รหัสรุ่นของโทรศัพท์มือถือล้วนแต่มีความหมาย เพราะก่อนที่โทรศัพท์มือถือรุ่นต่างๆ
ออกวางตลาดด้วยหน้าตาฟีเจอร์ และฟังก์ชั่นที่แตกต่างกันไปมาจากการแบ่งกลุ่ม
ของสินค้าเป็นกลไกที่สำคัญของการผลิตโทรศัพท์มือถือ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของราคา
หรืออายุของผู้ใช้เท่านั้น
ค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจากแดนโสม อย่างซัมซุง แบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 3 กลุ่มตาม
life style ของลูกค้า คือ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มแฟชั่น และกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี
"ถ้าเป็นผู้ที่ชอบเทคโนโลยี จะต้องมีระบบ GPRS มีอุปกรณ์พีดีเอ และโปรแกรมจาวา
แต่ถ้าเป็นกลุ่มแฟชั่น จะเน้นการออก แบบ" อเนก อนันต์วัฒนพงศ์ ผู้จัดการแผนก
โทรศัพท์มือถือบริษัทไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
หากเป็นกลุ่มแฟชั่น แน่นอนว่าการออกแบบ เลือกใช้สี และฟังก์ชั่นที่อยู่ภายในเครื่องย่อมแตกต่างจากกลุ่มนักธุรกิจ
ที่ต้องมีฟังก์ชั่นบางอย่างที่เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวันของพวกเขา
การแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 5 กลุ่ม ของซีเมนส์ ถูกนำมาใช้ไม่น้อยกว่า 3
ปี และสำหรับพวกเขา อักษรที่ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อรุ่นที่บ่งบอกถึงการจัดกลุ่มลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ
A ซีรีส์ ถูกออกแบบให้เหมาะกับกลุ่ม ลูกค้าที่ต้องการใช้โทรศัพท์ทั่วไป
ราคาจะเป็นปัจจัยสำคัญของรุ่นนี้ C ซีรีส์เหมาะกับกลุ่มวัยรุ่นจะเน้นที่การดีไซน์
M ถูกออกแบบ ให้เหมาะกับการใช้งานนอกสถานที่ S ซีรีส์สำหรับนักธุรกิจ และ
SL เหมาะกับกลุ่มลูกค้า ระดับสูง
แต่นั่นยังไม่เพียงพอกับการขยายตัวของโทรศัพท์มือถือ การจัดกลุ่มจะถูกแยกย่อย
ลงไปอีก เช่น กลุ่มผู้หญิง คือแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
แนวคิดนี้ไม่แตกต่างไปจากโนเกีย ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจากฟินแลนด์ที่ยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในเวลานี้
"จุดแข็งของเราคือมีเครื่องที่ครอบคลุมทุกรุ่นและทุกกลุ่มลูกค้า ทุกโมเดล"
พงศ์พัฒน์ วรรัตนธรรม ผู้จัดการโทรศัพท์มือถือ บริษัท โนเกีย โมบาย โฟนส์
ความหลากหลาย และความต่อเนื่อง ของสินค้าเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จหนึ่งของโนเกีย
ที่นอกไปจากการออกแบบหน้าจอ ให้ง่ายต่อการจดจำ ตัวเลขด้านหน้าของชื่อรุ่นโทรศัพท์มือถือ
เป็นรหัสที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือค่ายนี้ใช้แบ่งกลุ่มโทรศัพท์มือถือ
หมายเลขต่ำๆ อย่างเลข 3 ถูกแทนที่ โทรศัพท์รุ่นมาตรฐานธรรมดา ในขณะที่เลข
6 อย่าง 6100 และ 6800 ที่ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับกลุ่มนักธุรกิจ ส่วนเลข
5 ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ชื่นชอบการเล่นกีฬา
เมื่อต้องการรุ่นที่ออกแบบมา เน้นเรื่องของแฟชั่น มีฟังก์ชั่นพิเศษ และมีขนาดเล็ก
ก็ต้องเป็นรุ่น 7 ถูกจัดสำหรับกลุ่มแฟชั่น และเลข 8 สำหรับโทรศัพท์มือถือในระดับพรีเมียมที่ต้องการความหรูหรา
หลังการรวมกิจการระหว่างโซนี่ และอีริคสัน ที่ต้องนำสินค้าที่มีของทั้งสองค่ายนำมาเขย่ารวมกัน
ทำให้การแบ่งกลุ่มของโทรศัพท์มือถือของค่ายนี้เปลี่ยนแปลงไป รหัสรุ่นของโทรศัพท์มือถือไม่ได้มีความหมายที่บอกถึงกลุ่มเป้าหมายอีกต่อไป
"รหัสของรุ่นไม่ได้บอกอะไร เป็นแค่การบอกชื่อรุ่นเท่านั้น" วิฑูรย์ เจียมศิริกาญจน์
ผู้จัดการผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ บริษัทโซนี่ อีริคสัน โมบายล์ คอมมิวนิเคชั่น
อินเตอร์เนชั่นแนล เอบี สาขาประเทศไทย
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของค่ายโทรศัพท์ มือถือ คือ คุณสมบัติ 3 ประการ ที่ถูกนำมาใช้กับกลุ่มสินค้า
อย่างแรก คือ ความเป็น Entertainment ถัดจากนั้นเป็นเรื่องของภาพ (Imaging)
และสุดท้าย Connectivity คือ การติดต่อสื่อสาร เช่น บลูทูช
"เราจะมี 3 คอนเซ็ปต์แฝงอยู่ในทุกๆ รุ่น ขึ้นกับว่าเป็นลูกค้ากลุ่มไหน
อย่างวัยรุ่น ก็อาจจะไม่มีระบบบลูทูชแถมมาให้ แต่ถ้าเป็น เกม ก็จะมีทุกๆ
รุ่น เพราะไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ทุกคนชอบ"