พบ "ชิน คอร์ปอเรชั่น" อาศัยช่องโหว่หลักเกณฑ์ "โฮลดิ้ง คอมปานี" ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้สิทธิบริษัทจดทะเบียนเกิน 3 ปี สามารถเลือกบริษัทแกนถือหุ้นในสัดส่วนเกิน 75% ได้อย่างเสรี ระบุปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับบริษัทแกนของ SHIN แม้มีถึง 8 บริษัทที่ถือหุ้นเกิน 75% แต่บางแห่งมีทุนจดทะเบียนไม่กี่สิบล้านบาท ขณะที่รายได้หลักยังมาจาก ADVANC แต่ถือหุ้นอยู่แค่ 42%
จากการรวบรวมข้อมูลของ "ผู้จัดการรายวัน" เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ที่แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ระบุว่าบริษัทดำเนินธุรกิจในลักษณะษริษัทโฮลดิ้ง คอมปานี (Holding Company) คือ การเข้าไปถือหุ้นและบริหารงานในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจต่างๆ แบ่งเป็น สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย สายธุรกิจสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ สายธุรกิจสื่อและโฆษณา สายธุรกิจ E-Business และธุรกิจอื่นๆ
ทั้งนี้ ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เกี่ยวกับลักษณะของโฮลดิ้ง คอมปานี คือ บริษัทที่ไม่มีธุรกิจของบริษัท แต่สามารถจดทะเบียนได้ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai)ได้ แต่จะต้องเลือกบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลัก (บริษัทแกน) ที่บริษัทโฮลดิ้งต้องเข้าไปถือครองหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 75% ของทุนจดทะเบียนในบริษัทดังกล่าว
สำหรับคุณสมบัติของบริษัทแกน ซึ่งจะใช้พิจารณาในขั้นตอนของการรับหลักทรัพย์ใหม่ จะต้องเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเป็นของตัวเอง และฐานะทางการเงินรวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามเกณฑ์รับหลักทรัพย์ โดยบริษัทแกนจะต้องไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนทั้งใน SET และ mai โดยบริษัทที่ขอจดทะเบียนเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี สามารถเปลี่ยนบริษัทที่ใช้เป็นบริษัทแกนได้ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
หากพิจารณาตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพบว่ากรณีบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี เข้าไปถือหุ้นในบริษัทย่อยในสัดส่วนที่สูงกว่า 75% จำนวน 8 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด สัดส่วน 99.99%, บริษัท โปรเฟสชันแนล คอลเลคชั่น จำกัด สัดส่วน 99.99%, บริษัท เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัด สัดส่วน 99.99%, บริษัท เอดี เวนเจอร์ จำกัด สัดส่วน 99.99%, บริษัท เอสซี แมทซบอกซ์ จำกัด สัดส่วน 99.96%, บริษัท ไอ.ที.แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด สัดส่วน 99.99%, บริษัท ชินวัตรเทเลวิช จำกัด สัดส่วน 100%, บริษัท ชินวัตรอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด สัดส่วน 100%
ขณะที่ บริษัทที่มีสัดส่วนลงทุนต่ำกว่า 75% จำนวน 9 บริษัท ซึ่งแบ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 4 บริษัท ประกอบด้วยบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ถือ 41.33%, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 42.82%, บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 52.92%, บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ถือ 40.02%
นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนต่ำกว่า 75% ประกอบด้วย บริษัท ชินวัตรไดเร็คทอรี่ส์ จำกัด สัดส่วน 51%, บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด สัดส่วน38.25%, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด สัดส่วน 50%, บริษัท อาร์ค ไซเบอร์ จำกัด สัดส่วน 47.5% และบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด สัดส่วน 49%
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำหนดให้บริษัทโฮลดิ้ง ต้องถือหุ้นในบริษัทแกนไม่ต่ำกว่า 75% แต่ปรากฏว่า บริษัทที่ SHIN เข้าถือหุ้นมากกว่า 75% ทั้ง 8 บริษัท โดยบางบริษัทมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วเพียง 100 ล้านบาท ขณะที่ SHIN มีทุนจดทะเบียนสูงถึง 5,000 ล้านบาท เรียกชำระแล้วเกือบ 3,200 ล้านบาท รวมทั้งรายได้หลักยังมาจาก ADVANC ที่ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 42.82% เท่านั้น
