บมจ.แอสเซท พลัส ในเดือนมกราคม 2546 ที่ผ่านมา มีอายุก่อตั้งครบ 10 ปีพอดี
ถือว่าผ่านร้อนหนาวมาพอสมควรสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่สร้างรายได้จากค่าธรรม
เนียมในการทำดีลวาณิชธนกิจ หรือ Investment Bank และค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
ในช่วงปี 2538 ซึ่งเป็นยุคทองของตลาดทุนไทย แอสเซท พลัส ในช่วงนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นมือหนึ่งในการทำดีลควบรวมกิจการ
หรือ Merger & Acquisition (M&A) ส่วนใน ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการทำอันเดอร์ไรต์หุ้นใหม่เข้าตลาดหลักทรัพย์มากที่สุด
ครองส่วนแบ่งตลาด IPO สูงสุดราว 80% (IPO = Initial Public Offering)
ความสำเร็จทั้งหลายของแอสเซทพลัสต้องยกให้เป็นฝีมือการนำและการบริหารของ
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท
และยังมีเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งในปีที่ผ่านมาคือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
และหุ้นก็มีราคาดีเป็นที่สนใจของนักลงทุนโดยตลอด เรียกได้ว่าราคาหุ้นสูงกว่าบาง
บล.ที่จดทะเบียนอยู่ก่อน หน้าหรือก่อตั้งมาก่อนแอสเซท พลัส ด้วยซ้ำ
แอสเซท พลัส จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 18 ก.ย.2545 ด้วยทุน
จดทะเบียน 60 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 5 บาท คิดเป็นเงินทุนจดทะเบียน 300
ล้านบาท กำหนดราคาเสนอขายครั้งแรก (IPO price) ที่หุ้นละ 25 บาท ราคาปิดวันแรกที่เข้าเทรดอยู่ที่หุ้นละ
28.50 บาท หรือมีราคาสูงกว่าจองราว 14%
จากบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 300 ล้าน บาท ปัจจุบันมีมูลค่าตามราคาตลาด
ขึ้นเป็น ระดับ 1,700 กว่าล้านบาทแล้ว และนักวิเคราะห์ก็คาดหมายว่าบริษัทฯ
จะมีอัตราการเติบโตของกำไรในปี 2545 ถึง 33% หรือเพิ่มขึ้นจากกำไรระดับ 104
ล้านบาทในปี 2544 มาเป็น 139 ล้านบาทในปี 2545 และมีการคาดหมายราคาเป้าหมายหุ้น
1 ปีว่าอยู่ ที่ระดับ 34.70 บาท ซึ่งก็เท่ากับดันมูลค่าตาม ราคาตลาดขึ้นสู่ระดับ
2,000 กว่าล้านบาท
นอกจากนี้ ดร.ก้องเกียรติยังมีการบริหารเงินลงทุนมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท
เป็น Portfolio Investment ที่ทำมานานแล้ว โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในการลงทุนที่ปลอดภัย
conservative) นั่นก็คือตราสารหนี้ ต่างๆ มีเงินลงทุนอยู่ในหุ้นเพียง 10%-20%
นั้น ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกแปลกใจว่าแอสเซทพลัสมีบทบาทโดดเด่นในตลาดทุน แต่ทำไมเวลาที่บริหารเงินลงทุนจริงๆ
กลับเอาไปไว้ในตลาดตราสารหนี้
ไม่ใช่ว่าเขาไม่สนใจลงทุน ในตลาดทุน แต่มุมมองของเขาแปลกไปจากนักลงทุนคนอื่นๆ
เขายินดีที่จะเสี่ยงเสมอ หากการเสี่ยงนั้นให้ผลตอบแทนคุ้มค่า เพราะเขาบอกอยู่ตลอดเวลาว่า
"เราพร้อมที่จะเสี่ยง แต่ผมยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่น่าสนใจที่จะไปเสี่ยง
ก็อย่าง ที่ผมเคยเล่าให้ฟังหลายที เราเสี่ยงแต่ไม่ต้องไปเสี่ยงบ่อย นานๆ
เสี่ยงที แต่เสี่ยงทีละเยอะๆ เท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็นอะไรน่าสนใจ
ที่จะเสี่ยงมาก"
ผลงานความสำเร็จที่แอสเซท พลัสต้องถือว่าไม่ใช่ฝีมือแบบธรรมดาๆ แน่นอน
และในวงการหลักทรัพย์ก็ไม่ได้ตีค่า ดร.ก้องเกียรติและแอสเซท พลัส แบบธรรมดาด้วย
!
เป็นเพราะมุมมองของเขาที่ต่างออกไปจากคนอื่นๆ หรือไม่ เช่น ความสำเร็จตอนเอาหุ้นช่อง
3 หรือบริษัท บีอีซี เวิลด์ เข้าจดทะเบียนในตลาด ซึ่งก็ถือเป็น IPO ตัว ท้ายๆ
ก่อนที่ตลาดหุ้นไทยจะพบวิกฤติ แต่นักลงทุนก็จดจำตรึงใจกับฝีมือของเขา จนตอนนี้เขากลายเป็นมือโปรในการปั้นหุ้นกลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ไปแล้ว
ความสำเร็จจากช่อง 3 ทำให้เขาเกิดความเชื่อว่า "ในช่วงที่สภาพตลาดไม่ดี
คุณก็สามารถระดมเงินได้หากบริษัทของคุณดีจริง หลายคนบอกว่ารอให้ดัชนีขึ้นอีก
5% หรือ 10% ผมบอกว่าไม่ต้องรอหรอก หรือบางคนบอกต้องรอดัชนี 500 จึงเอาของออกมาขาย
ผมบอกว่าหากของคุณดีจริง ดัชนีที่ 350 หรือ 500 นี่ตลาดตีราคาให้ใกล้เคียงกัน
นักลงทุนตีราคา ให้ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว เพราะของดีมีพรีเมียม เสมอ"
นอกจากนี้เขายังชอบทำแต่สิ่งที่ตัวเองมีความถนัด อย่างการทำอันเดอร์ไรต์หุ้นใหม่
แม้เขาจะเป็นเจ้าตลาดอยู่ก็จริง แต่เขาก็ยอมรับว่าไม่สามารถรับทำให้ลูกค้าทุกรายที่มาหาเขาได้
เพราะต้องดูองค์ประกอบหลาย อย่าง โดยเฉพาะเรื่องขนาดของกิจการ ส่วนหุ้นรัฐวิสาหกิจนั้นจะเห็นได้ชัดว่าเขาไม่ไปแย่งตลาดนี้กับ
บล.อื่นๆ มีทำอยู่บ้าง แต่เขา ไม่ถือว่าเป็นงานหลัก หรืออย่างการแข่งขันสร้าง
volume ซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ในยุคที่เป็นคอมมิชชั่นเสรี
เขาไม่ทำเรื่องนี้ แต่เมื่อเปลี่ยน มาเป็นการกำหนดค่าคอมมิชชั่นตายตัว เขาก็เริ่มขยายงานด้านนี้
และได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอย่างน่าพอใจ
กล่าวได้ว่าปี 2545 ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของแอสเซท พลัส ไม่ว่าจะเป็นการครองส่วนแบ่งตลาด
IPO สูงสุด นำหุ้นบริษัท เองเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การรุกขยายงานด้านซื้อขายหลักทรัพย์อย่างหนัก
แต่สิ่งที่ ดร.ก้องเกียรติบอกว่าภูมิใจมากในปีที่ผ่านมาคือความสำเร็จของลูกค้า
(ซึ่งก็คือผลงานที่ประสบความสำเร็จของบริษัทนั่นเอง)
เขาบอกกับผู้เขียนว่า "จุดที่เราภูมิใจคือเราทำให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาอยากจะทำ
ไม่ว่าเรื่องการระดมทุน เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ การลงทุนส่วนตัวหรือส่วนบริษัท
ผมว่านี่คือความภูมิใจของเรา และเราสามารถทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในบริษัทของเรา
ทั้งๆ ที่เขาสามารถเชื่อคนอื่นได้ ผม ว่านี่เป็นจุดสำคัญ"
ส่วนในการย่างก้าวขึ้นสู่ปีที่ 11 ของอายุบริษัทนั้น เขามีแนวทางที่ชัดเจนและได้ริเริ่มสร้างมาพักหนึ่งแล้วคือ
เอกลักษณ์ของบริษัท เขาบอกว่า "เราคงเก็บเอกลักษณ์ของ เราไว้ นั่นคือการเป็น
บริษัทไทย ที่ทำงานด้วยมาตรฐานสากล เราจะเป็นผู้นำ IPO ของบริษัทเอกชน เราคงไปแข่งกับหลายคนไม่ได้ในเรื่องรัฐวิสาหกิจ
และอันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เน้นมากมาย แต่เรื่องบริษัทเอกชนนี่ผมคิดว่าเราชนกับทุกคนได้
นะครับ อันที่สองนี่คือเรายังเน้นเรื่องคุณภาพของการให้บริการกับลูกค้าอย่างครบวงจร
อันนี้สำคัญ ลูกค้าที่มาคุยกับเราสามารถที่จะได้รับคำอธิบายในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องได้
ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง IPO อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การลงทุนส่วนบุคคล
ส่วนบริษัท หรือแผนในการระดมทุนเพิ่มเติม ทำ ESOP กับพนักงานในวันข้างหน้า
หรือการจะออกหุ้นกู้ เราสามารถให้คำปรึกษาได้หมด ก็คืออยากให้แอสเซท พลัส
นี่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินกับลูกค้าในทุกๆ ด้าน ที่ปรึกษาส่วนตัว ที่ปรึกษา
บริษัท"
แง่มุมที่น่าสนใจที่สุดของ ดร.ก้องเกียรติ ที่น่าจะได้รับนิยามว่าเป็น
"มนุษย์ทองคำ" ตัวจริงในตลาดทุนไทยก็คือเขามีวิธีทำอย่างไรจึงสามารถประคองตัวเองรอดมาได้อย่างดีในทุกสถานการณ์
เขาเปิดเผยเคล็ดลับในเรื่องนี้ว่า "เราต้องคิด ต้องมองไป ข้างหน้าเสมอ
คิดว่าโอกาสอยู่ที่ไหน ใช่ครับ เราต้องมองต่างจากคนอื่น เพราะว่าสิ่งที่คนอื่นเห็นหมดแล้วนี่
มันไม่มีโอกาสให้คุณแล้ว ถ้ามีมาร์จินมันจะน้อย มาร์จินของผลตอบ แทนจะต่ำมาก
เพราะฉะนั้นไม่ควรจะไปทำ และคน 80%-90% จะไปทำสิ่งพวกนั้น เราก็จะไม่ไปแย่งเขา
ก็เป็นคนละตลาด
แต่หากเราอยู่ใน curve ของเราซึ่งมันมีจุดเด่น และคู่แข่งน้อย มาร์จินสูง
และต้องใช้ความสามารถเฉพาะอย่าง ของเราเข้าไป มันจะเป็น barrier to entry
ด้วย คือหาก stamp brand Asset Plus ลงไป ผมคิดว่าเราขายได้นะ เพราะว่าเรา
position ตัวของเราเป็น premium brand ลูกค้าที่ได้ stamp จากเรานี่อย่างน้อยเขาไปพูดกับคนอื่นๆ
ได้ว่าเราทำ due diligence เขามาแล้ว"