"วงการน้ำเมา” บี้รัฐแจงข้อห้ามชัดเจน เพื่อ “สิงห์” จี้รัฐต้องการความเท่าเทียม ชงเรื่องแบนถ่ายทอดสดทุกชนิด ไล่บี้รัฐขึ้นภาษีเหล้าขาว หวังดับช่องทางค่ายคู่แข่ง พร้อมชูโมเดลเหล้าขาวต้นแบบ แย้งไม่มีโฆษณาก็ขายได้ ส่วน “ไทยเบฟฯ”ชี้ ห้ามถ่ายทอดสดเรื่องยาก แจงวัตถุประสงค์หนุนทีมเอฟเวอร์ตันเพื่อกรุยทางตลาด “ริชมอนเด้” จับมือสมาพันธ์ฯยื่น 7 มาตรการทางออก ส่วนอุตสาหกรรมโฆษณาชี้โพลงแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ด้าน“หมอมงคล” เผย อย.จะออกคำสั่งควบคุมการห้ามโฆษณาเหล้า 24 ชม.วันพรุ่งนี้ คาดมีผลบังคับใช้ 5 ธ.ค. พร้อมชงร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าที่ประชุมครม.วันนี้ ระบุมีทั้งหมด 63 มาตรา 8 หมวด สรุปห้ามขายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ ห้ามโฆษณาสินค้าอื่นที่ใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับความเคลื่อนไหวผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้เรียกมาประชุมในวาระเรื่องห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.49) โดยมีตัวแทนจากบริษัทริชมอนเด้ บางกอก จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตระกูลจอห์นนี่ วอล์กเกอร์ ,บริษัทไทยเอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น ไทเกอร์ เชียร์, บริษัทสิงห์คอปอร์เรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอ และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเหล้าขาว เหล้าสี อาทิ แม่โขง แสงโสม และเบียร์ช้าง เป็นต้น รวมทั้งสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย เป็นต้น
“เบียร์สิงห์”ย้ำต้องคุมเข้มเท่าเทียมกัน
นายปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดฝ่ายโฆษณา บริษัท สิงห์คอปอร์เรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอ ไทเบียร์ กล่าวว่า กรณีภาครัฐห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา 24 ชั่วโมงทุกกรณี อยากเสนอภาครัฐให้พิจารณามาตรการที่ออกมาใช้ จะต้องวางแนวทางการปฏิบัติที่เท่าเทียม ทั้งผู้ประกอบการแบรนด์ไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีการยกเว้นการถ่ายทอดสดจากต่างประเทศ อาทิ การถ่ายทอดฟุตบอล เทนนิส ซึ่งจะเปิดช่องว่างให้กับแบรนด์ต่างประเทศซึ่งโดยมากจะมีโฆษณาลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว อย่างบัดไวเซอร์ที่ผ่านมาไม่มีโฆษณาในไทยแต่ก็สามารถขายได้ ในขณะที่สินค้าไทยการโฆษณาต่างประเทศ ต้องใช้งบเป็นจำนวนมากไม่สามารถทำได้
“กลไกการตลาด การโฆษณาทำให้สินค้าต้องขายแพงขึ้น เพราะมีต้นทุนทางการตลาด แต่การห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โฆษณา จะทำให้ผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกลง เพราะไม่มีต้นทุนการสร้างแบรนด์ ซึ่งผมมองว่าภัยสงครามราคาเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐต้องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องวางแนวทางควบคุมทั้งหมด เพราะปัญหาเยาวชน และอุบัติเหตุการดื่มสุรา ส่วนหนึ่งต้องแก้จากครอบครัว และสังคม โดยมองว่าการห้ามโฆษณาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเท่านั้น ขณะเดียวกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ถูกเก็บภาษีต่ำ อย่างเหล้าขาวซึ่งเป็นตลาดเซกเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด แต่กลับเป็นเหล้าที่ถูกจัดเก็บภาษีต่ำที่สุด ภาครัฐควรจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้คงต้องรอดูถึงความชัดเจนของมาตรการในครั้งนี้ ว่าจะมีทิศทางอย่างไรบ้าง สำหรับกรณีพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ว่าด้วยในส่วนของข้อความ หมายถึง การกระทำให้ปรากฏด้วยอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสงเสียง เครื่องหมาย หรือการกระทำอย่างใดๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้ธุรกิจอื่นๆ อย่างน้ำดื่มหรือโซดาสิงห์ ไม่สามารถโฆษณาได้ และเสียเปรียบคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น สินค้าของเสริมสุข หรือ คริสตัล สามารถโฆษณาได้ โดยหากมีมาตราดังกล่าว บริษัทฯจะชี้แจงหรือโต้แย้ง เพื่อขอความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ
ช้างโต้สิงห์ทันควัน
นายสมชัย สุทธิกุลพาณิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ไทย เบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ช้าง เหล้าขาว กล่าวว่า ภาครัฐออกมาควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่ต้องดูถึงความชัดเจนของกฎหมายก่อน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโฆษณามีส่วนช่วยขยายตลาดและสร้างภาพลักษณ์สินค้า แต่พอการแข่งขันสูงแต่ละค่ายเปิดตัวโฆษณาก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้บริโภคไป ซึ่งเหล้าขาวถือว่าเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ว่า ไม่มีโฆษณาก็สามารถขายได้
ส่วนกรณีการห้ามถ่ายทอดสดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬา เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยากในเชิงปฏิบัติ ซึ่งสินค้าคู่แข่งมองว่าเบียร์ช้างได้เปรียบ เพราะเป็นสปอนเซอร์เสื้อทีมเอฟเวอร์ตัน ทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก แต่วัตถุประสงค์ของเบียร์ช้างที่เป็นสปอนเซอร์ เพราะต้องการขยายตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่กรณีการปรับภาษีเหล้าขาวเพิ่มขึ้น จะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะเหล้าขาวเป็นวิถีชีวิตของชุมชน เมื่อเหล้าขาวมีราคาแพง คนก็จะแห่ต้มเหล้าเถื่อนกินเอง ยิ่งทำให้ภาครัฐควบคุมได้ยาก
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทฯยังไม่มีแนวทางปรับแผนแต่อย่างใด คงต้องรอดูแนวทางของภาครัฐก่อน ส่วนแผนการบุกตลาดต่างประเทศเพื่อชดเชยกับตลาดภายในประเทศที่ทำได้ยากขึ้นนั้น ที่ผ่านมาบริษัทฯได้วางแนวทางขยายตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว แต่เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น โดยสัดส่วนรายได้ที่มาจากต่างประเทศมีไม่ถึง 10% สำหรับอัตราการเติบโตเบียร์ในประเทศที่ผ่านมาเติบโตไม่มากนัก ทำให้ผู้ประกอบการสร้างเซกเมนต์ใหม่ ไลท์เบียร์ขึ้นมากระตุ้นตลาด ซึ่งกรณีการห้ามโฆษณาจะทำให้เบียร์เซกเมนต์ใหม่ มีอัตราการเติบโตแบบธรรมชาติมากกว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดด
**ริชมอนเด้ชงสมาพันธ์ฯยื่น7 มาตรการ**
ตัวแทนจากบริษัทริชมอนเด้ บางกอก ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหากภาครัฐมีมาตรการออกมาบังคับอย่างชัดเจน ทางบริษัทฯก็พร้อมที่จะปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางบริษัทฯหนึ่งในผู้สนับสนุนสมาพันธ์ช่วยภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์ โดยมีนายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์ฯ ได้ยื่นเสนอ 7 มาตรการเพื่อให้ภาครัฐพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นี้ โดยมีนพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับเรื่อง
ประกอบด้วย 1.ร่างการจัดระเบียบการทำงานร่วมกับภาครัฐ 2. การสนับสนุนการใช้บังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ 3.การให้ความรู้แก่ประชาชนให้รู้เท่าทันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.กำหนดอายุผู้ซื้อสูงขึ้นเป็น 20 ปีจาก 18 ปี 5. ร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะร่วมกับภาครัฐเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในทางปฎบัติ 6.รณรณงค์การดื่มไม่ขับเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ 7.ป้องกันเด็กหน้าใหม่ที่เข้ามาดื่ม ด้วยการตรวจบัตรประชาชนก่อนซื้อตามร้าน7-11ใน60 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ส่วนวันที่ 17 ตุลาคม นี้ จะหารือกับสมาชิกของสมาพันธ์ฯ ซึ่งมีทั้งหมด 24องค์กร เพื่อประเมินถึงความเสียหาย เพื่อยื่นให้กับทางภาครัฐพิจารณาอีกครั้ง
**ส.โฆษณาโต้รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด**
นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศ กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐพิจารณาว่า การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ ถ้าจะทำสิ่งแรก คือ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 10 ปีที่ผ่านมา มีกฎระทรวงมากมาย ทั้งห้ามโฆษณาก่อนเวลา 22.00น. ควบคุมเนื้อหาโฆษณา แต่อุบัติเหตุหรือยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดลง โมเดลเหล้าขาว ชี้ชัด ว่าเป็นเหล้าที่ไม่มีโฆษณา แต่ปัจจุบันมียอดขายสูงถึง 253 ล้านลิตร หรือคิด33% ของตลาดรวม และคิดเป็น 68% ของเหล้าวิสกี้นำเข้า อยากฝากให้ภาครัฐพิจารณาถึงการสูญเสียรายได้ อย่างเฉพาะวงการโฆษณารวมแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท รวมทั้งความเท่าเทียมกันทางการแข่งขัน ภาครัฐได้เตรียมการชดเชยอย่างไร
“มีวิธีหลายอย่างที่ภาครัฐสามารถทำได้ เช่น ขอความร่วมมือในการรณรงค์การดื่ม แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้เชิญผู้ประกอบการหรือกระทั่งสมาคมโฆษณาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตามในด้านอุตสาหกรรมโฆษณา คงต้องเตรียมตัวปรับแผนกันอีกครั้ง”
นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา จากที่เคยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2546 ห้ามการโฆษณาทุกรูปแบบ ในช่วงเวลา 05.00 น. - 22.00 น. แต่ข้อมูลจากการเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.48 - 30 เม.ย.49 พบว่า ยังมีการละเมิดกติกามาโดยตลอด
"มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางแฝงทางโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ไอทีวี ในช่วงเวลา 16.00 น. - 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาห้ามโฆษณา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 105 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม 2548 เป็น 237 ครั้งในเดือนเมษายน 2549 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 126 ภายในเวลาเพียง 9 เดือน มากที่สุดในรายการข่าว ส่วนการโฆษณาแฝงมักอยู่ในรูปของกราฟิก ฉากหลังสัญลักษณ์ต่างๆ ส่วนการโฆษณาตรงจะอยู่การถ่ายทอดสดกีฬา แทรกในสารคดี และสกู๊ปข่าวภาคค่ำ" นพ.มงคล กล่าว
**ออกคำสั่งห้ามโฆษณาวันนี้
สำหรับการประชุมเรื่อง “การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เมื่อวานนี้ โดยมีทั้งคณะกรรมการ คบอช. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นักการเมือง มหาวิทยาลัย องค์กรทางศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน ซึ่งตัวแทนของบริษัทเหล้าที่เข้าร่วมประชุม ตัวแทนผู้จำหน่าย เช่น เซเว่น –อีเลฟเว่น ห้างบิ๊กซี เดอะมอล์กรุ๊ป ส่วนบริษัทโฆษณา เช่น บริษัท ส.ธนา มีเดีย จำกัด บริษัทโอกิลวี่ จำกัด เป็นต้น
นพ.มงคล กล่าวว่า ได้ให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกคำสั่งให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสินค้าอันตรายต่อสุขภาพ ต้องควบคุมฉลาก และขั้นต่อไปที่จะดำเนินการคือ ภายในวันนี้ (17 ต.ค.) จะออกคำสั่งห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 5 ธ.ค.49
“การจำกัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะห้ามมิให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มในสิ่งพิมพ์ เทปโทรทัศน์ หรือวิทยุกระจายเสียง ตลอด 24 ชั่วโมง ฝ่าฝืนจำคุก 3 เดือนปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการห้ามโฆษณาอย่างสิ้นเชิงนี้มีผลการศึกษายืนยันว่าสามารถป้องกันวัยรุ่น เยาวชนลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉลี่ยร้อยละ 24 ต่อเดือน และลดการดื่มแบบหัวราน้ำ หรือดื่มเหล้า 5 แก้วใน 1 วันลงได้ร้อยละ 42 ต่อเดือน”
