กองทุนพันธบัตร-ตราสารหนี้ ขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจขาลง ด้วยแบบกองทุนที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำ และนักลงทุนก็อยากพิทักษ์ทรัพย์ของตนไว้ในสถานการณ์เช่นนี้ อิงแนวคิดกำไรต่ำแต่เงินต้นอยู่ครบ ทำให้ปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดรวมกองทุนพันธบัตร-ตราสารหนี้โต19% โดดเด่นด้วยกองทุนประเภทซื้อคืนอัตโนมัติที่ออกกันแทบจะทุกค่ายดอกเบี้ย 4.5-4.8% ลงทุนสภาพคล่องสูงกว่าฝากประจำแบงก์ ยูโอบีเพิ่มสีสันวัตกรรมการลงทุนผุด อินโนเวทีฟ ไรสซิ่ง เจแปน อิงผลตอบแทนกับดัชนีนิเคอิ 225 คุ้มครองเงินต้น100%
วัฎจักรเศรษฐกิจขาลง ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในตลาดหุ้นตลาดทุนก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา ทำให้การลงทุนโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ขณะนี้อยู่ในสภาพที่มี ความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนต่ำกว่าที่เคยเป็นมา เมื่อเจอสภาพเช่นนี้เหล่าบรรดานักลงทุนเป็นจำนวนมากจึงเลือกที่จะป้องกันทรัพย์ก่อนติดร่างแหไปกับกระแสขาลงครั้งนี้
ซึ่งทางออกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดขณะนี้ก็คือการลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนได้ค่อนข้างคงที่แม้จะมีความเสี่ยงบ้างตามวลีอมตะที่ได้ยินกันเป็นประจำว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”แต่ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับกองทุนในลักษณะนี้ก็ถือได้ว่าน้อยเต็มที่ เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น ๆ เช่น กองทุนหุ้น เป็นต้น
ภาพรวมของการเติบโตตั้งแต่ต้นปี48ของกองทุนประเภทนี้สูงขึ้นถึงราว 19%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิปัจจุบันรวม 9.2 แสนล้านบาท
“ในช่วงต้นปีการที่ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยระดมเงินฝากทำให้มีเม็ดเงินเคลื่อนย้ายจากวงการกองทุนรวมออกไปทั้งหมดเกือบแสนล้านบาท หลายกองทุนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็สะดุดลงไปบ้าง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าช่วงที่บริษัทแม่ที่เป็นธนาคารระดมเงิน ในฐานะบริษัทลูกก็มีเงินไหลออกไปมากเช่นกัน”แหล่งข่าวระบุ
สำหรับปัจจุบัน บริษัทจัดการกองทุนรวม(บลจ.)ที่มีเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้มากที่สุด 4 อันดับแรกล้วนเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ คือ บลจ.บัวหลวง ตั้งแต่ต้นปีมีเงินไหลเข้า 4.2 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 96% บลจ.กสิกรไทย มีเงินไหลเข้า 3.2 หมื่นล้านบาท ขยายตัวจากเดิม 23% บลจ.ทหารไทยมีเงินไหลเข้า 3.1 หมื่นล้านบาท ขยายตัว49% และ บลจ.ไทยพาณิชย์มีเงินไหลเข้า 1.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัว14%
โดยกลยุทธ์ที่ บลจ.นำมาใช้กันมากในการดึงดูดเม็ดเงินของลูกค้าให้เข้ามาคือ การให้ข้อเสนอที่เป็นดอกเบี้ยสุทธิซึ่งตั้งแต่ 4.5-4.8%(มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำหลังหักภาษีของธนาคารพาณิชย์เล็กน้อย)รวมถึงการมีสภาพคล่องที่ครบกำหนดและสามารถไถ่ถอนได้เมื่อครบ 3เดือน6เดือนและ 12เดือนซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่าซื้อคืนอัตโนมัติเมื่อครบกำหนด ส่วนใหญ่มีมูลค่ากองทุนตั้งแต่ 3-5พันล้านบาท และหลายกองทุนมีผู้สนใจซื้อเกินขนาดกองจนต้องขยายวงเงินออกไปอีก 15%
