เมื่อโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในมือจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เล่มเกม มีเสียงเพลงเวลาเรียกเข้า
มีจอสีสดใส แทนที่จะเป็นแค่จอขาวดำ และยังส่งสไลด์ ทั้งหมดนี้คือ 4 ฟังก์ชั่นหลัก
ของโทรศัพท์มือถือที่ได้จากการสำรวจผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหลักๆ ในไทย
ทำให้มองเห็นได้ว่า โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่จะมีโฉมหน้าอย่างไร
เสียงเพลงเรียกเข้า
จากเสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์มือถือในรูปแบบเดิมๆ กำลังเปลี่ยนเป็นเสียงเรียกเข้าที่ใกล้เคียงกับเสียงเพลงเข้าไปทุกที
ระบบเสียงเรียกนี้เรียกว่า POLYPHONIC คือ การพัฒนาจากเส้นเสียงเพียง 1 เสียง
เพิ่มขึ้นเป็น 8 เส้นเสียง 16 เส้นเสียง 24 เส้นเสียง และ 32 เส้นเสียง เรียกว่า
ยิ่งเส้นเสียงมากๆ ก็ยิ่งสมจริงมากขึ้นเท่านั้น
ในประเทศญี่ปุ่นโทรศัพท์รุ่นล่าสุดที่ออกวางตลาด ไม่เพียงแต่เสียงเรียกเข้าเป็นเสียงดนตรีเท่านั้น
แต่ยังมีเสียงของนักร้องมาด้วย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพักใหญ่แยก แยะได้ว่า เป็นเสียงเรียกโทรศัพท์มือถือ
หรือเสียงเพลง
ส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้ออกมาในลักษณะเช่นนี้ น่าจะมาจากความนิยมในตัวบริการ
ring tone เป็น 1 ใน 2 บริการยอดนิยมของผู้ใช้ อีกบริการคือ โลโก
บรรดาค่ายเพลงและผู้ให้บริการเนื้อหาก็เข้ามามีบทบาทจากการมาของฟังก์ชั่นเหล่านี้มากขึ้น
เนื่องจาก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเพลงที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ
ผ่านสื่อใหม่ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือ
เสียงเรียก POLYPHONIC น่าจะเป็นพัฒนาการของคุณสมบัติที่จะเห็นได้ชัดเจนในปี
2546 ส่วนใครจะพิสมัยเสียงเพลง ก็ต้องเลือกชนิดที่เส้นเสียงมากๆ เข้าไว้
จอสี
ถึงแม้ว่าโทรศัพท์มือถือที่เป็นจอสีจะไม่ใช่ของใหม่ หลายยี่ห้อเริ่มนำออกวางตลาดในปี
2545 แต่ในปี 2546 จะเป็นปีทองของจอสีที่จะเข้ามาแทนที่จอขาวดำ ผู้ผลิตอย่างซัมซุงกำหนดไว้ว่า
90% ของโทรศัพท์มือถือที่วางตลาดจะเป็นจอสีทั้งหมด
คุณสมบัติของจอสีบนโทรศัพท์มือถือไม่ต่างไปจาก จอทีวี และจอมอนิเตอร์มากนัก
การเลือกจอสีจะดูที่ชนิด และความละเอียดหรือจำนวนสีเป็นหลัก มีตั้งแต่หลักร้อยเฉดสีไปจนถึงหลักแสนเฉดสี
ทั่วไปแล้วชนิดของจอสีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ จอ TFT และจอ STM ทั้งสองชนิดมีความละเอียดที่แตกต่างกัน
จอ TFT จะมีความละเอียดสูงกว่าจอแบบ STM แน่นอนว่าราคาย่อมสูงกว่าด้วย ค่ายไหนจะใช้จอสีชนิดไหนก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ผลิต
โทรศัพท์มือถือเหล่านั้นว่าจะเลือกประหยัดต้นทุน หรือเลือกเอาขีด ความสามารถของโทรศัพท์มือถือ
ไม่ว่าจะเป็นโนเกีย ซีเมนส์ โซนี่อีริคสัน และโมโตโรล่าต่าง ก็ประกาศนโยบายนำโทรศัพท์มือถือจอสีออกวางตลาดแล้วทั้งสิ้น
คู่เปรียบที่สำคัญของค่ายยุโรป หนีไม่พ้นค่ายจากญี่ปุ่น และเกาหลี เพราะมีวิวัฒนาการในเรื่องของการผลิตโทรทัศน์
และคอมพิวเตอร์ อย่างจอสีของซัมซุง ถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของค่ายนี้ เช่นเดียวกับพานาโซนิค
และแอลจี
สาเหตุที่ผู้ผลิตหันมาผลิตจอสีมากขึ้น เพื่อรองรับกับแนวโน้มใหม่ๆ ของบริการด้านเนื้อหาที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกม วิดีโอคลิปดูข่าวสั้น ตัวอย่างหนัง หรือละคร ฟุตบอล
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยโทรศัพท์มือถือที่เป็น จอสี จะทำให้อรรถรสในการดูเนื้อหาเหล่านี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
แทนที่จะเป็นแค่จอขาวดำ
MMS
