กิจกรรมผูกมิตรกับผู้นิยมรับประทานอาหารจานด่วนเป็นความพยายามที่บรรดาเจ้าของธุรกิจฟาสต์ฟู้ด
เร่งจัดการเพื่อดึงดูดลูกค้าให้จงรักภักดีต่อแบรนด์ของตนเองต่อไป
ช่วงปีที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารเป็นกิจกรรมที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาดำเนินกิจการมากที่สุดประเภทหนึ่ง
แต่ก็ออกไปมากที่สุดเช่นเดียวกัน จากความง่ายและใช้เม็ดเงินลงทุนเพียงเล็กน้อย
อาจจะไม่ใหญ่โตระดับเชน เรสเทอรองตส์ อย่างน้อยที่สุดสามารถเปิดบริการบนทำเลที่ดี
หรือแนวคิดการทำธุรกิจในตัวเอง
รูปแบบธุรกิจดังกล่าว แม้ไม่ได้เข้ามาสมบูรณ์แบบแต่สามารถช่วงชิงตลาดไปได้พอสมควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจฟาสต์ ฟู้ดแบรนด์ต่างๆ ส่งผลให้พวกเขาต้องหันมาปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่อรักษาฐานลูกค้าของตนเองเอาไว้
แม้แต่ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เจ้าของเคเอฟซี
และพิซซ่า ฮัท ฟาสต์ฟู้ดอันดับหนึ่งในตลาดเมือง ไทย ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจนหาทางสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเอง
"มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำอะไร บางอย่างให้กับเคเอฟซีเพื่อให้มั่นใจว่าอย่างน้อยแบรนด์
หรือประสบการณ์ที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการภายในร้านมีมุมมองมากขึ้น ไม่เฉพาะที่เห็นเป็นแค่ร้านขายไก่ทอด
โดยขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนทั้งการตกแต่งร้าน ความหลากหลายรายการอาหาร วางตำแหน่งร้านใหม่
ส่วนพิซซ่า ฮัท เน้นการบริการ ตลาดและแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดขาย" ปณิธาน เศรษฐบุตร
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประเทศไทยและอินโดจีน แห่งยัม เรสเทอรองตส์ อธิบาย
การดำเนินการของยัมดังกล่าว อาจจะไม่แตกต่างไปจากกลยุทธ์ของคู่แข่งรายอื่นๆ
ที่มองหาลู่ทางเสริมสร้างจุดแข็งทุกๆ ปี แต่ดูเหมือนว่าในฐานะผู้นำธุรกิจฟาสต์ฟูดมีความกระตือรือร้นพอสมควร
เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทแม่เทกโอเวอร์แบรนด์ชั้นนำ อย่าง Long John
Silver และ A&W ทำให้ความได้เปรียบในการสร้างความหลากหลายเชิงธุรกิจมากขึ้นในลักษณะ
Multi Brand
การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของยัมในครั้งนี้ เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน
ไป จากการยืนเข้าแถวจ่ายเงินแล้วรอรับอาหารมาเป็นการเรียกร้องบรรยากาศรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ
"ผู้บริโภคคนไทยอยากได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ให้เท่าไรก็ไม่เพียงพอ" ศรันย์
สมุทรโคจร ผู้อำนวยการอาวุโสเคเอฟซี แบรนด์ และฝ่ายการเงิน ยัม ประเทศไทย
ชี้ "ต้องเข้าใจพวกเขา เมื่อต้องการอะไรก็ต้อง หามาให้ ถ้ายืนกรานว่าเราเป็นเคเอฟซี
หรือพิซซ่า ฮัท คงย่ำแย่"
เม็ดเงิน 600 ล้านบาทที่ยัมนำมาลงทุนในปีนี้ เน้นขยายสาขาและปรับปรุงสาขา
เดิม โดยเฉพาะปรับภาพลักษณ์ทั้งหมดภายในร้านเคเอฟซี ที่มีแนวคิดจากความต้องการทำให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจากอดีตไม่ว่าจะเป็นสาขาไหน
รูปแบบบรรยากาศ ไม่แตกต่างกันเลย เช่นเดียวกับตัวเลือกรายการอาหารมีความหลากหลายมากขึ้น
แม้ว่า การปรับกลยุทธ์ดังกล่าวเพื่อก้าวให้ทันต่อความต้องการและเป็นประโยชน์
สูงสุดต่อผู้บริโภค แต่มีการประเมินกันว่าฟาสต์ฟู้ดในเมืองไทยเริ่มไม่มีจุดยืน
ด้วยการขยายธุรกิจออกไปจากเมนูหลักจนบางครั้งไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจน
การดำเนินการดังกล่าวเกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เรียกร้องความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นการมองอย่างผสมผสานระหว่างความเป็นแบรนด์และความหลากหลายจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ปีนี้ยังเป็นคำถามสำหรับการเติบโตของธุรกิจฟาสต์ฟู้ด