Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2536
"ยูนิเวสท์ อาณาจักรสามหมื่นล้าน"             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 

 
Charts & Figures

โครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง บ. สยามนำโชค
โครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง บ. ยูนิเวสกรุ๊ป
บริษัทในเครือข่ายของกลุ่มยูนิเวสท์+งบการเงินปีล่าสุด


   
search resources

ยูนิเวสท์แลนด์
ธาตรี บุญดีเจริญ




ยูนิเวสท์กรุ๊ปเป็นกลุ่มบริษัทพัฒนาที่ดินนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่บริษัทหนึ่ง และเมื่อจู่ๆ ธาตรี บุญดีเจริญ ผู้กุมบังเหียนคนสำคัญเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทสยามนำโชคซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วจากกลุ่มซีพี จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 63% และมีแผนการที่จะผ่องถ่ายทางด้านการเงิน กำลังคน และทรัพย์สินของยูนิเวสท์เองเข้าไปรวมกับสยามนำโชคด้วยนั้น นับเป็นการปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจครั้งใหญ่ที่ฮึกเหิมและยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัวนัก

ธาตรี บุญดีเจริญ กรรมการผู้จัดการของยูนิเวสท์เคยกล่าวเอาไว้ เมื่อสองปีที่แล้วว่า ยูนิเวสท์ จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ด้วยตัวเอง ซึ่งหมายถึงการยื่นขอเข้าตลาดในนามของยูนิเวสท์เอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยวิธีการแบบแบ็คดอร์ลิสติ้ง ด้วยการเข้าไปซื้อกิจการของกิจการอื่นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว เพราะยูนิเวสท์ใหญ่และเป็น "ของจริง" พอที่จะเดินเข้าตลาดฯ เองได้

ในตอนนั้นเขากล่าวว่า กำลังศึกษาดูว่าจะเข้าตลาดฯ ในรูปแบบไหน เพราะจะต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัทในเครือ และจัดระเบียบสินทรัพย์ให้เรียบร้อย ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอนประมาณปลายปี 2535

เวลาเปลี่ยน ความคิดและวิธีการก็เปลี่ยนไปด้วย จากวันนั้นถึงวันนี้สองปีพอดิบพอดี ยูนิเวสท์ก็แปลงโฉมเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อย

ไม่ใช่การเข้าด้วยตัวเองอย่างที่ธาตรีเคยแสดงความตั้งใจไว้ แต่เป็นการเดินทางลัดด้วยการซื้อหุ้นของบริษัทสยามนำโชคที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

วันที่ 20 ตุลาคม 2536 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้อนุญาตให้บริษัทยูนิเวสท์ เรียลเอสเตท และบริษัทวิสต้า เรียลตี้ ทำการซื้อหุ้น 31.56% ของทุนจดทะเบียน 450 ล้านบาทของบริษัทสยามนำโชค คิดเป็นจำนวนหุ้น 14.2 ล้านหุ้น จากกลุ่มซีพีซึ่งกระจายการถือครองหุ้นไว้ในนามของตระกูลเจียรวนนท์และผู้บริหารคนอื่นๆ รวม 31 ราย

ราคาหุ้นสยามนำโชคที่ยูนิเวสท์ซื้อจากซีพีราคาหุ้นละ 160 บาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 2,272 ล้านบาท

กลุ่มยูนิเวสท์ถือหุ้นสยามนำโชคอยู่แล้ว ในชื่อยูนิเวสท์ พร็อพเพอร์ตี้และยูนิเวสท์โฮลดิ้งในสัดส่วน 31.5% เท่ากับทางซีพี การซื้อหุ้นเพิ่มครั้งนี้จึงทำให้กลุ่มยูนิเวสท์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของสยามนำโชคด้วยสัดส่วน 63%

ซีพีเองยังมีหุ้นอยู่ในสยามนำโชคอีกราวๆ 20% โดยถือผ่านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ชื่อว่า "ฟอร์จูนฮ่องกง" เป็นบริษัทพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน ที่ทางยูนิเวสท์ก็เข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วย แต่ได้ขายหุ้นคืนให้กับทางซีพีในเวลาไล่เรี่ยกับการซื้อขายหุ้นสยามนำโชค

"จริงๆ แล้ว ยูนิเวสท์จะเข้าเองก็ได้ แต่เมื่อเข้าไปแล้วเราก็จะมีบริษัท 3 บริษัทในตลาดที่ทำกิจการด้านที่ดิน และแต่ละบริษัทก็จะเป็นระดับกลางไม่ใช่ระดับใหญ่เลย" ธาตรีเริ่มต้นอธิบายถึงแนวความคิดเบื้องต้นในการนำยูนิเวสท์เข้าตลาดทางลัดแบบนี้

3 บริษัทที่เขาพูดถึงก็คือ สยามนำโชคที่อยู่ในคลาดหลักทรัพย์แล้ว ยูนิเวสท์ที่มีแผนจะเข้า และซีพีแลนด์ของทางซีพีที่มีโครงการจะเข้าตลาดหลักทรัพย์มานานแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการเสียที เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาการซ้ำซ้อนของผู้ถือหุ้นกับสยามนำโชค ซึ่งทั้ง 3 รายนี้ต่างก็อยู่ในเครือของ "เรา" คือพันธมิตรธุรกิจยูนิเวสท์-ซีพี

แนวความคิดของธาตรีนั้นมีอยู่ว่า ถ้ายูนิเวสท์เข้าตลาดไปแล้ว ก็น่าจะเข้าไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่เลย ไม่ใช่เป็นกิจการระดับกลางๆ วิธีที่ดีที่สุดจึงเป็นการเอายูนิเวสท์เข้าไปรวมกับสยามนำโชค ซึ่งจะทำให้ขนาดของกิจการโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดทันตาเห็น

เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ยูนิเวสท์ไม่ยื่นเข้าตลาดด้วยตัวเอง ก็เพราะปัญหาความซ้ำซ้อนของผู้ถือหุ้น เนื่องจากยูนิเวสท์เองก็ถือหุ้นอยู่ในสยามนำโชคแล้ว ตัวธาตรีและวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ กรรมการอีกคนหนึ่งของยูนิเวสท์ก็เป็นกรรมการของสยามนำโชคด้วยเช่นกัน กิจการของทั้งสองบริษัทก็เป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน ซึ่งในหลักการของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (CONFLICT OF INTEREST) ที่จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยได้

"เราไม่แน่ใจว่า ถ้ายูนิเวสท์เข้าตลาดฯ เองจะโดนแบบซีพีแลนด์หรือเปล่า ซึ่งโดนบล็อคมา 2 ปี แล้วเดินหน้าไม่ได้สักที เราไม่ต้องการให้ยูนิเวสท์โดนแบบนั้น เพราะจะทำให้ขยายตัวลำบาก ภาพพจน์ก็เสีย ก็เลยคิดกันว่า ต้องเคลียร์ตัวนี้ให้ กลต. เข้าใจว่า เราไม่จับปลาสองมือ" ธาตรีอธิบาย

พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นและการบริหารของสยามนำโชคชัดเจนลงไปเลยว่าเป็นของยูนิเวสท์หรือเป็นของซีพี หากเป็นของยูนิเวสท์ ทางกลุ่มซีพีก็สามาถเอาซีพีแลนด์เข้าตลาดได้โดยไม่มีปัญหาความซ้ำซ้อนของผู้ถือหุ้น ถ้าซีพีจะเอาไว้เอง ยูนิเวสท์ก็เข้าตลาดด้วยตัวเองได้สะดวกขึ้นเช่นกัน

"เรื่องภาษีเป็นประเด็นหลักเลยที่ตัดสินว่า ยูนิเวสท์ต้องเข้าไปซื้อหุ้นของสยามนำโชค" กรรมการผู้จัดการกลุ่มยูนิเวสท์เปิดเผยปมเงื่อนสำคัญอีกข้อหนึ่ง

ธาตรีระบุว่า หุ้น 31.5% ที่ยูนิเวสท์ถืออยู่ในสยามนำโชคนั้น มีต้นทุนเฉลี่ยเพียงหุ้นละ 20 บาทเท่านั้น หากเขาเป็นฝ่ายขายหุ้นสยามนำโชคให้กับทางซีพี ในราคา 160 บาทต่อหุ้น ก็จะมีกำไรถึง 2,000 กว่าล้านบาท แต่ทางยูนิเวสท์จะต้องเสียภาษีเงินได้ทันทีถึง 700 ล้านบาท

และเมื่อขายหุ้นสยามนำโชคไปแล้ว ก่อนที่ยูนิเวสท์จะยื่นเรื่องเข้าตลาดฯ เอง ก็จะต้องปรับโครงสร้างการถือหุ้นและสินทรัพย์ของบริษัทในเครือให้อยู่ในหลักเกณฑ์ของ กลต. ธาตรีคำนวณคร่าวๆ ว่า การผนวกกิจการนี้จะต้องเสียภาษีให้รัฐอีกประมาณ 300 ล้านบาท

รวมกับเงินภาษีเงินได้แล้ว ก็เป็นจำนวนเงินภาษีถึง 1,000 ล้านบาทที่จะต้องควักกระเป๋าจ่ายออกไป

"ภาษี 1,000 ล้านบาท แค่คิดผมก็เป็นลมแล้ว ก็เลยต้องเอามาทำเอง" ธาตรีกล่าว

เงินที่ยูนิเวสท์จ่ายเป็นค่าซื้อหุ้น 2,200 กว่าล้านบาท เมื่อคิดถึงภาษีที่ต้องเสียหากเป็นฝ่ายขายหุ้นสยามนำโชคเสียเอง ก็เท่ากับเสียไปเพียง 1,000 กว่าล้านบาท เทียบกับสินทรัพย์ร่วม 1,000 กว่าล้านบาทของสยามนำโชค และความเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แล้ว นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่หาไม่ได้ง่ายๆ อีกแล้ว

ทางฝ่ายผู้ขายคือกลุ่มซีพีนั้น ไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากการซื้อขายหุ้นแต่อย่างไร เพราะถือหุ้นอยู่ในนามบุคคลธรรมดา

ความจำเป็นอีกประการหนึ่งที่ยูนิเวสท์และกลุ่มซีพีต้องซื้อของหุ้นในสยามนำโชคครั้งนี้ ก็เพื่อกำหนดเส้นทางเดินในสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสองพันธมิตรตามความถนัดของแต่ละฝ่าย โดยยูนิเวสท์จะถอนตัวออกจากโครงการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่จีน หันมาดูแลโครงการในไทย เพราะส่วนใหญ่โครงการจะอยู่ในประเทศและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด

ส่วนซีพีก็จะหันไปทุ่มเทให้กับโครงการในจีนเพียงด้านเดียว เพราะมีเครือข่ายรวมทั้งเงินทุนที่พร้อมต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ๆ กินเวลานานมากกว่า

การที่ยูนิเวสท์ซื้อหุ้นสยามนำโชคจากซีพีและขายหุ้นในฟอร์จูนฮ่องกงที่เป็นเจ้าของโครงการในเซี่ยงไฮ้และกวางเจาคืนให้ซีพี คือความลงตัวของการแบ่งธุรกิจกันตามความถนัดของพันธมิตรคู่นี้

สองพี่น้องตระกูลบุญดีเจริญ-ธาตรีผู้น้องและโยธินผู้พี่-ใช้เวลา 10 ปีในการสร้างยูนิเวสท์ให้เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นบริษัทแนวหน้าในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

