Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2546
พิษโลกานุวัตร             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 





20 ปีก่อน สมัยที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนรุ่นที่สองตัดสินใจปฏิรูปจีนให้ก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัย โดยการนำระบบเศรษฐกิจแบบเปิดเสรีเข้ามาผสมผสานกับระบอบการปกครองระบบสังคมนิยม ความคิดของเติ้งก็คือการปรับแนวคิด ทุบทฤษฎีดั้งเดิมของสังคมนิยมและมาร์กซ์ แนวเหมาเจ๋อตง

ว่ากันว่า การปรับดังกล่าวก็คือการที่ "เติ้ง" แทนที่จะคงแนวคิดให้คนจีนทั้งหมดก้าวไปสู่สังคมอันอุดมสมบูรณ์พร้อมกัน กลับอนุโลมเปิดประตูยอมให้คนจีนบางกลุ่มเดินไปสู่ความมั่งคั่งก่อน เพราะเติ้งมองแล้วว่าหากไม่ทำเช่นนี้จีนก็ไม่มีวันที่จะตามทันประเทศอื่นๆ ในโลกได้อย่างแน่นอน

จนในปี ค.ศ.1992 เติ้งได้ย้ำถึงแนวคิดดังกล่าวอีกครั้ง ด้วยคำพูดที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์และปัจจุบันก็ถูกนำมาพูดถึงหลายครั้งว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ปรับความคิดของชนชั้นปกครองชาวจีน รวมถึงเจียงเจ๋อหมิน ก็คือ "อย่าไปสนใจว่าแมวสีอะไร ถ้าจับหนูได้ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น!"

ไม่มีใครปฏิเสธว่า "เติ้ง" เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญในแนวคิด และเป็นนักเรียนที่หาญกล้าแหกคอกความคิดของ เหมาเจ๋อตง บิดาของจีนใหม่ได้อย่างมีวิสัยทัศน์

เป็นวิสัยทัศน์ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของ "โลกานุวัตร" (Globalization) ที่ในอีกเกือบยี่สิบปีต่อมาแสดงอานุภาพครอบคลุมไปทั่วทุกแดนดินได้อย่างน่าตกใจ

ยิ่งในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 16 ที่เพิ่งผ่านไปในปีนี้ นับได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก้าวมาไกลเกินกว่าอุดมการณ์แรกเริ่มมากมายนัก โดย อ.เกษม ศิริสัมพันธ์ ก็กล่าวเปรียบเทียบถึงเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจก็คือ แก่นอุดมการณ์ได้แปรเปลี่ยนจากสังคมนิยมเป็นสังคมทุนนิยมเสียแล้ว! (จีน : สังคม (ทุน) นิยม โดย เกษม ศิริสัมพันธ์ ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545)

นอกจากการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 16 คราวนี้ได้มีการลงมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเคยมีข้อความเดิมที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เป็นกองหน้า (Vanguard) ของชนชั้นกรรมกรมาเป็นกองหน้าของชนชาวจีนและประชาชาติจีนแล้ว เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่สาม ที่กำลังอยู่ในช่วงของการถ่ายโอนอำนาจไปให้ผู้นำรุ่นที่สี่ ยังนำเสนอต่อที่ประชุมพรรคเป็นครั้งแรกอีกด้วยว่า

"จีนจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางในประเทศให้มากขึ้น"

จุดนี้นี่เองที่นับเป็นกุญแจที่ระบุว่า ในระยะสั้นจีนต้องการสร้างชนชั้นกลางมาเป็นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดดและระยะยาว จีนกำลังปรับตัวเข้าสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตย

ชนชั้นกลาง ถ้าเปรียบแล้วก็คือสัญลักษณ์ของการประนีประนอม และเป็นกันชนทางชนชั้น เพราะหากย้อนไปแล้วประวัติศาสตร์แนวคิดเรื่องชนชั้นกลางนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนพระเยซูจะประสูติเสียอีก

อริสโตเติล ปราชญ์สมัยกรีก เคยกล่าวไว้ว่า "ชนชั้นกลางที่อ่อนแอคือ จุดกำเนิดของภาวะทางการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ" เพราะหากไม่มีชนชั้นกลางคนในชาติก็จะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ "รวยและจน" อริสโตเติล กล่าวว่า ด้วยชนชั้นกลางที่เข้มแข็งประชาธิปไตยก็จะแผ่ขยายไปโดยปริยาย ด้วยชนชั้นกลางเป็นผู้ที่นิยมชมชอบการประนีประนอมและแสวงหาหนทางแก้ปัญหาด้วยวิธีสันติ

สิ่งดังกล่าว ในโลกยุคปัจจุบันก็มีผู้ได้พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นจริง และผู้นำจีนเองก็ถือมาเป็นตัวอย่างก็คือ สิงคโปร์

มีการพูดถึงว่า ลีกวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ตอนที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี ค.ศ.1959 เศรษฐกิจของเกาะเล็กๆ ที่อยู่ใต้มาเลเซียนั้นก็ขาดเสถียรภาพอย่างรุนแรง หลังขึ้นสู่ตำแหน่ง อดีตผู้นำสิงคโปร์จึงใช้แนวคิดชนชั้นกลางดังกล่าวผลักดันให้ปัจจุบันสิงคโปร์มั่งคั่ง และกลายเป็นประเทศหนึ่งที่ปัจจุบันมีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก

แน่นอนว่า เกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ เมื่อนำมาเทียบ กับ "จีน" ประเทศขนาดยักษ์ที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์นับพันๆ เท่าแล้ว กระบวนการดังกล่าวจึงไม่อาจสำเร็จได้ง่ายๆ และต้องการจุดเปลี่ยนผ่านอีกมากมาย เป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่จะต้องดำรงต่อไปอีกนับสิบปี

