แบงก์ชาติแจงเหตุผ่อนเกณฑ์การลงทุน-ให้สินเชื่อกับผู้เกี่ยวข้องของธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูก ระบุเพื่อให้เอื้อต่อการแข่งขัน-ยืดหยุนในทางปฏิบัติ หลังพบว่าปี 43 เทียบกับปี 49 สินเชื่อนี้ลดลงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มั่นใจมีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดและมีคณะกรรมการอิสระดูอีกชุดจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
นางธาริษา วัฒนเกสรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และรักษาการแทนผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธปท.ผ่อนผันเกณฑ์การลงทุนหรือให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้กับผู้ถือหุ้นหรือผู้เกี่ยวข้องกับธนาคารนั้น ก็เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติมากขึ้น โดยการให้สินเชื่อหรือลงทุนมีการผ่อนผันให้ 3 กรณี ได้แก่ 1.การให้สินเชื่อหรือลงทุนในกิจการที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นโดยตรงตั้งแต่ 75%ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วเฉพาะบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ(Credit Institutions) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม (Solo Consolidation) 2.การให้สินเชื่อแก่หรือลงทุนในบริษัทจำกัดที่กระทรวงการคลังหรือส่วนราชการมีอำนาจควบคุมกิจการหรือถือหุ้นเกิน 10%ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว
และ3.การให้สินเชื่อแก่หรือลงทุนในกิจการที่ธนาคารพาณิชย์ หรือกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์นั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์นั้น เฉพาะลูกค้ารายเดิมที่เคยผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์มาแล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมหรือขอวงเงินสินเชื่อใหม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ไม่ให้สัตยาบันด้วยมติเป็นเอกฉันท์จะถือว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ปฏิบัติตามที่ ธปท. กำหนดการให้สินเชื่อแก่หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและ ธปท. จะสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกวงเงินดังกล่าวทันที
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกจดหมายเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ยกเว้นกิจการวิเทศธนกิจของสาขาธนาคารต่างประเทศเกี่ยวกับการผ่อนผันการให้สินเชื่อแก่หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์สามารถมอบอำนาจให้คณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารเป็นผู้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อหรือการลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องตามเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์กำหนด แล้วค่อยนำสินเชื่อหรือการลงทุนนั้นเข้าขอรับสัตยาบันจากคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ในการประชุมครั้งถัดไปและได้รับมติเป็นเอกฉันท์ทุกกรณี
ด้านนายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การอนุมัติสินเชื่อหรือการลงทุนในกิจการที่มีประโยชน์โดยให้คณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารเป็นผู้พิจารณาก่อนแล้วค่อยขอรับสัตยาบันจากคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ในภายหลังนั้น เป็นการปรับกฎเกณฑ์ให้ธุรกิจพาณิชย์สามารถแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อได้สะดวกขึ้น
ขณะเดียวกันในช่วงอดีตที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์นิยมทำธุรกิจการเงินกับบุคคลที่ไว้ใจได้ แต่เมื่อธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้น ทำให้การอนุมัติสินเชื่อให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์แห่งนั้นได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังเชื่อว่าบริษัทต่างๆ ในภาคธุรกิจที่ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มาได้ ถือว่ามีก็มีหลักธรรมาภิบาลที่ดีพอสมควรในการดำเนินธุรกิจในระดับหนึ่ง จึงเชื่อว่าเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่สร้างปัญหาให้กับธนาคารพาณิชย์ในภายหลัง
“เรื่องที่แบงก์ชาติอนุมัติให้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่รุนแรง ซึ่งกฎเกณฑ์นี้ต่างชาติก็มีการใช้มาก่อนเราก็ไม่ได้เกิดปัญหาอะไร เพราะหากมีการปล่อยสินเชื่อให้กับพวกที่เกี่ยวข้องกับแบงก์พาณิชย์รายนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวกรรมการแบงก์ หรือผู้ที่รู้จักกับผู้จัดการใหญ่ ก็มีบอร์ดกรรมการใหญ่และกรรมการอิสระดูอีกชั้นหนึ่ง ก่อนพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออยู่ดี ถือว่าโปร่งใส อย่างไรก็ตามการปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ช่วยให้แบงก์พาณิชย์สามารถแข่งขันปล่อยสินเชื่อให้มีอย่างต่อเนื่องมากขึ้น”
ทั้งนี้ หากมีการเทียบตัวเลขยอดการให้สินเชื่อแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องของสถาบันการเงินระหว่างเดือนกรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ธปท.เริ่มมีการเก็บตัวเลขดังกล่าวกับตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2549 พบว่า สินเชื่อแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องในระบบสถาบันการเงินลดลงถึง 60,224.38 ล้านบาท หรือลดลง 23.60% โดยในเดือนสิงหาคม 2549 สถาบันการเงินมีการอนุมัติยอดสินเชื่อแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 195,011.90 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.31% โดยธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศมีการอนุมัติยอดสินเชื่อแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องมากที่สุดในระบบสถาบันการเงินอยู่ที่ 185,033.15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.56% รองลงมาสาขาธนาคารต่างประเทศ 9,927.90 ล้านบาท คิดเป็น 1.62% และบริษัทเงินทุน 50.85 ล้านบาท คิดเป็น 0.07%
แต่เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนกรกฎาคม 2543 สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 255,236.28 ล้านบาท คิดเป็น 4.93% แบ่งเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์เอกชน 123,385.76 ล้านบาท คิดเป็น 4.66% ธนาคารพาณิชย์รัฐ 122,004.09 ล้านบาท คิดเป็น 7.33% ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ 4,364.23 ล้านบาท คิดเป็น 0.69% บริษัทเงินทุน 5,051.93 ล้านบาท คิดเป็น 3.21% กิจการวิเทศธนกิจ 207.26 ล้านบาท คิดเป็น 0.41% และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 223.01 ล้านบาท คิดเป็น 6.54%
|