เมื่อโทรศัพท์มือถือไม่ได้ทำหน้าที่แค่ส่งเสียง เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง
3 ก็เป็นอีกหนึ่ง ที่มองหาโอกาสในการกาวเข้าสู่ช่องทางใหม่บนหน้าจอเล็กๆ
ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่หน้าจอโทรทัศน์อีกต่อไป
ในขณะที่ละครยังคงแพร่ภาพให้กับผู้ชมทางบ้านบนหน้าจอทีวีอย่างซื่อสัตย์
ในอีกด้านหนึ่งเบื้องหลังของละครเรื่องเหล่านั้น ก็ได้ถูกแพร่ภาพอยู่บนโทรศัพท์มือถือ
เพราะนี่คือช่องทางใหม่ที่กำลังเป็น โอกาสของเจ้าของเนื้อหาที่จะใช้ประโยชน์
จากเนื้อหาที่อยู่ในมือได้มากขึ้น
การมีเนื้อหาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าว ละคร เพลง ทำให้สถานีโทรทัศน์ ช่อง
3 แสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากการมาของเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้เป็นช่องทางสร้างฐานผู้ชมรายการอยู่ถึง
2 ปีเต็ม จนกระทั่งเทคโนโลยีโทรศัพท์ มือถือเริ่มพัฒนาการไปสู่การให้บริการเนื้อหา
รวมทั้งการได้มืออาชีพในวงการโทรศัพท์มือถือ ทำให้แนวทางการทำธุรกิจ ขายข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือของพวกเขาชัดเจนมากยิ่งขึ้น
"การขายโทรศัพท์มือถือหมดเสน่ห์ไปแล้ว แอร์ไทม์ โปรโมชั่น ตัดราคาเครื่อง
ลูกข่าย มันไปหมดแล้ว" โชคศิริ รอดบุญพา เป็นอดีตมือการตลาดของบริษัทแอ๊ดวานซ์
อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ที่ผันตัวเอง มาอยู่ในธุรกิจด้านเนื้อหา
อัตราการเติบโตของโทรศัพท์มือถือ ที่คาดว่าจะเพิ่มไปถึง 25 ล้านรายในปี
2004 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้พวกเขามองเห็นโอกาสจากอุปกรณ์ปลายทางชิ้นนี้
การ มาของเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถืออย่างจอสี บริการ MMS โปรแกรมภาษาจาวา
และการมีระบบ video streaming ที่เอื้อต่อเจ้าของเนื้อหาอย่างช่อง 3 ที่มีทั้งละคร
ข่าว และเพลงในมือ
เนื้อหาข่าว และบันเทิง เป็นเนื้อหา 2 กลุ่มหลัก ที่ถูกส่งไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
โดยถูกจัดทำเป็นแพ็กเกจ ที่เหมาะกับกลุ่ม ผู้ใช้ปลายทางที่มีความต้องการแตกต่างกันไป
เช่น กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้เริ่มทำงาน และผู้บริหารรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้บริหารระดับ
สูง ด้วยแพ็กเกจบริการที่ถูกจัดทำสำหรับนักธุรกิจ กลุ่มผู้หญิง และวัยรุ่น
"ลูกค้าธุรกิจต้องการข่าว วิดีโอคลิป เมื่อเดินทางอยู่ที่สนามบิน ก็สามารถดาวน์
โหลดภาพ และข่าวมาอ่าน" โชคศิริบอก "นี่คือเป้าหมายที่เราจะให้บริการ"
การเปลี่ยนสูตรการคิดส่วนแบ่งรายได้ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เคยเก็บจากผู้ให้บริการเนื้อหา
50% ลงมาเหลืออยู่เพียง 10% และคิดเพิ่มอีก 7% กรณีที่ให้ช่วยเก็บค่าบริการรายเดือนจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาธุรกิจเนื้อหามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องไม่จำกัด ตัวเองอยู่กับอุปกรณ์ปลายทางชนิดใดชนิดหนึ่ง
ความหลากหลายของสื่อเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ขายเนื้อหาอย่างพวกเขา สื่ออย่างวิดีโอเท็กซ์
เครื่องปาล์ม
"เราต้องเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขายข้อมูล ไม่ว่าจะเข้าทางโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต
คุณใช้บริการของเราได้"
สินค้าในมือของพวกเขา ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก โดยจะแบ่งตามชนิด ของอุปกรณ์ปลายทาง
และประเภทของเนื้อหา เช่น กลุ่มแรก interactive เช่น การส่ง SMS ทายปัญหาในรายการทีวี
กลุ่ม ที่สองคือ กิจกรรมสร้างขึ้นจากความสนใจ ในตัวเทคโนโลยี เช่น กลุ่มผู้ใช้ปาล์ม
กลุ่มที่สามคือ เนื้อหา รวมไปถึงริงโทนและ โลโก้ และการขายแอพพลิเคชั่นแบบเดี่ยวๆ
เช่น เกม
"โทรศัพท์มือถือปีหน้าจะเป็นจอสี มีระบบ mms เรามีเกมที่น่าจะเป็น killer
application ที่เรามั่นใจ" โชคศิริบอก
แม้จะใช้เทคโนโลยีเป็นเสมือน "ท่อ" ที่ใช้ส่งผ่านเนื้อหาไปถึงมือลูกค้า
แต่ ระบบหลังบ้านของที่นี่กลับไม่ได้ซับซ้อน content management เป็นระบบหลักที่ถูกติดตั้ง
เพื่อแปลงเนื้อหาที่มีอยู่ให้สามารถนำมาใช้งานผ่านสื่อแต่ละประเภท ซึ่งมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป
ชนารัตน์ ประดิษฐ์วณิช ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่อยู่ร่วมกับบีอีซีไอมาพักใหญ่
หน้าที่ของเขาคือ การติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้ข้อมูลถูกจัดเก็บ และใช้งานมากขึ้น
และง่ายขึ้น
สูตรการคิดรายได้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่า จะสร้างแรงจูงใจในการให้บริการ
ที่มีทั้งการคิดต่อจำนวนทรานแซก ชั่น การคิดจำนวนข้อมูล รวมถึงการขายเหมาเป็นล็อตใหญ่เพื่อนำไปทำตลาดอีกต่ออีกทอดหนึ่ง
"กรณีขายให้กับโอเปอเรเตอร์ไปทำเอง ส่งข่าว ส่งรายการไปให้เขา จากนั้น
เขาเอาไปแพกกิ้ง ปะหัวปะท้ายขายเอง"
ถึงแม้จะถูกคาดหมายว่า บริการเหล่านี้จะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้าน
บาทในปีนี้ แต่ไม่ได้หมายถึงยอดขายระดับพัน หรือหมื่นล้านบาท ที่ยังเป็นเรื่อง
ห่างไกลกับความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นของใหม่ที่ผู้ใช้บริการยังไม่
คุ้นชินเป็นอีกโจทย์หนึ่ง ที่ห้างสรรพสินค้าข้อมูลแห่งนี้ต้องตอบโจทย์ให้ได้