|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
จับกระแสร้อนปะทุสงครามราคามือถือรอบใหม่ หลังผู้บริหารเทมาเส็กทุบโต๊ะให้ "เอไอเอส" เดินหน้าเกณฑ์นิวซับเข้าระบบ หันหัวรบเปิดศึกชนคู่แข่งทุกรูปแบบ ปะทะกันเต็มๆ บนสมรภูมิโทร.ครั้งละบาท กลเกมการตลาดโอเปอเรเตอร์เร่งดูดลูกค้าใหม่ ถึงเวลาผู้บริโภคต้องศึกษาเปรียบเทียบโปรโมชั่นด้วยตนเอง
หลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ไม่ว่าค่ายเล็กหรือค่ายใหญ่ ไล่ตั้งแต่ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ หรือแม้แต่ฮัทช์ เปิดศึกโปรโมชั่นชนกันอย่างหนักเมื่อช่วงต้นปี 2549 ที่ผ่านมา จนต้องหลบไปรักษาบาดแผลและเงียบหายไปช่วงหนึ่ง วันนี้การปะทะกันด้วยสงครามราคากำลังจะปะทุขึ้นอีกครั้ง บนแคมเปญโปรโมชั่นที่กำลังติดปากผู้ใช้บริการขณะนี้ คือ "โทร.ครั้งละหนึ่งบาท"
โปรโมชั่นโทร.ครั้งละหนึ่งบาท เริ่มต้นจากการที่ทรูมูฟ ค่ายมือถือน้องเล็กเป็นผู้เล่นในสนามนี้ก่อน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา จน ณ วันนี้โปรโมชั่นดังกล่าวก็ยังคงโหมโฆษณาอย่างต่อเนื่อง โดยโปรโมชั่นทรูมูฟโทร.ครั้งละบาทเฉพาะในเครือข่าย ส่วนโทรนอกเครือข่ายครั้งละ 3 บาท ระหว่างเวลา 05.00-17.00 น. และโทร. 3 นาทีแรกนาทีละ 2 บาทต่อไปนาทีละบาท ระหว่างเวลา 17.00-05.00 น.
ดีแทค ค่ายมือถือเบอร์สอง ออกโปรโมชั่นตามทรูมูฟมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 ด้วยแฮปปี้ที่หนึ่ง โทรครั้งละ 1 บาทในเครือข่ายระหว่างเวลา 24.00-15.00 น. และโทร.นอกช่วงเวลาและนอกเครือข่าย นาทีแรก 3 บาท ต่อไปนาทีละ 50 สตางค์
ช่วงที่ผ่านมาค่ายเบอร์หนึ่งอย่างเอไอเอส ก็ได้เฝ้าจับตามองถึงสถานการณ์ความร้อนแรงของโปรโมชั่นโทร.ครั้งละบาทนี้ เนื่องจากเวลาที่มีการโฆษณา กลยุทธ์ทางการตลาดคือจะขายจุดเด่นของโปรโมชั่นที่โทร.ครั้งละหนึ่งบาท โดยไม่ได้มีการบอกเงื่อนไขอื่นๆ
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2549 เป็นวันที่เอไอเอสประกาศสู้ราคากับคู่แข่งขันในโปรโมชั่นโทร.ครั้งละบาทเช่นกัน แคมเปญ "เอาไปเลย" บาทเดียวทุกเครือข่าย โดยแบ่งเป็นโทร.ครั้งละ 1 บาททุกเครือข่ายระหว่างเวลา 24.00-14.00 น. และโทร.นาทีละ 1 บาททุกเครือข่าย ระหว่างเวลา 14.00-24.00 น.
มีกระแสข่าวลึกๆ ถึงสาเหตุที่เอไอเอสต้องออกแคมเปญลงสู้ศึกสงครามโปรโมชั่นในครั้งนี้ว่า ผู้บริหารที่มาจากเทมาเส็กได้ประชุมผู้บริหารของเอไอเอสให้เดินเกมการตลาดเต็มทุกรูปแบบเพื่อให้ได้จำนวนผู้ใช้บริการหรือนิวซับเข้าสู่เครือข่ายให้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของโปรโมชั่นราคาครั้งใหม่ของเอไอเอส ทั้งๆ ที่เคยบอกว่า เอไอเอสจะไม่นำ "ราคา" มาเป็นจุดขาย แต่จะเน้นเรื่องประสิทธิภาพทางด้านเครือข่าย ซึ่งเคยเป็นจุดขายที่สำคัญของเอไอเอสมาโดยตลอด
นับเป็นแนวคิดทางการตลาดที่แตกต่างจากยุคที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงเป็นชินคอร์ป ที่เน้นเรื่องมาร์จิ้นที่สูงและอาศัยฐานผู้ใช้บริการที่มากกว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่น สร้างความได้เปรียบทางการตลาดมาโดยตลอด
"โปรโมชั่นเอาไปเลยครั้งนี้อาจจะเป็นการจุดระเบิดสงครามราคารอบใหม่ก็ได้"
เป็นคำกล่าวของ วิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และว่า "โปรแกรมที่ออกไปนี้คู่แข่งต้องตื่นเต้นแน่นอน แต่ตอนนี้คู่แข่งขันกลับตื่นตูมไปด้วย"
การออกโปรโมชั่นครั้งนี้ของเอไอเอส ได้มีการศึกษาก่อนที่จะออกมาเป็นอย่างดี เนื่องจากมีบทเรียนของเมื่อต้นปีที่ออกโปรโมชั่นมาแล้ว ผู้ใช้แห่กันใช้บริการทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า จนเครือข่ายของเอไอเอสต้องมีปัญหาและแก้ไขอยู่หลายเดือน
ชำนาญ เมธปรีชากุล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บอกว่าวันนี้เอไอเอสกลับมามีความพร้อมในเรื่องของเครือข่ายที่แข็งแกร่งกว่าเดิมแล้ว มีเรื่องของบริการที่เป็นที่ยอมรับของลูกค้า และเป็นแบรนด์ที่ลูกค้ามีความพึงพอใจ ช่วงต่อไปนี้จะเป็นการตอกย้ำเรื่องของราคา ที่เอไอเอสจะประกาศว่าเอไอเอสเป็นแบรนด์ที่ไม่แพงอย่างที่คิด
