|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
๐ จาก "โต๊ะแชร์" วิธีระดมทุนอย่างง่าย สู่ "สถาบัน" แหล่งร่วมทุนมหาศาล
๐ มิกซ์แอนด์แมช "นวัตกรรม+ตลาดทุน" หนทางคว้าความมั่งคั่ง
๐ "MAI" แนะ Copy & Development วิธีลัดสู่สิ่งใหม่ จากสิทธิบัตรที่มีอยู่ทั่วโลก
๐ "3 X" ไขหลักคิดก่อนดำเนินธุรกิจให้สำเร็จ
แม้หลายคนจะบอกว่าธุรกิจเริ่มต้นจากความคิดดีๆ แต่ความคิดดีๆ อย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ยิ่งในโลกของการแข่งขันที่รุนแรง ปฏิเสธไม่ได้ว่าแหล่งทุนที่แข็งแกร่งย่อมช่วยสร้างฐานและข้อได้เปรียบที่ดีกว่า เสมือนปลาที่เลือกแหล่งน้ำ ถ้าน้ำในแอ่งมีความอุดมสมบูรณ์ธุรกิจก็จะเติบโตอย่างเข้มแข็ง และยิ่งเมื่อมีเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการด้วยแล้วจะยิ่งดีเข้าไปใหญ่
นวัตกรรมช่วยผลักให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า คำที่เริ่มติดปากติดใจสำหรับผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ แต่หลายคนยังคงสงสัยอยู่ว่า นวัตกรรมเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากน้อยแค่ไหน?
หนทางสู่ขุมทรัพย์
ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(MAI) หรือตลาดหลักทรัพย์ใหม่ กล่าวในงานสัมมนานวัตกรรม เรื่อง เส้นทางธุรกิจนวัตกรรม...คนไทยทำได้ว่า ผู้ประกอบการยุคใหม่ควรเข้าสู่ตลาดทุนเพื่อต่อยอดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะการเข้ามาในตลาดทุนไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรมาก การเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ มีทุน 20 ล้านบาทก็เพิ่มความมั่งคั่งได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการ เพราะการเพิ่มทุนไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายขนาดปอกกล้วยเข้าปาก
หลักเกณฑ์ง่ายๆ ก่อนเข้าสู่สนามลงทุน คือ 1.ระบบบัญชีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่มีความเสียหายมาก 2.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าใช้ตลาดทุนนั้นได้หรือไม่? และ3. ผู้ประกอบการมีความตั้งใจเข้าสู่ตลาดทุน เพื่อความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น พนักงาน และธุรกิจของบริษัท
คำเตือนการก้าวสู่เส้นทางสู่ตลาดทุนอาจจะมีอุปสรรคหากระบบบัญชีไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าตลาดควรปรับบัญชีให้ได้มาตรฐานเดียวกัน แต่ไม่ควรทำให้การดูแลหรือการจัดการยากขึ้น