สำหรับข้อยกเว้นมีอยู่ 2 ข้อคือ การโฆษณาในสิ่งพิมพ์ซึ่งจัดพิมพ์นอกราชอาณาจักร โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ให้นำเข้ามาจำหน่าย จ่าย แจก ในราชอาณาจักรโดยเฉพาะ รวมทั้งการถ่ายทอดสดเหตุการณ์สดจากต่างประเทศทางวิทยุโทรทัศน์ที่มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะออกอากาศในราชอาณาจักรไทยโดยเฉพาะ (ทั้งนี้ไม่รวมการโฆษณาที่แทรกหรือคั่นระหว่างการถ่ายทอดสด)
**ชงพ.ร.บ.เหล้าเข้าครม.วันนี้
นพ.มงคลกล่าวต่อว่า จะเสนอร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าที่ประชุมครม.วันนี้(17 ต.ค.) เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย มีทั้งหมด 63 มาตรา 8 หมวด โดยสาระสำคัญกำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องพิมพ์ฉลากข้อความ คำเตือน การกำหนดเขตปลอดเหล้า 100% เช่น ในวัดหรือศาสนาสถาน สถานที่ราชการ โรงเรียน ที่สาธารณะ กำหนดวันเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามขายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์(จากเดิมห้ามขายอายุต่ำกว่า 18 ปีตั้งแต่ในปี 2547) หรือห้ามขายให้กับผู้ที่มีอาการมึนเมา ห้ามขายแบบเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ การลดแลกแจกแถมรวมทั้งการห้ามโฆษณาในสื่อทุกประเภท
ทั้งนี้ ยังรวมถึงการห้ามโฆษณาสินค้าอื่นที่ใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา เช่น หากกระทำผิดการโฆษณา โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้จะต้องระวางโทษอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะทำถูกต้องตามกฎหมาย
นอจากนั้น จะนำข้อเสนอผู้ประกอบการ หน่วยงานต่างๆ รับไปพิจารณา ทั้งการขึ้นภาษีเหล้าขาว-เบียร์เป็นข้อเสนอที่ดีมาก ซึ่งจะนำไปปรึกษากันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามหากกฎหมายผ่านได้ด้วยดีมีการบังคับใช้ การที่ผู้ประกอบการไม่เสียค่าโฆษณาแต่เพิ่มในการเสียภาษี 1-2% ก็สามารถนำมาดูแลสุขภาพประชาชนได้
***ยันเสมอภาค-ตั้งกก.ติดตามใกล้ชิด
นพ.เรวัติ วิศรุตเวช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ว่า ถ้าใช้ตามหลักการตามที่ประกาศฉบับนี้จะถือว่ามีความเสมอภาคแล้ว เพราะหากผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปสนับสนุนกีฬาที่ถ่ายทอดสดจากต่างประเทศก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ร่างประกาศฉบับดังกล่าว มีความชัดเจนทุกอย่างแล้ว ซึ่งภก.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รักษาการเลขาธิการอย.จะลงนามในประกาศในวันที่ 17 ต.ค.นี้
“ใจจริงแล้วคณะกรรมการทุกท่านอยากให้มีการควบคุมการโฆษณา 100 % โดยไม่มีการยกเว้นใดๆเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเราไม่สามารถห้ามไม่ให้มีการถ่ายทอดสดกีฬาที่มีโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาด้วย หรือการปิดบังโลโก้ที่อยู่ในสนามกีฬาที่กำลังถ่ายทอดสดอยู่นั้น ซึ่งทางเทคนิคแล้วจะทำให้ดูไม่รู้เรื่อง อีกทั้งสธ.ต้องการให้ประชาชนออกกำลังกาย และส่งเสริมด้านกีฬา”นพ.เรวัติ กล่าว
นพ.เรวัติ กล่าวว่า ทั้งนี้รายการกีฬาที่มีภาพโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในสนามแข่ง ก็ถือว่าไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ ต้องมีการเบลอโลโก้นั้นเสีย เพราะถือว่าไม่ใช่รายการถ่ายทอดสดจากต่างประเทศ โดยจะมีคณะกรรมการเฝ้าติดตามการเผยแพร่ของสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามสื่อสิ่งพิมพ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยไม่มีเจตนามาขาย หรือจ่ายแจกในประเทศ คงได้รับการยกเว้นด้วย เพราะมิฉะนั้น ใครพก นิตยสารมาคงต้องถูกจับหมด
|