจะมีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหามากขึ้น ก็เริ่มขยายที่ทำงานของสมาคมฯ
มาอยู่ที่ชั้น 17 ของอาคารสาธรธานี ส่วนจำนวนสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากแค่
100 กว่ารายในปี 2528 ก็ขยายเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็น 505 รายในปัจจุบัน (โปรดดูตาราง
"จำนวนและกลุ่มสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย") กิจกรรมที่ทำก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
บัญชีตัวแดงก็เริ่มเป็นสีน้ำเงิน
"พอถึงปี 2534 เราเริ่มเห็นว่าการที่เราโตเร็วมากก็มีจุดตันได้"
วิโรจน์และชวลิตกำลังบอกถึงบทบาทของสมาคมฯ ที่ไม่อาจหยุดอยู่แค่เป็นที่ปรึกษาการเจรจาโควต้ากับทีมรัฐบาลได้อีกแล้วเพราะธุรกิจการ์เม้นท์โตจนดูน่ากลัว
"ตั้งแต่ปี 2534 ธุรกิจนี้โตไม่เคยต่ำกว่า 12-25% ขณะที่รัฐประมาณไว้แค่
8-12% (แล้วแต่ประเภท) การที่เราจะไปได้ จะต้องพัฒนาทั้งด้านบุคคล ลดต้นทุนการผลิต
และมีระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาหากทำอย่างนี้ได้ จะทำให้เราอยู่อย่างเข้มแข็งต่อไปได้อีกไม่ต่ำกว่า
10 ปี" วิโรจน์ชี้
แม้ว่าวันนี้ ผู้ผลิตของไทยจะผลิตการ์เม้นท์ยี่ห้อดังได้หลายยี่ห้อ แต่ก็ยังต้องยกระดับขึ้นไปทาบกับยี่ห้อชั้นนำระดับโลกอย่างดันฮิลล์หรือคริสเตียนดิออร์ให้ได้
มูลค่าการส่งออกของไทยแม้จะติดอันดับ 1 ใน 10 ของตลาดโลก แต่เมื่อคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดแล้ว
ยังมีส่วนแบ่งไม่ถึง 3% ของมูลค่าตลาดโลก
ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ได้ว่า หากพัฒนาคุณภาพได้ดีจากตลาด 60 ล้านคนในเมืองไทยก็จะขยายไปสู่ตลาด
300 ล้านคนในเอเชียอาคเนย์อีกราว 5-6 ปีได้อย่างไม่ยากเย็น ขณะเดียวกันเป็นไปได้มากว่าต่อไปไทยจะเป็นผู้ส่งออกการ์เม้นท์ที่มีคุณภาพ
ใครจะใช้ของดีของแพงก็ต้องของไทย แต่ถ้าเป็นการ์เม้นท์ราคาถูกหรือตลาดล่าง
ก็ต้องนำเข้าตลาดโบ้เบ้จะถูกสินค้าราคาถูกจากกลุ่มประเทศ เช่น อินโดนีเซียหรือจีนยึดไป
โดยไทยจะยึดตลาดบน
"ภาพใหม่นี้เราจะเห็นได้อย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่เกิน 7-8 ปีข้างหน้า
อันที่จริง ตอนนี้ก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว" วิโรจน์ฉายถึงมิติใหม่ที่เริ่มแทรกเข้าอย่างเงียบๆ
ในตลาดโบ้เบ้
แต่แน่ละ..! การที่ไทยจะเขยิบไปสู่เสี้ยววงโคจรที่ว่านี้ก็จะต้องมีคน มีเงิน
มิฉะนั้นถึงจุดหนึ่งก็ต้องตกจากเวทีธุรกิจการ์เม้นท์…!
