สายการบินบางกอกแอร์เวย์เผย เตรียมเปิดกองทุนสนามบินเกาะสมุยมูลค่า 10,000 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี คาดต้นเดือนพ.ย.นี้ ลุยขายได้ พร้อมหวังผลนำมาใช้สร้างโรงซ่อมท่าอากาศยานใหม่ที่สุวรรณภูมิ พร้อมการลงทุนด้านอื่นอีก มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,650 ล้านบาท ล่าสุดปีหน้าเตรียมสั่งออเดอร์เครื่องบินไอพ่นอีก 4 ลำ รองรับไฮซีซัน และการเปิดเส้นทางบินใหม่ ทั้งมัลดีฟส์และฟูกูโอกะในปีนี้ มั่นใจสิ้นปีรายได้แตะ 8,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 20.2%
นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ดำเนินธุรกิจ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทฯมีแผนที่จะจัดตั้งกองทุนสนามบินเกาะสมุยขึ้น มูลค่าถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการยื่นหนังสือขออนุญาตไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. คาดว่าในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน จะสามารถเปิดให้ผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนได้ โดยมีผลตอบแทนเบื้องต้นที่ 6% ของการลงทุน และ IRR ที่ 12%
“การที่บริษัทฯ มีแผนจัดตั้งกองทุนสนามบินเกาะสมุยขึ้น เนื่องจากมองว่าที่ผ่านมา งบประมาณในการลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัทฯจะมีแหล่งเงินทุนมาจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งหากบริษัทฯมีแหล่งเงินทุนเอง ก็จะง่ายต่อการขยายธุรกิจ และส่งผลให้บริษัทฯ มีการเติบโตที่ดีกว่าเดิมนั้นเอง”
ขณะที่กองทุนที่จัดตั้งขึ้นนั้น บริษัทฯ จะนำไปลงทุนเกี่ยวกับแผนการขยายธุรกิจใหม่ๆ อาทิ เช่น การก่อสร้างโรงซ่อมท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าถึง 1,000 ล้านบาท แทนโรงซ่อมเดิมที่สนามบินดอนเมือง โดยในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบ และคาดว่าเมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 7 ปี
อีกทั้งในปีหน้านั้น บริษัทฯ ยังมีแผนการลงทุนใหม่ๆ อีกหลายรายการ เช่น การดำเนินการก่อสร้างอาคารสนามบินเกาะสมุยต่อเนื่องให้แล้วเสร็จในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 22,520 คนต่อวัน พื้นที่กว่า 60 ไร่ ขยายเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ไร่ กับงบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 1,800 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้จัดเตรียมงบการลงทุนอีก 250 ล้านบาท สำหรับการสร้างอาคารใหม่ 3 อาคาร ที่จะจัดให้เป็น ออฟฟิศบิวดิ้งอีกด้วย โดยมีพื้นที่ติดกับสนามบินสุวรรณ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างโรงแรมที่จังหวัดสุโขทัย ขนาด 70 ห้อง เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวในบริเวณแถบอินโดจีนอีกด้วย
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนที่เพิ่มจำนวนเครื่องบิน เพื่อเข้าสับเปลี่ยนจากรุ่นเดิมที่มีอยู่ สำหรับรองรับกลุ่มบิสซิเนส และนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ได้มีการสั่งเข้ามาแล้วอย่างน้อย 4 ลำ โดย 2 ลำแรกนั้น จะเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอีก 2 ลำที่เหลือนั้น จะนำเข้ามาในปีหน้า
อีกทั้งในช่วงปลายปีนี้ บริษัทฯ ยังได้มีการเปิดเส้นทางใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 เส้นทางในปีนี้ คือ เที่ยวบินตรงสู่สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ โดยจะทำการบินสัปดาห์ละสองเที่ยวบินด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส 320 ขนาด 162 ที่นั่ง ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี และเที่ยวบินตรงสู่เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น จะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ด้วยเครื่องบินแบบเดียวกัน โดยจะทำการบินสัปดาห์ละสามเที่ยวบิน ในวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์
อย่างไรก็ตามผลประกอบการในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงมีการเติบโตถึง 20.1% คิดเป็นมูลค่าถึง 8,098 ล้านบาท จากเดิมในปีที่ผ่านมามีมูลค่าเพียง 9,738 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในปีนี้มีมูลค่า 250.1 ล้านบาท โดยมีอัตราจำนวนผู้โดยสารจากเดิมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,242,000 คน เติบโตขึ้น 14.8% หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 2,573,000 คน
บีเอฟเอส คาร์โก้ ได้รับผลกระทบจากระบบ ACCS ไม่เรียบร้อย
นายแพทย์ปราเสริฐ กล่าวว่า สำหรับบีเอฟเอส คาร์โก้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของทางบริษัทฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการขนถ่ายสินค้าต้องเกิดการขัดข้อง ในช่วงการเปิดให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิในระยะแรกนั้น เนื่องจาก เดิมทีทางสนามบินสุวรรณภูมิต้องการให้การทำงานเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้านั้น อยู่ภายใต้ระบบคอมพิวเตอร์ Air Cargo Community System หรือ ACCS ที่เป็นระบบเชื่อมต่อข้อมูลระบบใหม่ที่ทางการท่าฯเตรียมนำมาใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยจะนำมาใช้แทนที่ระบบเก่าคือ EDI ซึ่งเป็นระบบของทางศุลกากรที่ใช้ที่สนามบินดอนเมือง
แต่ทั้งนี้เมื่อถึงวันเปิดดำเนินการที่สนามบินสุวรรณภูมิ กลับพบว่าระบบACCS นั้น ไม่สามารถพัฒนาระบบขึ้นมาให้ใช้งานได้ทันได้ ต้องใช้ระบบแมนนวลแทน ทำให้บุคลกรที่ทางบริษัทฯ ได้มีการจัดอบรมมาเป็นอย่างดี เพื่อรองรับระบบ ACCS ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และต้องมีการเทรนนิ่งให้ใช้งานในระบบแมนนวลแทน ซึ่งขณะนี้ ถือได้ว่า ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดแล้ว ยกเว้นในเรื่องของวิทยุสื่อสารที่ทางการท่าฯ ยังจัดให้ใช้ไม่เพียงพอต่อความต้องการนั้นเอง ซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญในการประสานงานภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้น
|