เปิดปมโครงการส่งกลิ่นไอซีที ตั้งแต่สมาร์ทการ์ดที่อื้อฉาวตั้งแต่ต้นจนจบไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาที่แตกต่างกันลิบลับ สเปกของบัตรมีปัญหาด้านเทคนิค รวมทั้งการฟ้องร้องที่ยังคาราคาซัง ส่วนปัญหาซีดีเอ็มเอทั้งภาคกลางและภูมิภาค ต้องเด็ดหัวทิ้ง หางจะได้ไม่กล้าขยับ ชี้ประเด็นประธานบอร์ดกสทเอื้อประโยชน์หัวเหว่ยซัปพลายเออร์ระบอบทักษิณ ขณะที่ทีโอทีก็มีบอร์ดเพื่อนพ้อง “บรรณพจน์ ดามาพงศ์” ช่วยอุปถัมภ์
มหกรรมโกงในส่วนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มี 3 โครงการที่อยู่ในข่ายเป็นการกระทำให้รัฐเสียหายอย่างโครงการสมาร์ทการ์ดของไอซีที โครงการให้บริการซีดีเอ็มเอของฮัทช์และโครงการขยายเครือข่ายซีดีเอ็มเอในภูมิภาคของบริษัท กสท โทรคมนาคม
โครงการสมาร์ทการ์ด ที่ถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องความแตกต่างด้านราคาและเทคนิคในการจัดซื้อแต่ละครั้งว่ามีความไม่ชอบมาพากล ถือได้ว่าเป็นโครงการที่เกิดมาพร้อมกับกระทรวงไอซีที ด้วยวงเงินงบประมาณสูงถึง 6,300 ล้านบาท ที่ในช่วงแรกหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะให้ใครดำเนินการจัดซื้อ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย หรือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ แต่ในที่สุดมติครม.ก็อนุมัติให้กระทรวงไอซีที เป็นผู้จัดซื้อโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นวางแผนเรื่องข้อมูลที่จะบรรจุ ความปลอดภัยของข้อมูล จัดทำร่างทีโออาร์เพื่อจัดซื้อบัตรและชิป จนเมื่อผลิตบัตรเสร็จจึงจะส่งมอบให้กรมการปกครองไปบรรจุข้อมูลประชาชน และแจกให้กับประชาชน
สมาร์ทการ์ดฉาวตั้งแต่ต้น
สำหรับการจัดทำสมาร์ทการ์ดล็อตแรกเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2547 ให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้บริหารการผลิตบัตรพร้อมชิป จำนวน 64 ล้านใบ โดยกำหนดระยะเวลา 3 ปี คือปี 2547 จำนวน 12 ล้านใบ ปี 2548 จำนวน 26 ล้านใบ และปี 2549 จำนวน 26 ล้านใบ
ทั้งนี้ แนวคิดสมาร์ทการ์ด มาจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการติดต่อทางราชการด้วยสมาร์ทการ์ดผ่านระบบออนไลน์ เพียงบัตรเดียวสามารถเรียกดูข้อมูลได้หมดโดยมีตัวเลข 13 หลักเป็นตัวกำหนด และเชื่อมต่อด้วยรหัสพิมพ์ลายนิ้วมือ พร้อมรหัสส่วนตัว เหตุนี้ ฐานข้อมูลสมาร์ทการ์ด ด้านหนึ่งถูกมองอย่างกังขาว่า จะเชื่อมโยงเข้าสู่ฐานข้อมูลสมาชิกพรรคไทยรักไทยหรือไม่ด้วย
การประมูลครั้งแรกอยู่ในสมัย น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรมต.ซึ่งมอบหมายให้ พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้ช่วยรมต. เป็นผู้รับผิดชอบกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์จนถึงจัดประมูลในรูปแบบอี-ออคชั่น ที่หวังจะประหยัดและป้องกันการ “ฮั้ว”