สมาคมฯ ที่เคยแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับปัญหาโควตา หรือเพียงเสนอแนะว่ารัฐควรจะแก้ปัญหาอะไรอย่างไร
ดูจะไม่ทันการณ์เสียแล้วหากต้องอาศัยการลงมือทำด้วยตัวเอง โดยอาศัยแรงหนุนจากรัฐพร้อมกันไป
"เดี๋ยวนี้ต้องสู้ด้วยหลักการ และไม่ใช่ปิดกำแพงเล่นแต่ในประเทศ ถ้าปิดหูปิดตาทำแต่ของตัวเองก็ปิดเหมือนกัน
แต่ปิดโรงงาน" ชวลิตกล่าว
ตลาดการ์เม้นท์เป็นตลาดใหญ่ มีบริษัทใหญ่เล็กกระจัดกระจายอยู่มากมาย สมาคมฯ
จึงต้องใช้หลักว่าทำอย่างไรให้ทุกคนรวมกันแล้วได้ประโยชน์ซึ่งจะทำให้เกิดเอกภาพโดย
สมาชิกรายใหญ่ต้องจ่ายค่าบำรุงรายปีตามอัตราการผลิตมากกว่ารายเล็กเนื่องจากเมื่อได้ประโยชน์จะได้มากกว่า
แต่ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน
เงื่อนไขข้อหนึ่งที่ทำให้สมาคมฯ สามารถรวบรวมสมาชิกผู้ผลิตได้เป็นกลุ่มเป็นก้อน
ก็เพราะตลาดใหญ่อยู่ในต่างประเทศ คู่แข่งสำคัญก็คือผู้ผลิตในต่างประเทศ ไม่ใช่มาแย่งตลาดภายในกันเอง
ทำให้รวมตัวกันได้ และคึกคักกว่าองค์กรสิ่งทอทั้งหมด (โปรดดูตาราง "องค์กรสิ่งทอในประเทศไทย
7 แห่ง" และ "ผังโครงสร้างการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย")
"เราต่อไปอีกไม่ได้แล้ว" แหล่งข่าวหลายรายจากสมาคมฯ กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องลุกขึ้นช่วยตัวเองอย่างมีแผนล่วงหน้าและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น..!
สมาคมจึงเริ่มต้นด้วยการทำหนังสือของบพัฒนาบุคลากรพื้นฐานจากกองทุนการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการส่งออก
กระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่
"ขอครั้งแรกปี 2534 ได้มาประมาณ 6.2 ล้านบาท ซึ่งปกติจะใช้ในการวิจัยเสียส่วนใหญ่
แต่ไม่ได้ทำด้านพัฒนา คือ ทำแต่ RESEARCH แต่ไม่ได้ทำด้าน DEVELOPMENT"
แหล่งข่าวเล่าถึงที่มาของงบก้อนแรก
ด้วยงบประมาณนี้ ทางสมาคมได้จ้างศูนย์วิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
(นิด้า) ศึกษาการปรับปรุงวิธีการผลิต การบริหารโรงงานการ์เม้นท์ ทั้งด้านมาตรฐาน
ประสิทธิภาพ เทคโนโลยีและระบบจัดการ ตลอดจนพัฒนาคน พร้อมทั้งจ้างบริษัท KSA
หรือเคิร์ท ซาลมอนซึ่งเป็นบริษัทการ์เม้นท์ของสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงและสาขาอยู่ทั่วโลก
ช่วยสร้างครูฝึก เพื่อช่วยฝึกทักษะการตัดเย็บแบบ AAMT (ADVANCED ANALYTICAL
METHOD OF TRAINING)
ระบบนี้เป็นการฝึกความชำนาญทั่วไปที่จะใช้กับอุตสาหกรรมใดก็ได้ สำหรับงานตัดเย็บก็เป็นการฝึกให้รู้จักวิเคราะห์ขั้นตอนของงานการ์เม้นท์ชั้นสูงว่า
จะทำให้ได้ผลิตผลและประสิทธิภาพสูงสุดอย่างไร เช่น ถ้าจะเทรนให้ฝึกปะกระเป๋าเสื้อ
ก็ต้องดูว่าจะต้องมีการจัดวางชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวงานตรงไหนอย่างไร
ตั้งแต่เริ่มหยิบจนถึงเย็บกระเป๋าเสร็จว่าจะทำให้ได้เร็วและดีที่สุดนั้น
จะต้องวางชิ้นงานตรงไหน และหยิบงานส่วนไหนก่อน
"เป็นการฝึกครูฝึก ซึ่งทุกโรงงานควรมีครูฝึกแบบนี้อย่างน้อย 1 คน
ต้องรอบรู้ขนาดดูปั๊ปก็รู้ว่างานชิ้นนั้นใช้ได้หรือไม่" วิโรจน์เล่าถึงครูฝึกที่บรรดาโรงงานการ์เม้นท์ส่วนใหญ่ยังขาดอยู่
วิธีนี้จะเป็นการฝึกทั้งบริษัท แต่จะสอนไม่เหมือนกัน โดยให้แต่ละกลุ่มทำคนละหน้าที่
เช่น กลุ่มหนึ่งอาจจะเย็บกระเป๋าเสื้อ อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะติดกระดุมเสื้อ
เป็นต้น เป็นการฝึกให้ชำนาญเฉพาะส่วน พอทำสัก 5-6 เดือน ก็จะฝึกหน้าที่ใหม่เพื่อให้เป็น
MULTI WORKER
"ครูฝึกจะต้องวางแผนล่วงหน้าว่า จะให้คนงานทำอะไรบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบดีไซน์ของการ์เม้นท์
แต่ละล็อต แต่ละโรงงานด้วย" ชวลิตอธิบายถึงการฝึกทักษะที่ฮ่องกงใช้อยู่จนประสบความสำเร็จและเป็นส่วนที่ทำให้เหนือกว่าไทย
เพราะเป็นที่รู้กันว่า นอกเหนือจากเวลาที่จัดให้คนงานพักแล้ว เวลาที่คิดกันในโรงงานการ์เม้นท์เทียบความเร็วกันเป็นวินาทีทีเดียว
ความพยายามของสมาคมฯ ที่จะเป็นแกนนำในการพัฒนาบุคลากรในวงการสิ่งทอเพียงแค่นี้
ยังไม่เพียงพอ ปี 2535 สมาคมฯ จึงของบกองทุนฯ อีกครั้งหนึ่งเป็นมูลค่า 8.7
ล้านบาท เพื่อจัดโครงการร่วมกับองค์การฝึกอบรมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของฮ่องกงหรือ
CITA (CLOTHING INDUSTRY TRAINING AUTHORITY OF HONGKONG) เพื่อพัฒนาบุคลากรและตั้งศูนย์ฝึกอบรม
โดยแยกเป็นงบค่าวิจัย 2.2 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาฝึกอบรม 12 หลักสูตร
6.5 ล้านบาท
ในส่วนของการวิจัยโดยนิด้าพบว่า การ์เม้นท์มีประเด็นปัญหาที่จะต้องปรับแก้และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการบริหารการผลิต
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งกับตลาดโลกทั้งในเรื่องของการส่งมอบสินค้าและแหล่งแรงงาน
ถ้าเปรียบเทียบการระยะเวลาส่งมอบสินค้าไทยต้องใช้นานถึง 4-5 เดือนกว่าที่ออเดอร์จะถึงมือลูกค้า
ขณะที่ฮ่องกงจะใช้เวลาเพียง 6-10 สัปดาห์เท่านั้น จึงเข้าถึงตลาดได้มากกว่า
เพราะจะทำให้ตอบสนองตลาดแฟชั่นซึ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และทำให้ค่าใช้จ่ายถูกกว่า
สำหรับแหล่งแรงงาน เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ไม่ใช่แหล่งกำเนิดแรงงานโดยตรง
ซึ่งไม่เพียงแต่ค่าแรงจะแพงกว่าในต่างจังหวัด แต่ยังต้องแย่งแรงงานกันเองด้วย
จึงต้องพยายามหาทางย้ายโรงงานไปยังแหล่งแรงงานโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัดหรือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
"เราจะสรุปข้อมูลและทางออกที่เป็นไปได้ว่าควรจะย้ายไปที่ไหนบ้านในต้นปีหน้านี้"
แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกล่าวถึงช่วงเวลาที่จะสรุปผลวิจัยขั้นสุดท้าย
"แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและต้องรีบทำเร่งด่วนที่สุด คือ การจัดโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร"
วิโรจน์และชวลิตจี้ถึงปัญหาที่จะต้องเริ่มลงมือเพื่อรับกับสงครามการค้าการ์เม้นท์ในอนาคตที่มีแต่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
"โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาช่างเย็บในส่วนภูมิภาค"