โดยผลการดำเนินงานล่าสุด งวดไตรมาส 2 สิ้นสุด 30 กันยายน 2549 SHIN มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียรวม 1,611 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ 2,269 ล้านบาท ลดลงประมาณ 29% ขณะที่เป็นส่วนแบ่งกำไรจาก ADVANC สูงถึง 1,761 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนรวมทั้งหมดของบริษัท
ขณะเดียวกัน ยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎเกณฑ์โฮลดิ้ง คอมปานี ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะประเด็นการพิจารณาเลือกบริษัทแกนที่เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนได้อย่างเสรี โดยไม่ข้อกำหนดที่ชัดเจน หลังจากที่เข้าจดทะเบียนแล้ว 3 ปี จนกระทั่งขณะนี้ไม่สามารถระบุได้ว่า SHIN มีบริษัทใดเป็นบริษัทแกนและดำเนินธุรกิจประเภทใด
"หลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนและรัดกุม อาจทำให้บริษัทโฮลดิ้งต่างๆ อาศัยช่องโหว่ของกฎเกณฑ์เปลี่ยนแปลงบริษัทแกนได้ตามใจชอบ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีกฎเกณฑ์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือรายละเอียดที่สำคัญของบริษัทที่จะต้องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมในสัดส่วน 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าร่วมประชุมก็ตาม"
นอกจากนี้ ประเด็นที่มีตั้งข้อสังเกตกันมากคือ การพิจารณาในการรับหลักทรัพย์จดทะเบียนของบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น กับกรณีบริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ UCOM มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
โดยก่อนหน้านี้บริษัท โทเทิ่ล คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ แทค เคยยื่นเรื่องต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอเข้าจดทะเบียนแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ทั้งๆ ที่ ณ ขณะนั้น UCOM มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่ได้จดทะเบียนเป็นโฮลดิ้ง คอมปานี
จากการสอบถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับคำตอบว่า ปกติการเลือกบริษัทแกนของโฮลดิ้ง คอมปานี นอกเหนือจากสัดส่วนการถือหุ้นที่ต้องไม่น้อยกว่า 75% แล้ว บริษัทแกนจะเป็นบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดของบริษัทในกลุ่ม แต่อาจจะมีโฮลดิ้ง คอมปานี บางบริษัทที่เลือกบริษัทที่ไม่ได้มีรายได้สูงเป็นบริษัทแกนซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
"การพิจารณากฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกรณีลักษณะการดำรงสถานะของบริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่เข้มงวดเหมือนกรณีการรับหลักทรัพย์ใหม่ โดยอาจจะกฎเกณฑ์ในบางเรื่องที่ต่างออกไปบ้างเช่นเรื่องการเลือกบริษัทแกนอาจจะไม่ต้องออกมาระบุว่าโฮลดิ้ง คอมปานี แห่งนั้นเลือกบริษัทใดเป็นบริษัทแกน แต่รายได้และสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทจะต้องทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นได้ว่าบริษัทดังกล่าวมีธุรกิจแกนและสามารถสร้างผลการดำเนินงานได้"
สำหรับกรณีของบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ปัจจุบันจากข้อมูลไม่ได้เลือกบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสเป็นบริษัทแกน แม้ว่าจะเป็นบริษัทที่สามารถสร้างรายได้หลักให้กับ SHIN เนื่องจากสัดส่วนการถือครองหุ้นไม่ถึง 75% ตากเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด ซึ่งบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่นได้เลือกบริษัทอื่นที่ถือหุ้นในสัดส่วนที่เกิน 75% เป็นบริษัทแกน แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ คงไม่จำเป็นต้องเข้าไปสอบถามว่าเลือกบริษัทใดเป็นบริษัทแกนหากยังสามารถสร้างผลการดำเนินงานให้กับผู้ถือหุ้นได้
"ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกบริษัทแกน หรือเปลี่ยนบริษัทแกนของโฮลดิ้ง คอมปานี ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งแตกต่างจากขั้นตอนการรับหลักทรพัย์ใหม่ของบริษัทโฮลดิ้งที่จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนและเข้มงวด"
|