โครงการนี้ดำเนินการไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์เรื่องทีโออาร์ที่กำกวมตีความได้หลากหลาย และทำให้เกิดข้อผิดพลาดในแง่การนำไปใช้งาน โดยเฉพาะเรื่องของระบบความปลอดภัยแต่เสียงคัดค้านก็ไม่ทำให้การประมูลหยุดชะงักลงได้
การประมูลเฟสแรก 12 ล้านใบ มูลค่า 1,440 ล้านบาท หรือราคากลาง 120 บาทต่อใบ ปรากฏว่า งานนี้ต้องมีการล้มประมูล เนื่องจากมีบริษัทที่เข้าร่วมประมูล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า เอส.เอส.ไอ และไอ.ซี.เอส กับกลุ่มกิจการร่วมค้า จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง และเอ็กซอลโต้ ซึ่งชนะการประมูลด้วยราคาใบละ 114 บาท แต่สูงกว่าความคิดของน.พ.สุรพงษ์ ที่ต้องการให้ต่ำกว่า 100 บาท จนทำให้ต้องล้มประมูล เนื่องจากในขณะนั้นกรมการปกครองสามารถจัดซื้อได้ในราคาใบละ 82 บาทเท่านั้น
ไอซีที เปิดประมูลใหม่เมื่อ 29 มิ.ย. 2547 ซึ่งได้กำหนดราคากลางขึ้นมาใหม่เหลือใบละ 108 บาท โดยใช้วิธีอี-ออคชั่นเหมือนเดิมมีผู้ประมูลทั้งหมด 3 ราย คือ 1.กิจการร่วมค้าซีเอสที 2.กิจการร่วมค้าจีดีไอซีที และ 3.กิจการร่วมค้าเอสเอส.และไอซีเอสโดยผู้ที่ชนะการประมูลครั้งนี้คือกลุ่มบริษัทซีเอสที ซึ่งเสนอจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดจำนวน 12 ล้านใบ ในราคา 888 ล้านบาท หรือราคาใบละ 74 บาท
แต่ปัญหาที่ตามมาคือบัตรไม่สามารถนำมาใช้งานเข้ากับระบบของกรมการปกครอง ทำให้กระทรวงมหาดไทยไม่ยอมรับมอบบัตรหลังจากที่ไอซีทีได้ส่งมอบไปแล้ว 6 ล้านใบ กลายเป็นปัญหาระหว่างกระทรวง จนส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องมาสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยรีบรับมอบจนครบ 12 ล้านใบเมื่อช่วงต้นปี 2548
ไอซีที ยังเดินหน้าประมูลสมาร์ทการ์ดเฟส 2 จำนวน 13 ล้านใบ มูลค่า 962 ล้านบาท ต่อในยุคน.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรมว.ไอซีที โดยมีคนแห่มาซื้อซองถึง 37 ราย แต่สุดท้ายเข้ามายื่นได้เพียง 5 กลุ่ม และผ่านมาเข้ามาประมูลกันแค่ 4 ราย คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า ไออาร์ซี เอชเอสที 2.กลุ่มคอนซอร์เตียม อินคอร์ปและ บริษัท เจมพลัส 3.กลุ่มคอนซอร์เตียม โอเบอร์ทัวร์ และ มารูเบนิ 4.กลุ่มกิจการร่วมค้า เอฟไอเอ็มเอ ก่อนที่จะทำการประมูลไปเมื่อ 17 สิงหาคม 2549 ได้ผู้ชนะคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าไออาร์ซี เอชเอสที เสนอราคา 486,850,000 บาท หรือใบละ 37.45 บาท
ผลที่ได้นอกจากราคาที่ชวนสงสัยแล้วปรากฏว่าได้มีการร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษกรณีกระทรวงไอซีทีดำเนินโครงการไม่ชอบมาพากล มีการขัดกับเงื่อนไขทีโออาร์ ในขณะที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ปรากฏว่าเกิดปัญหาสมาร์ทการ์ดขาดแคลน ทำให้กระทรวงไอซีที ต้องเปิดประมูลวิธีพิเศษจำนวน 1.5 ล้านใบ ท่ามกลางข้อสงสัยว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์กับเอกชนบางรายสามารถระบายบัตรที่ค้างสต็อกอยู่ในมือได้ ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามล้มประมูลอีกครั้งโดยอ้างถึงความไม่ชัดเจนของทีโออาร์
ขณะเดียวกันเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ด (smartcard reader) ก็เป็นอีกปัญหาที่ถูกมองข้าม หลังจากกระทรวงไอซีทีทำการจัดซื้อไปเมื่อ 11 ม.ค.2548 โดยกิจการร่วมค้าเอส.เอส.ไอ. และ พี.บี.เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 410.62 ล้านบาท ประกอบด้วยมูลค่าของฮาร์ดแวร์เครื่องละ 3,999 บาท จากราคากลาง 5,000 บาท จำนวน 36,000 เครื่อง และค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อ่านลายพิมพ์นิ้วมือ 4.16 บาทต่อไลเซนส์ซึ่งเท่ากับราคากลาง หลังส่งมอบให้กรมการปกครองปรากฏว่าไม่สามารถใช้งานร่วมกับบัตรได้
เชือดซีดีเอ็มเอต้องปลด “ไกรสร”
ในส่วนของโครงการซีดีเอ็มเอในภาคกลางที่บริษัท กสท โทรคมนาคม ทำสัญญากับฮัทช์ในการให้บริการนั้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงประธานบอร์ดกสทเพื่อให้ชี้แจงโครงการซีดีเอ็มเอ ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เนื่องจากมีความสงสัยว่าการดำเนินโครงการส่อแววไม่โปร่งใส และทำให้ กสท เสียประโยชน์เอกชนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งอาจจะเป็นการเลี่ยงพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
ทั้งนี้ สตง. ได้เข้ามาตรวจสอบเป็นผลมาจากที่ บอร์ด กสท.ชุดที่เพิ่งลาออกได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสัญญาทำการตลาดซีดีเอ็มเอและสัญญาเช่าโครงข่ายขึ้นมาตรวจสอบ และได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติแล้วว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯซึ่งมีผลทำให้ไม่ผูกพันตามกฎหมายรวมทั้งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยตีความไว้ และ กสท ได้แจ้งให้บริษัทเอกชนทราบแล้ว
กสท. ได้ทำสัญญาเช่าเครือข่ายจาก BFKT รวมทั้งว่าจ้างบริษัทดังกล่าว ดำเนินการปรับปรุงดูแลรักษาเครือข่าย และทำสัญญาให้บริการซีดีเอ็มเอกับบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือฮัทช์ เป็นผู้ทำการตลาดในส่วนกลางและรับภาระค่าใช้จ่ายแทน กสท ทั้งหมด กับประกันรายได้ขั้นต่ำแก่ กสท เป็นรายปี ตลอดอายุสัญญา เป็นเงิน 7,986 ล้านบาท ต่อปี
ในประเด็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ นั้น การร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนจะต้องแบ่งปันผลประโยชน์กันฝ่ายละ 50% แต่สัญญาดังกล่าวกลับให้ฮัทช์จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ กสท เพียง 20% ของกำไร และที่ผ่านมาฮัทช์ขาดทุนโดยตลอด รวมทั้งไม่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก BFKT ที่มีข้อมูลระบุว่าเป็นบริษัทลูกของฮัทช์เลย ทั้งๆ ที่ กสท ควรจะได้รับค่าประกันรายได้ขั้นต่ำ 7,986 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ BFKT ได้รับกำไรมากกว่านี้
สตง.ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 โดยสตง. ต้องการทราบว่า เมื่อ กสทได้มีหนังสือบอกกล่าวฮัทช์ ที่ระบุว่าสัญญาไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแล้วได้มีการดำเนินการต่อไปอย่างไรหลังจากนั้น และเหตุใดฮัทช์จึงยังคงดำเนินโครงการอยู่จนถึงปัจจุบันรวมทั้ง กสท จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ และ เมื่อ กสทได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรว่าสัญญาไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแล้ว จะมีการสอบสวนดำเนินการทางวินัย ทางแพ่งและทางอาญากับผู้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ หรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด
ปัจจุบัน BFKT ได้ทำการปรับปรุงระบบเครือข่ายในส่วนกลาง 25 จังหวัด ให้เข้ากับระบบของ กสท แล้วหรือไม่ และทาง กสทได้ประเมินความเสียหายหรือผลกระทบต่อโครงข่าย CDMA ในส่วนภูมิภาคของ กสท อย่างไร ในกรณีที่ BFKT ไม่ดำเนินการปรับปรุงเครือข่าย
สตง. ต้องการให้ กสท ตอบคำถามและจัดส่งเอกสารการพิจารณาของบอร์ดกสทที่ได้อนุมัติให้ทำสัญญากับบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง รวมถึงสำเนาเอกสารการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณาสัญญาฯ ที่บอร์ด กสท แต่งตั้งพร้อมด้วยความเห็นที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบอร์ดกสท มาให้อย่างเร่งด่วน ภายในวันที่ 31 ส.ค.2549 เพื่อชี้แจงในประเด็นที่ สตง.สงสัย ซึ่งกสทยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อโต้แย้งกลับ
ตัวละครที่โดดเด่นที่สุดสำหรับซีดีเอ็มเอภาคกลางและภูมิภาคคือนายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีทีและประธานบอร์ดกสท ซึ่งถือว่ารู้เรื่องสัญญาฮัทช์และ BFKT ตั้งแต่ต้น เพราะนายไกรสรเคยเป็นประธานบอร์ดกสท สมัยที่เป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคมในยุคนั้น
ในส่วนของซีดีเอ็มเอภูมิภาค หลังจากที่นายไกรสร กลับมาเป็นประธานบอร์ดกสท อีกครั้ง ปรากฏว่าในการประชุมบอร์ดนัดแรกก็อนุมัติไม่ต้องปรับบริษัท หัวเหว่ย ที่ส่งมอบโครงการซีดีเอ็มเอในภูมิภาคเฟส 1 ไม่ทันตามกำหนด 26 ม.ค. 2549 จำนวน 800 สถานีตามทีโออาร์ เพราะค่าปรับสูงถึงวันละประมาณ 90 ล้านบาท หากต้องปรับตามข้อเท็จจริง หัวเหว่ยอาจต้องสูญเงินหลายพันล้านบาท
ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากผู้จัดการโครงการ (Project Manager) แจ้งเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2549 ว่าโครงการซีดีเอ็มเอภูมิภาคแล้วเสร็จเพียง 648 สถานี ยังไม่แล้วเสร็จอีก 152 สถานี และใน 648 สถานีที่แล้วเสร็จเป็นสถานีที่อยู่ในเฟส 2 ประมาณ 201 สถานี แบ่งเป็นภาคเหนือ 89 สถานี ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ 46 สถานีและภาคใต้ 66 สถานี โดยหัวเหว่ยอ้างว่าขอแก้ไขสัญญาให้สถานีที่อยู่ในเฟส 2 มาอยู่เฟส 1 เนื่องจากหัวเหว่ย ไม่สามารถติดตั้งสถานีตามเฟส 1 ได้แล้วเสร็จตามสัญญา และในจำนวน 648 สถานี มีจำนวนน้อยมากที่สามารถเปิดใช้งานได้ ซึ่งถือว่าผิดสัญญา เนื่องจากสถานีทั้งหมดต้องเปิดใช้บริการได้ตามทีโออาร์ รวมทั้งอ้างปัญหาน้ำท่วมและขอขยายเวลาออกไปอีก 42 วัน
สำหรับการตรวจรับของกสท ก็เอื้อประโยชน์หัวเหว่ยเป็นอย่างมากกล่าวคือ 1.ตรวจรับโดยไม่มีการ Drive Test ซึ่งเป็นการตรวจรับปกติของโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 2.ตรวจรับอุปกรณ์ที่ผิดสเปก อาทิ ไมโครเวฟ SDH ที่ไม่สามารถใช้งานได้หลายพอร์ต 3.ยอมรับเงื่อนไขน้ำท่วมของหัวเหว่ย ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นน้ำท่วมอยู่ไม่กี่จังหวัด จากทั้งหมดที่ต้องติดตั้ง 52 จังหวัด 4.อุปกรณ์ที่ตรวจรับไม่สามารถเชื่อมโยงเพื่อใช้งานได้ เพราะโครงข่ายสื่อสัญญาณเสร็จไม่เรียบร้อย แต่แจ้งว่าเสร็จแล้ว และ 5.ยอมให้หัวเหว่ยนับสถานีที่อยู่ในเฟส 2 มารวมในเฟส 1 เพื่อให้ได้ปริมาณงานแล้วเสร็จเพิ่มขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ไกรสรยังพยายามอุ้มหัวเหว่ยด้วยการสั่งให้กสทรับมอบระบบบิลลิ่งซีดีเอ็มเอ มูลค่า 40 ล้านบาททั้งๆที่ไม่ได้อยู่ในทีโออาร์ รวมทั้งยังมีการเอื้อประโยชน์ให้ซัปพลายเออร์สัญชาติจีนรายนี้ โดยในการประกวดราคาอีกอย่างน้อย 3 โครงการเร็วๆนี้ มูลค่าเกือบ 2 พันล้านประกอบด้วยโครงการสร้างระบบเชื่อมโยง Optical Fiber พื้นที่ภาคใต้ จำนวน 3 ระบบมูลค่า 212 ล้านบาท ,พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 ระบบ มูลค่า 1.01 พันล้านบาทและพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตก จำนวน 9 ระบบ มูลค่า 602 ล้านบาท
กสท ด้วยการสั่งการของบอร์ดเอื้อประโยชน์หัวเหว่ยด้วยการไม่กำหนดเรื่องผลงานด้านเทิร์นคีย์ แต่เลือกที่จะใช้วิชามารด้วยการกำหนดให้มีการทดสอบอุปกรณ์ เพื่อใช้เป็นกำแพงสกัดซัปพลายเออร์ที่ไม่ต้องการ ด้วยการอ้างเหตุตกเทคนิค ทดสอบไม่ผ่าน เหมือนเมื่อครั้งการประกวดราคาโครงการโทรศัพท์ 5.6 แสนเลขหมายของทีโอที ที่ใช้การทดสอบทำให้คู่แข่งอย่างอัลคาเทลที่อุปกรณ์ใช้มาแล้วทั่วโลกกับแซดทีอี ตกด้านการทดสอบ เปิดทางสะดวกให้หัวเหว่ย
“ตอนนี้ถือว่าอำนาจทุกอย่างอยู่ในมือไกรสร ถึงขนาดคนหัวเหว่ยบอกว่าถ้าไกรสร เป็นประธานบอร์ดไม่ต้องห่วง ทำให้กสท รีบขายซองประกวดราคาโครงการเกือบ 2 พันล้านบาท เพื่อเปิดทางให้ SAT บริษัทนอมินีเจ๊แดง ที่หัวเหว่ยเปลี่ยนตัวเล่นจากล็อกซเล่ย์ เข้าร่วมประมูล เพราะทีโออาร์เปิดโอกาสให้เต็มที่ ซึ่งทุกวันนี้เครือข่ายของหัวเหว่ยใหญ่โตมาก มีหลายๆบริษัทคอยเปลี่ยนหน้าเล่น”
ในวงการโทรคมนาคมตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โครงการต่างๆ ของหัวเหว่ยที่ขายให้รัฐไม่ว่าจะเป็นทีโอทีหรือกสท มีปัญหาติดตั้งล่าช้าเกือบทุกโครงการ รวมทั้งอุปกรณ์เหมือนกันแต่ขายให้ทีโอทีกับกสท ราคาต่างกัน 70-80% แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคืออุปกรณ์ที่เรียกว่า MSAN หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเพื่อให้บริการมัลติมีเดียของหัวเหว่ยไม่มีคุณภาพ ใช้ไม่ได้ แต่ทั้ง 2 หน่วยงานดูออกจะขยันซื้อเป็นพิเศษ
ล้างไพ่บอร์ดทีโอทีเครือข่ายแม้ว
แหล่งข่าวในทีโอที กล่าวว่า หากไกรสร เป็นพระเอกของหัวเหว่ย ด้านกสท พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนะพร รองประธานบอร์ดทีโอที ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ของกลุ่มชินคอร์ป ก็เป็นพระเอกด้านทีโอที และมีนายจำรัส ตันตรีสุคนธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีที่เพิ่งเกษียณ นายสุวิทย์ สัตยรักษ์ และนายวาสุกรี กล้าไพรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นพระรอง ในการสนับสนุนหัวเหว่ยซัปพลายเออร์ของระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 470 ซีดีเอ็มเอ หรือการทำช็อตลิสต์ ซัปพลายเออร์
ก่อนเกษียณไม่กี่วัน จำรัส มีคำสั่งให้ช็อตลิสต์สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทั่วประเทศเพียง 5 ราย คือ Opnet, หัวเหว่ย, Zhone, อัลคาเทล และ Keymile หมายถึงซัปพลายเออร์รายอื่นที่อุปกรณ์มีการใช้งานทั่วโลกอย่างซีเมนส์ อีริคสัน หรือ แซดทีอี หมดโอกาสทำมาหากินในทีโอที ซึ่งวิธีการของหัวเหว่ยแยบยลมากอย่างโครงการชุมสายโทรศัพท์หนองแขมและเอกชัย งบประมาณ 186 ล้านบาท หัวเหว่ยประมูลมาเป็นที่ 3 ด้วยราคา 181 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าคนเสนอราคาต่ำสุดและราคารองลงมาถูกตีตกสเปกตามระเบียบ
การแทรกซึมของหัวเหว่ยในหน่วยงานรัฐไม่ต่างจากพรรคไทยรักไทยที่มีการสร้างเครือข่ายลงลึกระดับรากหญ้า เพราะทุกวันนี้หน้าห้องผู้บริหารระดับสูงมีตัวแทนหัวเหว่ยนั่งเฝ้าตลอด ส่วนผู้บริหารระดับรองลงมาที่มีบทบาทในการกำหนดสเปกก็ถูกหัวเหว่ยเลี้ยงดูอย่างดี ในแต่ละปีมีเจ้าหน้าที่ของ 2 รัฐวิสาหกิจเดินทางไปสำนักงานใหญ่หัวเหว่ยหลายร้อยคน
การสางปมฉาวในกระทรวงไอซีทีนอกจากต้องปรับเปลี่ยนผู้มีอำนาจสูงสุดทั้ง 2 หน่วยงานหลักที่มีผลประโยชน์มหาศาลแล้ว เครือข่ายซัปพลายเออร์ระบอบทักษิณที่ฝังรากลึกในระดับปฏิบัติการ ก็ไม่ควรมองข้ามเพราะถือว่าแขนขาที่ชงเรื่องให้ระดับสูงอนุมัติ ตามสูตรคอรัปชั่นทุกยุคทุกสมัยที่ต้องมีการทำงานประสานกันระหว่างระดับปฏิบัติการ ระดับนโยบายและระดับการเมือง โดยอาศัยกำลังสนับสนุนจากพ่อค้าหรือซัปพลายเออร์
|