ปัญหาต่อมาคือ ผู้บริหารจะต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของตลาดทุนว่า เมื่อระดมทุนแล้วสามารถสร้างความเจริญเติบโตให้ธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่ายิ่งเข้ามาในตลาดแล้วกิจการยิ่งเหมือนกันการนำพาธุรกิจที่เปรียบเหมือนเรือไปจมในทะเล
เมื่อเข้ามาสู่ตลาดทุนแล้วทำอย่างไรเพื่อให้การจัดการราบรื่นได้? คำตอบคือ "ความโปร่งใส" เป็นเรื่องสำคัญ
ดังนั้นหลักบริหารความโปร่งใสคือ การใช้คณะกรรมการบริหารจากภายนอก 2-3 คน ต้องไม่ใช่ญาติพี่น้อง และเข้าใจหลักการบริหารด้านนโยบายอย่างลึกซึ้ง
การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะว่าง่ายก็ได้ ยากก็ใช่ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการหรือเจ้าของว่ามีความเข้าใจหรือไม่ หมายถึง เมื่อเชิญคนนอกเป็นกรรมการอิสระจะต้องยอมรับการตรวจสอบ เพราะคนเหล่านี้จะเข้ามาเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เข้ามาดูแลผลประโยชน์
ยกตัวอย่าง ระบบการลงทุนในสหรัฐอเมริกาไม่แตกต่างจากที่อื่น เมื่อต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นยืมเงินพ่อแม่ หรือการตั้งโต๊ะแชร์ เป็นวิธีที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างง่ายๆ นอกจากนี้ในต่างประเทศมีแหล่งเงินทุนที่เป็นสถาบัน เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อดำเนินกิจการมาได้ระยะหนึ่ง ทำให้เจ้าของอาจจะไม่ได้ถือหุ้น 90 % อาจจะแค่ 40-50% ก็สามารถร่ำรวยได้
เป้าประสงค์ของเข้าตลาดจดทะเบียนก็เพื่อ "ความมั่งคั่ง" นั่นเอง แต่ไม่ได้ทำให้เกิดกับตนเองคนเดียว ต้องทำเพื่อเพื่อนร่วมงาน ผู้ถือหุ้นและพนักงานด้วย
"ทุกธุรกิจที่กำลังเริ่มต้น นอกจากกำลังความสามารถในการผลิต สำหรับบริษัทเล็กหรือกลางย่อมมีขีดจำกัดและอุปสรรค ยังมาเจอการแข่งขันด้านบุคลากร ซึ่งเป็นจุดที่เหนื่อยที่สุด เพราะบริษัทขนาดเล็กย่อมจะแย่งชิงคนเก่งได้ยาก หรือถ้าหามาแล้วก็ต้องจ่ายเงินเดือนสูงๆ จะต้องมีอย่างอื่นซื้อใจคนเหล่านั้นให้กลายเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี
แล้วก็ต้องหาคำตอบว่าอะไรที่บริษัทมี นอกจากผลิตภัณฑ์และเจ้าของที่น่าเชื่อถือ ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะได้รับความไว้ใจก็คือ การให้พนักงานเป็นหุ้นส่วน เช่น ให้การซื้อหุ้นหรือมีหุ้นให้ เพราะว่าพนักงานหรือเพื่อนร่วมงานในยุคปัจจุบัน เงินเดือนเริ่มไม่พอกิน เงินเดือนสร้างความมั่งคั่ง แต่หากมีเงินเดือนบวกกับความเป็นเจ้าของ ย่อมมัดใจได้มากกว่า ซึ่งนี่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับหลายบริษัทที่กำลังก่อร่างสร้างตัว"
จุดที่แตกต่างของหุ้นที่ซื้อขายไม่ได้กับหุ้นที่ซื้อขายได้ก็คือ ถ้าเป็นหุ้นของบริษัทที่ยังไม่สามารถซื้อขายได้ ก็จะเกิดคำถามว่ามีหุ้นไปทำไม?