จึงเกิดขึ้น เพื่อฝึกและพัฒนาทักษะการเย็บเบื้องต้น รวมทั้งนิสัยและความเคยชินที่จะทำงานในสายการผลิตของโรงงานได้ทันทีและกลมกลืน
โดยกำหนดเปิดให้ได้ 6 ศูนย์ที่พบว่ามีความเป็นไปได้ใน 2 พื้นที่ก่อน คือ
ภาคเหนือ จะให้การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์เป็นแกน
พื้นที่ที่สองคือภาคอีสาน มีอาชีวะขอนแก่น โรงเรียนสารพัดช่างชัยภูมิและขอนแก่นเป็นแกน
"อันนี้เป็นการประสานกับทางกระทรวงศึกษา ซึ่งได้รับความสนับสนุนอย่างดี
และการที่เรากระจายไปตามสถาบันต่างๆ กัน เพราะต่างก็มีจุดแข็งจุดอ่อนของตัว
อย่าง กศน. มีจุดแข็งที่มีองค์กรอยู่ทั่วไปในชนบท ทำให้ดึงแรงงานได้ดีกว่า
ส่วนอาชีวะจะมีความชำนาญหลักสูตรระยะสั้น เราเลยทำกับ กศน. 2 แห่ง อาชีวะ
2 แห่ง และกับสารพัดช่าง 2 แห่ง" แหล่งข่าวจากสมาคมฯ ยกเหตุผลที่จำเป็นต้องกระจายและประสานการสอนที่ต่างกัน
ที่พร้อมแล้วในขณะนี้มี 2 ศูนย์ คือ สารพัดช่างที่โคราชกับขอนแก่น โดยจะเปิดเป็นชุดแรกในเดือนมกราคมปีหน้า
"เราจะลงทุนโดยได้งบ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงจากราชการจ่ายให้ครูผู้สอน
ถ้าเปิด 4 รุ่นก็จะได้ไปประมาณแสนบาท ถือเป็นงบช่างเร่งรัด อีกส่วนหนึ่งเราจะได้จากโรงงานที่จะให้ไว้เป็นทุนหมุนเวียนของศูนย์
ศูนย์ละ 3 หมื่นบาท" แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมฯ เล่าถึงการจัดสรรงบ
โดยในหนึ่งศูนย์ ถ้ามีสองโรงงานที่ร่วมกันก็จ่ายคนละครึ่ง และตอนแรกจะกำหนดไว้ให้ร่วมได้ไม่เกินสองโรงงาน
เพราะระยะแรกจะมีรุ่นละ 15 คน ก็แบ่งกันโรงงานละ 7 หรือ 8 คน และโรงงานจะเข้าร่วมกับศูนย์ควรจะเป็นโรงงานประเภทเดียวกัน
ส่วนบางจังหวัด เช่น พิจิตร พิษณุโลกที่ยังไม่มีโรงงานในพื้นที่ เมื่อสอนเสร็จแรงงานเหล่านี้ก็ต้องเข้าสู่กรุงเทพฯ
ไปก่อน
"เราเชื่อว่าเมื่อมีแรงงานของจังหวัดใด มารวมกันในโรงงานกรุงเทพฯ
มากถึงจำนวนหนึ่งแล้วก็จะกลายเป็นแรงผลักสำคัญที่จะทำให้โรงงานนั้นย้ายโรงงานไปสู่ต่างจังหวัด"
แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมฯ พูดถึงการวางฐานที่หวังผลระยะยาวอันจะช่วยกระตุ้นให้รัฐช่วยเอื้อความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภคในพื้นที่นั้นได้เร็วยิ่งขึ้น
เพราะธุรกิจมิใช่ขึ้นกับค่าแรงอย่างเดียว
สำหรับคนที่เข้ารับการฝึก จะต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ต้องอยู่ในหอพักศูนย์ตลอดเวลา
6 สัปดาห์ เพื่อให้คุ้นชินกับชีวิตทำงานในโรงงาน และสร้างความมั่นใจว่าเมื่อฝึกเสร็จแล้วมีงานทำแน่
และมีทักษะที่จะเข้าทำงานได้ประมาณ 50% ของผู้มีความชำนาญแล้ว
ส่วนค่าใช้จ่ายในการฝึก อาหารและที่พัก ประมาณ 2,500 บาทต่อคนต่อคอร์ส
ทางโรงงานจะออกให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือ 1,250 บาทโรงงานจะหักคืนในหนึ่งปีนับจากวันเริ่มเข้าทำงาน
"ใน 3 ปี เราจะทำทั่วประเทศ พร้อมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีให้ประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด
เห็นถึงความสำคัญของการ์เม้นท์และเป้าหมาย 2 แสนล้านบาทในปี 2540 ตามที่กรรมการพัฒนาส่งเสริมการส่งออก