จีนยังคงเป็นสังคมของเกษตรกร-ชาวนา ด้วยเหตุที่ว่าประชากรส่วนใหญ่กว่า 64 เปอร์เซ็นต์ยังอยู่ในชนบท ประกอบสัมมาชีพทางด้านการเกษตร ซึ่งแน่นอนว่า ได้รับการจัดชั้นว่าอยู่ในกลุ่มของ "ชนชั้นล่าง" ก็คือ "คนจน" นั่นเอง ส่วนประชากรที่อยู่ในเมืองนั้นใน 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ประกอบด้วยชนชั้นแรงงานรายได้ต่ำ คือมีรายได้น้อยกว่า 200 หยวนต่อเดือน (24 ดอลลาร์สหรัฐ) เสีย 45 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชนชั้นกลางก็มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่อยู่ในเมือง

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในยุคปัจจุบันกระบวนการสร้างชนชั้นกลางยังอยู่ในระยะตั้งไข่เท่านั้น และเพียงแค่ในระยะนี้สภาพความแตกต่างทางชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมจีนก็เริ่มเข้าสู่ขั้นวิกฤตเสียแล้ว

ในปี 2001 แม้ตัวเลขของทางการจีนจะระบุว่า ความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนเมืองและคนชนบทจะอยู่ที่ 2.9 เท่า คือคนเมืองมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยปีละ 6,859.60 หยวน (828.70 ดอลลาร์สหรัฐ) และคนชนบทมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยปีละ 2,366.40 หยวน (285.90 ดอลลาร์สหรัฐ)

แต่ในความเป็นจริงนั้น นักเศรษฐศาสตร์จีนก็ประเมินกันว่า ตัวเลขดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ราว 6 เท่า เนื่องจากปัจจุบันคนเมืองได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การแพทย์ สาธารณูปโภค ขณะที่คนชนบทได้รับบริการจากภาครัฐน้อยมากหรือไม่ได้เลย

ขณะที่หากอ้างถึงดัชนีการกระจายทางรายได้ หรือดัชนีจีนี่ (Gini coefficient)* ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มีไว้ชี้ถึงช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจีน สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนก็ระบุว่า ตัวเลขนี้เริ่มส่งสัญญาณอันตราย เนื่องจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.458 เมื่อเทียบกับมาตรฐานโลกแล้วควรอยู่ไม่เกิน 0.4

กระบวนการสร้างชนชั้นกลางของชาวจีน เพื่อรับโลกานุวัตรอีกจุดเปลี่ยนที่อาจจะเรียกได้ว่าสำคัญมากก็คือ การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพื่อรับการเปิดการค้าเสรีเมื่อปลายปี 2001

ล่าสุด การค้าเสรีก็เริ่มพ่นพิษร้ายให้กับภาคเกษตรจีนบ้างแล้วอย่างเช่น ชาวสวนผู้ปลูกลำไยในเซี๊ยเหมิน (Xiamen) ก็ประสบกับอาการช็อกเมื่อรู้ว่าราคาลำไยนำเข้าจากไทยอยู่ที่เพียง 0.6 หยวนต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบสิบปี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวทางการจีนก็คาดไว้แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้น และก็ระบุว่าจำเป็นจะต้องให้เป็นไปเพื่อให้ภาคเกษตรจีนปรับตัว เกิดการแข่งขันและการพัฒนาในการผลิต

ทั้งนี้ในการปรับตัวนั้นนักเศรษฐศาสตร์จีนหัวนีโอคลาสสิกบางส่วนก็ป่าวประกาศให้รัฐมีมาตรการอย่างจริงจังเพื่อปกป้องทรัพย์สินเอกชนเสียที เนื่องจากปัจจุบันในรัฐธรรมนูญของจีนยังไม่มีหัวข้อที่พูดถึงว่า "ทรัพย์สินของภาคเอกชนจะถูกละเมิดมิได้ (Private Property is inviolable)" นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการยกเลิกระบบการลงทะเบียนประชากรถาวร หรือ Permanent residence เพื่อให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระ โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นตัวเสริมให้เกิดชนชั้นกลางอย่างแท้จริง

ถึงตรงนี้ผมนึกถึงคำของ George Bernard Shaw (ค.ศ.1856-1950) ยอดกวีชาวไอริชผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านวรรณกรรมเมื่อปี 1925 และนักคิดหัวสังคมนิยมและเป็นคนที่มีความเห็นตรงกับ Karl Marx หลายประการ ทำให้เขาเขียนงานวรรณกรรมเชิงวิพากษ์สังคม-การเมือง ออกมามากมายด้วยกัน

Shaw กล่าวไว้ว่า "The government who robs Peter to pay Paul can always depend on the support of Paul."

กระบวนการสร้างชนชั้นกลางจีนก็คือ การสร้าง Paul นั่นเอง แล้วก็ไม่รู้ว่า Peter ที่ตกระกำลำบากจะหันหน้าไปพึ่งใครได้?

หมายเหตุ : *ดัชนีจีนี่ (Gini coefficient) เกิดจากนักสถิติชาวอิตาลีชื่อ Corrado Gini ซึ่งแสดงดัชนีการกระจายรายได้ด้วยตัวเลข 0 ถึง 100 ถ้าตัวเลขเป็น 0 แสดงว่าทุกคนมีรายได้เท่ากันหมด และตัวเลข 100 แสดงว่ามีคนเดียวที่มีเงิน ขณะที่คนอื่นไม่มีเลย

-   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us