บริษัทในต่างประเทศเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับบริษัทที่มีเงินลงทุนน้อยก่อนที่จะเข้าไปจดทะเบียน ด้วยการขายหุ้นให้กับผู้ที่ต้องการและสามารถลงทุนได้ก่อน แล้วจึงดำเนินกิจการไปเรื่อยๆ จนถึงระยะที่มีกำไรมากพอที่สามารถนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นได้ตามลำดับ
"หุ้นจะราคาดีหรือไม่เจ้าของบริษัทจะต้องบอกกับพนักงานว่า ถ้าทำดี กำไรก็เยอะ โบนัสก็จ่าย ปันผลก็ได้ ราคาหุ้นก็ขึ้น"
นั่นคือหลักง่ายๆ ในการจูงใจและรักษาพนักงาน
เมื่อพนักงานมีส่วนร่วมในการลงทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นแล้วพวกเขาก็จะหาทางลดต้นทุนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองจนได้ แล้วผลกำไรก็เพิ่มขึ้นกลายเป็นโบนัสและเงินปันผล นั่นเอง
เจาะตลาดทุนจากนวัตกรรม
ถ้าต้องการสร้างธุรกิจให้โต บางครั้งไม่ได้แปลว่าตลาดทุนเป็นทางเลือกเดียว เพราะทางเลือกมีหลายทาง
ในต่างประเทศ ตลาดทุนกับงานนวัตกรรมจึงเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกัน แต่สำหรับประเทศไทยยังไปด้วยกันได้ไม่ดีนัก เพราะขาดการตั้งคำถามของเจ้าของกิจการว่า ธุรกิจที่กำลังทำอยู่ในประเภทใด? และการไม่พยายามหาผู้ร่วมทุนหรือเมื่อหาแล้วไม่สามารถอธิบายให้ผู้ร่วมทุนเข้าใจได้ แต่หากรู้วิธีการแล้ว จะหาทางลดต้นทุน และมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่า
หากต้องการลงทุนทางธุรกิจต้องทำอะไรบ้าง? แล้วเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมอย่างไร?
"นวัตกรรม" เป็นการแปรสิ่งที่มีอยู่ในองค์กรให้กลายเป็นเงิน และเป็นกระบวนการภายในตัวหนึ่งที่จะกำหนดได้ว่าธุรกิจจะโตได้แค่ไหน
แต่หากใครอยู่ในฐานะผู้ร่วมทุนจะต้องตั้งคำถามกับเจ้าของธุรกิจ 3 ข้อว่า 1. เจ้าของธุรกิจมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจการมากน้อยแค่ไหน? 2. ธุรกิจที่กำลังทำอยู่แก้ปัญหาอะไรให้กับเจ้าของบ้าง? และ 3. เมื่อทำออกมาแล้วขายได้หรือไม่?
ปัญหาที่พบสำหรับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจใน "ช่วงตั้งไข่" คือ ผู้ประกอบการมักจะวนเวียนอยู่กับกระบวนการวางแผนที่ต้องสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ มุ่งแต่พัฒนาสร้างสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด แต่ไม่เคยขายของหรือสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า และหาข้ออ้างเพื่อใช้เวลาเผาเงินของผู้ร่วมทุน ซึ่งอาจจะละเลยในส่วนของการหาลูกค้า
หน้าที่ของผู้ร่วมทุนก็คือ เฝ้าดูลูกค้ารายแรกของกิจการว่ามีหรือยัง และมีการซื้อขายกันจริงหรือไม่? ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณในแผนลงทุนให้น้อยที่สุด ช่วงแรกการขายจะสำคัญมาก แต่ไม่ใช่เพื่อมุ่งหวังกำไรเป็นหลัก เพราะถ้ามุ่งแต่โกยกำไรระยะสั้นโดยไม่มองผลในระยะยาว สุดท้ายองค์กรก็จะแคระแกร็น
"ผู้ประกอบการมักจะถามว่าจะหาเงินได้จากที่ไหน ข้อแนะนำคือต้องหาลูกค้าให้ได้โดยไม่ต้องสนใจกำไรในช่วงแรก แต่จะต้องวางแผนการใช้ทุนจนกว่ารายรับและรายจ่ายจะชนกัน หลังจากนั้นต้องรอให้ขายของได้และให้รายรับมากกว่ารายจ่าย"
ช่วงที่สองของธุรกิจหลังจากผ่านการตั้งไข่แล้วคือ "ช่วงตักตวง" และช่วงต่อมาคือ "ความมุ่งมั่นบริหารจัดการ"ของเจ้าของกิจการ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเก่งแค่ไหน หลังจากที่รู้แล้วว่าลูกค้าคือใคร
