"คุณเป็นลูกคุณรชฎใช่ไหมคะ"
"ไม่เกี่ยวนี่คะ วันนี้เรามาประท้วงโรงแรมดุสิตรายาวดีในฐานะประชาชนที่รักอุทยาน
เราทราบว่าคุณไม่ใช่เจ้าของ แต่มีสัญญาจัดการโรงแรม เราเป็นห่วงคุณ เกรงว่าจะเอาชื่อเสียงที่ดีของเครือดุสิตไปให้โรงแรมที่บุกรุกอุทยานใช้
จะทำให้ภาพพจน์ของดุสิตเสียหายนะคะ"
เที่ยงวันที่ 30 ตุลาคม หน้าโรงแรมดุสิตธานี กลุ่มคนราว 30 คนในนาม "กลุ่มประชาชนผู้รักอุทยาน"
รวมตัวกันชูป้ายประท้วงโครงการโรงแรมดุสิตรายาวดีที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่
เจ้าของบทสนทนาข้างต้น ฝ่ายหนึ่งคือคุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เจ้าของโรงแรมดุสิตธานี
ที่ลงทุนเดินออกมาพบกับกลุ่มผู้ประท้วง อีกฝ่ายหนึ่งคือสมานรัชฎ์ ลูกสาวของรชฎ
กาญจนะวณิชย์ วิศวกรชื่อดัง
สมานรัชฎ์ทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและอย่างเอาจริงเอาจังมาตลอด
ส่วนใหญ่แล้วเป็นงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลและงานด้านสื่อ เธอเคยเขียนข่าวเชิงวิจารณ์
กรณีการบุกรุกที่อุทยานแห่งชาติ และผลกระทบของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวงลงหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นระหว่างปี
2530-2534 ต่อมาได้ทำสารคดีวิดีโอเรื่อง "THAILAND FOR SALE" สะท้อนภาพการต่อสู้ของคนท้องถิ่นภูเก็ต
ที่ไม่ยอมจำนนต่อการคุกคามของธุรกิจการท่องเที่ยวที่ทำลายวิถีชีวิตตลอดจนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
เรื่องล่าสุดที่สมานรัชฎ์ทำ "GREEN
MENACE…THE UNTOLD STORY OF GOLF" พูดถึงพิษภัยของกีฬากอล์ฟ
สารคดีทั้งสองเรื่องนี้มีโอกาสฉายทั้งในยุโรปและอเมริกา ยกเว้นเมืองไทยที่เป็นเจ้าของปัญหา
!
ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะให้เข้าใจและรักษธรรมชาติจากพ่อและแม่-ม.ร.ว.
สมานสนิท สวัสดิวัฒน์ ทำให้สมานรัชฎ์และน้องของเธออีกสองคนคือ สรณรัชฎ์และรังสฤษดิ์
ไม่อาจนิ่งดูดายได้ต่อปัญหาการรุกรานธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่า การท่องเที่ยว
"แม่ชอบเล่านิทานเกี่ยวกับสัตว์ ดอกไม้ และธรรมชาติให้ฟัง มีกระดาษให้ลูกๆ
วาดรูป ส่วนพ่อก็จะมีกองไม้ให้สำหรับสร้างบ้าน ทำบ้านบนต้นไม้กัน ทุกคนจะสนุกกับการค้นคว้าหาวิธีสร้างของเล่นขึ้นเอง
จะไม่มีของเล่นสำเร็จรูป และการสร้างสิ่งเหล่านี้ได้อาศัยการเรียนรู้และความเข้าใจธรรมชาติของวัสดุต่างๆ
ซึ่งก็คือการศึกษาธรรมชาตินั่นเอง"
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เธอกระโดดออกมาเคลื่อนไหวในรูปแบบของการประท้วงร่วมกับเพื่อนนักอนุรักษ์
หลังจากที่ทำงานเผยแพร่ข้อมูลมาโดยตลอด
"ทุกคนก็รู้กันอยู่ว่าเรื่องที่ดินในอุทยาน มีการโกงกินอย่างตรงๆ
มีการเทปูนทับดินสร้างตึก เป็นภาพที่บาดตามาก กรณีดุสิตรายาวดี ถ้าเป็นคนไข้