ไม่ว่าจะเป็น บลจ.เล็กหรือใหญ่ต่างก็ออกกองทุนประเภทนี้ออกมาเสนอขายกันทุกเดือน อย่างเช่น ในเดือนตค.นี้ บลจ.บัวหลวงก็ได้ออกกองทุนพร้อมกันถึง 3 กองในตระกูลธนรัฐที่มีอายุโครงการ 6,9 และ 12เดือนโดยให้ผลตอบแทน 4.6, 4.7 และ 4.8% ตามลำดับ ด้าน บลจ.ทหารไทยก็มีกองทุน ทหารไทยพันธบัตร 3,6,และ 12 เดือน ผลตอบแทน4.45,4.5และ 4.7% รวมถึงตระกูลกองทุนทหารไทยตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน 162D ที่ให้ผลตอบแทน 4.8% หรืออย่าง บลจ.นครหลวงไทยก็มีการออกกองทุนออกมาถึง 3 กองเช่นกัน ในตระกูล แม็กซ์ สะสมทรัพย์คุ้มครองเงินต้น อายุ 1 , 6 และ 12 เดือน มีผลตอบแทน 4.5-4.7%รวมถึงน้องใหม่ล่าสุดในตระกูล แบงก์แอนไพร์มคอร์ปอเรท 1,2,3 ของบลจ.ไอเอ็นจี(ไทย)ซึ่งจะให้ผลตอบแทนประมาณ5%โดยเน้นกลยุทธ์ลงทุนในตั๋วเงินระยะสั้น(B/E)
วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี(ไทย) กล่าวว่า “ตั้งแต่ต้นปีมาเราได้ออกกองทุนลักษณะนี้ไปแล้วเกือบ 20 กองทุนและจะมี อีกราว 5-8กองทุนสำหรับไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ โดยเน้นนโยบายที่จะดึงดูดลูกค้าให้ผลตอบแทนไม่แพ้ บลจ.อื่น โดยที่ผ่านๆมาลูกค้าก็ยังสนใจในกองทุนประเภท 3 เดือนอยู่เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคตยังไม่ชัดเจนนัก อย่างกองทุนล่าสุดที่เพิ่งออกไปให้ผลตอบแทน 4.8% ขนาดกองทุน5 พันล้านบาทก็มีคนจองล้นถึง 5,750 ล้านบาท”
อีกทั้งในภาวะเช่นนี้คำว่า “คุ้มครองเงินต้น”ยังถือว่ามีอิทธิฤทษ์ใช้เป็นยันต์ป้องกันความกลัวของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ในขณะที่กองทุนพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้มีออกมาเต็มไปหมดแล้ว จึงมีการปรับนวัตกรรมใหม่ของกองทุนรวมขึ้นโดยยังคงแนวคิดการคุ้มครองเงินต้นให้ผู้ลงทุนอุ่นใจเช่นเดิมแต่มีโอกาสลุ้นมีโอกาสเลือกมากขึ้น โดยโอกาสที่เลวร้ายที่สุดจากการลงทุนคือ เมื่อครบอายุกองทุน สิ่งที่ผู้ซื้อหน่วยได้รับขั้นต่ำก็คือเงินต้นเท่าเดิม
สำหรับกองทุนใหม่นี้จะมีชื่อว่า กองทุนเปิด คุ้มครองเงินต้น อินโนเวทีฟ ไรสซิ่ง เจแปน (Innovative Rising Japan Capital Protection Fund: IRJ) โดยกองทุนนี้จะนำเงินไปลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ซึ่งออกโดยธนาคารพาณิชย์ ในรูปแบบตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 2 อันดับแรก ได้แก่ AAA และ AA โดยมีวันครบกำหนดชำระใกล้เคียงกับอายุโครงการของกองทุน แต่โอกาสในการรับผลตอบแทนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของดัชนีนิเคอิ 225 สำหรับกองทุนดังกล่าวนี้ มีอายุโครงการประมาณ 2 ปี 5 วัน มูลค่าโครงการ 2 พันล้านบาท ซึ่งจะจัดจำหน่ายผ่าน ธ.แสตนดาร์ดชาเตอร์
รูปแบบการลงทุนจะมีการเปรียบเทียบดัชนีนิเคอิ 225 ทุกๆเดือนหลังจากได้เริ่มลงทุนเทียบกันวันแรก เมื่อครบ 2ปีแล้วจะนำมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อจ่ายผลตอบแทนตามอัตราส่วนที่ขึ้นมาให้ผู้ถือหน่วย หากผลรวมดัชนีเฉลี่ยสะสมมีค่าติดลบผู้ถือหน่วยก็จะได้รับเงินต้นเต็มจำนวน แต่หากดัชนีเฉลี่ยสะสมมีค่าเป็นบวกผู้ถือหน่วยก็จะได้ผลตอบแทนตามนั้น
สำหรับกองทุนรูปแบบนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เร้าใจผู้ที่มีความกลัวว่าจะขาดทุนเข้าเนื้อ แต่สำหรับกรณีนี้ร้ายแรงที่สุดอย่างมากก็แค่ไม่มีดอกให้เท่านั้นซึ่งหากบวกเงินเฟ้อแล้วก็อาจจะขาดทุนนิดหน่อย แต่ถ้าตลาดฯเป็นดังคาดก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าลงทุนในพันธบัตรได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา บลจ.ยูโอบี(ไทย)และ บลจ.ไทยพาณิชย์ ที่ทำกองทุนเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยและเพิ่งออกมาในช่วงกลางปีตนละกอง แต่ไม่สามารถระดมเงินได้มากนักเพราะยังเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่นักลงทุนไม่คุ้นเคยประกอบกับนักลงทุนรายใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก หากแต่นวัตกรรมนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนารูปแบบกองทุนให้มีความหลากหลายต่อไป
|