สองปีที่แล้วอาจเรียกได้ว่าเป็นปีทองของบริการส่งข้อความ สั้น หรือ SMS
(Small Messaging Service) เป็นฟังก์ชั่นหลักบนโทรศัพท์มือถือที่มีผู้นิยมใช้กันเป็นจำนวนมาก
เรียกว่าทำรายได้ ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นกอบเป็นกำ จากการเปิดเผยของผู้บริหารเอไอเอส
พบว่า เฉพาะกันยายนเดือนเดียว มีผู้ส่งข้อความผ่าน SMS ถึง 64 ล้านข้อความ
ถัดจากระบบ SMS เป็นระบบ EMS (Enhanced Messaging service) ทำให้การส่งข้อความพัฒนาขึ้นไปอีก
แทนที่จะได้แค่ข้อมูล ก็ส่งได้ทั้งข้อมูล ภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหว อย่างแอนิเมชั่น
เปรียบแล้วก็เหมือนกับการส่ง e-card บนพีซี
แม้จะพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้น แต่ SMS ยัง ครองใจผู้ใช้อยู่เช่นเดิม
จนมาถึงคิวของระบบส่งข้อความ MMS (Multimedia Messaging Service) ที่คาดว่าจะมีบทบาทอย่างมากในปี
2546 เนื่องจากแรงผลักดันของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และเจ้าของเนื้อหา
ที่กำลังเปลี่ยนจากบริการเสียงไปที่บริการเนื้อหา
คุณสมบัติหลักของบริการ MMS อยู่ที่ความสามารถของการส่งข้อความได้ทั้งตัวอักษร
รูปภาพ เสียง ภาพยนตร์สั้นๆ รวม ทั้งเอกสารพรีเซ็นเตชั่นไปยังมือถือ เรียกว่า
สามารถดูข่าวสั้น ตัวอย่างภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติมากขึ้น อัตราค่าใช้บริการเพิ่มขึ้น เป็นเงาตามตัว
เช่น SMS ส่งข้อความละ 3 บาท แต่ MMS ส่งได้ทั้งภาพ เสียง ข้อความ ต้องเอา
3 บาทคูณไปอีก 3 เพราะถือเป็น 3 ข้อความ
ความแตกต่างของ MMS อยู่ที่บางเครื่องรับได้อย่างเดียว หรือได้ทั้งรับและส่ง
และบางเครื่องส่งได้เฉพาะภาพนิ่ง ในขณะที่บางยี่ห้อส่งเป็นไฟล์ภาพแบบ power
point ได้ด้วย หรือบางรุ่นก็เป็นภาพเคลื่อนไหว ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับขีดความสามารถและราคา
ของเครื่อง
เนื่องจากการส่งข้อความในระบบ MMS จะใช้เนื้อที่มากประมาณ 30,000 bytes
เพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วนจึงควรใช้กับระบบที่ส่งข้อมูลได้มากๆ อย่าง GPRS
JAVA
ระบบที่ว่านี้ไม่ใช่พันธุ์กาแฟ แต่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการพัฒนา
application ต่างๆ ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มือถือ
ความโดดเด่นของภาษาจาวาอยู่ตรงที่การเป็นระบบเปิด ที่ใช้ส่งผ่านอินเทอร์เน็ต
หรือระบบเครือข่ายที่แตกต่างกันได้ โดยไม่ต้องมีระบบจัดการกับฮาร์ดแวร์ เช่น
ใช้ได้กับเครื่องพีซี แมค อินทอช รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ และด้วยการเป็นระบบเปิดนี้เอง
ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างคุ้นเคยกับภาษาจาวากันมาพักใหญ่
ด้วยความคุ้นเคยเหล่านี้เอง เมื่อนำมาใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ จึงถูกคาดหมายว่า
จะได้รับความสนใจจากนักพัฒนา และ สิ่งที่ตามมาก็คือ ความหลากหลายของแอพพลิเคชั่นที่จะทำให้ความนิยมภาษาจาวาบนโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น
อันที่จริงแล้ว แอพพลิเคชั่นที่อยู่บนจาวาบนโทรศัพท์มือถือ มีอยู่มากมาย
ทั้งเช็กราคาหุ้น ตรวจสอบสต็อกสินค้า หรือขึ้นอยู่กับว่า ใครจะคิดค้นหรือพัฒนาอะไรก็ได้ให้เหมาะสมกับขนาดของ
หน้าจอโทรศัพท์มือถือ
แต่ดูเหมือนว่าแอพพลิเคชั่นที่มากับภาษาจาวาหลักแรก ที่คาดหมายว่าจะได้รับความนิยม
คือ เกม เนื่องจากเป็นความบันเทิงที่ผู้ใช้คุ้นเคยดี และสัมผัสได้ง่ายที่สุด
ทั้งหมดนี้ เป็นคุณสมบัติใหม่ๆ ที่จะเข้ามาของโทรศัพท์มือถือในปี 2546
ที่จะเป็นตัวที่ช่วยผลักดันให้บริการเนื้อหาได้รับความนิยมจากผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และเป็นโอกาสของผู้ให้บริการเนื้อหาที่จะมีบทบาทมากขึ้น