อ่าวพระนางเหมือนอยู่ไอซียูแล้ว เราทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าวิธีช่วยชีวิตอยู่ตรงไหน
แต่มัวเกรงใจเชื้อโรค ก็เลยไม่กล้าใช้ยา ตอนนี้เราเลยเหมือนญาติผู้ป่วยที่นั่งกัดเล็บอยู่หน้าห้องกระจกไอซียู
จะไม่ให้เราตะโกนเรียกหมอให้ยาที่ถูกต้องได้อย่างไร" สมานรัชฎ์ ให้เหตุผลที่ต้องมาประท้วงหน้าโรงแรมดุสิตธานี
โรงแรมดุสิตรายาวดีมีบริษัทพรีเมียร์ รีสอร์ท กระบี่ เป็นเจ้าของโครงการ
ซึ่งบริษัทนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มพรีเมียร์ 60% กับ ม.ล. ชัยนิมิตร
นวรัตน์ 40% สร้างโรงแรมมูลค่า 500 ล้านบาทขึ้นมา และทาบทามให้กลุ่มดุสิตธานีเข้ามารับผิดชอบด้านการบริหาร
โรงแรมแห่งนี้ได้รับขนานนามว่า "โรมแรมเจ้าปัญหา" เพราะนับแต่เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อต้นปี
2535 ก็มีปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินล้ำมาในส่วนของอุทยาน ซึ่งทางกลุ่มพรีเมียร์ก็ยืนยันทุกครั้งที่มีข้อแย้งจากกลุ่มอนุรักษ์ว่าพื้นที่สร้างโรงแรมมีโฉนด
นส. 3 ก. ครบทั้งสามฉบับ คือ เลขที่ 1077, 905 และ 867 เป็นการได้กรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องจากหน่วยงานราชการ
อย่างไรก็ดีการประท้วงล่าสุดครั้งนี้ ทางกลุ่มอนุรักษ์มีเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บางส่วนของ
นส. 3 ก บริเวณพื้นที่ติดต่อกับถ้ำพระนางและชายหาดอ่าวพระนาง ขาดหลักฐานอ้างอิงการได้ครอบครอง
สค. 1 ก่อนที่จะมาขอออกโฉนด นส. 3 ก
"กรณีของโรงแรมดุสิตรายาวดีเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเสมือนเป็นสัญลักษณ์
ถ้าเรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่มีความกระจ่างในข้อเงื่อนงำต่างๆ ก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอุทยานแห่งชาติ
ต่อไปใครอยากได้ที่ดินตรงไหนก็จับจองเป็นเจ้าของได้ทั้งสิ้น โดยไม่จำเป็นต้องเคารพกฎหมาย"
สรณรัชฎ์อธิบายให้เห็นความสำคัญของกรณีนี้
สรณรัชฎ์ทำงานเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมมาตลอดเช่นเดียวกับพี่สาว ตั้งแต่เริ่มเรียนจบที่มหาวิทยาลัยลอนดอน
จนกระทั่งได้ปริญญาเอกทางนิเวศวิทยา ส่วนใหญ่งานของเธอจะหนักด้านวิชาการ
ขณะนี้กำลังจัดทำสื่อการศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศในเมืองไทยสำหรับเด็กอายุตั้งแต่
14 ปีขึ้นไปตลอดจนถึงผู้ใหญ่
ผลการตรวจสอบกรณีของโรมแรมดุสิตรายาวดีว่าบุกรุกพื้นที่อุทยานหรือไม่ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการในขณะนี้
มีความหมายอย่างมากต่อกลุ่มอนุรักษ์ บริษัทพรีเมียร์และกลุ่มดุสิตธานี เพราะต่างฝ่ายต่างทุ่มเทให้กับโครงการนี้มามาก
กลุ่มอนุรักษ์ทุ่มเทในแง่เวลา การเสาะหาข้อมูลและความเชื่อถือในระบบยุติธรรม
ส่วนทางผู้ลงทุนก็ลงทุนทั้งเวลา เงิน ตลอดจนชื่อเสียงที่คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเรียกคืนกลับมา