|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสื่อทุกชนิดตลอด 24 ชั่วโมง ของกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีบทสรุปชัดเจน และยังไม่เริ่มบังคับใช้ เพราะร่างพ.ร.บ.การโฆษณาสุรา อยู่ในระว่างการทบทวนใน 2 ประเด็นหลักคือความชัดเจนคือ ผู้ซื้อต้องมีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ และการพิจารณาปรับเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แต่ที่สร้างความระส่ำ ระสาย ให้กับวงการต่างๆที่ต้องได้เม็ดเงินมาหล่อเลี้ยงองค์กรคือ กฏระเบียบที่บังคับใช้ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ห้ามโฆษณาในสื่อตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งโฆษณาแฝง ติดสัญลักษณ์ทางการค้าของผลิตภัณฑ์ ป้ายบิลบอร์ดตามถนน การจัดลานโปรโมชั่นสำหรับดื่มเบียร์ในช่วงเทศกาลต่างๆ การแจกของแถม ทั้งพวงกุญแจ เสื้อยืด กระเป๋า ฯลฯ การโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ หรือการเอ่ยชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรายการวิทยุ หรือในสถานที่ที่เป็นการโฆษณาอย่างเด็ดขาด ยกเว้นการถ่ายทอดเหตุการณ์สดจากต่างประเทศ
ดังนั้นอุตสาหกรรมโฆษณา ทั้งวิทยุโทรทัศน์ และบริษัทโฆษณาต่างๆ ที่มีรายได้ 2 พันล้านบาทต่อปี จากบรรดาค่ายเหล้าที่ขนงบก้อนโตมาให้มีอันจะต้องอันตรธานหายไป ซึ่งก่อนหน้าที่จะห้ามโฆษณาทางทีวีก่อน 4 ทุ่ม เม็ดเงินโฆษณาเหล้า สร้างรายได้ถึงปีละ 4 พันล้านบาท
ส่วนผลกระทบซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ โดนตรงๆคือ ปัญหาการใช้สื่อโฆษณาที่ออกมาในแนวสร้างสรรค์สังคมมากกว่าที่จะขายสินค้า ผ่านช่องทางสื่อต่างๆทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อเอาต์ดอร์ ซึ่งกระบวนการสื่อสารครบวงจรทั้งหมด เป็นอาวุธหรือเครื่องมือในการตอกย้ำ และสร้างการจดจำตัวแบรนด์และสินค้า เพื่อไม่ให้ลูกค้าลืมเลือนเท่านั้น
อันที่จริง การตลาดสร้างประสบการณ์กลับเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่เข้าถึงลูกค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ และรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ยืนยาวกว่า การใช้กลยุทธ์โปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม โดยเห็นได้ช่วงที่ผ่านมาค่ายเหล้า ได้ปรับสัดส่วนงบทางการตลาด เทให้กับงบกิจกรรมทางการตลาด (Below the line) มากว่า งบสื่อโฆษณา (Below the line)มากขึ้นๆ ทุกปี
สิทธิพร เอื้อทวีกุล ผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ บาคาร์ดี บรีซเซอร์ บริษัท บาคาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า กรณีที่ทางภาครัฐกำลังมีการสั่งห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา 24 ชั่วโมงในทุกกรณีนั้น งบการตลาดที่ใช้อยู่ปีละประมาณ 60 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่ผ่านมาการทำกิจกรรมทางการตลาดสัดส่วน 60% และอีก 40% เป็นงบโฆษณา ดังนั้นหากทางภาครัฐห้ามโฆษณาจริง เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อบริษัทฯแต่อย่างไรหรือหากมี อาจจะเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยการจัดกิจกรรมทางการตลาด ภายใต้กลยุทธ์“การตลาดสร้างประสบการณ์” (Experiential Marketing) จะสามารถสื่อเฉพาะเจาะจงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จัดในรูปแบบการจัดคอนเสิร์ต และกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีพปาร์ตี้ ร่วมกับช่องทางออพพรีมิส (สถานบันเทิง ผับ บาร์) ซึ่งเป็นการจัดงานในธีมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคอนเซปต์ของสินค้าและแคมเปญโฆษณา เพื่อมัดใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จงรักภักดีกับแบรนด์
มีความเคลื่อนไหวของค่ายเหล้า ที่เริ่มใช้การตลาดสร้างประสบการณ์มานำร่องในรอบปีนี้อย่างมากมาย อาทิแบล็ค เลเบิ้ล และชีวาส รีเกิล คู่แข่งสำคัญในตลาดวิสกี้ เซกเมนต์ดีลักซ์ ออกมาอุ่นเครื่องกลยุทธ์การตลาดสร้างประสบการณ์กันอย่างดุเดือด
ชีวาส ซึ่งเป็นค่ายเหล้านอกที่ให้ความสำคัญกับการตลาดในรูปแบบกิจกรรมเอ็กซ์คลูซีพปาร์ตี้มาอย่างต่อเนื่องโดยแต่ละปีจะมีการจัดแคมเปญใหญ่ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดย่อยหมุนเวียนไปตามสถานบันเทิง ไล่เลียงตั้งแต่คอนเซ็ปต์ Paris Passion & Glamour และ Tokyo Vibe ส่วนล่าสุดที่เพิ่งปิดตัวแคมเปญไปคือ “ดีส อิส เดอะ ชีวาส ไลฟ์ อิน เดอะ ซิตี้”ในคอนเซ็ปต์ New York Fusion เพื่อสร้างประสบการณ์ความสนุก ที่จะเติมเต็มความสุขให้กับประสาทสัมผัสทั้งห้าของชาวกรุงเทพฯ
ทางฟากจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ แบล็ค เลเบิล จากค่ายริชมอนเด้ ในระหว่างรอบทสรุปห้ามโฆษณาในสื่อทุกชนิดตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เดินหน้าการตลาดสร้างประสบการณ์ ด้วยปาร์ตี้ ภายใต้คอนเซปต์ที่สร้างประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่นกัน ในชื่องาน “เดอะมิสเตอรี่ ออฟ แบล็ก แพลนเน็ต แมนชั่น”เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับประสบการณ์ความหรูหรา มีรสนิยม ความน่าทึ่ง รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าของการเป็นสก๊อตวิสกี้ของผู้ดื่มที่ใช้ชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งริชมอนเด้ให้ความสำคัญกับงานนี้มาก เพราะเป็นกลยุทธ์ระดับโกลเบิ้ล ใหญ่ที่สุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรูปแบบใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย ที่ใช้งบ 35 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 5 พันตร.ม. ที่โรงแรมสุโขทัย ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ โดยคาดว่าจะมีคนเข้าร่วมงาน 2 -2.5 พันคนคน
นอกจากนั้น เม็ดเงินการตลาดก่อนมโหฬารของค่ายเหล้า ที่เคยอยู่ในมือของอุตสาหกรรมโฆษณา จะเคลื่อนเข้าหาผู้ประกอบการในช่องทางออนพรีมิส ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการแข่งขันทางด้านโปรโมชั่นราคา เพื่อจูงใจบริโภคไม่ให้ดื่มเหล้า-เบียร์ที่เป็นแบรนด์คู่แข่ง รวมถึงอัดงบประมาณให้กับช่องทางการขายที่เป็นพันธมิตรเพื่อบล็อกแบรนด์คู่แข่งไม่ให้มีโอกาสเข้าไปวางขายร้านที่เข้าไปเป็นเอ็กซ์คลูซีพแบรนด์ เพราะเมื่อมาตรการห้ามโฆษณาเริ่มใช้เมื่อไหร่ ออพพรีมิสจะเป็นช่องทางเดียวที่จะนำพาสินค้ามาให้ผู้บริโภคได้พบเห็นแบรนด์
แต่ที่น่าสนใจ มาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง มีผลทางลบกับการสร้างแบรนด์ของเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกสายพันธ์ ที่ต้องการแจ้งเกิดในวงการ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์เก่าๆที่อยู่ในระยะกระบวนการสร้างแบรนด์ หรือปลุกผีให้กับมาโด่งดังอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้แผนการตลาดค้างเติ้ง ขาดความต่อเนื่องที่จะสื่อสารการตลาดไปถึงกลุ่มเป้าหมาย
กฎเหล็กห้ามโฆษณาแบบครอบจักรวาลนี้ ยังไม่กระทบต่อยอดขายในทันที แต่เป็นผลกระทบในอนาคต เพราะช่วงที่ผ่านมา ค่ายเหล้ามีการปูพรมการตลาด โฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมการตลาดไปล่วงหน้า เพื่อรอรับฤดูการขายในช่วงสิ้นปี ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรกล่าวว่า ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2549 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.6 เนื่องจากมีหลายปัจจัยทั้งราคาน้ำมันและความผันผวนทางการเมือง รวมถึงการปรับราคาสุราตามภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้น
แต่ในโค้งสุดท้ายปีนี้ ซึ่งถือเป็นฤดูการขายที่สำคัญเนื่องจากผู้บริโภคที่เคยลดการดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษาก็จะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ในขณะที่ช่วงปลายปีก็จะมีเทศกาลคริสต์มาสรวมทั้งเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันทั่วประเทศจึงคาดว่ายอดจำหน่ายสุราในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะกลับมาคึกคักได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามมีผลกระทบต่อยอดขายในไตรมาสสุดท้ายคือกำลังซื้อของประชาชนที่ลดค่าใช้จ่ายด้านสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะสุรา เพราะได้รับผลกระทบตามจากปัญหาราคาน้ำมันและปัญหาน้ำท่วมทั่วทุกภาคของประเทศซึ่งถือว่าหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา
|
|
 |
|
|