ประมาณ 50 ปีมาแล้วที่ Laura Ashley สร้างตำนานแห่งงานออกแบบลายผ้าจนสะเทือนโลกแห่งศตวรรษที่
20 ด้วยการใช้โต๊ะในห้องครัวที่ Pimlico กรุงลอนดอน เป็นที่ผลิตผ้าพันคอ
20 ผืนด้วย เทคนิคซิลค์สกรีนที่สามีเป็นคนทำให้ งานออกแบบของเธอเป็นที่นิยมติดตลาดทันที
จึงมีผลิตภัณฑ์ ประเภทผ้าเช็ดถ้วยชาม ผ้ากันเปื้อน และผ้าเช็ดปากป้อนตลาดตามมา
จนทำให้ Bernard ผู้สามีตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาก่อตั้งธุรกิจพิมพ์ผ้าที่
Laura เป็นผู้ออกแบบ
นอกจากนิตยสาร Homes & Gardens ฉบับเดือนตุลาคม จะย้อนอดีตอันเกรียงไกรของอาณาจักรธุรกิจร้าน
Laura Ashley ที่เคยมีกว่า 500 แห่งใน 28 ประเทศแล้ว ยังบอกเล่าถึงก้าวย่างใหม่ของครอบครัว
Ashley กับร้าน Elanbach ที่ถือกำเนิดและเติบโตมากับเทคโนโลยียุคดิจิตอลโดยแท้จริง
พร้อมกับยึดหลักการดำเนินธุรกิจแบบ "Small is beautiful"
ตำนานแห่งการสร้างตัวของสองสามีภรรยาจากความไม่มีอะไรสู่ความร่ำรวยมั่งคั่ง
พร้อมกับการมีบทบาทสำคัญที่ทำให้โลกคลั่งไคล้กระโปรงผ้าลายดอกไม้ และผ้าดอกสีต่างๆ
ที่ขัดเป็นมันสำหรับหุ้มเฟอร์นิเจอร์ (chintz furnishing fabrics) ซึ่ง Laura
เป็นผู้ออกแบบเริ่มต้นที่ธุรกิจเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนทำให้เมืองในแคว้นเวลส์ที่พวกเขาไปตั้งโรงงานหลายเมือง
ในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย
แต่แล้วโศกนาฏกรรมของครอบครัวก็อุบัติขึ้นเพียง 1 เดือนก่อนหน้าที่บริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์
ในปี 1984 เมื่อ Laura ตกบันไดที่บ้านของลูกสาวคนโตในคืนที่เธอฉลองวันเกิดครบรอบ
60 ปี และเสียชีวิตในอีก 9 วันต่อมา
Bernard ผู้สามีซึ่งปัจจุบันได้เป็น "Sir" จึงรับช่วงดำเนินธุรกิจต่อมา
แต่ก็อยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ เพราะช่วงทศวรรษ 1980 วงการแฟชั่นเลิกนิยมผ้าลายดอกไม้กัน
ผู้หญิงหันมาสวม "สูท" ทำงานกันเป็นแถว
เมื่อถึงปี 1989 กิจการมีหนี้ท่วมราว 107 ล้านปอนด์ หลังจากนั้น Aeon กลุ่มบริษัทญี่ปุ่นจึงเข้าช่วย
เหลือด้านการเงิน และช่วยบริหารให้กิจการฟื้นคืนสู่ความ รุ่งเรืองเหมือนเมื่ออดีตจนสามารถทำกำไรได้ในปัจจุบัน
ตัว Sir Bernard วางมือจากบริษัทเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วก็จริง แต่ก่อนหน้าจะเกษียณตัวเอง
เขาให้ความสนใจกับกระบวนการผลิตผ้าแบบใหม่คือ digital printing มาก และเมื่อ
2 ปีที่แล้ว เมื่อได้อ่านบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้เขาเกิดประกายความคิดเรื่องการพิมพ์ผ้าลายสีสดใสที่เขาเคยทำสมัย
Laura Ashley ภรรยาผู้ล่วงลับเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ
Sir Bernard พบว่าความก้าวหน้าทางเทคนิคทำให้สามารถ พิมพ์ผ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอด
24 ชั่วโมง ทำให้เขาตัดสินใจกระโจนลงสู่ธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง ยกเลิกการเกษียณตัวเองไปเลย
แล้วตั้งบริษัทใหม่ที่ทำธุรกิจพิมพ์ผ้าและเป็นธุรกิจครอบครัวคือ Elanbach
โดยตั้งชื่อตามหุบเขา Elan Valley ในแคว้น Wales ซึ่งครอบครัวของเขายังใช้เป็นที่พำนักอยู่ในปัจจุบัน
Elanbach โดดเด่นจากธุรกิจประเภทเดียวกันเพราะใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด "digital
printing เป็นเทคนิคการพิมพ์ผ้าที่ไม่น่าเชื่อเลย" Sir Bernard อธิบายด้วยความภาคภูมิ
"เราสามารถเล่นสีได้นับพันๆ สี เมื่อเทียบกับระบบเก่าคือ analogue printing
ที่มีเพียง 12 สี เพียงเปลี่ยนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็ทำให้สามารถพิมพ์ผ้าขนาดใดก็ได้
รวมทั้งสามารถเปลี่ยนสีได้ตามต้องการ ทำให้ทั้งนักออกแบบและผู้ผลิตมีอิสระในงานของตัวเองเต็มที่เพราะสามารถตอบสนองต่อแนวโน้มความนิยมใหม่
ๆ ได้ทันที"
ปัจจุบัน Sir Bernard ร่วมงานกับ Emma ลูกสาวอย่างใกล้ชิดและตัวเธอก็เป็น
textile designer ด้วย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอาณาจักรของ Sir Bernard คือ ในอดีตกิจการ
Laura Ashley มีห้างกว่า 500 แห่งใน 28 ประเทศ แต่ปัจจุบัน Elanbach มีทีมบริหารงานเล็กๆ
เพียง 8 คน และมีโครงการขยายกิจการโดยเปิดห้างแห่งที่สามที่ปารีสเมื่อปลายปีที่ผ่านมา