"แคมเปญเอาไปเลยนี้เป็นแคมเปญที่แรงจริงๆ ครั้งนี้ลูกค้ามือถือจะได้รับรู้ว่าเราไม่แพง"
ที่สำคัญเอไอเอสต้องการให้แคมเปญนี้เป็นจุดตอกย้ำความแข็งแกร่งที่เป็นจุดแตกต่างอย่างชัดเจนให้กับโปรดักส์ของเอไอเอสจากคู่แข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฐานลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาสู่ระบบ ส่วนลูกค้าเก่านั้นในช่วงที่ผ่านมาหลังจากเอไอเอสได้มีการปรับปรุงเครือข่ายจนไร้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว ได้มีการทำแคมเปญกับลูกค้าเก่าทั้งพรีเพดและโพสต์เพดไปแล้ว
"วันนี้เราขอเล่นกับความง่ายที่ให้กับโปรโมชั่น ลูกค้าไม่ต้องคิดมากว่าจะต้องโทร.ในเครือข่าย นอกเครือข่าย มีหลากหลายอัตราให้ต้องจดจำอย่างที่ผ่านมา" ฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าว
ฐิติพงศ์ บอกว่า วันนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายเล่นเกมการตลาดในรูปแบบที่แตกต่างกันไป และการออกโปรโมชั่นแต่ละครั้งอาจมีทั้งความเหมือนและความต่าง อยู่ที่ว่าค่ายนั้นจะหยิบยกประเด็นไหนขึ้นมาเป็นจุดขาย สำหรับเอไอเอส "เอาไปเลย" ครั้งนี้เป็นการเล่นบนพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้งานโทร.บ่อยเป็นหลัก ต่างจากคู่แข่งขันที่โปรโมชั่นครั้งละบาท แต่จะเน้นที่ลูกค้าโทร.นานเป็นหลักมากกว่า
นอกจากนี้เอไอเอสยังเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของวัน-ทู-คอล! โดยได้ออกแพกเกจซิมใหม่ "ซิมพร้อมค่าโทร.300 บาท" ซึ่งลูกค้าจะได้รับโทร.ฟรี 300 บาท และสามารถใช้ในโปรแกรม "เอาไปเลย" ใหม่นี้ได้ทันที
การออกซิมใหม่ของเอไอเอส วัน-ทู-คอล! ครั้งนี้ จะเหมือนการแจกซิมฟรีให้กับลูกค้าไปในตัว ชำนาญ บอกว่า ที่ผ่านมาคู่แข่งขันก็มีการแจกซิมฟรีแบบเดินสายแจกกันเลย แต่เอไอเอสจะไม่ทำเช่นนั้นแต่จะใช้การแจกคู่ไปกับสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือตามโปรแกรมการตลาดอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า
"เราแจกซิมแบบมีระดับ ไม่ใช่การแจกฟรีแบบคู่แข่ง ซิมราคา 300 บาทให้ค่าโทรฟรี 300 บาท อาจจะมองว่าเราแจกซิมฟรี แต่กลับกันอาจจะมองว่าเราให้ค่าแอร์ไทม์ฟรีก็ได้"
การเปลี่ยนแปลงของเอไอเอสกับการตอบโต้ทางการตลาดแบบรวดเร็ว เกิดขึ้นจากนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากที่ วิเชียร เมฆตระการ ขึ้นมาดูแลตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ หลังการลาออกของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกอบกับการจัดทีมงานที่พร้อมสำหรับคิดรูปแบบการตลาดใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง วิเชียร ย้ำว่าต่อไปเอไอเอสจะทำอะไรก่อนคู่แข่งขัน และทิศทางการตลาดจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
แนวทางการตลาดรูปแบบใหม่ เป็นหนึ่งในหลายส่วนที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน วิเชียร บอกว่า ในช่วงการขึ้นปีที่ 17 ของเอไอเอส นอกจากจะมีการดูเรื่องการตลาดที่ต้องปรับอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นแล้ว ช่องทางการจัดจำหน่ายก็จะต้องมีการปรับ เพิ่ม และสร้างทุกอย่างให้กับหน่วยจัดจำหน่ายของเอไอเอสให้มีอาวุธหลากหลายสู้กับคู่แข่งขัน รวมทั้งจะมีการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานภายใน และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางวิศวกรรมใหม่
"วันนี้เราต้องทำให้คู่แข่งขันเห็นว่าเขาไม่มีทางประสบความสำเร็จ และอย่าได้แม้แต่จะคิดหวังขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในตลาดมือถือไทย" วิเชียร กล่าว
หลังจากนี้คงต้องจับตาสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือไทยต่อไป เนื่องจากเมื่อรายใหญ่ลงมาเน้นเรื่องราคา ค่ายรองๆ ลงมา คงอยู่เฉยไม่ได้ นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ยังมีเรื่องของอินเตอร์คอนเนกชั่นชาร์จ และการมาของเทคโนโลยีใหม่อย่าง 3G เชื่อแน่ว่าน่าจะพลิกโฉมหน้าการแข่งขันให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกครั้งหนึ่ง
|
|
|
|
|