มีรองนายกบุญชู (โรจนเสถียร) เห็นชอบแล้ว เพื่อร่วมสร้างความสำเร็จร่วมกัน"
ชวลิตวาดภาพฝันที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้
"เมื่อเราทำได้ เราจะมีแรงงานฝีมือเพิ่มปีละประมาณ 400-500 คน"
ขณะที่วิโรจน์เสริมว่า การที่จะไปสู่เป้าหมาย 2 แสนล้านบาทดังกล่าวนั้น
จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีก 50% ของปัจจุบัน และไม่มุ่งเฉพาะประเทศที่มีโควตาอย่างเดียวแต่จะต้องรุกไปสู่ตลาดนอกโควตามากขึ้น
พร้อมทั้งเดินหน้าแผนพัฒนาบุคลากรระดับจัดการ ช่างเทคนิค ช่างฝีมือมากขึ้น
ทว่า…เริ่มต้นมาได้ 2 ปี ฝันที่วาดไว้ก็จะดูรางเลือน เมื่อปีนี้สมาคมฯ
ไม่ได้งบจากองทุนฯ อีกเพราะบอกว่าให้ไปเยอะแล้ว ขณะที่ฮ่องกงเขาขอกันปีละ
100 กว่าล้านบาท
"งานนี้ไม่ใช่ทำแค่ปีสองปีแล้วได้ผล ต้องต่อเนื่อง อย่างน้อยต้องทำกัน
6-7 ยกเลยไปหารือกับอธิบดีจเรและรัฐมนตรีอุทัย ก็คุยกันว่าให้ตั้งมูลนิธิ
ทางกระทรวงพาณิชย์เลยเอาโควตากองกลางส่วนหนึ่งให้สมาคมฯ ตอนแรกจะใช้วิธีประมูลก็กลัวว่าจะทำให้ต้นทุนสูง
แข่งลำบาก จึงขอใช้วิธีจับสลาก ใครที่ได้โควตาไป ก็ต้องจ่าย 1 ใน 2 หรือ
1 ใน 3 ของราคาตลาด ก็ประมาณ 30-50% ของราคาตลาด" วิโรจน์เล่าถึงทางออกใหม่
คิดเป็นตัวเงินก็ประมาณ 2-4 เหรียญต่อหน่วย ปริมาณที่คิดหน่วยเป็นโหลหรือเป็นชิ้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโควต้าของประเทศไหน
ถ้าเป็นของสหรัฐฯ ก็จัดสรรเป็นโหลแล้วแต่รายการที่จัดสรร ของทางแคนาดาก็เป็นชิ้น
"ถือว่าเป็นความอนุเคราะห์ของทางพาณิชย์ด้วย เพราะปกติโควต้างกองกลางซึ่งเป็นโควตาส่วนที่เหลือจากการปรับโควตาหลัก
(ปริมาณที่ส่งออกตามหลักเกณฑ์ได้ครบถ้วน) ที่เขาจะเป็นคนจัดสรรนั้นเมื่อให้สมาคมฯ
มาจับสลาก คนที่ต้องการโควตาแล้วจับสลากได้ก็ต้องจ่ายเป็นเงินบริจาคเป็นทุนของมูลนิธิฯ"
แหล่งข่าวระดับสูงอีกรายหนึ่งอธิบายถึงวิธีก่อตั้งมูลนิธิฯ โดยให้มีทุนรอนของตัวเองเพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรตามแผนได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งตอนนี้มีแล้วประมาณ 16 ล้านบาทเศษเป็นเงินบริจาคเป็นทุนของมูลนิธิ
จากความจำเป็นที่ทำให้สมาคมฯ ต้องปรับตัวในบทบาทตัวเองใหม่ ด้วยการเดินหน้าชี้นำรัฐมากขึ้น
แทนที่จะเป็นแค่ที่ปรึกษาเจรจาโควตาเป็นครั้งครา สมาคมฯ จึงต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่
"เพราะตัวสมาคมฯ เองไม่ค่อยมีเงิน ได้จากการแสดงสินค้าส่งออกครั้งหนึ่งก็
2 ล้านบาท กำไรจากการทำวารสารอีก 1 ล้านบาท และจากการจัดสัมมนาอีกบางส่วน
ทำให้จัดแผนพัฒนาต่อเนื่องได้ลำบาก" แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมฯ สะท้อนถึงปัญหาที่ทำให้สมาคมฯ
ต้องปรับยุทธศาสตร ์และกลยุทธ์ใหม่ด้วยการจัดตั้ง "มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย"
เป็นองค์กรใหม่แยกจากสมาคมฯ ขึ้นมาต่างหาก เพื่อบริหารงานการพัฒนาบุคลากรธุรกิจการ์เม้นท์โดยเฉพาะ
ซึ่งจะเหมือนมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์หรือเพื่อการกุศล และจะต้องผ่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและกระทรวงมหาดไทย
เพื่อพิสูจน์ว่าจะเป็นองค์กรที่ไม่ขัดวัฒนธรรมอันดีของไทยและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ตามขั้นตอนกว่าจะได้รับอนุมัติจะใช้เวลา 6 เดือน ขณะที่วิโรจน์มองว่าถ้าใช้เวลาสักเดือนหรือเดือนครึ่ง
ก็จะช่วยงานของธุรกิจการ์เม้นท์ได้มาก
จากนั้นจะเป็นมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ต้องพิสูจน์และดูประวัติกันถึง
3 ปี มิฉะนั้นผู้บริจาคจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษี ถ้าไม่ใช่มูลนิธิเพื่อการกุศล
แม้จะออกใบเสร็จ ก็หักภาษีไม่ได้อยู่ดี
วิโรจน์เห็นว่าการใช้เวลาขนาดนี้ นานเกินไปและจะไม่ทันต่อแผนงานที่มีอยู่
เพราะต้องพิสูจน์ว่าค่าใช้จ่ายของมูลนิธิจะต้องใช้เพื่อการกุศล โดยปีแรกจะต้องไม่น้อยกว่า
65% ของค่าใช้จ่ายทั้งปีและในรอบ 3 ปีจะต้องไม่น้อยกว่า 75% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
และเมื่อเฉลี่ยในรอบ 3 ปีแล้ว จะต้องใช้ไปเพื่อสาธารณประโยชน์ไม่น้อยกว่า
65% ของรายรับทั้งหมด
"ถ้ารอถึง 3 ปี จะเอาใครมาบริจาค" วิโรจน์ชี้ถึงข้อติดขัดจากกลไกรัฐ
"สมาคมฯ จึงอยากให้ได้เหมือนมูลนิธิที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)
ซึ่งไม่ต้องรอถึง 3 ปี" เพราะได้เงื่อนไขพิเศษที่ให้ตั้งขึ้นเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์พฤษภาโหดเมื่อปีที่แล้ว
ขณะที่สมาคมฯ ก็เป็นสมาชิกของ สอท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศ วิโรจน์จึงชี้ว่า
มูลนิธิฯ ของสมาคมฯ ก็น่าจะได้รับจัดตั้งเป็นกรณีพิเศษเช่นกันและถ้าใน 3
ปี มูลนิธิฯ ไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของรัฐ ก็อาจจะปรับหรือใช้บทลงโทษอย่างใดก็ได้เพราะมูลนิธิฯ
ที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับแผนพัฒนาช่างสำหรับธุรกิจการ์เม้นท์โดยเฉพาะ ไม่ต่างจากมูลนิธิของ
สอท. ที่มุ่งด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ
"ของเราดูเผินๆ เหมือนไม่เร่งด่วน แต่ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ รออีก
3 ปี ถึงวันนั้นเราคงไม่มีเวลาอีกแล้ว" แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งสะท้อนภาวะธุรกิจสิ่งทอที่เริ่มถูกต้อนเข้ามุมอับเข้าทุกนาที
"รอไม่ได้อีกแล้ว" นั่นคือสิ่งที่คนในวงการการ์เม้นท์สะท้อนเป็นหนึ่งเดียว
เพราะถ้าธุรกิจการ์เม้นท์พัง แรงงานเฉพาะในส่วนของการ์เม้นท์ที่มีอยู่กว่า
8 แสนคนจากแรงงานล้านคนเศษของสิ่งทอทั้งระบบก็คงป่วนไปด้วย มิพักต้องพูดถึงเป้าส่งออก
2 แสนล้านในปี 2540
งานนี้เห็นทีกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามาร่วมเป็นกำลังผลักดันอีกครั้งหนึ่งตามสโลแกนที่ทางรัฐบาลมักพูดอยู่เสมอว่า
ต่อไปเอกชนจะต้องเป็นตัวนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและรัฐบาลเป็นหน่วยเสริมไปสู่ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและเป้าหมายที่ดีของสังคมร่วมกัน
สมาคมฯ เริ่มเปิดฉากนำรัฐแล้ว รอแต่รัฐที่จะต้องตามกันให้ทันเท่านั้น..!