ชนิตร อธิบายต่อไปว่า หลักการสร้างธุรกิจคือ การตั้งคำถามว่าจะใช้เงินที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้อย่างไร? เพราะระบบนิเวศหรือวงจรในตลาดกองทุนร่วมลงทุนในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า การให้เงินเพื่อลงทุนบูดเบี้ยวผิดเพี้ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการที่ฉลาดเขียนโครงการเพื่อของบลงทุนเพียงเพื่ออยากให้เงินโดยไม่คิดจะทำธุรกิจจริงจัง
สิ่งที่น่าห่วงคือ ตรรกะมันเปลี่ยนไป ความเป็นนวัตกรรมหายไป
อย่างไรก็ตาม อีกหลักการหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่กำลังจะกลายเป็นผู้ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการขายต่อ หรือขายตรง
ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จ คือ กลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคโดยตรง และตอบโจทย์ "Happy Custumer" ซึ่งคนที่เริ่มเชี่ยวกรำกับเทคโนโลยีอาจจะละเลยความสุขของผู้บริโภค จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ผิดกับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มาก แต่เขาเหล่านั้นรู้ว่าจะทำให้ลูกค้าพึงพอใจในสินค้าและบริการได้อย่างไร ใช้หลักบริโภคเป็นสุขมาจับตลาด ดังนั้น คำว่า "ความสุขของลูกค้า" จึงเป็นหลักที่ไม่ควรมองข้าม
ค้นวิธีสร้างข้อได้เปรียบ
ไม่เพียงหลักความสุขของลูกค้าเท่านั้น นวัตกรรมในธุรกิจอาจจะมีเรื่องของการสร้างสรรค์ความเป็นเอกสิทธิ์ให้กับตัวเองเพื่อสร้างจุดได้เปรียบ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจในจุดเริ่มต้นจะต้องค้นหาข้อมูลธุรกิจในประเภทเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวว่าโลกการแข่งขันและการผลิตอยู่ในระดับที่สามารถไล่ตามทันหรือไม่?
หากต้องการพัฒนาหรือเริ่มสินค้าให้ดีขึ้นก็ต้องรู้ว่าประเทศอื่นทำอย่างไร? ช่วงเริ่มต้องใช้วิธี Copy and Development ไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยก็ได้ เลียนแบบแล้วค่อยพัฒนา จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้รวดเร็ว และไม่มีแหล่งใดที่จะดีที่สุดเท่ากับแหล่งสิทธิบัตรที่มีทั่วโลก สามารถหาได้ในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อยู่ในอินเตอร์เน็ต
อีกหนึ่งหนทางของข้อได้เปรียบคือ การจ้างนักวิจัยให้ทำงานในองค์กร โดยเจ้าของกิจการทำหน้าที่ค้นหา จ้างทีมวิจัยเข้าไปในโรงงาน โดยหลักการง่ายมาก เพียงแต่ต้องอาศัยเทคนิคในการปฏิบัติ
เขาแนะนำธุรกิจที่กำลังจะคิดงานประดิษฐ์และนวัตกรรมว่า ในบางครั้งมีสิ่งดีๆ ที่คนอื่นคิดไว้แล้วในห้องสมุดของโลก เพราะฉะนั้น หากเข้าถึงข้อมูลแล้วจะเกิดความสำเร็จได้ไม่ยาก
"บางครั้งก่อนที่เราจะทำอะไรก็ไม่รู้ว่าคู่แข่งทำอะไรไปก่อนแล้ว การค้นหาข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อกำหนดเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และรู้ว่าพัฒนาการอย่างไร เรากำลังมาถูกทางหรือไม่ จะเป็นการช่วยตอบโจทย์ในธุรกิจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของวงการ ถ้าเข้าถึงแหล่งข้อมูลเหล่านี้และใช้ให้เป็นประโยชน์ จะเป็นผลพลอยได้ที่มหาศาล"
งานนวัตกรรมคือการเอาของที่มีอยู่แล้วมาทำให้มันดีขึ้น ซึ่งธุรกิจเมืองไทยสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่คนชอบถามว่าจำเป็นจะต้องทำนวัตกรรมให้เกิดในธุรกิจหรือไม่? ทำแล้วได้อะไร?