โยธินและธาตรีเป็นลูกชายของเจริญ บุญดีเจริญ ซึ่งมีลูกรวม 10 คน เจริญเป็นพี่ชายของศิริวรรณ ภรรยาของมงคล กาญจนพาสน์แห่งกลุ่มเมืองทอง ทั้งโยธินและธาตรีจึงเกี่ยวดองเป็นลูกพี่ ลูกน้องกับอนันต์และคีรี รวมทั้งทายาทตระกูลกาญจนพาสน์คนอื่นๆ

ความเป็นเครือญาติกับกาญจนพาสน์ทำให้เจริญและลูกๆ 3 คนคือ โยธิน ธาตรีและอุทัยมีส่วนในการช่วยบริหารงานในธุรกิจที่ดินของกลุ่มเมืองทองตั้งแต่เริ่มแรก ปี 2509 มงคลซึ่งก่อนหน้านั้นยังทำธุรกิจนาฬิกาเป็นหลักอยู่ ตัดสินใจขยายกิจการเข้ามาในธุรกิจบ้านและที่ดิน จึงได้ร่วมทุนกับชวน รัตนรักษ์แห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผู้ล่วงลับไปแล้ว กับยรรยง ตั้งจิตนพ ก่อตั้งบริษัทพัฒนาที่ดินขึ้นมาได้แก่ บริษัทรวมมิตรวิศวกรรม สหกรุงเทพพัฒนา สินพรชัย ยูนิโก้และสยามประชาคาร

โครงการแรกของกลุ่มนี้คือหมู่บ้านชลนิเวศน์ ดำเนินงานโดยบริษัทสหกรุงเทพพัฒนา ซึ่งใช้เวลาพัฒนาโครงการตั้งแต่ปี 2510 และเปิดขายได้ในปี 2513 ในปีเดียวกันนั้นเองโครงการที่สองก็เริ่มต้นขึ้น โดยบริษัทรวมมิตรวิศวกรรมเป็นผู้พัฒนาที่ดินจำนวน 800 ไร่ ริมบึงสีกัน ถนนแจ้งวัฒนะที่กลุ่มเมืองทองประมูลได้จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2510-2511 ในราคาเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น โครงการนี้ก็คือหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1

ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากมงคลให้รับผิดชอบโครงการนี้ก็คือโยธิน ลูกชายคนหัวปีของเจริญ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเรียนจบด้านการบริหารธุรกิจกลับมาจากฮ่องกงสดๆ ร้อนๆ

กลุ่มของชวนและยรรยงแยกตัวออกจากกลุ่มเมืองทองในปี 2514 พร้อมกับการแบ่งทรัพย์สินออกไปด้วย ส่วนที่เป็นของกลุ่มเมืองทองคือบริษัทสหกรุงเทพพัฒนา สินพรชัย และรวมมิตรวิศวกรรม ส่วนยูนิโก้และสยามประชาคารเป็นของชวนกับยรรยง

หลังการแบ่งแยกทรัพย์สินตระกูลบุญดีเจริญ กลายเป็นกำลังหลักในการผลักดันธุรกิจพัฒนาที่ดินของกลุ่มเมืองทอง โดยเจริญผู้พ่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทสหกรุงเทพพัฒนาและสินพรชัย ซึ่งจะเน้นการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าเป็นด้านหลัก ผลงานที่เจริญฝากเอาไว้คือศูนย์การค้ามเหสักข์และศูนย์การค้าเมโทร ในนามของสินพรชัย และศูนย์การค้าบางกอกบาร์ซาร์ซึ่งเป็นโครงการของสหกรุงเทพพัฒนา

ส่วนโยธินรับผิดชอบเต็มตัวในฐานะผู้จัดการใหญ่บริษัทรวมมิตรวิศวกรรม

ปี 2516 บริษัทบางกอกแลนด์ได้เกิดขึ้น โดยรับทรัพย์สินส่วนที่เหลือในโครงการหมู่บ้านชลนิเวศน์จากสหกรุงเทพพัฒนา และเมืองทอง 1 จากรวมมิตรวิศวกรรม เพื่อให้บางกอกแลนด์เป็นหัวหอกในการพัฒนาโครงการประเภทที่อยู่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียว หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์รุ่นต่อๆ มาคือ เมืองทอง 2, 3 และ 4 เป็นผลงานของบางกอกแลนด์ ซึ่งผู้บริหารก็คือ โยธินนั่นเอง

สำหรับมงคลนั้นช่วงปี 2516-2521 เขาหลบไปอยู่ที่ฮ่องกงเพราะความไม่แน่ใจต่อสถานการณ์การเมืองในไทยและอินโดจีน พ่อลูกตระกูลบุญดีเจริญจึงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารโครงการบ้านและที่ดินในไทย โดยมงคลนั่งบัญชาการกำหนดทิศทางหลักอยู่ที่ฮ่องกง

นอกจากโยธินแล้ว ลูกๆ ของเจริญอีก 2 คนก็เข้ามาช่วยงานในกลุ่มเมืองทองด้วยคือธาตรี เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง และอุทัยเป็นผู้จัดการฝ่ายออกแบบ

ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มเมืองทองในธุรกิจพัฒนาที่ดินในทุกวันนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีรากฐานสำคัญมาจากฝีไม้ลายมือของตระกูลบุญดีเจริญ

แต่ในขณะเดียวกันประสบการณ์ที่โยธินและธาตรีได้จากเมืองทอง รวมทั้งสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ก็เป็นหน่ออ่อนที่เติบโตแกร่งกล้าขึ้นเป็นยูนิเวสท์ในปัจจุบัน


หลังจากการเสียชีวิตของเจริญในปี 2522 ก็ถึงเวลาที่พี่น้องตระกูลบุญดีเจริญจะโบยบิน ออกจากอาณาจักรกาญจนพาสน์ออกไปสร้างรังของตัวเอง

ความจริงแล้ว ก่อนหน้านั้นในปี 2517 ครอบครัวบุญดีเจริญได้ก่อสร้างโครงการศูนย์การค้าหลักสี่ขึ้นมาเอง ในนามบริษัทเจริญและเพื่อน คนที่เป็นกำลังสำคัญของธุรกิจครอบครัวชิ้นนี้ก็คือธาตรีนั่นเอง

ธาตรีเป็นคนแรกที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มเมืองทองหลังการเสียชีวิตของพ่อ โดยออกมาตั้งบริษัทยูนิเวสท์เมื่อปี 2523 ร่วมกับวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บุรินทร์ วงศ์สงวน พิชัย วาศนาส่ง และโยธิน

ตัวโยธินเองนั้น ออกจากเมืองทองมาร่วมกับยูนิเวสท์จริงๆ จังๆ ในปี 2524 เขาบอกกับคนใกล้ชิดว่า คนเราเป็นลูกจ้างไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องเติบโตบนลำแข้งของตัวเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการถอนตัวออกไปของพี่น้องบุญดีเจริญ ความเคลื่อนไหวในเรื่องธุรกิจที่ดินของกลุ่มเมืองทองหยุดชะงักลง มงคลส่งลูกชาย-สาครเข้ามารับช่วงต่อจากโยธิน แต่ก็ไม่มีโครงการใหม่ๆ ออกมา จนกระทั่งอีก 6-7 ปีให้หลังในยุคที่ที่ดินบูม กลุ่มเมืองทองจึงขยับตัวอีกครั้งอย่างครึกโครม ภายใต้การนำของสองพี่น้องกาญจนพาสน์ อนันต์และคีรี

โครงการแรกของยูนิเวสท์ก็คือ อาคารยูนิเวสท์ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ราชดำริ ที่ดิน 2 ไร่เศษผืนนี้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่อยู่ในพื้นที่ที่ให้บริษัทสหกรุงเทพพัฒนาเช่าทำเป็นศูนย์การค้าบางกอกบาร์ซาร์ ยูนิเวสท์ขอรับช่วงสิทธิ์ในการเช่าต่อจากสหกรุงเทพพัฒนาและนำไปต่อสัญญาเช่ากับทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ใหม่เป็นเวลา 30 ปี

ห้างสรรพสินค้าโรบินสันในตอนนั้นมีเฉพาะที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพียงที่เดียว ทางเจ้าของคือมานิต อุดมคุณธรรมกำลังหาพื้นที่ขยายกิจการ เมื่อมีโอกาสได้พบกัน ธาตรีจึงชักชวนให้มานิตมาซื้อพื้นที่อาคารยูนิเวสท์เป็นที่ตั้งของโรบินสัน ราชดำริ ซึ่งมีจุดขายคือลิฟต์แก้ว 2 ตัว

"เราเป็นรายแรกๆ ที่ทำลิฟต์แก้ว" ธาตรีกล่าวอย่างภูมิใจ

การดึงโรบินสันเข้าไปอยู่ในอาคารยูนิเวสท์ได้สำเร็จนั้น นับได้ว่าเป็นกรณีแรกของการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าที่ไม่ต้องลงทุนสร้างอาคารขึ้นมาเอง เหมือนอย่างที่กลุ่มเซ็นทรัลทำกันมา ทำให้ทางห้างไม่ต้องลงทุนสูงในการหาที่ดินและการก่อสร้างอาคาร

ส่วนตัวเจ้าของอาคาร สิ่งที่ได้ก็คือใช้ห้างสรรพสินค้าเป็นจุดขายในการขายพื้นที่ได้ด้วย
แนวความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาโครงการเรียลเอสเตทเช่นนี้ นับได้ว่าเป็นจุดแข็งที่มีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จของกลุ่มยูนิเวสท์เรื่อยมา

โครงการเมืองเอก 1 ที่รังสิต ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่โครงการแรกของยูนิเวสท์ คืออีกตัวอย่างหนึ่งของการแสวงหาความแปลกใหม่มาพัฒนาเป็นจุดขายของโครงการ

ที่ดิน 2,000 ไร่ที่เมืองเอก ยูนิเวสท์ซื้อยกแปลงมาจากวิชัย มาลีนนท์แห่งช่อง 3 เมื่อประมาณปี 2524-2525 จุดเด่นของโครงการคือ มีการขุดคลองเข้าไปในบริเวณพื้นที่ที่จะสร้างบ้าน ทำให้เกิดเป็นภูมิทัศน์ที่สวยงาม และแปลกใหม่จากโครงการบ้านทั่วๆ ไปในขณะนั้น

"ผมไปดูที่ฮอลแลนด์มา" ธาตรีพูดถึงที่มาของคอนเซ็ปต์โครงการเมืองเอก 1

สิ่งที่นับว่าใหม่มากๆ สำหรับรูปแบบโครงการบ้านในระยะนั้นคือ การสร้างสนามกอล์ฟในหมู่บ้านซึ่งในขณะนั้นธุรกิจสนามกอล์ฟยังไม่เฟื่องฟู การสร้างสนามกอล์ฟขึ้นมาขายสมาชิกจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

"แห่งแรกที่ทำคือนวธานี แต่ลักษณะของนวฯ จะเป็นสนามกอล์ฟที่ติดบ้านเลย เรายอมเสียพื้นที่ขายจาก 2 พันไร่เหลือเพียงพันไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับสาธารณูปโภคและสนามกอล์ฟ" ธาตรีกล่าว

คอนเซ็ปต์การสร้างสนามกอล์ฟในหมู่บ้านแล้วขายสิทธิการเป็นสมาชิกควบไปกับขายที่ดินและบ้านของเมืองเอก กลายเป็นต้นแบบที่หลายๆ โครงการเอาอย่างตามในปัจจุบัน

ต่อจากโครงการเมืองเอก 1 ยูนิเวสท์ซื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 2 พันไร่ ซึ่ง 1 ใน 2 พันไร่นี้ซื้อจากวันชัย จิราธิวัฒน์เพื่อขยายเป็นโครงการเมืองเอก 2, 3 จนถึงเมืองเอก 8 แล้วในปัจจุบัน มีบ้านพักอาศัยกว่า 4,500 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 27,000 ล้านบาท และโครงการเมืองเอกนี้ยังได้ขยายไปพัฒนาพื้นที่ที่ถนนสุวินทวงศ์ในเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ในปัจจุบันด้วย

นอกจากโครงการเมืองเอกซึ่งเป็น "เรือธง" ยูนิเวสท์ยังมีโครงการอาคารสำนักงาน ธุรกิจศูนย์การค้าโรงแรม และเครื่องใช้ไฟฟ้าคือบริษัทสามชัยด้วย

ปัจจุบันยูนิเวสท์มีบริษัทในเครือข่ายประมาณ 21 บริษัท เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 7 บริษัท มีสินทรัพย์รวมกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท

การเข้าซื้อหุ้นสยามนำโชค และแผนการรวมทรัพย์สินบางโครงการกับสยามนำโชคทำให้ทรัพย์สินรวมของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ที่ดิน 20 ไร่เศษบนถนนรัชดาภิเษก ช่วงสี่แยก อสมท. ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการฟอร์จูนทาวน์ในปัจจุบันเคยเป็นที่หมายปองของกลุ่มยูนิเวสท์มาก่อน แต่เมื่อธาตรีติดต่อขอซื้อจากเจ้าของที่คือชวน รัตนรักษ์ ทางชวนกลับเสนอให้ยูนิเวสท์เข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทสยามไซโลและคลังสินค้า ซึ่งเป็นนิติบุคคลเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยขายหุ้นให้กับยูนิเวสท์ 30% และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นสยามนำโชค

โครงการรัชดาสแควร์ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาบนที่ดินผืนนี้ ประกอบไปด้วยศูนย์การค้า โรงแรมและอาคารสำนักงาน โดยธาตรีได้เจรจากให้ห้างสรรพสินค้าเยาฮันจากญี่ปุ่นเข้ามาเช่าพื้นที่เปิดสาขาแห่งแรกในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ

ปี 2532 ธนินทร์ เจียรวนนท์ แห่งซีพีขอร่วมทุนด้วย เขาสามารถเจรจาขอซื้อหุ้นสยามนำโชค 70% ของชวนได้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นการร่วมทุนกันครั้งแรกระหว่างยูนิเวสท์กับซีพี

ก่อนหน้านั้นประมาณปลายปี 2530 ยูนิเวสท์ได้ขายอาคารยูนิเวสท์ทาวเวอร์ ให้กับซีพี ปัจจุบันก็คืออาคารซีพีทาวเวอร์ บนถนนสีลมนั่นเอง สยามนำโชคเปลี่ยนชื่อโครงการรัชดาสแควร์เป็นฟอร์จูนทาวน์ และในเดือนมกราคม ปี 2533 ก็ได้รับอนุมัติให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยโยธินเข้าไปเป็นประธานกรรมการบริหารอย่างเต็มตัว ปล่อยยูนิเวสท์ให้เป็นภาระของธาตรี

จากผลสำรวจของบริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ (MANAGER INFORMATION SERVICES MIS) ในเรื่อง "ทัศนคติของนักธุรกิจด้านความศรัทธา และความเชื่อถือที่มีต่อบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์" เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2536 บริษัทสยามนำโชคมีความเชื่อถือเป็นอันดับเกือบท้ายสุด สาเหตุสำคัญเป็นเพราะผลประกอบการที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร โครงการต่างๆ ที่กำลังก่อสร้างและทำรายได้ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน ซึ่งนับว่าเป็นรายได้หลักที่มาจากการให้เช่า และสิทธิการเช่า ซึ่งในช่วงปี-2 ที่ผ่านนั้น ธุรกิจประเภทนี้มีการแข่งขันกันสูงมาก รายได้จากการดำเนินการธุรกิจประเภทนี้ค่อนข้างต่ำ

และสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทนี้มีน้อยมาก ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากบุคลิกของโยธิน ที่ค่อนข้างปิดตัวเป็นพิเศษ น้อยคนนักที่จะได้สัมภาษณ์ และประชาสัมพันธ์ความเป็นไปของบริษัท

แหล่งข่าวรายหนึ่งในบริษัทยูนิเวสท์เคยกล่าวกับผู้จัดการว่า พอธาตรีเห็นผลของการสำรวจครั้งนั้นก็ยังกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า สยามนำโชคปิดตัวเองเกินไปจริงๆ

ธาตรียอมรับว่า การที่สยามนำโชคไม่โดดเด่นในบรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์เท่าที่ควร เป็นเพราะผู้ถือหุ้น 2 กลุ่ม คือซีพี และยูนิเวสท์ นั้นไม่ได้ลงมาเต็มที่ในการดูแล บริหาร เพราะต่างก็มีบริษัทพัฒนาที่ดินของตนเองที่ทำอยู่แล้ว

"สยามนำโชคที่ผ่านมาเป็นเหมือนลูกเมียน้อย เราต่างที่จะทำธุรกิจของตนเองให้ดี เลยไม่ได้สนใจเท่าที่ควร แต่ตอนนี้เป็นลูกเมียหลวงแล้ว" ธาตรีกล่าว

สยามนำโชคนั้นเป็นบริษัทหนึ่งที่มีแลนด์แบงก์ในทะเลที่ดีอยู่มากๆ หลายแปลง โดยเฉพาะที่ดินฟอร์จูนทาวน์ตรงหัวโค้งอโศก 20 ไร่ที่ตั้งโครงการฟอร์จูนทาวน์ ราคาประเมินในปัจจุบันตารางวาละประมาณ 200,000 บาท ตกเป็นมูลค่าที่ดินประมาณ 1,600 ล้านบาท

"ตรงนี้เป็นจุดแข็งที่สุดของสยามนำโชค ที่เป็นเจ้าของที่ดิน และเป็นเจ้าของศูนย์การค้าด้วย สัญญาเช่าเพียง 20 ปี ตอนนี้เหลือ 17 ปี หลังจาก 17 ปีไปแล้วมูลค่าของมันก็จะมหาศาล" ธาตรีพูดถึงสิ่งที่เขามองเห็นในสินทรัพย์ที่มีอยู่ของสยามนำโชค

ที่แปลงใหญ่กลางเมืองอีกแปลงหนึ่งของสยามนำโชคคือ ที่ดิน 38 ไร่ตรงข้ามแดนเนรมิต ลาดพร้าว ซึ่งซื้อมาในราคาตารางวาละ 120,000 บาท รวมมูลค่า 1,800 ล้านบาท ที่ดินผืนนี้มีโครงการจะพัฒนาเป็นศูนย์การค้าและธุรกิจครบวงจร ทั้งห้างสรรพสินค้า สวนสนุกในร่ม อาคารสำนักงานและอาคารพักอาศัยให้เช่าในปีหน้า

นอกจากนั้นแล้วยังมีโครงการขนาดใหญ่อีก 2 แห่งคือ ฟอร์จูน ซิตี้ 1 ที่บางปู สมุทรปราการ พื้นที่ 300 ไร่ ฟอร์จูน ซิตี้ 2 ที่วังน้อย อยุธยา เนื้อที่กว่า 1,400 ไร่

เมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ยูนิเวสท์ควักกระเป๋าซื้อหุ้นจากซีพี ต้องถือว่าเหมือนได้บริษัทนี้มาฟรีๆ จนน่าสงสัยว่าทำไมทางซีพีจึงยอมขายให้ง่ายๆ อย่างนี้

ความจริงแล้วซีพี ยังเหลือหุ้นสยามนำโชคอีก 20% โดยถือผ่านฟอร์จูน ฮ่องกง คิดเป็นจำนวนหุ้นประมาณ 9 ล้านหุ้น ซึ่งสิ่งที่จะได้จากจุดนี้คือมูลค่าหุ้นที่สูงเพิ่มขึ้นหลังจากการเทคโอเวอร์ของยูนิเวสท์ นับจากราคา 160 บาทที่ขายให้ยูนิเวสท์ วันนี้หุ้นสยามนำโชคขึ้นไปมากกว่า 300 บาทต่อหุ้นแล้ว เท่ากับซีพีได้กำไรไปแล้วเกือบ 1,500 ล้านบาทหากขายหุ้นส่วนนี้ออกไป ถ้าถือไว้ต่อไปเรื่อยๆ โอกาสที่กำไรจะมากขึ้นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของกลุ่มยูนิเวสท์

"ผมมีโอกาสเลือก ผมก็จะเลือกเป็นคนถือ 20% เพราะไม่ต้องเหนื่อย" ธาตรีกล่าว

แต่เป้าหมายที่สำคัญของซีพีอยู่ที่การผลักดันให้ซีพีแลนด์เข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ จึงต้องแก้ไขปัญหาโครงสร้างผู้ถือหุ้นและลักษณะธุรกิจที่จำซ้ำซ้อนกับสยามนำโชคให้หมดไป

ดูเหมือนซีพีจะยอมเสียสละ แต่ก็เป็นการเสียสละที่คุ้มค่า

ธาตรีได้กำหนดวิธีการฟื้นฟูสยามนำโชคใหม่ไว้ 3 แนวทางด้วยกันคือ 1. ต้องเร่งสร้างยอดขายของโครงการต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว 2. ต้องเพิ่มทรัพย์สินเข้าไปด้วยการรวมกิจการของสยามนำโชคเข้ากับยูนิเวสท์ และแนวทางที่ 3 คือ การเอาชื่อของเมืองเอกเข้าไปรวมกับชื่อของโครงการสยามนำโชคที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดี ให้ลูกค้ารับรู้ว่า เจ้าของสยามนำโชค กับหมู่บ้านเมืองเอกเป็นเจ้าของเดียวกันเพื่อกระตุ้นยอดขายอีกทางด้วย

สำหรับแนวทางแรกนั้นปัจจุบันสยามนำโชคมีโครงการที่ต้องเร่งการก่อสร้างและงานขายอยู่หลายโครงการ ธาตรีได้กำหนดให้เจียม ชวศิริกุณฑล กรรมการรองผู้จัดการอาวุโส นักขายมือทอง ของบริษัทยูนิเวสท์ ผู้ฝากฝีไม้ลายมือทางด้านการขายของโครงการเมืองเอก ลงไปดูควบคุมนโยบายทางด้านการขายอย่างใกล้ชิด

โครงการที่กำลังขายของสยามนำโชคในขณะนี้คือ "ฟอร์จูน คอนโดทาวน์" บนถนนสาธุประดิษฐ์ บนเนื้อที่ 20 ไร่ จำนวนกว่า 1,000 ยูนิต แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกจำนวนกว่า 700 ยูนิตนั้นจำหน่ายและก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการโอน ส่วนเฟส 2 อีกประมาณ 300 ยูนิตนั้นจะเปิดขายประมาณต้นปีหน้า

"ฟอร์จูนซิตี้ 2" บนถนนพหลโยธิน กม. 61 อำเภอวังน้อย อยุธยา บนเนื้อที่กว่า 1,400 ไร่เป็นโครงการที่พักอาศัยพร้อมสนามกอล์ฟ

