|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ปรีดิยาธร" ฝากงาน "ธาริษา วัฒนเกส" ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่สานต่อนโยบายเดิม เน้นการควบคุมการขยายตัวของบัตรเครดิต จัดระเบียบธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้าระบบแบงก์พาณิชย์ ยันไม่กระทบนโยบายรัฐบาล ส่วนแบงก์ที่กองทุนฟื้นฟูถือหุ้นใหญ่ให้รอจังหวะที่ได้ราคาดีแล้วค่อยขาย เผยยังมีเวลาถึงปี 2554
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา สำหรับตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ จะสรรหาและแต่งตั้งได้ภายในสัปดาห์นี้จะรู้ตัว ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยอมรับว่า นางธาริษา วัฒนเกส คือคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ ธปท.แทนตน เนื่องจากมีความเหมาะสมทั้งด้านความรู้ ความสามารถและความอาวุโส หลังจากนั้นจะมีการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่แทนนางธาริษา
"ผมคิดว่าผู้ว่าแบงก์ชาติต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม และต้องมีความรู้นโยบายการเงินและดูแลสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลสถาบันการเงิน เพราะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเคยเห็นประสบการณ์ที่สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดตัวไป ดังนั้นการมีความรู้เกี่ยวกับดูแลสถาบันการเงินสำคัญกว่านโยบายการเงิน"
สำหรับแนวทางการบริหารงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่จะดำเนินตามนโยบายเดิมทุกอย่าง จะดูแลบัตรเครดิตไม่ให้มีการเร่งตัวมากเกินไป ซึ่งในขณะนี้อัตราการขยายตัวของธุรกิจนี้อยู่ที่ 19% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 40% อย่างไรก็ตามจะดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น แต่ยังให้ผู้ประกอบการสามารถให้บริการแก่ลูกค้าต่อไปได้ ส่วนข้อเสนอการกำหนดอายุของผู้มีบัตรเสริม ในเบื้องต้นได้มีการพูดคุยบ้างแล้ว
ด้านนโยบายสถาบันการเงิน ในส่วนธนาคารเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและเอสเอ็มอีแบงก์ จะมีการปรับปรุงมาใช้เกณฑ์เดียวกับธนาคารพาณิชย์ไทย รวมไปถึงการจัดชั้นหนี้ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยหากสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งใดมีปัญหาการจัดชั้นหนี้ไม่ได้มาตรฐานก็จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุน ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการภาครัฐต่างๆ ที่เคยดำเนินมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับการประเมินด้านการเงินภายใต้ FSAP(Financial Sector Assessment Program) ซึ่งเป็นมาตรฐานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วย
ส่วนนโยบายเกี่ยวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ถือหุ้นให้ธนาคารกรุงไทย ไทยธนาคาร และธนาคารนครหลวงไทย ธปท.ยังคงดำเนินไปตามนโยบายเดิม คือ จะขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวในช่วงที่ราคาและจังหวะที่ดี เพื่อให้ได้ผลกำไรพอสมควร ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ก่อนปี 2554 เพราะก่อนที่จะปิดกองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องรอให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ปิดตัวก่อนในปี 2553
"ไทยธนาคารที่จะมีหาพันธมิตรต่างชาติ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะไทยธนาคารมีทุนและเงินกองทุนที่น้อย เมื่อเทียบกับธนาคารนครหลวงไทยที่มีเงินกองทุนเหลือเยอะ จึงไม่จำเป็นต้องหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามา" อดีตรองผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม นี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคาดว่ายังคงมีการประชุมต่อไป แม้ว่าจะมีคณะกรรมการบางคนมารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ ก็จะมีการสรรหาบุคคลเข้ามารับตำแหน่งแทน อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปกติแล้วหากมีคณะกรรมการฯ แค่ 4 คน ก็สามารถเปิดการประชุมได้แล้ว แต่ในการประชุมครั้งนี้เชื่อว่าจะมีคณะกรรมการฯ ร่วมประชุม 5-6 คน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ธปท.เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2544 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน
สำหรับนางธาริษาทำงานที่ ธปท.กว่า 30 ปี โดยเริ่มต้นเข้าทำงานที่ธปท.ในปี 2518 กับตำแหน่งนักเศรษฐกร ฝ่ายวิชาการทำงานที่ธปท.ได้ 5 ปี ก็กลับไปศึกษาต่อยังต่างประเทศในระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อช่วงปี 2527 ก็กลับมาทำงานที่ธปท.ในตำแหน่ง หัวหน้าผู้วิเคราะห์ ส่วนกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และขยับมาอยู่ตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วน ส่วนกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายวิชาการ หรือแม้แต่ตำแหน่งในเวทีโลกอย่างตำแหน่งเศรษฐกรประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ก่อนจะขยับตำแหน่งมาเป็นรองผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ และก้าวมารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ทั้งในส่วนของสำนักงานพัฒนาระบบการชำระเงิน ฝ่ายระบบการชำระเงิน และฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน และในช่วงปี 2541-2545 ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการทั้งสายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน, สายนโยบายการเงิน และสายตลาดการเงิน และตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน
|
|
|
|
|