คำตอบคือ การทำนวัตกรรมกับธุรกิจทุกประเภท ผลที่เห็นได้ชัด คือ ลดต้นทุน และเพิ่มยอดขายหรือขยายกิจการ
เมื่อนวัตกรรมมีการพัฒนาให้อยู่อย่างต่อเนื่องแล้วอย่างน้อยๆ ก็ลดต้นทุนได้ และทำให้สามารถขยายกิจการ เพราะทุกธุรกิจจะต้องทำนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลาในยุคนี้ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากต่างประเทศที่ล้วนแล้วแต่มีศักยภาพ
เขาย้ำว่า ความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในทุกธุรกิจ ซึ่งการสร้างนวัตกรรมขององค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ โดยเฉพาะนักประดิษฐ์ที่ขยับตัวเองเป็นนักนวัตกรรม และหากเป็นกิจการเริ่มใหม่ อยู่ในช่วงตั้งไข่ วิบากกรรมในตลาดจะมีมากกว่า ถ้าขาดความมุ่งมั่นจะไปไม่ค่อยรอด
หลัก "3X" คิดก่อนทำ
ตลาดหลักทรัพย์หรือแหล่งระดมทุนเป็นปลายทางของธุรกิจที่ต้องการผู้ร่วมทุน แต่หากพิจารณาประเทศที่มีการรับประกันให้กับผู้ประกอบการ สหรัฐอเมริกาเป็นฐานทัพที่แข็งแกร่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งเมืองไทยเพิ่งจะมีตลาดทุนมาให้การส่งเสริม พร้อมจะเสี่ยงเป็นผู้ร่วมทุน หมายความว่าหากผู้ประกอบการขาดทุนแหล่งทุนก็ขาดทุนไปด้วย
"เมืองไทยไม่ค่อยชินกับการจะมีคนอื่นเป็นผู้ถือหุ้นด้วย เพราะคุ้นชินกับการเป็นเจ้าของคนเดียว ชอบควักเงินที่ไม่เกี่ยวกับงานไปใช้ในเรื่องอื่น และเกลียดการตรวจสอบ ดังนั้น ธุรกิจจึงโตได้เพียงเท่านี้ นอกจากจะได้สัมปทาน"
ชนิตร ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มคิดจะสร้างหรือทำธุรกิจว่า ไม่ว่าจะทำธุรกิจประเภทใดก็ตาม หลักการสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องคิดใคร่ครวญก่อนจะตัดสินใจว่าจะทำดีหรือไม่นั้นเรียกง่ายๆ ว่า "3x" ประกอบด้วย
1.Exclusivity เป็นการทำธุรกิจที่มีสัมปทาน คนอื่นเข้ามาไม่ได้ เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ธุรกิจผูกขาด จะสร้างข้อได้เปรียบในการดำเนินกิจการ แต่ในบางธุรกิจที่ไม่มีข้อเกี่ยวข้องกับสัมปทานไม่จำเป็นจะต้องมีข้อนี้ก็มีโอกาสในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ ดังนั้นจะต้องพิจารณาว่ากิจการที่กำลังจะเริ่มนั้นมีข้อได้เปรียบในจุดนี้หรือไม่
2. Ex-potential คือการทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจกิจการโทรคมนาคมเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินธุรกิจที่มีองค์ประกอบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ผู้ประกอบการจะต้องวิเคราะห์ตลาดให้ถี่ถ้วนว่า ผู้บริโภคมีความสุขกับการใช้สินค้าและบริการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อที่ว่าเมื่อกิจการเติบโตมาได้ระยะหนึ่งแล้วยังสามารถสร้างรายได้ต่อไปเรื่อยๆ
และ3.Execution คือการบริหารงานในขั้นตอนที่ธุรกิจอยู่ตัวในระยะหลังการเติบโต
"ถ้ามี 3 อย่างมีความเป็นไปได้ในการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ" ชนิตร กล่าวทิ้งท้าย
|
|
|
|
|