"โครงการของสยามนำโชคที่รอขาย ถ้าขายได้ก็ได้เงินประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท เทียบกับหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 5 พันล้านบาท ถ้าขายหมดทุกโปรเจ็คก็จะคืนหนี้ได้หมด และก็ยังมีเงินเหลือ" ธาตรีพูดถึงแผนงานเร่งด่วนของสยามนำโชคคือ การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างการเงิน

ปัจจัยที่จะช่วยให้การขายบรรลุเป้าหมายคือ การเอาชื่อเมืองเอกมาสวมโครงการของสยามนำโชค รวมทั้งการปรับปรุงมาตรฐาน คุณภาพในการดำเนินงานให้แบบเมืองเอกทั้งหมด เพื่อใช้ชื่อเสียงภาพพจน์ของเมืองเอกที่สั่งสมมานานเป็นตัวดันยอดขาย มีความเป็นไปได้มากว่า ชื่อฟอร์จูนซิตี้ 1 และฟอร์จูนซิตี้ 2 จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเอกบางปู และเมืองเอกวังน้อย สนามกอล์ฟที่วังน้อยก็จะเปลี่ยนเป็นสนามกอล์ฟเมืองเอกเหนือ

สำหรับแผนงานในปี 2537 ของสยามนำโชคก็คือการสร้างโครงการศูนย์การค้า และคอมเพล็กซ์ขนาดยักษ์บนถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโครงการแดนเนรมิตร ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทยูนิเวสท์ เตรียมยกทีมงานจากศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค บางแคมาทำการก่อสร้างในช่วงต้นปีหน้า โดยมีกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 2 ปี

ส่วนวิธีที่ 3 คือการรวมทรัพย์สินนั้น ปัจจุบันสินทรัพย์รวมของสยามนำโชคประมาณ 8,000 ล้านบาท รวมกับโครงการฟอร์จูนที่ลาดพร้าวมูลค่าหมื่นกว่าล้านนั้นทำให้ธาตรีให้สัมภาษณ์อย่างมั่นใจว่า สินทรัพย์รวมของสยามนำโชคภายใน 3 ปีนี้ต้องมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาทแน่นอน ในขณะที่ทรัพย์สินของยูนิเวสท์นั้นที่สามารถถ่ายโอนมาได้นั้นมีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันยูนิเวสท์มีโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการขายหลายโครงการเช่น โครงการเมืองเอก 7 โครงการเมืองเอก 8 มูลค่าการขายประมาณ 800 ล้านบาท และยังมีโครงการเมืองเอกสุวินทวงศ์และสนามกอล์ฟ อีสต์พ้อยท์ กอล์ฟ คอร์ส ซึ่งซื้อมาจากพงศกร ญาณเบญจวงศ์ มูลค่าอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีรายได้ที่จะได้จากศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คบางแค ที่จะเปิดปลายนี้ ส่วนโครงการฟิวเจอร์าร์ครังสิตและโรงแรมโซฟิเทลบางกอกนั้นจะเปิดดำเนินการประมาณกลางปี 2537

ในกลางปี 2537 ยูนิเวสท์ก็จะลงมือทุบทิ้งโครงการราชดำริอาเขตซึ่งปัจจุบันหมดสัญญาแล้ว โครงการใหม่ยูนิเวสท์จะทำเป็นศูนย์การค้า และออฟฟิศทาวเวอร์ในนามของบริษัทราชดำริพลาซ่า ซึ่งมียูนิเวสท์ถือหุ้น 87.5% กลุ่มบริษัทจิตติสุขของกลุ่มตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินอีก 12.5%

ทรัพย์สินของยูนิเวสท์ที่จะเอามารวมกันนั้น เขาอธิบายว่าคงไม่ได้เอามารวมทั้งหมด แต่จะเอามาเฉพาะโครงการใหม่ๆ บางโครงการเท่านั้น เช่นที่ดินที่เหลือยังไม่ได้โอนในเมืองเอกประมาณ 500 ไร่ โดยตั้งราคาไว้ที่ไร่ละ 8 ล้านก็เป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท และยูนิเวสท์ยังมีกรรมสิทธิสมาชิกของสนามกอล์ฟของโครงการเมืองเอกอยู่ประมาณ 600 สมาชิก ส่วนในสนามเมืองเอกวิสต้ามีประมาณ 800 สมาชิก สรุปแล้วที่ยังไม่ได้ขายและเป็นหุ้นอยู่ 1,400 สมาชิกราคาประมาณ 400,000 บาทต่อ 1 สมาชิก ก็จะเป็นเงิน 600-700 ล้านบาท รวมกับราคาที่ดินในเมืองเอกก็มีมูลค่าหมื่นกว่าล้านบาทแล้ว

"เราต้องหาทุกวิธีให้สยามนำโชคดีขึ้น ทรัพย์สินที่มีอยู่ของยูนิเวสท์ ถ้าเอามาให้สยามนำโชคได้ก็ต้องเอามา เอามาให้ไม่ได้ เพราะว่าเกิดขัดข้องทางภาษีก็ต้องหาวิธี" ธาตรีสรุปสั้นๆ ถึงวิธีการแปลงโฉมสยามนำโชค

ด้วยวัย 45 ปี วันนี้ธาตรี ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มยูนิเวสท์กรุ๊ปมาตลอดกำลังก้าวมาอยู่แถวหน้าเทียบรัศมีกับรรดายักษ์ใหญ่ทางด้านพัฒนาที่ดิน อย่างเช่นอนันต์-คีรี กาญจนพาสน์ แห่งบางกอกแลนด์ และธนายง และอนันต์ อัศวโภคิน ของค่ายแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของบริษัทสยามนำโชค

"สินทรัพย์รวมของเรา ผมคิดว่าในบรรดาบริษัทเรียลเอสเตทด้วยกันคงอยู่ประมาณ 1 ใน 3 หรืออย่างแย่ก็คงประมาณ 1 ใน 4"

ตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์ได้แสดงสินทรัพย์รวมของบริษัทพัฒนาที่ดิน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2536 อันดับแรกคือบางกอกแลนด์นั้นมีสินทรัพย์รวมถึง 33,980.65 ล้านบาท อันดับ 2 คือธนายง 18,387.56 ล้านบาท แลนด์แอนด์เฮ้าส์มาเป็นอันดับ 3 12,769.46 ล้านบาท อันดับ 4 คือ สยามนำโชค 8,654.19 ล้านบาท และอันดับ 5 คือ กฤษดานคร 8,178.45 ล้านบาท

เมื่อรวมทรัพย์สินบางส่วนของยูนิเวสท์ที่จะโอนมาให้ เข้ากับทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว สยามนำโชคก็จะมีทรัพย์สินร่วม 30,000 ล้านบาท ก้าวกระโดดขึ้นไปหายใจรดต้นคอบางกอกแลนด์ทันที

พร้อมกับการวางแผนทางด้านการเงิน ยูนิเวสท์ต้องผ่องถ่ายทางด้านกำลังคนซึ่งเป็นระดับมันสมองไปร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจใหม่ของสยามนำโชคไปพร้อมๆ กันด้วย ผู้ที่มีบทบาทที่สุดในการกำหนดทิศทางเดินของยูนิเวสท์กรุ๊ปนั้นจะมีธาตรี พิชัย วาศนาส่ง วัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และเจียม ชวศิริกุณฑล

พิชัยเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นทางด้านภาพพจน์ขององค์กรเพราะเคยเป็นสถาปนิกผู้มีชื่อเสียง และเป็นนายกสมาคมสถาปนิกสยามในสมัยหนึ่งด้วย ความเป็นคนกว้างขวาง และออกสังคมทำให้พิชัยเป็นเสมือนหนึ่งภาพลักษณ์ของกลุ่มนี้เสมอมา การติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ ในขณะที่วัฒนศักดิ์นั้นเป็นกลุ่มที่มีที่ดินในมือซึ่งเป็นที่มรดกมากมาย การหาที่ดินแปลงใหม่ๆ เพื่อทำโครงการเป็นเรื่องที่วัฒนศักดิ์ต้องรับผิดชอบ ในขณะที่เจียมคนเก่าแก่อีกคนนั้นก็เต็มไปด้วยความสามารถทางด้านการขาย

ทั้ง 4 คนนี้คือกรรมการชุดใหม่ของสยามนำโชค สำหรับรายชื่อกรรมการชุดใหม่นั้นจะมีวัฒนศักดิ์ รองประธานบริษัทยูนิเวสท์ เข้าไปเป็นประธานกรรมการ โยธิน บุญดีเจริญ ประธานกรรมการบริหาร ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ส่วนธาตรีจะเข้าไปเป็น กรรมการ, กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และมีพิชัย วาศนาส่ง สุนทร อรุณานนท์ชัย เจียม ชวศิริกุณฑล ทวีวงศ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หาญ เกียรติเฟื่องฟู เป็นกรรมการ และยังมีกรรมการใหม่อีก 2 คนที่จะเข้ามาช่วยเสริมทีมงานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

สำหรับในหน้าที่ใหม่ที่สยามนำโชคนั้น ทางด้านนโยบายนั้นวัฒนศักดิ์จะเป็นผู้ดูเรื่องการเงินทั้งหมด ส่วนโยธินจะรับภาระหนักไปในเรื่องการหาที่ดินเพื่อทำโครงการใหม่ๆ ทางด้านการขายของสยามนำโชคที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของคณะกรรมการชุดใหม่นั้น เจียมจะเป็นผู้ลงไปดูแล และประสานงานกับทีมงานขายเดิมทั้งหมด โดยแยกกันเด็ดขาดกับทีมงานขายศูนย์การค้าซึ่งจะมีทีมของกลุ่มฟิวเจอร์พาร์คร่วมกับกลุ่มโรบินสัน และทีมของกลุ่มหวั่งหลี

ทางด้านพนักงานระดับล่างลงมานั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่จะมีคนใหม่จากสยามนำโชคไปเสริมทีมทางด้านระดับกรรมการรองผู้จัดการและระดับผู้ช่วยมากขึ้น เช่น ทางด้านการเงิน การบริหารองค์กร กำลังคนทั้งหมดทั้งยูนิเวสท์ และสยามนำโชคซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 700 กว่าคนนั้น สุรชัย มธุรันยานนท์ ซึ่งเป็นคนของยูนิเวสท์จะเป็นคนเข้าไปดูแล ทางด้านโรงแรม จะมีประเวศ รุ่งเรืองรัตนกุล ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของยูนิเวสท์ เข้าไปดูแล ร่วมกับคนของสยามนำโชค ประเวศเคยทำงานอยู่ที่โรงแรมเชอราตัน 20 ปี โรงแรมรีเจนท์ 4 ปี เพิ่งมาทำงานที่ยูนิเวสท์ประมาณ 6-7 เดือนที่ผ่านมา

คนหนุ่มรุ่นใหม่อีก 2 คนของยูนิเวสท์ ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการทางด้านการบริหารโครงการกับคุมงานก่อสร้างคือ เฉลิมศักดิ์ กาญจนการรุณ และชาญศักดิ์ ศิริวัฒนชาติ

ยูนิเวสท์-สยามนำโชคในวันนี้ จึงผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งมีธุรกิจครบทุกแขนงทั้งโครงการศูนย์การค้า บ้านพักอาศัย อาคารสำนักงานและสนามกอล์ฟ มีความแข็งแกร่งด้านการเงิน จากฐานการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเครดิตของบริษัทเองที่สามารถจะแสวงหาแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือประสบการณ์ และฝีไม้ลายมือที่สองพี่น้องบุญดีเจริญได้พิสูจน์ให้ประจักษ์มาแล้วในยุทธจักรบ้านและที่ดินใต้ฟ้าเมืองไทย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us